• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาสอนลูกน้อยให้ว่ายน้ำ

มาสอนลูกน้อยให้ว่ายน้ำ

หลายท่านคงอดนึกเอ็นดูไม่ได้กับโฆษณาชุดหนึ่งที่สื่อให้เห็นเด็กน้อยอายุประมาณ 6 เดือนกำลังแหวกว่ายอยู่ในสระน้ำอย่างร่าเริง หลายคนคงสงสัยว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แต่ภาพที่เห็นนี้ไม่เกินเลยจากความเป็นจริง จากการได้สัมภาษณ์นาวาเอกนายแพทย์สุริยา ณ นคร รองหัวหน้ากองเวชศาสตร์ใต้น้ำ กรมแพทย์ทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการสอนว่ายน้ำให้กับทารกเป็นท่านแรกของประเทศไทย

การสอนว่ายน้ำให้กับทารกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ในต่างประเทศได้มีการฝึกทารกให้ว่ายน้ำมาแล้วอย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทยการสอนว่ายน้ำให้กับเด็กทารกเพิ่งจะได้รับการบุกเบิก

นายแพทย์สุริยาสนใจการว่ายน้ำมาตั้งแต่เด็ก ว่ายน้ำมาตลอดจนเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบได้ไปศึกษาต่อทางด้านวิชาเวชศาสตร์ใต้น้ำที่ออสเตรเลีย เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลนักดำน้ำ การจมน้ำ อันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในน้ำ รวมทั้งจากสัตว์มีพิษใต้น้ำด้วย เมื่อเรียนจบได้กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เมื่อมีลูกคนแรกได้พาลูกไปฝึกว่ายน้ำตั้งแต่ยังเป็นทารก และได้นำวิชาการฝึกว่ายน้ำมาทดลองฝึกทารกในไทย ที่สระว่ายน้ำของโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยใช้เวลาว่างช่วงเลิกงานราชการฝึกมาประมาณ 4-5 เดือน จนประสบผลสำเร็จอย่างดี มีผู้ปกครองให้ความสนใจพาเด็กมาฝึกว่ายน้ำมากขึ้น

สำหรับการยอมรับของพ่อแม่ไทยเกี่ยวกับการฝึกว่ายน้ำให้ทารกนั้น คุณหมอสุริยาให้ความเห็นว่า

“พ่อแม่ไทยให้การยอมรับมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีการโฆษณาเผยแพร่ออกไป ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น เริ่มแรกที่ฝึก มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เด็กต่างประเทศอายุ 2-3 สัปดาห์ก็ให้ลงน้ำแล้ว แต่สังคมไทยเชื่อว่าน้ำอันตราย กลัวว่าจะเป็นหวัด สิ่งเหล่านี้จะถ่ายทอดไปถึงเด็กด้วย ทำให้เด็กกลัวน้ำ”

สาเหตุที่เด็กทารกสามารถดำน้ำและว่ายน้ำได้นั้น คุณหมอสุริยาได้อธิบายว่า

“โดยปกติธรรมชาติเด็กสามารถดำน้ำได้ตั้งแต่แรกเกิด เพราะเด็กคุ้นเคยกับสภาพที่อยู่ในน้ำในท้องแม่เป็นเวลานาน 9 เดือน เวลาลงน้ำเด็กจะมีสัญชาตญาณปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในน้ำ การหมุนเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงร่างกายจะมีลักษณะแตกต่างจากการหมุนเวียนของเลือดเมื่อร่างกายอยู่บนบก เวลาเด็กเอาหน้าแตะน้ำจะเกิดการปรับการหมุนเวียนของเลือดให้เหมาะสมกับสภาพการอยู่ในน้ำ เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องหายใจเหมือนเรา เช่น พวกแมวน้ำ แต่พวกนี้จะดำน้ำได้นานเป็นชั่วโมง ที่ทำได้เพราะมีการปรับการไหลเวียนของเลือดที่เคยไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะหมุนเวียนอยู่ระหว่างหัวใจกับสมองเท่านั้น ส่วนอื่นจะมีการไหลเวียนของเลือดน้อยมาก ผิวหนังจะหดตัวเพื่อให้เสียความร้อนน้อย ที่อื่นไม่มีออกซิเจนไม่เป็นไร แต่สมองกับหัวใจสำคัญมาก ขาดไม่ได้เลย เด็กก็เหมือนกัน เคยมีคนพบเด็กตกลงไปอยู่ในน้ำเย็น คว่ำหน้าอยู่ในน้ำนานประมาณครึ่งชั่วโมงโดยไม่เป็นอะไร สันนิษฐานว่าสัญชาตญาณการหมุนเวียนของเลือดนี้ทำให้เด็กรอดตาย

