• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำนมราชสีห์และน้ำนมราชสีห์เล็ก

น้ำนมราชสีห์และน้ำนมราชสีห์เล็ก


            

น้ำนมราชสีห์

⇒ ชื่ออื่น
นมราชสีห์, ผักโขมแดง(ไทย), หญ้าน้ำหมึก(พายัพ); ไต่ปวยเอี่ยงเช่า, ปวยเอี้ยง(จีน); Asthma Weed.

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia hirta L. วงศ์ Euphorbiaceae

⇒ ลักษณะต้น
เป็นพืชปีเดียวดาย ขนาดเล็ก มียางสีขาวเหมือนน้ำนม แตกกิ่งก้านสาขาจากโคนต้นใกล้ดินตั้งขึ้น หรือแผ่ออกไป ก้านสีออกแดง ๆ มีขนสีน้ำตาลเหลือง ลำต้นยาว 15-40 ซ.ม. ใบออกตรงข้ามกัน ลักษณะรี ๆ คล้ายปีกแมลง ยาว 1-4 ซ.ม. ปลายใบแหลมสั้น ฐานใบโค้งเข้าไม่เท่ากัน ขอบใบมีรอยหยักเล็ก ๆ คล้ายฟันเลื่อย กลางใบมักมีจุดสีม่วงแดง เห็นเส้นกลางใบและเส้นใบชัด ๆ ออกใกล้โคนใบอีก 3-4 เส้น ท้องใบมีขนสีน้ำตาลเหลือง ช่อดอกออกจากซอกใบ ช่อหนึ่งมีดอกย่อยออกเป็นกระจุกแน่นเป็นกลุ่มกลม ๆ 2-3 กลุ่ม มีสีเขียวปนม่วงแดง กลุ่มหนึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซ.ม. ดอกย่อยไม่มีก้านดอกหรือมีก็สั้นมากเกสรตัวผู้มีหลายอันอยู่บนฐานดอก รังไข่มี 1 อัน ลักษณะทรงกลมออกสามเหลี่ยม มีก้านยื่นออกมาจากกลางดอก ที่ปลายมียอดเกสรตัวเมียเป็นเส้นสีแดงสั้น ๆ 3 เส้น ผลลักษณะทรงกลมออกสามเหลี่ยม มีรอยแยก 3 รอย ผลยาวประมาณ 1.5 ม.ม. ออกดอกตลอดปี มักพบขึ้นเองริมทาง ข้างถนนและที่รกร้างทั่วไป

⇒ การเก็บมาใช้
ทั้งต้น เก็บในฤดูร้อน ล้างสะอาด ตากแห้ง เก็บเอาไว้ใช้หรือใช้สด

⇒ ลักษณะยาแห้ง
ทั้งต้นและรากแห้งยาว 15-20 ซ.ม. รากฝอยหงิกงอ ก้านกลมกว้าง 1-3 ม.ม. งอเล็กน้อย สีน้ำตาลแดง มีริ้วรอยตื้น ๆ และมีจุด เห็นข้อชัดเจน มีขนหยาบ ๆ สีเหลือง เนื้อแข็งหักได้ง่าย เนื้อในสีขาวตรงกลางมีรู มีใบมากม้วนขดงอ ซอกใบมีช่อดอก มีดอกหนาแน่น มีกลิ่นอ่อน ๆ เฉพาะตัว

⇒ สรรพคุณ
ทั้งต้น รสฉุน เปรี้ยว เย็นจัด ใช้แก้พิษ ขับน้ำนม แก้ผดผื่นคัน ลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรีย หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ฝีในปอด มีพิษบวมแดง ฝีที่เต้านม ขาเน่าเปื่อย

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ทั้งต้นแห้ง 6-10 กรัม(สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้าง หรือตำพอก

