• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ควรงดบุหรี่ เมื่อกินยารักษาโรค

ควรงดบุหรี่ เมื่อกินยารักษาโรค

ฟังชื่อเรื่องแล้วคนอ่านอาจจะโกรธติดหมัดขึ้นมาทันที

อะไรกัน คนป่วยทางร่างกาย จะตายอยู่แล้วแค่กินยาฉีดยารักษาโรค ยังจะให้งดสูบบุหรี่อีกหรือนี่”

เอายังงี้ก็แล้วกัน เพื่อไม่ให้เสียเปรียบกัน แพทย์ทุกคน ที่ใกล้ท่าน คงจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อป่วยแล้ว แพทย์ฉีดยา จ่ายยาให้กิน คอสุราแม่โขง เบียร์ตราสิงห์ต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แน่ ๆคราวนี้ มาดูกันว่า บุหรี่มีฤทธิ์ต่อยาที่แพทย์รักษาท่านอย่างไร ?
เมื่ออ่านจบแล้วค่อยงดสูบบุหรี่ชั่วคราวเมื่อป่วยและต้องกินยา

การสูบบุหรี่ จะทำให้ปริมาณยาในเลือดที่กินเข้าไป ลดลงมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งกินยาจำนวนเดียวกัน
ขนาดของยาที่เภสัชกร แพทย์ และวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้กะปริมาณ และขนาดที่กินไว้นั้น โดยการทดลองเป็นประจำ ก็จะกำหนดได้ว่าขนาดใดจะทำให้การรักษาโรคพอดี เช่น
แอสไพริน ขนาดเม็ดละ 300 มิลลิกรัม
พาราเซตาม่อล ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม
เพนนิซิลลิน ขนาดเม็ดละ 4 แสนยูนิต
เมื่อกินยาในขนาดนี้ จะพบว่าระดับยาในเลือดจะสูงพอดีในการรักษาอาการของโรค
 

การสูบบุหรี่ จะมีผลโดยตรงไปทำลายฤทธิ์ของยาในเลือด ทำให้ขนาด จำนวนของยาในเลือดลดลงมากถึงครึ่งหนึ่ง หรือบางอย่างถึง 1 ใน 3 ทำให้ยาที่กินเข้าไปมีประสิทธิภาพน้อยลงมาก โรคและอาการไม่หาย และอาจทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้
ยาที่โดนพิษ นิโคติน ของบุหรี่ทำลายมาก ได้แก่
- ยาแก้ปวดและลดไข้
- ยาระงับประสาท ยากล่อมประสาท
- ยาแก้ซึมเศร้า
- ยาลดบวม และขับปัสสาวะ
- ยาพวกสเตอรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน, เด็กซ่าเมธาโซน)
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังมีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคมาก เช่นคนสูบบุหรี่แล้วไปฉีดวัคซีนป้อง
กันโรคไข้หวัด จะได้ผลน้อยมาก
มีการทดลองวัดระดับของยาแก้ปวดลดไข้ เอ.พี.ซี. (คือแอสไพริน บวก ฟีนาซิติน และคาเฟอีน) ในคน 2 กลุ่ม ๆ หนึ่งสูบบุหรี่เมื่อกินยา เอ.พี.ซี. และอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่สูบบุหรี่
 

