• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กห้าขวบถึงหกขวบ

เด็กห้าขวบถึงหกขวบ

การเลี้ยงดู

375. การนอนตอนกลางคืน

รูปแบบการนอนของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนหัวถึงหมอนก็นอนหลับภายในเวลาไม่กี่นาที บางคนต้องมีช่วงเวลา “เตรียมนอน” ประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงกว่าจะหลับสนิท เด็กหลับง่ายมักไม่มีปัญหา แต่เด็กที่ต้องเตรียมนอนนานๆ จะเกิดปัญหานานาประการ บางคนเข้านอนแล้วต้องเอาหนังสือมาพลิกดูไปเรื่อยๆ จนกว่าจะง่วงหลับไป แต่เด็กประเภทนี้ก็ยังนับว่าไม่มีปัญหา

มีเด็กหลายคนที่อารมณ์ไม่ดี ในช่วง “เตรียมนอน” ชอบร้องโยเย โกรธบ้าง งอนบ้าง จนกระทั่งเหนื่อยอ่อนหลับไปเอง หากลูกเป็นแบบนี้ ถ้าพ่อแม่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ก็ไม่มีปัญหานัก แต่ถ้าพ่อแม่เข้าใจผิดคิดว่าลูกเอาแต่ใจตัวเอง จึงดุว่าเพราะอยากดัดนิสัยเด็ก ช่วงเวลา “เตรียมนอน” ก็จะกลายเป็นช่วงเวลา “ต่อกร” ระหว่างพ่อแม่ลูกไปทันที เพราะรูปแบบการนอนของเด็กเป็นสิ่งที่เกิดจากสรีระ มิใช่จะแก้ได้ด้วยเหตุผลหรือการสั่งสอน และยิ่งสอน เด็กก็จะยิ่ง “ต่อกร” นานขึ้น แทนที่จะหลับภายใน 30 นาที กลับยืดเป็นชั่วโมงไปเลย

เด็กที่เข้านอนแล้วกว่าจะหลับต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมงนั้น บางคนก็ร้องโยเยบ่นว่านอนไม่หลับ เมื่อร้องนานเข้าก็เปลี่ยนเป็นร้องเพราะกลัวว่าจะตื่นสาย พรุ่งนี้ไปโรงเรียนไม่ทัน พ่อแม่ก็เกรงว่า ลูกอาจเป็น “โรคนอนไม่หลับ” ซึ่งความจริงอาการแบบนี้ไม่ใช่ “โรคนอนไม่หลับ” แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของช่วง “เตรียมนอน” เท่านั้น เด็กแบบนี้ยิ่งให้นอนเร็ว ก็ยิ่งร้องโยเยแบบยืดเยื้อยาวนาน เพราะฉะนั้น ควรยืดเวลาตื่นเอาไว้ และให้เข้านอนเมื่อเด็กง่วงมากเต็มที่แล้ว วิธีที่ดีที่สุด คือ คุณแม่อ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอนจนกระทั่งเด็กหลับไปเอง ไม่ควรให้เด็กกินยานอนหลับเพราะเด็กจะคิดว่าตนเองเป็นคนป่วย ทั้งๆที่ความจริงเป็นเด็กปกติ

นอกจากรูปแบบการนอนแล้ว รูปแบบการตื่นนอนก็แตกต่างกัน เด็กบางคนพอลืมตาตื่นก็โดดผลุงลงจากเตียงทันที แต่เด็กหลายคนจะต้องนอนบิดขี้เกียจสะลึมสะลือต่อไปอีก 20 นาทีจึงจะลุกขึ้น ถ้าคุณแม่โวยวายก็จะต้องทะเลาะกับลูกทุกเช้า เพราะฉะนั้น เพื่อความสงบสุขของครอบครัว เพียงแต่ดูแลให้แกตื่นทันไปโรงเรียนก็พอแล้ว

376. เรื่องของตัวเองต้องทำเอง

เด็กที่ไปโรงเรียนอนุบาลแล้วส่วนใหญ่จะช่วยตัวเองได้ หากกระดุมเม็ดไม่เล็กจนเกินไป ก็ติดกระดุมเสื้อเองได้ อาบน้ำชำระล้างร่างกายได้เอง การกินอาหาร การดูแลทำความสะอาดหลังปัสสาวะอุจจาระก็ทำได้ดีโดยไม่ต้องให้คุณแม่หรือพี่เลี้ยงคอยดูแลตามหลัง

การช่วยตัวเองได้ในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เด็กรู้จักพึ่งตนเอง ยิ่งกว่านั้นเด็กควรรู้ด้วยว่า ตนเองเป็นคนอิสระคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกของสังคม เด็กซึ่งทำอะไรต่อมิอะไรได้เองเมื่ออยู่โรงเรียนอนุบาล พอกลับถึงบ้านกลับอ้อนให้คุณแม่ถอดเสื้อให้ หรือเล่นของเล่นแล้วไม่ยอมเก็บ พ่อแม่ก็ไม่ควรเข้มงวดเกินไปในเรื่องนี้ เพราะความจริงเด็กทำเองได้ ในสังคมโรงเรียนเด็กต้องแสดงตนเป็นคนอิสระ รู้จักพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นภาระค่อนข้างหนักสำหรับแก เมื่อกลับถึงบ้านจึงอยากผ่อนคลายบ้าง ด้วยการขอกลับเป็น “เด็ก” ของครอบครัว หากเราเข้มงวดเหมือนโรงเรียนอนุบาล เด็กจะรู้สึกเหนื่อยเกินไป ควรเน้นที่ความอบอุ่นของครอบครัวมากกว่า

อย่างไรก็ดี มีบางบ้านที่สภาพแวดล้อมไม่เปิดโอกาสให้เด็กทำอะไรด้วยตนเองเลย โดยเฉพาะบ้านที่มีคุณปู่คุณย่า หรือคุณตาคุณยายอยู่ด้วย หรือพี่เลี้ยงดีเกินไป เด็กไปโรงเรียนอนุบาลก็ทำอะไรไม่เป็นและช่วยตัวเองไม่ได้ กลายเป็นคนที่ชอบพึ่งคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แบบนี้ก็มีปัญหา

ชีวิตคนเราควรมีความสมดุลกันระหว่างบทบาทสมาชิกของสังคมและสมาชิกของครอบครัว หากเด็กสามารถแสดงบทบาทพึ่งตนเองได้ดีเมื่ออยู่นอกบ้าน เวลากลับเข้าบ้านน่าจะยอมให้เด็กผ่อนคลายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งจะระดับไหนนั้นก็แล้วแต่สภาพแวดล้อมของครอบครัว หากครอบครัวที่คุณแม่ทำงานนอกบ้านแต่ต้องทำทุกอย่างให้ลูกเหมือนเด็กที่มีแม่เป็นแม่บ้านเต็มตัว คุณแม่นักทำงานก็คงคางเหลือง

ข้อมูลสื่อ

128-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532