⇒ ตำรับยา
1. แก้บิดมูกเลือด ใช้ทั้งต้นแห้ง 15-25 กรัม บิดถ่ายเป็นเลือดให้ผสมน้ำตาลทราย บิดถ่ายเป็นมูกให้ผสมน้ำตาลทรายแดง ใช้น้ำต้มสุกตุ๋นเอาน้ำกิน
2. แก้เบาขัด หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ต้นสด 20-60 กรัม ผสมน้ำต้มกินวันละ 2 ครั้ง
3. แก้ฝีมีหนองลึก ๆ ใช้ใบสด 1 กำมือ ผสมเกลือ และน้ำตาลแดงอย่างละเล็กน้อยตำพอก
4. แก้ฝีในปอด ใช้ต้นสด 1 กำมือ ตำคั้นเอาน้ำครึ่งแก้ว ผสมน้ำดื่ม
5. แก้ฝีที่เต้านม ใช้ต้นสด 60 กรัม ร่วมกับเต้าหู้ 120 กรัม ต้มกิน และใช้ต้นสด 1 กำมือ ผสมเกลือเล็กน้อยตำผสมน้ำร้อนเล็กน้อยพอกบริเวณที่เป็น
6. แก้เด็กเป็นตานขโมย (ผอม พุงโร ก้นปอด) ใช้ต้นสด 30 กรัม กับตับหมู 120 กรัม ตุ๋นกิน
7. แก้เด็กศีรษะมีแผลเปื่อยเน่า มีน้ำเหลือง ใช้ต้นสด 1 กำมือ ต้มเอาน้ำชะล้างแผล
8. แก้ขาเน่าเปื่อย ใช้ต้นสด 100 กรัม แช่ในแอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งลิตร 3-5 วัน เอาไว้ทาบริเวณที่เป็นบ่อย ๆ
9. แก้บาดแผลมีเลือดออก ใช้ใบสดขยี้หรือตำพอกแผล ห้ามเลือด
10. ยางใช้กัดหูด ตาปลา ใช้ยางขาวทาที่เป็นบ่อย ๆ
 

⇒ รายงานผลทางคลินิกของจีน
1. แก้ลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรีย ใช้ทั้งต้นวันละ 30-160 กรัม ต้มน้ำแบ่งให้กินเป็น 3 ครั้ง หรือทำเป็นยาเม็ดกินครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หรือ ใช้ทำเป็นยาฉีด (1 ม.ล.เทียบเท่ายาสด 5 กรัม) ฉีดเข้ากล้ามครั้งละ 2 ม.ล. วันละ 3 ครั้ง

มีบางรายงานว่าใช้ต้นนี้ ร่วมกับเอี้องเพ็ดม้า(Polygonum Chinensis L.) และห่งบ๋วยเช่า(Pteris multi-fida Poir., พวกเฟิร์นเงิน) อย่างละ 16 กรัม ทำเป็นตำรับยา ต้มสกัดเอาน้ำมาเคี่ยวให้ข้น นำไประเหยให้แห้ง บดเป็นผง ทำเป็นยาเม็ด (1 เม็ดนี้เนื้อยานี้ 0.6 กรัม) ผู้ใหญ่ให้กินครั้งละ 3 เม็ด เด็กอายุ 7-12 ขวบ ครั้งละ 2 เม็ด เด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ ครั้งละ 1 เม็ดกินวันละ 4 ครั้งติดต่อกัน 5 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา
จากการรักษาคนไข้ 2,000 รายที่เป็นบิดจากแบคทีเรียอย่างเฉียบพลัน และลำไส้อักเสบได้ผลประ-มาณ 90 เปอร์เซ็นต์
จากการรักษาคนไข้เป็นบิดจากแบคทีเรียจำนวน 1,743 ราย อาการอุจจาระเป็นมูกเลือดจะหายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด 1 วัน ระยะนานที่สุด 9 วัน ที่หายภายใน 3 วัน มีจำนวน 78 เปอร์เซ็นต์
ระยะเวลาที่ไข้ลดเป็นปกติเร็วที่สุด 6 ชั่วโมง ระยะนานที่สุด 4 วัน ที่อาการไข้ลดภายใน 1 วัน มีจำนวน 68 เปอร์เซ็นต์
อุจจาระเป็นปกติอย่างเร็วที่สุด 2 วัน อย่างช้าที่สุด 10 วัน หากหลังการกินยาแล้วยังคงถ่ายไม่หยุด ให้กินยาเพิ่มขึ้นอีกได้ ยังไม่พบอาการข้างเคียง

2. แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ต้นสด 120 กรัม กิ๊กแก้ (Platycodon grandiflorum (Jacq) A.D.C.) 10 กรัม ใส่น้ำ ต้ม 2 ชั่วโมง คั้นเอาน้ำมาต้มอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำไประเหยให้เหลือ 60 ม.ล.(4ช้อนโต๊ะ) กินครั้งละ 20 ม.ล. วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน ติดต่อกัน 10 วันเป็นหนึ่งรอบของการรักษา ให้กินติดต่อกัน 2 รอบ จากการสำรวจในคนไข้ 128 ราย ใช้ยานี้แล้วได้ผล อาการโรคนี้หาย 33 ราย (25.8%) ได้ผล อาการดีขึ้นอย่างเด่นชัด 36 ราย(28.1%) อาการดีขึ้นดีขึ้น 45 ราย(35.2%) ถ้านำเอาต้นนี้มาปรุงเป็นตำรายา ใช้แก้อาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอมีเสมหะ ปอดชื้น เสียงแหบ ในระยะเริ่มแรกจะรักษาได้ผลดี ในพวกที่เป็นโรคหอบหืดและในคนไข้ที่มีอายุมากได้ผลไม่ดีนัก ในรายที่เป็นโรคเรื้อรัง ร่างกายอ่อนแอ ผลการรักษา จะยิ่งน้อยลง หากคนไข้มีอาการเวียนศีรษะ เป็นหวัด ก็ยังคงกินยานี้ต่อไปได้

