• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัญหาลูกไม่กินข้าว

ปัญหาลูกไม่กินข้าว

ท่านผู้อ่านที่กำลังเป็นพ่อหรือแม่คงจะยอมรับว่า “ปัญหาลูกไม่กินข้าว” คือ ปัญหาสำคัญสำหรับเด็กวัยตั้งแต่ขวบกว่า ไปจนถึง 3-4 ขวบ หรือช่วงวัยก่อนเข้าโรงเรียน (เด็กทารกต่ำกว่า 1 ขวบ) ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องกินมากนัก ด้วยเป็นวัยที่ไร้เดียงสา ไม่สามารถโต้ตอบหรือปฏิเสธสิ่งที่พ่อแม่หยิบยื่นให้ เมื่อให้อาหารเด็กจะกินโดยไม่คำนึงถึงรสชาติ แต่เมื่อเด็กเริ่มรู้ความ เริ่มพูดได้ ก็ถึงวาระของการ ‘ปฏิเสธ’ สิ่งต่างๆ ที่แกไม่พึงประสงค์

สิ่งแรกที่สุดที่เด็กวัยนี้ ‘ส่ายหัว’ ทันทีที่เห็น ก็คือ “ข้าว” คุณแม่บางคนเพียรพยายามทำกับข้าวที่คิดว่าลูกต้องชอบ และทำอย่างสุดฝีมือ หรือใช้เวลานานนับชั่วโมงเพื่อจะตุ๋นไก่ให้หอมหวาน ผลปรากฏว่า คุณลูกกินเข้าไป 1 คำแล้วไม่ยอมกินอีกเลย

ยามเมื่อลูกไม่กินข้าว คนที่เป็นทุกข์เป็นร้อนนักหนา ก็คือ พ่อแม่ ส่วนเจ้าตัวกลับมีความสุขสบายตามเดิม มิได้ไยดีต่อกระเพาะของตนเลย บางคนจะร้องขอนม ขนมปังเพิ่ม เมื่อเกิดความรู้สึกหิว ซึ่งพ่อแม่ก็อาจจะต้องยอมให้เขากินเพิ่มขึ้นตามสมควร

ดิฉันก็เป็นแม่ที่ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน เมื่อลูกมีอายุได้ขวบกว่าๆ แกเริ่มปฏิเสธอาหารที่เคยกินมาตั้งแต่เล็ก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ แกยังกินอาหารได้ดีทุกมื้อ จนใครๆ บอกว่า “เลี้ยงง่าย...กินง่าย” ดิฉันกลุ้มใจมาก คิดไม่ตกเอาทีเดียว ดิฉันเริ่มศึกษาหาความรู้จากหนังสือของนักจิตวิทยา นักโภชนาการ กุมารแพทย์ พร้อมทั้งอาศัยสามัญสำนึกของความเป็นคน และความเป็นแม่เข้ารวมๆ กัน จนได้ข้อปฏิบัติของตัวเองออกมา 3-4 ประการ ซึ่งทดลองทำแล้ว ได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ จึงใคร่จะเผยแพร่ให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายได้ทราบ เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างเล็กๆ น้อยๆ ดังนี้

ประการแรก ท่านจะต้องทำตัวเป็นนาฬิกาสำหรับลูก เพราะเด็กไม่รู้เวลา! ดังนั้น เขาไม่ทราบหรอกว่า “นี่เที่ยงแล้วนะ กินข้าวกันเถอะ” เด็กจึงเล่น...เล่น...เล่น...ตลอดเวลาที่แกตื่นอยู่ และหยุดเล่นเพื่อจะกินเมื่อหิวจัด ขณะนั้นนมย่อมเร็วที่สุด...สะดวกที่สุด ที่จะประทังความหิว เพราะไม่ต้องเสียเวลาเคี้ยวให้ยุ่งยาก แถมยังได้ดูด ซึ่งทำให้เกิดความสุขทางใจอีกด้วย กินนมแล้วก็อิ่ม ข้าวจึงถูกส่ายหน้าทันทีที่เห็น

การแก้ปัญหา ก็คือ พ่อแม่ต้องกำหนดเวลาอาหารทั้ง 3 มื้อก่อนจะถึงเวลาให้นม เช่น ตื่นเช้าให้ข้าวมื้อเช้าทันที ให้มื้อกลางวันประมาณ 11.00 น. และมื้อเย็นประมาณ 17.00 น. ถึง 18.00 น. และข้อสำคัญ ไม่ว่าลูกจะกินข้าวได้มากหรือน้อย หรือไม่กินเลย ท่านก็จะต้องนำอาหารทั้ง 3 มื้อมาให้เขาให้ตรงเวลาทุกๆ วัน เด็กจะเรียนรู้ด้วยตนเองว่าเป็นเวลากินข้าว เป็นการฝึกนิสัยให้กินเป็นเวลาไปในตัว พ่อแม่บางคนพอลูกไม่กินข้าว เลยไม่ให้เสียทุกมื้อ อย่างนี้ถือว่าผิด เพราะเด็กจะกินขนม...กินนมไปเรื่อยเปื่อยจนเคยตัว กลายเป็นคนกินจุบกินจิบ

