• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กหนึ่งเดือนถึงสองเดือน

เด็กหนึ่งเดือนถึงสองเดือน


                   
 

 

 


 

 

69. เด็กคลอดก่อนกำหนดควรให้ธาตุเหล็กเพิ่ม
เด็กทุกคนจะได้รับธาตุเหล็กจากแม่ ธาตุเหล็กจำเป็นสำหรับการผลิตเม็ดเลือดแดง ถ้าขาดจะทำให้เลือดจางเด็กคลอดก่อนกำหนด ได้รับธาตุเหล็กจากแม่น้อย ดังนั้นเมื่ออายุเกิน 6 อาทิตย์อาจเกิดโรคโลหิตจางได้ จึงควรให้ธาตุเหล็กเพิ่มเมื่ออายุได้ครบเดือน ปริมาณที่ให้ควรให้หมอกำหนดให้
 


เด็กหนึ่งเดือนถึงสองเดือน
สภาพแวดล้อม

70. ป้องกันอุบัติเหตุ
อุบัติเหตุในบ้านที่เกิดขึ้นกับเด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่คือ ตกเตียง เพราะกำลังขาของเด็กมีมากขึ้น เมื่อเด็กดิ้นไปมา อาจถีบที่นอนแรงจนตกเตียงได้ ถ้าปล่อยเด็กไว้บนเตียงคนเดียว จะต้องยกที่กั้นเตียงขึ้นเสมอ
เด็กวัยนี้ชอบเอามือข่วนหน้า ควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะเป็นแผล (แต่จะไม่เป็นแผลเป็น) การตัดเล็บ ใช้ที่ตัดเล็บดีกว่าใช้กรรไกร
การพาเด็กอ่อนอายุ 1-2 เดือนขึ้นรถยนต์ ผู้ที่อุ้มเด็ก ควรรัดเข็มขัดนิรภัยและระวังส่วนศีรษะของเด็ก ไม่ให้กระทบกระแทกอะไรเวลารถหยุดกะทันหัน
สำหรับอุบัติเหตุอื่น ๆ และการป้องกัน กรุณาย้อนกลับไปดูข้อ 50 “ป้องกันอุบัติเหตุ” (ใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 12) อีกครั้งหนึ่งด้วย



 

71. พาลูกเดินทางไกล
เด็กอ่อนอายุยังไม่ครบเดือน เรามักไม่พาเดินทางไกล เพราะร่างกายของแม่เองก็ยังไม่แข็งแรงดี แต่เมื่อเด็กอายุใกล้ 2 เดือน ครอบครัวที่ชอบเที่ยวและมีรถส่วนตัว คงอยากพาลูกไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง ถ้ารถยนต์ของคุณคันเล็กและคุณแม่ต้องอุ้มลูกตลอดระยะเวลาเดินทาง คุณควรจะพักทุกครึ่งชั่วโมงและวางเด็กไว้ในที่อากาศเย็นสบาย เพราะตลอดเวลาที่อุ้มอยู่ในรถ ไอร้อนจากตัวคุณแม่ผสมกับไอแดดและไอร้อนจากพื้นถนน จะทำให้เด็กตัวร้อนเกินไปจนไม่สบายได้ ถ้ารถของคุณคันใหญ่หน่อยหรือเป็นรถแบบบรรทุกหรือรถตู้ที่มีที่วางของ ควรเอาเด็กนอนไปในตะกร้าที่บุด้วยผ้าขนหนูหนา ๆ หรือรองด้วยเบาะจะดีกว่าอุ้มไป