⇒ ข้อสังเกต : ตำรับบางแห่งกล่าวว่า บางคนอาจแพ้ ทำให้ท้องเสีย แก้โดยใช้ชะเอม 10 กรัม ดอกสายน้ำผึ้ง 13 กรัม น้ำสะอาด 1 ถ้วยครึ่ง ต้มให้เหลือ 1 ถ้วยดื่ม

⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
สารสกัดจากต้นนี้ มีฤทธิ์กดหัวใจและการหายใจ และทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว
ในการทดลองทางเภสัชวิทยา ชี้ให้เห็นว่าต้นนี้ใช้แก้ในกรณีกล้ามเนื้อเรียบหดตัว อย่างน้อยก็กล้ามเนื้อเรียบของระบบทางเดินหายใจ อย่างมีเหตุผล ทำให้หายใจได้ดีขึ้น ในกรณีหายใจขัดเนื่องจากหืดหรือเนื้อเยื่อพองบวม
หนูตะเภาตัวเมียในระยะที่ให้นม เมื่อกินต้นนี้ จะทำให้มีน้ำนมมากขึ้น และต้นนี้มีสารบางตัวที่ทำให้ถ่ายได้
สารสกัดจากทั้งต้นบางรายงานว่า ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค แต่มีบางรายงานว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในความเข้มข้น 1:5 และ 1:60

⇒ หมายเหตุ
ในฟิลิปปินส์ ใช้ใบแห้ง ผสมกับดอกลำโพงแห้ง มวนเป็นบุหรี่สูบแก้หืด
ยางขาว ใช้เป็นยาเกี่ยวกับประสาทความรู้สึก ใช้กัดหูด ตาปลา (ในอินเดียใช้หยอดตา แก้เยื่อตาอักเสบ เป็นแผลที่กระจกตา)
ราก ใช้แก้อาเจียน ใช้เป็นยาให้กินระหว่างเป็นไข้

ทั้งต้น ใช้เป็นยาสงบประสาทและทำให้นอนหลับได้สนิท ต้มน้ำให้หญิงมีน้ำนมน้อยกิน ทำให้มีน้ำนมมากขึ้น ใช้แก้อาการหายใจขัดเนื่องจากหืด และใช้ห้ามเลือด นอกจากนี้อาจบดเป็นผง ผสมน้ำสวนแก้ท้องผูก ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเสียเรื้อรัง บิดเรื้อรังและเฉียบพลัน ใช้ขับพยาธิและแก้กลาก

                    

น้ำนมราชสีห์เล็ก

⇒ ชื่ออื่น นมราชสีห์เล็ก(ไทย); เซียวปวยเอี่ยงเช่า, หยูจั๊บเช่า(จีน)

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia thymifolia L. วงศ์ Euphorbiaceae
ลักษณะต้น เป็นพืชขนาดเล็ก ปีเดียวตาย มียางขาว เหมือนน้ำนม ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก แผ่เบี้ยคลุมดิน มีขนเล็กน้อย สูงไม่เกิน 15 ซ.ม. โดยทั่วไปก้านมีสีแดง ใบออกตรงข้ามกัน ตัวใบลักษณะรูปไข่หรือกลมรี ยาว 4-6 ม.ม. ปลายใบมน อาจแหลมเล็กน้อย ฐานใบโค้งไม่เท่ากัน ขอบใบมีรอยหยักตื้น ๆ เห็นเส้นใบชัด 2-3 เส้น หลังใบสีเขียวแก่ ท้องใบสีเขียวอมเทาอ่อน ก้านใบสั้นมาก ช่อดอกออกจากซอกใบ ดอกย่อยติดกันเป็นกระจุกแน่น คล้ายร่มพูนขึ้นมา มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 1 ม.ม. และอาจเป็นช่อดอกสั้น ๆ ไม่แตกกิ่งก้านสาขาออกจากปลายก้าน เกือบจะไม่มีก้านช่อดอก ช่อดอกมีสีม่วงแดงอ่อน ๆ แต่ละช่อมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย เกสรตัวผู้มีหลายอัน อยู่บนฐานดอก เกสรตัวเมียมี 1 อันอยู่บนก้านยื่นออกมาจากกลางดอก มีรังไข่ 1 อัน ลักษณะทรงกลมออกสามเหลี่ยม ที่ปลายมียอดเกสรตัวเมียเป็นเส้นบาง ๆ 3 เส้น แต่ละเส้นปลายแยกออกเป็นสองแฉก ผลทรงกลมออกสามเหลี่ยม มีรอยแยกสามรอย ผลยาว 1.5 ม.ม. เมล็ดมีรอยย่น 5-6 รอย ออกดอกตลอดปี พบขึ้นเองริมถนนข้างทาง และที่ว่างร้างทั่วไป