ส่วนการที่เด็กว่ายน้ำและลอยตัวในน้ำได้นั้น เนื่องจากความคุ้นเคยของเด็กที่อยู่ในน้ำมานาน 9 เดือน และน้ำยังมีความหนาแน่นมาก ช่วยให้เด็กอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก ตัวเบา สามารถเคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างอิสระ เด็กสามารถเคลื่อนไหวในน้ำได้มากกว่าอยู่บนบกเสียอีก เด็กเรียนรู้ได้เร็ว อายุแค่ 6 เดือนก็เรียนรู้ได้มากแล้ว เด็กบางคนยังเดินไม่ได้เลย แต่ว่ายน้ำได้”

คุณหมอสุริยาได้ให้ข้อแนะนำในการฝึกว่ายน้ำให้เด็กทารกว่า

“พ่อแม่เป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในการฝึก เด็กจะเกิดความมั่นใจหรือไม่มั่นใจอยู่ที่พ่อแม่ พ่อแม่ต้องขจัดความกลัว ความวิตกกังวลต่างๆ ออกไปให้หมด ถ้าพ่อแม่รู้สึกกลัวเด็กจะรู้สึกทันที และจะเกิดความไม่มั่นใจ เวลาจะเอาเด็กลงน้ำครั้งแรก แม่ควรจะให้เด็กซบที่อกเพื่อฟังเสียงหัวใจของแม่ เป็นการทำความคุ้นเคยเพราะเด็กได้ยินเสียงนี้มานานถึง 9 เดือนและยังจำได้อยู่

เราต้องให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำก่อน โดยจับตัวเด็กเอียงไปเอียงมาให้สัมผัสกับน้ำ แล้วจึงนำเด็กลงใต้น้ำ เวลาน้ำโดนหน้า เด็กจะตกใจ และจะกลั้นหายใจโดยอัตโนมัติ ขณะที่ลงน้ำตาเด็กจะมองไม่ชัด การหักเหของแสงจะผิดไป เสียงในน้ำก็จะไม่คุ้น น้ำเข้าตาเด็กอาจจะแสบตาบ้าง เด็กบางคนเมื่อลงใต้น้ำ พอนำขึ้นมาจะร้องไห้ แต่บางคนก็สะบัดน้ำออกแล้วเล่นต่อไปได้ เมื่อเด็กร้องไห้ไม่ควรนำเด็กขึ้นจากน้ำทันที เพราะจะทำให้เด็กเคยตัว เด็กจะจำได้ว่าเมื่อร้องไห้คราวใดจะได้ขึ้นจากน้ำ เราจะต้องก้าวนำเด็ก ไม่หลงกลเด็กในข้อนี้ คำพูดก็ควรระวัง คำพูด “โอ๋” ที่เราพูดติดปากจะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น แต่ถ้าเราทำเฉยๆ เด็กจะรู้สึกปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

เมื่อถามถึงข้อควรระวังเวลานำเด็กลงว่ายน้ำ คุณหมอสุริยาให้ความเห็นว่า

“สระว่ายน้ำต้องสะอาด มีการวัดค่ากรดด่างของน้ำ และควรจะเติมคลอรีนทุกวัน แต่คลอรีนในสระจะต้องไม่สูง ควรมีการลดลงเมื่อเด็กจะลงสระ ถึงแม้ว่าคลอรีนจะไม่เป็นปัญหาสำหรับเด็กก็ตาม และเรื่องของขนาดสระก็มีความสำคัญ เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนควรจะใช้เป็นอ่างอาบน้ำขนาดใหญ่ ถ้าเด็กอายุใกล้ 3 เดือน อาจใช้บ่อน้ำเล็กๆ เช่น พวกบ่อที่ทำด้วยยาง ถ้าเด็กอายุเลย 3 เดือนไปแล้วก็สามารถนำลงสระน้ำได้ น้ำในสระไม่ควรจะเย็นเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 85-90 องศาฟาเรนไฮต์ เพราะเด็กจะหนาวเร็ว เนื่องจากร่างกายสูญเสียความร้อนได้ง่าย ถ้าเด็กเป็นหวัดห้ามนำเด็กลงสระ สำหรับเสื้อผ้าที่ใส่ลงสระควรให้มีน้อยชิ้นที่สุด เพื่อให้ร่างกายเด็กเป็นอิสระ ไม่มีเสื้อผ้าเป็นเครื่องฉุดรั้งการว่ายน้ำ และไม่ควรจะใช้เวลาฝึกนาน เพราะถ้าเด็กเหนื่อยจะอารมณ์เสีย พลอยไม่ชอบน้ำไปเลย การนำเด็กลงน้ำครั้งแรกๆ ควรลง 5-10 นาที เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับน้ำก่อน”