ผลการทดลอง ปรากฏออกมาชัดเจนว่า ในทุก ๆ คนที่สูบบุหรี่ ระดับของ เอ.พี.ซี. โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัว พี. คือ ฟีนาซิติน จะลดลง เหลือเพียง 1 ใน 3 ของคนไม่สูบบุหรี่
นี่ก็เลยเป็นเหตุผลที่เอามาบอกได้ว่า ทำไมคนที่สูบบุหรี่จัด ๆ นั้น
1) จะกินยาแก้ปวด มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่มาก
2) จะกินกาแฟมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภากาแฟด้วยกัน
ยาอื่น ๆ ก็ทดลองเช่นกัน เช่น ยาแก้ซึมเศร้า ยาแก้หอบ หืด ปรากฏว่าคนที่สูบบุหรี่นั้น กินยาขนาด
ปกติไม่ค่อยจะได้ผล ต้องเพิ่มขนาดสูงมากขึ้นถึง 2 เท่า หรือครึ่งเท่าจากเดิมจึงจะได้ผล แต่ในขนาดของยาจำนวนนั้น ถ้าหากคนสูบบุหรี่หยุดสูบ ยาขนาดที่กินเท่าเดิม (เช่น ทีโอฟอลลิน แก้หอบ หืด) จะกลายเป็นขนาดสูงเกินขนาดไปทันที
ยาแก้ปวดขนาดแรง ๆ ที่ใช้เฉพาะก่อนและหลังผ่าตัด ที่เมืองไทยนิยมกันมากเป็นอันดับสองรองลง
มาจากมอร์ฟีน คือ เพนตาโซเคน (โซเซกอน) ซึ่งใช้ร่วมกับไนตรัสออกไซด์ ในการดมยาสลบปรากฏว่าในคนที่สูบบุหรี่จัด ๆ นั้น ต้องใช้ยานี้เพิ่มมากขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ของคนไม่สูบบุหรี่ ทั้งขนาดที่เริ่มต้นในการดมยาสลบ และขนาดที่ใช้ดมไปนาน ๆสำหรับคำอธิบายและเหตุผลของปรากฏการณ์ที่พิษของบุหรี่ไปทำลายฤทธิ์ยาให้เหลือน้อยนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าเกิดจาก สารที่เรียกว่า “ทาร์” (Tar) หรือ น้ำมันดิน ของบุหรี่ ไปทำให้มีการเพิ่มการ ทำงานของระบบเอ็นซัยม์ในการทำลายยา และพวกสารอินทรีย์อื่น ๆ ที่เรียกว่าสารฮัยโดรคาร์บอน
 

ท่านผู้อ่านหมอชาวบ้าน อาจจะงง ๆ กับศัพท์บางคำทางการแพทย์ แต่ก็คงไม่ยากเกินไปที่จะเข้าใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ โดยใช้เหตุผลทางการแพทย์เข้าช่วย
เหตุที่นำเรื่องเอ็นซัยม์กับการเผาผลาญยามาเขียน เพราะว่าตับเป็นตัวการสำคัญในการใช้เอ็นซัยม์
ดังกล่าวมาแล้วมาทำลายยา ดังนั้นคนที่สูบบุหรี่นอกจากบุหรี่จะเป็นตัวการทำให้มะเร็งในปอดโดยตรงจากทาร์ที่ทราบกันมานานแล้ว อาจจะเกิดมะเร็งในตับ และในอวัยวะของร่างกายได้อีกหลาย ๆ แห่ง เพราะสารที่เอ็นซัยม์นี้เปลี่ยนแปลงเป็น “ตัวการก่อให้เกิดมะเร็ง” หรือ “คาร์ซิโนเย่น”

นิโคตินยังเป็นตัวการเอกอีกตัวหนึ่ง นอกจากเอ็นซัยม์ที่ทำลายยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พิสูจน์ได้ชัด ๆ
ที่สุด นั่นก็คือ ยาขับปัสสาวะ ชื่อ ฟูโรซีไมด์ หรือ ลาซิกซ์ ซึ่งใช้มากในการขับปัสสาวะ ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง
นิโคตินจะเป็นตัวเพิ่มฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวทำลายยาขับปัสสาวะนี้โดยเฉพาะผลก็คือ คนที่
สูบบุหรี่แล้วกินยาขับปัสสาวะเพื่อลดความดันโลหิต จะไม่ค่อยได้ผล
ยาอีกตัวหนึ่งที่บุหรี่มีผลมากคือ เด๊กซ่าเมธาโซน หรือ คอร์ติโคสเตอรอยด์ ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันกว้าง
ขวางมากทั้งแพทย์และหมอตี๋ เพราะหมอตี๋ใช้เป็นยาอ้วน บุหรี่จะไปออกฤทธิ์ต่อต่อมหมวกไต ทำให้มีการขับฮอร์โมนออกจากเนื้อส่วนนอกของต่อมหมวกไต มาทำลายยานี้
คนสูบบุหรี่ที่ฉีดวัคซีนกันไข้หวัดใหญ่นั้น มันจะลดภูมิต้านทานโรค ทั้งการสร้างขึ้น และทำให้ระ
ยะเวลาของภูมิคุ้มกันสั้นลงด้วย