คุณสามารถพาเด็กอ่อนเดินทางไกลด้วยรถไฟขนาด ระยะกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ได้โดยไม่ต้องพัก โดยเอาเด็กวางนอนไปบนเก้าอี้ (แต่ต้องเป็นช่วงเวลาที่คนโดยสารไม่แน่น)
ถ้าจำเป็นต้องพาเด็กอ่อนเดินทางไกลด้วยรถโดยสารประจำทาง กินเวลาหลายชั่วโมง ควรซื้อตั๋วที่นั่งเพิ่มอีกที่หนึ่งสำหรับวางเด็ก เพราะถ้าแม่อุ้มตลอดทางเด็กจะตัวร้อนเกินไปดังได้กล่าวมาแล้ว
การให้นมลูกในระหว่างเดินทาง ถ้าเป็นเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเลี้ยงด้วยนมวัว จะลำบากหน่อย คุณแม่ควรเตรียมขวดนมที่ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคแล้วไปให้ครบจำนวนครั้งที่ให้นม เพราะการใช้ขวดที่ใช้แล้วชงนมอีกนั้น ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง และการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคระหว่างเดินทางนั้นทำได้ยาก การเตรียมนมสำหรับเดินทาง ให้ตวงนมผงใส่ขวดสะอาดที่ที่แห้งแล้ว ใส่หัวนม ปิดฝาครอบหัวนมให้สนิทและเตรียมน้ำร้อนใส่กระติกไป พอใกล้เวลาให้นมก็เทน้ำร้อนใส่ขวดชงให้ แต่ถ้าเป็นการเดินทางที่ใช้เวลาไม่นานนัก คุณจะชงนมไปเลย สักขวดสองขวดก็ได้ จะได้ไม่ต้องหอบเอากระติกน้ำร้อนไปด้วย นอกจากนม คุณต้องเตรียมขวดน้ำต้มสุกเพื่อให้เวลาเด็กกระหายน้ำด้วย ส่วนน้ำผลไม้และวิตามินนั้นถ้าเป็นการเดินทางไปค้างที่อื่นเพียงวันสองวันก็ไม่จำเป็นต้องให้

การแต่งกายของเด็กทารกในระหว่างเดินทาง ถ้าเป็นฤดูที่อากาศเย็น ควรสวมกางเกงกันเปียกหรือใช้ผ้าอ้อมพลาสติคสำเร็จรูป (ใช้สะดวก แต่ราคาแพงหน่อย) เพื่อกันไม่ให้เสื้อผ้าของคุณแม่เปรอะเปื้อน แต่ถ้าอากาศร้อนมากและเด็กขี้ร้อน คุณแม่อาจใช้กางเกงกันเปียกหรือผ้าอ้อมพลาสติครองไว้เฉย ๆโดยไม่ต้องนุ่งก็ได้
การพาเด็กอ่อนเดินทางโดยเครื่องบิน ถ้าเป็นระยะทางไกล ทางสายการบินจะมีเตียงนอนเด็กให้ และเตรียมน้ำร้อนสำหรับชงนมให้ด้วย


 


72. อากาศร้อน

เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน อากาศร้อนจัด เด็กจะเป็นผดได้ง่าย คุณควรพยายามระงับไม่ให้เด็กเป็นผด แต่การที่เด็กเป็นผดหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่เป็นที่ตัวเด็กเอง เด็กที่ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก จะเป็นผดง่าย คุณแม่ควรอาบน้ำให้บ่อย ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าให้บ่อย ๆ เด็กบางคนพออากาศร้อนมาก เหงื่อจะออกมากจนเกือบไม่ฉี่เลยก็มี
เวลาอากาศร้อนจัด ผดบนหัวเด็กอาจอักเสบเป็นหนองได้ ถ้าเด็กนอนหมอนต้องเปลี่ยนปลอกหมอนให้บ่อย ๆ ผ้าปูที่นอนต้องเปลี่ยนทุกวัน ถ้ามีพัดลมก็เปิดพัดลมให้ แต่ควรให้คอพัดลมแกว่งไปมา ถ้าไม่มีพัดลม ก่อนนอนใช้พัดโบกให้หน่อยจนกระทั่งหลับ ถ้าให้เด็กนอนห้องแอร์ อุณหภูมิในห้องไม่ควรต่ำมากนัก ควรต่ำกว่าอุณหภูมินอกห้องประมาณ 4-5 องศา และอย่าเปิดต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส
เมื่ออากาศร้อน เด็กที่มีนิสัยกินน้อยอยู่แล้ว จะรู้สึกเบื่อนม กินนมได้น้อย ถ้าเด็กเป็นเช่นนี้ อย่าฝืนให้นมเด็ก โดยพยายามดันหัวนมเข้าปาก ลองให้นมที่แช่เย็นเล็กน้อย เด็กอาจกินมากขึ้น


 