ประการที่สอง ให้อาหารที่ลูกชอบ ท่านต้องสังเกตว่าลูกชอบกินอะไร บางคนชอบไข่ต้ม บางคนชอบไก่อบ บางคนชอบปลาทู ถ้าเด็กชอบอะไร ท่านควรจะให้เขากินสิ่งนั้นไปเรื่อยๆ เพราะถ้ายังเป็นของชอบละก็ เด็กจะกินได้ทุกวัน อย่าพะวงว่าลูกจะเบื่อ ตราบใดที่เขายังร้องกินอยู่แสดงว่าเขายังต้องการมัน แต่ต้องพยายามเติมผักหรืออาหารอื่นๆ ให้ลูกได้กินสารอาหารที่ครบ ถ้าขณะนี้ยังไม่ทราบว่าลูกชอบอะไร ท่านต้องพยายามทดลองเปลี่ยนเปลี่ยนรายการอาหารไปเรื่อยๆ แล้วจะพบในที่สุด ข้อนี้อาจจะต้องใช้ความอดทนพอสมควร แต่ผลสำเร็จนั้นคุ้มค่ามากทีเดียว

ประการที่สาม ให้อาหารที่ท่านกินเองได้ เด็กวัยนี้เรียนรู้เรื่องความอร่อยและไม่อร่อยได้ดี ดังนั้น อาหารที่เละเทะไม่มีรสชาติแบบอาหารเด็กเล็ก ถึงแม้จะมีคุณค่าทางโภชนาการมากแค่ไหน ถ้าท่านกินเองไม่ได้ก็พึงระลึกไว้เลยว่า ลูกก็กินไม่ได้เหมือนกัน ประโยชน์ที่พลอยได้ของข้อนี้ ก็คือ ท่านสามารถทำอาหารสำหรับทุกๆคนในครอบครัวได้โดยไม่ต้องแยกว่า อันนี้ของเด็ก อันนี้ของผู้ใหญ่ ท่านอาจจะทำผัดผักต่างๆ ไข่เจียว ไข่ยัดไส้ หมูสับทอด ปลานึ่ง เป็นต้น เป็นกับข้าวร่วมวัย 1 อย่าง แล้วเพิ่มพวกแกง น้ำพริก ผัดเผ็ด อีกอย่างหรือสองอย่าง ก็เป็นกับข้าวหนึ่งมื้อที่เพียงพอแล้วสำหรับครอบครัวฐานะปานกลาง ควรฝึกลูกให้กินง่ายอยู่ง่าย จะทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในอนาคต

ประการที่สี่ สร้างบรรยากาศที่ช่วยเจริญอาหาร บางคนจะกินข้าวต้องมีเพลงเบาๆ บางคนต้องจัดโต๊ะอาหารสวยงาม หรืออย่างน้อยสำหรับคนทั่วๆ ไป สิ่งสำคัญที่สุดก็เห็นจะเป็น “อารมณ์ดีๆ” ลองโกรธใครมาหรือว่ามีเรื่องผิดหวัง...เสียใจ ข้าวปลาพาลกลืนไม่ลงเอาดื้อๆ เด็กๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าต้องถือไม้กำกับชามข้าวละก็ คงกินได้แค่น้ำตาเท่านั้น เวลากินข้าวจึงควรเป็นเวลาที่มีความสุขของครอบครัว เป็นเวลาที่จะได้พูดคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูก

ถ้ายังต้องป้อนอยู่ก็อาจจะมีการเล่านิทาน หรือเล่นของเล่นบางอย่าง แต่คงไม่ใช่วิ่งเปรี้ยว หรือวิ่งไล่จับ เพราะผู้ป้อนอาจเป็นลมเสียก่อนลูกจะอิ่ม บางครั้งอาจจะมีการป้อนตุ๊กตาของลูก หรือยอมให้พามานั่งกินข้าวด้วยเป็นกำลังใจ เมื่อลูกโตพอจะตักอาหารกินเองได้ ควรให้กินพร้อมกับพ่อแม่เป็นการฝึกการกินให้เป็นที่เป็นทาง และได้สอนมารยาทการกินอาหารไปทีละเล็กละน้อยจนเป็นนิสัย จะได้เป็นเสน่ห์ประจำตัวของลูกในการเข้าสังคมต่อไป เด็กจะรู้สึกอบอุ่น และสนุกไปกับการกินอาหารร่วมกับทุกๆ คนในครอบครัว

สำหรับท่านที่ประสบปัญหาเรื่องลูกไม่กินข้าว ดิฉันก็ขอเสนอแนะวิธีทั้ง 4 ประการนี้ด้วยความปรารถนาดี ทดลองทำแล้วได้ผลอย่างไร หรือมีแนวคิดข้อแนะนำแก้ไขอย่างไร จะกรุณาเขียนบอกผ่าน “หมอชาวบ้าน” มาก็จะเป็นพระคุณยิ่ง สุดท้ายนี้ ก็ขอแสดงความยินดีถ้าเจ้าตัวน้อยๆของท่านไม่ส่ายหัวเวลากินข้าวอีกแล้ว

ข้อมูลสื่อ

128-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 128
ธันวาคม 2532
แม่ลูกดก