เมื่อกล่าวถึงปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่เสมอเมื่อเด็กลงสระนั้น คุณหมอสุริยาได้กล่าวว่า

“เด็กจะมีความสนใจในสิ่งต่างๆ เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เด็กจะเบื่อง่าย เราต้องหาวิธีหันเหความสนใจของเด็ก ให้หันมาสนใจน้ำ โดยให้เวลาที่อยู่ในน้ำเป็นเวลาที่ผ่อนคลาย มีความสุข ไม่ผลักดันให้เด็กว่ายน้ำข้ามขั้นเร็วเกินไป

การนำเด็กลงสระในเวลาเดียวกันหลายคน มีส่วนทำให้เด็กในบริเวณเดียวกันได้รับอิทธิพลไปด้วย เช่น เมื่อเด็กคนใดคนหนึ่งร้องไห้ เด็กที่อยู่บริเวณข้างเคียงจะร้องไห้ตามไปด้วย จนเหมือนการประสานเสียงน้อยๆ ไปเลยทีเดียว แต่บางครั้งก็ก่อให้เกิดผลดี เช่น เด็กที่ถ่ายทำโฆษณาชุดหนึ่ง ตอนแรกที่นำมาฝึกท่าทางเป็นเด็กที่น่าจะฝึกยาก เพราะพอนำลงน้ำเด็กก็จะร้องไห้ดิ้นรนไม่ยอมลงน้ำ ต่อมาแกเห็นเด็กคนอื่นดำน้ำได้โดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ดำแล้วสามารถเล่นน้ำต่อได้ แกเลยดำน้ำบ้าง และว่ายน้ำได้ดีในเวลาต่อมา

เมื่อเด็กร้องไห้อย่านำเด็กขึ้นจากน้ำทันที จะทำให้เด็กเคยตัว ควรหันเหความสนใจของเด็กไปทางอื่นให้เด็กลืม เช่น หาของเล่นให้เด็กเล่นในน้ำ ส่วนระยะเวลาในการฝึกให้เด็กว่ายน้ำนั้นควรทำตั้งแต่แรกเกิด ส่วนจะเป็นเร็วแค่ไหนนั้น ต้องดูว่าเด็กเริ่มเรียนตั้งแต่เมื่อไร ธรรมชาติของเด็กชอบน้ำไหม ได้รับการเลี้ยงดูมาให้กลัวน้ำหรือเปล่า ถ้าหัดแต่แรกเกิดจะเป็นเร็วมาก อายุที่เหมาะสมในการฝึกเด็กให้ดำน้ำ คือประมาณ 3 เดือน

เด็กเล็กๆ จำเป็นต้องมีการออกกำลังกายเหมือนกัน ยิ่งตอนที่อยู่ในท้องแม่ ข้อของเด็กจะงอยึด คลอดแล้วกล้ามเนื้อจะเคลื่อนไหวได้น้อย การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่จะช่วยให้เด็กเคลื่อนไหวได้ง่าย เนื่องจากเด็กอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก เมื่อเด็กได้ออกกำลังกายก็จะรู้สึกสดชื่น สุขภาพจิตดี นอนหลับง่าย การเจริญเติบโตของร่างกายก็จะเร็วมากขึ้น ในต่างประเทศมีรายงานว่าเด็กอายุ 4 เดือนสามารถเดินได้แล้ว

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมความผูกพันระหว่างครอบครัวเป็นความทรงจำที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก และแม่ก็จะได้ออกกำลังกายหลังคลอดไปด้วยในตัว ที่สำคัญคือ เด็กจะปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางน้ำ อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กลอยตัวกลั้นหายใจในน้ำได้จนกว่าจะมีคนมาช่วยเหลือ”

คงจะไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับคุณๆ ที่จะฝึกลูกให้ว่ายน้ำตั้งแต่ยังเป็นทารกนะคะ เพราะผลที่ตามมานั้น คุ้มค่าจนน่าทดลองมิใช่หรือ 

ข้อมูลสื่อ

126-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 126
ตุลาคม 2532
เรื่องน่ารู้