• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กหนึ่งเดือนถึงสองเดือน

เด็กหนึ่งเดือนถึงสองเดือน



                  




สภาพปกติ


75. อาเจียนนม

เด็กอายุ 1-2 เดือนบางคน โดยเฉพาะเด็กชายจะอาเจียนนมเป็นประจำ ก่อนและหลังอาเจียนไม่มีอาการผิดปกติ แสดงว่าเป็นลักษณะเฉพาะของเด็กเอง เด็กไม่ได้เป็นโรคอะไร (ดู 52 แหวะนม ใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 12)
ถ้าเด็กอาเจียนนมออกมามากจะหิวเร็ว บางครั้งไม่ถึง 3 ชั่วโมงก็ร้องหิวอีก ในกรณีเช่นนี้ให้นมอีกได้ บางครั้งการอาเจียนนม อาจเกิดจากการให้นมมากเกินไป ถ้าเพิ่มนมให้แล้วเด็กอาเจียนนมบ่อยขึ้น ควรลองลดปริมาณนมที่ให้ดู หลังให้นมเด็ก ควรอุ้มพาดไหล่หรือแขนแล้วตบหลังเบา ๆ ให้เรอทุกครั้ง ส่วนใหญ่ถึงจะลดปริมาณนมที่ให้ เด็กมักจะไม่เลิกอาเจียน ถ้าเด็กท่าทางแข็งแรงดี ยิ้มเก่ง ถ่ายปกติ ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะนิสัยอาเจียนนมนี้ พอเด็กอายุได้ 3 เดือนจะหายไปเอง
สำหรับเด็กที่ไม่เคยอาเจียนนมมาก่อนเลย แล้วเกิดอาเจียนขึ้นมา ทั้งยังแสดงท่าเหมือนกับเจ็บปวดมาก ร้องทุรนทุราย คุณต้องรีบพาไปหาหมอทันที





76. ท้องเสีย

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ส่วนใหญ่จะอึเหลวเหมือนท้องเสีย บางทีมีก้อนสีขาวเหมือนเศษนมปน บางทีอึมีสีเขียว เมื่อเด็กอายุได้ 1-2 เดือน นมแม่ไหลมากขึ้น รูปร่างอุจจาระ อาจเปลี่ยนแปลงไปและเด็กอาจถ่ายบ่อยขึ้น จนแม่คิดว่า ท้องเสียจึงพาไปหาหมอ ถ้าหมอคนไหนสั่งให้งดนมแล้วให้น้ำเกลือ โดยไม่ได้สนใจชั่งน้ำหนักเด็กดูก่อน คุณแม่เลิกพาลูกไปหาหมอคนนั้นได้ ถึงแม้จะอึบ่อยและเหลว แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มดี เฉลี่ยวันละ 30-40 กรัม และเด็กดูท่าทางแข็งแรงดี แสดงว่าท้องไม่ได้เสีย (ดู 53 ท้องเสียใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 12)
ถ้านมแม่ไหลดีมากและน้าหนักเด็กเพิ่มวันละ 40 กรัมขึ้นไป ทั้งยังอึบ่อยมาก คุณแม่อาจลดนมที่ให้ลงบ้าง โดยให้น้ำต้มสุกผสมกลูโคสสัก 20 ซี.ซี. ก่อนให้นมแต่ละครั้ง เด็กจะอึน้อยลง