⇒ การเก็บมาใช้
ทั้งต้น เก็บในฤดูร้อน หรือตอนที่ออกดอก ตากแห้งเก็บไว้ใช้หรือใช้สด

⇒ ลักษณะยาแห้ง
ทั้งต้นแห้ง ยาวประมาณ 13 ซ.ม. มีรากฝอย ๆ เล็ก ๆ ลำต้นเล็กยาวกว้าง 1 ม.ม. สีแดงออกน้ำตาล มีขนเล็กน้อย ใบออกตรงข้ามกัน ใบมีรอยย่นมาก สีเทาอมม่วง มีดอกเล็ก ๆ ออกตามข้อ ผลทรงสามเหลี่ยม

⇒ สรรพคุณ
ทั้งต้น รสเปรี้ยว ฝาด เย็น ใช้แก้บวม อักเสบ ไข้จับสั่น บิด ท้องร่วง ผื่นคัน กลากน้ำนม ริดสีดวงทวาร หูน้ำหนวก

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ทั้งต้นแห้ง 15-30 กรัม(สด 30-60 กรัม) คั้นเอาน้ำกินหรือต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ตำพอกหรือต้มเอาน้ำชะล้าง

⇒ ตำรับยา
1. แก้ไข้จับสั่น ใช้ต้นสด 120 กรัม ต้มน้ำ ผสมน้ำตาลแดงพอประมาณ ให้กินก่อนไข้จับสองชั่ว
โมง
2. แก้บิดจากแบคทีเรีย ใช้ต้นแห้ง 30 กรัม ใบชาแก่(แห้ง) 15 กรัมต้มน้ำผสมน้ำผึ้งกิน
3. แก้บิดจากแบคทีเรีย ลำไส้อักเสบ ใช้ต้นแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน
4. แก้เด็กตกใจกลัวง่าย ใช้ต้นสด 60 กรัม ล้างสะอาด ตำให้ละเอียดผสมน้ำซาวข้าว เอากากทิ้งผสม
น้ำผึ้งกิน
5. แก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน ริดสีดวงทวารมีเลือดออก ใช้ต้นสดจำนวนพอ
สมควร ต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
6. แก้กลากน้ำนม ใช้ต้นสดตำผสมน้ำตาลกรวด พอกที่แผล ยานี้ยังมีผลในการแก้อักเสบและแก้
บวมอีกด้วย
7. แก้งูสวัดขึ้นรอบเอว (เม็ดตุ่มเกิดจากเชื้อไวรัสขึ้นตามบริเวณเอว) ใช้ต้นสด 1 กำมือ กระเทียม 1
หัว ตำให้ละเอียด ผสมน้ำสุกที่เย็น ทาบริเวณที่เป็น
 

⇒ หมายเหตุ
ในอินเดีย ใช้ใบและเมล็ดแห้งเป็นยาฝาดสมาน ขับพยาธิ และเป็นยาระบายโดยบดเป็นผง ให้เด็กกินแก้อาการผิดปกติเกี่ยวกับท้อง เช่น ท้องร่วง บิด ใช้น้ำคั้นจากต้นแก้กลาก และใช้น้ำมันหอมระเหย ผสมสบู่ยาแก้โรค ไฟลามทุ่ง หรือผสมเป็นยาฉีด ไล่ยุง แมลง และใช้ขับพยาธิในสุนัขในฟาร์มเลี้ยงสุนัขจิ้งจอก
ในฟิลิปปินส์ ใช้ใบพอกแก้งูพิษกัด พอกบาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น น้ำคั้นจากต้นผสมเหล้าใช้แก้แมลง สัตว์เลื้อยคลานที่มีพิษกัดต่อย ใช้ทั้งต้นตำพอกแผลภายนอกด้วยน้ำคั้นทาแก้กลาก หรือผสมแอมโมเนียมคลอไรด์ ใช้นวดศีรษะแก้รังแค ใช้ใบตำพอกแก้กระดูกเคลื่อนและโรคเกี่ยวกับผิวหนัง

 

ข้อมูลสื่อ

14-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 14
มิถุนายน 2523
อื่น ๆ
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