73. ยุง

ยุงเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง เป็นต้น ฉะนั้น ต้องระวังอย่าให้เด็กถูกยุงกัดทั้งกลางวันและกลางคืน ถ้าบ้านไม่มีมุ้งลวด ต้องกางมุงให้เด็กนอน หรือถ้ากลัวเด็กร้อนตอนกลางวัน ต้องให้นอนที่สว่าง ๆ อากาศถ่ายเทได้ดีและแน่ใจว่าไม่มียุง ถ้าไม่แน่ใจว่ามียุงหรือไม่ ถึงอากาศร้อนก็กางมุ้งให้เด็กดีกว่า เพราะเด็กเป็นผดไม่ตาย แต่เป็นไข้เลือดออกเด็กตายได้
การกำจัดยุงภายในบ้าน ถ้าใช้ยาฉีดยุง อย่าฉีดในขณะที่เด็กอยู่ในห้อง ยาฉีดยุงทุกชนิดมีส่วนผสมของตัวยา ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ว่าปลอดภัยสำหรับทารก โดยเฉพาะยาฉีดแมลงสาบ อย่านำมาฉีดยุงเหมือนภาพโฆษณาในโทรทัศน์เป็นอันขาด เพราะยาฉีดแมลงสาบออกฤทธิ์ตกค้างอยู่นาน และสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง ตามปกติ เวลาฉีดจะต้องระมัดระวังมาก และฉีดเฉพาะตามซอกตามมุม ซึ่งคนเราจะไม่ไปสัมผัสเท่านั้น ยาฉีดแมลงสาบและยุงบางชนิดที่โฆษณาขายกันเกร่อในบ้านเรา ในบางประเทศเขาจะห้ามผลิตจำหน่ายเด็ดขาด การกำจัดยุงในบ้าน ใช้ยากันยุง จุดไล่แบบโบราณจะปลอดภัยกว่า


 


74. เมื่อมีคนเป็นวัณโรคในบ้าน

ในปัจจุบัน ถ้าเด็กคลอดที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะฉีดวัคซีน บี.ซี.จี (B.C.G.) ป้องกันวัณโรคให้แก่เด็กอ่อนทุกคน ก่อนจะให้ออกจากโรงพยาบาล แต่ถ้าเด็กยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคและเกิดมีผู้ป่วยเป็นวัณโรคในบ้าน ควรพาเด็กไปพบหมอและทำการรักษาทันที เพราะสำหรับเด็กอ่อนอายุ 1-2 เดือน ถ้ารอผลทดสอบว่า เป็นวัณโรคหรือไม่ อาจกินเวลาครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน และถ้าได้รับเชื้อมาก ในระหว่างที่รอ โรคจะกำเริบขึ้นเสียก่อน ดังนั้นโดยมากหมอมักจะทำการรักษาทันทีโดยให้กินยา “ไอเอนเอช” (INH) ซึ่งไม่มีผลข้างเคียง เมื่อทำการรักษาไปหนึ่งเดือนแล้วทำการทดสอบวัณโรคอีกครั้ง ถ้าให้ผลลบ ก็แสดงว่าไม่ได้ติดโรค (แปลว่า กินยาไอเอนเอชไปฟรี ๆ) หยุดทำการรักษาได้ แต่ถ้าผลทดสอบให้ผลบวก ก็ต้องทำการรักษาต่อไป

ถ้าแม่เป็นวัณโรคปอด แต่ได้รับการรักษาและไม่พบเชื้อในเสมหะแล้ว ยังคงเลี้ยงลูกต่อไปได้ แต่ควรเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมวัว เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายแม่ขาดอาหาร แต่ถ้าแม่เป็นวัณโรคในระยะมีเชื้อและเอ็กซเรย์พบมีแผลหรือโพรงในปอด ควรหยุดการเลี้ยงลูกและเข้าโรงพยาบาล ทำการรักษาให้หมดเชื้อเสียก่อน ถ้าคนอื่นในบ้านเป็นวัณโรคในระยะมีเชื้อและมีแผลหรือโพรงในปอด ไม่ควรให้เข้าห้องเด็กอ่อน จนกว่าจะรักษาจนกระทั่งไม่มีเชื้อ

 

ข้อมูลสื่อ

14-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
มิถุนายน 2523