77. ท้องผูก

เกี่ยวกับปัญหาท้องผูกในเด็กอ่อน ขอให้ย้อนกลับไปอ่านหัวข้อ 54 ท้องผูก (ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 12) ด้วย สำหรับเด็กอายุ 1-2 เดือน ถ้าท้องผูก เราสามารถใช้น้ำผลไม้ช่วยได้ น้ำผลไม้อะไรจะได้ผลนั้น ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน บางคนให้น้ำส้มก็ได้ผล บางคนต้องใช้น้ำสับปะรด น้ำมะขาม ฯลฯ คุณแม่ลองให้น้ำผลไม้ตามฤดูกาลดูว่าชนิดไหนจะได้ผล ตอนแรกคั้นน้ำผลไม้ 20 ซี.ซี. ผสมน้ำต้มสุกประมาณ 10 ซี.ซี. ถ้าไม่ได้ผลก็ให้ดื่มน้ำผลไม้ล้วน ๆ โดยไม่ต้องทำให้จาง ถ้าให้วันละครั้งไม่ได้ผล ก็เพิ่มเป็นวันละ 2 ครั้ง ลองให้น้ำผลไม้หลายชนิดแล้วยังไม่ได้ผล ก็ลองให้ “ยาคูลท์” ประมาณ 20 ซี.ซี. ผสมน้ำต้มสุก 10 ซี.ซี. (เพราะให้ล้วน ๆ รสจะหวานจัดไปสำหรับเด็กอ่อน) ถ้ายังไม่ได้ผลอีก อาจลองให้นมเปรี้ยว (โยเกิร์ต) สัก 1-2 ช้อนชา แต่เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนให้ลำบากหน่อย เพราต้องป้อนด้วยช้อน ถ้าลองทุกอย่างแล้วท้องยังไม่หายผูก ก็ใช้วิธีสวนทวารเอา ไม่ควรใช้ยาถ่าย





78. เป็นผด

เด็กอายุ 1-2 เดือน มักจะเป็นผดที่หน้าและที่หัว (ดู 58 เป็นผดก้นแดง ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 12) คุณแม่ควรรักษาให้หายเสียตั้งแต่เพิ่งเริ่มเป็น โดยใช้ครีมที่เข้าตัวยาสเตอรอยด์ (เช่น ครีมเพร็ดนิโซโลน ขององค์การเภสัชกรรม) ทาบริเวณที่เป็น ผดจะหาย แต่ถ้าเป็นมากต้องให้หมอช่วยรักษา ซึ่งส่วนมากอาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผดบางชนิดก็หายยาก คุณแม่ต้องใจเย็น อย่าเร่งหมอนัก เพราะถ้าคุณแม่บ่นทุกครั้งที่พบหน้าหมอว่า ทำไมไม่หายสักที หมอบางคนอาจเกรงว่าเดี๋ยวคนไข้จะไม่เชื่อฝีมือ เลยเพิ่มยาแรงขึ้น

ถ้าเด็กเป็นผดบนหัวจนตกสะเก็ดติดหนังศีรษะ ไม่ควรพยายามเอาออก เพราะมันจะหายไปเอง และถ้าเด็กเป็นผด เฉพาะบนหัว แต่ที่อื่นไมได้เป็น ก็ปล่อยไว้โดยไม่ต้องทำอะไรก็ได้
สำหรับเด็กที่เป็นผดง่าย เวลาอาบน้ำไม่ควรใช้สบู่ ควรเปลี่ยนปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนบ่อย ๆ และไม่ควรให้ถูกแดดมากนัก เพราะจะทำให้เป็นผดมากขึ้น
เมื่อพยายามรักษาผดด้วยยาต่าง ๆ แล้วไม่หาย ถ้าเลี้ยงเด็กด้วยนมผง วิธีรักษาผดอย่างหนึ่งคือ ให้นมผงประเภทไม่มีไขมันผสมบางส่วน (เช่น ถ้าให้นมผง 7 ช้อน ก็ให้นมที่ไม่มีไขมันสัก 3-4 ช้อน) แต่ควรให้หมอเป็นผู้กำหนดให้จะดีกว่า
ในปัจจุบัน เรายังไม่มียาฉีดใด ๆ ที่จะรักษาผดให้หายขาดได้ เพราะฉะนั้นอย่าพาลูกไปเจ็บตัว โดยให้หมอฉีดยารักษาผลให้เป็นอันขาด