คุณแม่ที่ตั้งท้องและสูบบุหรี่ด้วยนั้น อันตรายมาก เพราะผลจากการติดตามผลและการทดลองปรา
กฏว่า บุหรี่เป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งแก่เด็กในท้องได้รุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่มาก
ผลของการสูบบุหรี่ต่อยา และสารต่าง ๆ ในร่างกายนั้น มีผลทั้งด้านการรักษา และการพิเคราะห์โรค
ตลอดจนระดับของสารต่าง ๆ เช่น วิตามินทุกชนิดในร่างกาย จะมีการเปลี่ยนแปลงมาก
ในคนที่เริ่มเป็นมะเร็งใหม่ ๆ จะทำให้การตรวจพบมะเร็งระยะแรก ๆ ในคนที่สูบบุหรี่ยากมากกว่า
คนไม่สูบบุหรี่
ผลในทางปฏิบัติการทางห้องทดลองนั้น จะเปลี่ยนค่าของตัวเลขของสารต่าง ๆ เช่น ระดับน้ำตาล
ระดับไขมัน ระดับไนโตรเจน ในเลือด จนทำให้การพิเคราะห์โรคยากมากขึ้นกว่าเดิมและผิดพลาดได้มากขึ้น
จากการทดลองในห้องปฏิบัติการจริง ๆ พบว่า วิตามิน ซี., วิตามิน บี. 6, วิตามิน บี. 12 ในเลือดจะต่ำ
ลงกว่าปกติมากในคนสูบบุหรี่
การที่วิตามิน ซี ในเลือดลดต่ำลงมากนั้น จะมีผลเสียอย่างมากในด้านศัลยกรรม เช่น คนที่ผ่าตัด คน
เป็นแผล เพราะ วิตามิน ซี. เป็นสารสำคัญมากในการสร้างสารที่เรียกว่า “คอลลาเจน” ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดในการที่สารโปรตีนจะไปสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้แผลติดโดยเร็ว
ในด้านระบบประสาท วิตามิน ซี ยังเป็นตัวสำคัญในการขนส่งระบบสื่อสารต่าง ๆ ของประสาท
เรียกว่า “นิวโร-ทรานสมิตเตอร์” ซึ่งเป็นสารที่จะสื่อสารระหว่างเซลล์ของประสาทจากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง
 

คนที่สูบบุหรี่ จึงมีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทมาก
โรคความเสื่อมของร่างกายและสมอง จะพบมากในคนสูบบุหรี่ ด้วยเหตุผลจากการลดระดับ วิตามินซี.นี้ เช่นเดียวกัน
ในผู้หญิงที่ตั้งท้องและสูบบุหรี่นั้น ทราบกันมานานเต็มทีแล้วว่า ผลร้ายที่สุดของบุหรี่ต่อเด็กคือ จะทำให้เด็กที่คลอดออกมามีขนาดเล็ก น้ำหนักน้อยกว่าปกติมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า คนที่สูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายลดประสิทธิภาพในการใช้โปรตีนจากอาหารที่กินลงไปมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่หลายเท่า

ในยุคที่ภาวะบ้านเมืองกำลังประสบกับภัยจากน้ำมันของกลุ่มโอเปค และมรสุมของค่าครองชีพกำลังสูงขึ้น ๆ ทุกวัน การงดสูบบุหรี่นอกจากจะช่วยลดปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว และประเทศชาติแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะประคองชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอากาศเป็นพิษ ให้ยืนยาวออกไปได้อีกนาน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาท่านเจ็บป่วย ต้องไปหาหมอ กินยาฉีดยา การสูบบุหรี่จะทำลายฤทธิ์ของยาลงเป็นจำนวนมาก ยิ่งขณะที่กำลังป่วยหนัก ขอให้ท่านเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด แล้วท่านจะได้ใกล้ชิดหมอผู้รักษาท่านยิ่งขึ้น


 

ข้อมูลสื่อ

14-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
มิถุนายน 2523
อื่น ๆ
นพ.สันติภาพ ไชยวงศ์เกียรติ