79. มีเสมหะ

เด็กอายุใกล้สองเดือนบางคน จะทำเสียงครืดคราดในคอเหมือนมีเสมหะติดอยู่ บางครั้งเวลาอุ้มจะได้ยินเสียงครืด ๆ เหมือนเสียงที่เราได้ยินเวลาเราแตะหลังแมว ตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืด เด็กจะไอแค้ก ๆ บางครั้งจะแหวะนมออกมาด้วยเวลาไอ
อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กแข็งแรงดี ยิ้มเก่ง กินนมเก่ง และไม่มีไข้ กล่าวคือไม่มีปัญหาอื่นใดนอกจากมีเสมหะ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องพาไปหาหมอ เพราะถ้าคุณแม่ตกใจ เมื่อเห็นลูกอาเจียนนมออกมาตอนไอแล้วพาไปหาหมอ หมออาจบอกว่าเป็น “หลอดลมอักเสบ” หรือเป็น “หืด” และอาจสั่งให้มาฉีดยารักษาจนกว่าจะหาย
ในจำนวนเด็กทั้งหมดที่มาหาหมอเด็ก (กุมารเวช) มีถึง 20-30% ที่มีเสมหะมาก การมีเสมหะมากก็เหมือนกัน การมีเหงื่อมากหรือมีน้ำลายมาก การมีเหงื่อมากไม่ใช่โรคฉันใด การมีเสมหะมากก็ไม่ใช่เรื่องเจ็บป่วยฉันนั้น
ถ้าเด็กไอมากจนกลางคืนนอนไม่หลับ เราอาจให้กินยาช่วย แต่ถ้าเพียงแต่มีเสียงครืดคราดในหน้าอกเท่านั้น ให้ถือเสมือนเด็กปกติ อย่าปฏิบัติต่อเด็กเหมือนคนป่วย เพราะวิธีรักษาเด็กมีเสมหะมาก ที่ดีที่สุดคือ ทำให้เนื้อเยื่อของหลอดลมแข็งแรงขึ้น โดยการให้ถูกอากาศนอกบ้าน ถ้าคุณแม่คิดว่าลูกเป็นคนป่วยให้อยู่แต่ในห้อง ไม่ให้ถูกอากาศภายนอกเด็กจะยิ่งอ่อนแอลง
 

การอาบน้ำให้เด็กที่มีเสมหะมากแบบนี้ อาบให้ได้เหมือนเด็กปกติ เว้นแต่เวลาที่อากาศเย็นจัดและกลางคืนไอมาก อาจงดอาบน้ำบ้าง อาการมีเสมหะมากของเด็ก มักจะเป็นอยู่เป็นเวลานานจนกว่าเด็กจะโตขึ้นและหลอดลมแข็งแรงขึ้น คุณแม่ไม่ควรกังวลในเรื่องนี้นักถ้าคุณพาลูกไปหาหมอเพราะเรื่องนี้ และปฏิบัติต่อเด็กเหมือนคนป่วย ในหนึ่งเดือนคุณจะต้องพาลูกไปฉีดยาบ้าง ไปให้หมอตรวจแล้วรับยามากินบ้างเสียครึ่งเดือน และโอกาสที่เด็กจะติดโรคอื่น ๆ จากร้านหมอก็มีอีกมากขึ้นเช่นกัน
ขอย้ำอีกทีว่า คนที่จะรู้ดีที่สุดว่าลูกของคุณป่วยหรือปกติคือคุณแม่ซึ่งเลี้ยงลูกอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง (เว้นแต่ว่าคุณแม่จะไม่ได้เลี้ยงลูกเอง) ถ้าไม่ใช่โรคประเภทวัณโรคหรือเนื้องอกแล้ว คุณแม่ดูด้วยตาก็จะรู้ว่าลูกของคุณป่วยหรือไม่ เพราะฉะนั้น ถึงจะมีใครบอกว่า ลูกคุณเป็นหืด คุณก็อย่าไปสนใจ






80. ร้องเก่ง (อุ้มติดมือ)

เด็กซึ่งร้องเก่งตั้งแต่ตอนอยู่โรงพยาบาล เมื่อกลับมาบ้านก็มักจะร้องเก่ง ตอนกินนมอิ่มใหม่ ๆ จะไม่ร้อง แต่พอกินเสร็จแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง จะเริ่มแผดเสียงร้องจนเหงื่อออก ถ้าฉี่เปียก เปลี่ยนผ้าอ้อมให้แล้วก็ยังไม่เงียบ จนคุณแม่สงสัยว่านมไม่พอหรืออย่างไร แต่ชั่งน้ำหนักดู น้ำหนักก็เพิ่มดีวันละ 30-35 กรัม แสดงว่านมพอ ไม่ได้ร้องเพราะผิว ท้องก็ไม่อืด อุจจาระทุกวันเป็นปกติ ถ้าเป็นฤดูหนาว คุณแม่อาจคิดว่าร้องเพราะหนาว ห่มผ้าให้ก็ไม่หายร้อง ถ้าอากาศร้อน พัดให้ก็ไม่หยุดร้อง คือทำยังไง ๆ ก็ยังร้องอยู่นั่นเอง แต่พอคุณแม่อุ้มจะเงียบหยุดร้องไห้ แต่คุณแม่จะอุ้มทั้งวันก็ไม่ไหว พอวางลงจะร้องอีก ร้องกวนอย่างนี้ทั้งวัน แต่กลางคืนกลับนอนหลับดี พอไปให้หมอตรวจ หมอก็ไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ
เด็กร้องเก่งแบบนี้ ใน 20 คนจะมีสักคนหนึ่ง คนอื่นอาจจะหาว่าแม่เลี้ยงไม่เป็นลูกเลยร้องทั้งวัน คุณแม่เอง อาจสงสัยว่าเป็น กรรมพันธุ์ทางพ่อหรืออย่างไรถึงได้ร้องเก่งนัก เมื่อลูกร้องบ่อย แม่ก็ชักโมโห พอแม่โมโห ลูกเลยร้องหนักเข้าไปอีก เป็นอยู่อย่างนี้เป็นประจำ เด็กร้องเก่ง เป็นนิสัยแบบนี้ เวลาไม่ร้องจะอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง น่ารักทีเดียว

ถ้าเด็กร้องเพราะป่วย (เช่น เป็นโรคพิการทางสมองบางชนิด) จะร้องทั้งวันทั้งคืนไม่หยุด และไม่มีเวลาอารมณ์ดีเลย
คุณย่าคุณยายมักจะเตือนคุณแม่ไม่ให้อุ้มลูกบ่อย ๆ เพราะจะติดมือต้องอุ้มตลอดเวลา อันที่จริงเรื่องนี้มันตรงกันข้าม กล่าวคือ ไม่ใช่เพราะอุ้มตลอดเวลาจนติดมือเลยวางไม่ได้ แต่เป็นเพราะเด็กร้องเก่งแบบนี้วางไมได้ เลยต้องอุ้มอยู่ตลอดเวลา นิสัยร้องเก่งนี้จะไม่ติดเป็นนิสัยไปตลอดชีวิตอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กร้อง คุณแม่ควรอุ้มจะดีกว่า อุ้มพาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ชมนกชมไม้สักพักค่อยพากลับบ้าน เด็กจะรู้สึกเหนื่อยและนอนหลับดี ไม่กวน วิธีกล่อมลูกร้องเก่งอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนที่มีรถคือ พาขึ้นรถขับออกไปนอกบ้านสักพักเด็กก็จะหลับ
คุณแม่อย่ากลัวเรื่อง “อุ้มติดมือ” แล้วปล่อยให้เด็กร้องเป็นเวลานาน ๆ ถึงแม้ว่าการปล่อยให้เด็กร้องนาน ๆ จะไม่ทำให้เด็กถึงกับชักหรือสมองเสื่อม แต่ก็ทำให้เด็กสะดือจุ่นได้





81. เด็กร้องจ้าเหมือนเจ็บปวดอย่างกะทันหัน

ในขณะที่นอนหลับเพลินอยู่หรือกำลังเล่นอารมณ์ดีอยู่ แล้วเด็กร้องไห้จ้าขึ้นมาอย่างกะทันหันเหมือนเด็กรู้สึกเจ็บปวดมาก ให้สงสัยไว้ก่อนว่า อาจเป็นโรคลำไส้อุดตัน เพราะถ้าเป็นโรคนี้และปล่อยไว้ เด็กจะมีอันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าร้องด้วยสาเหตุอื่นแล้ว แม้จะปล่อยไว้เด็กก็ไม่ถึงตาย
สาเหตุที่ลำไส้อุดตันซึ่งพบบ่อยที่สุดคือ ไส้เลื่อนไปติดค้าง (incarcerated hernia) จะเกิดขึ้นได้ง่ายบริเวณขาหนีบ (บริเวณข้าง ๆ อวัยวะเพศ) ถ้าเกิดไส้เลื่อนไปติดค้าง บริเวณนั้นจะบวมแข็ง เมื่อกดดูลำไส้ก็จะไม่กลับเข้าท้อง
สะดือจุ่น คือ ไส้เลื่อน (hernia) ชนิดหนึ่ง และบางครั้งลำไส้อาจติดค้างในสะดือโป่ง (หรือจุ่น) เวลาเด็กร้องไห้จ้าอย่างกะทันหันขึ้นมาเมื่อไร คุณแม่ต้องตรวจดูสะดือ ถ้ากดดูแล้วลำไส้ไม่กลับเข้าท้องเหมือนปกติ ก็แสดงว่าลำไส้ติดค้าง

ถ้าเด็กเป็นโรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) เด็กจะรู้สึกเจ็บปวดมาก ถ้าให้กินนมจะอาเจียนออกมาหมด และเด็กจะร้องงอหายทุก 5-10 นาที เด็กอายุระหว่าง 1-2 เดือนมักไม่เป็นโรคนี้ แต่เด็กบางคนก็อาจเป็นได้
ถ้าเด็กเป็นโรคไส้เลื่อนติดค้าง หรือโรคลำไส้กลืนกัน ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที ถ้าพาไปเร็วอาจไม่ถึงกับต้องผ่าตัด ในกรณีที่เด็กเกิดอาการของโรคนี้ เด็กจะแสดงสีหน้าว่ารู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง คุณแม่ดูหน้าลูกจะรู้ทันทีว่าลูกมีอาการผิดปกติมาก

มีโรคอีกชนิดหนึ่งซึ่งถ้าเด็กเป็นแล้วจะร้องไห้จ้าเหมือนเด็กที่เป็นโรคลำไส้กลืนกัน เรียกว่า โรคปวดท้องในเด็กอ่อน (infantile colic) แต่โรคนี้ปล่อยไว้ก็จะหายเอง โรคนี้อาจเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 1 เดือนได้ แต่จะเป็นมากกับเด็กอายุ 2 เดือน และเป็นได้ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย เด็กที่เป็นโรคนี้จะร้องอย่างเจ็บปวดเหมือนกับเด็กที่เป็นโรคลำไส้กลืนกัน แต่อาการร้องไม่เหมือนกัน เด็กที่เป็นโรคลำไส้กลืนกันจะร้องไห้อยู่หลายนาที (5-10 นาที) แล้วพักไปสักครู่แล้วจะร้องอีก สลับกันไปเช่นนี้ จนกระทั่ง เด็กค่อย ๆ อ่อนแรงลง ถ้าให้นมก็จะอาเจียนจนหมดแรงแต่ถ้าเด็กเป็นโรคปวดท้องในเด็กอ่อน เด็กจะร้องไห้ติดต่อกันนานกว่า คือ ประมาณ 20-30 นาที พอหยุดร้องเด็กจะกลับร่าเริงเหมือนเดิม กินนมได้เป็นปกติ ถ่ายอุจจาระปกติ และอาการทุกอย่างเหมือนเด็กปกติอยู่หลายชั่วโมงจนกว่าอาการของโรคจะปรากฏขึ้นมาอีก เด็กจะไม่อาเจียนนมและหน้าจะไม่เขียว

ถ้าเด็กเป็นโรคปวดท้องในเด็กอ่อน ตอนแรกคุณแม่จะตกใจพาไปหาหมอ พอไปถึงร้านหมอเด็กกลับหายเป็นปกติ หมอตรวจดูก็ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่พอกลับบ้านก็จะเป็นอีก เด็กจะมีอาการร้องรุนแรงวันละ 2-3 ครั้งติดต่อกันหลายวัน บางครั้งถ้าคุณแม่พาเดินเล่นนอกบ้านหรือเล่นด้วย อาจหยุดร้อง แต่บางครั้งก็ไม่ได้ผล
สาเหตุของโรคนี้เรายังไม่ทราบ แต่เด็กจะหายจากโรคนี้เมื่ออายุพ้น 3 เดือน (ชาวบ้านเรียกว่า เด็กร้อง 3 เดือน) ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาและอาบน้ำให้ได้ตามปกติ ควรให้น้ำผลไม้ด้วยเพื่อให้ถ่ายสะดวก
คุณแม่ไม่ควรให้ลูกถ่ายเอ๊กซเรย์บริเวณท้องโดยไม่จำเป็นเพราะไม่ปลอดภัยเนื่องจากอาจมีผลต่อลูกอัณฑะ หรือรังไข่ของเด็ก
สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กร้องอย่างรุนแรง ไม่หยุดคือ เด็กเป็นโรคหูอักเสบหรือมีแมลงเข้าไปในหู

 

ข้อมูลสื่อ

15-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 15
กรกฎาคม 2523