• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีอาบน้ำเด็ก

วิธีอาบน้ำเด็ก

ท่านที่กำลังเป็นคุณแม่ ควรจะได้เตรียมตัวให้พร้อมในการดูแลลูกน้อยที่กำลังจะคลอดในไม่ช้า ดังนั้น เราขอเสนอวิธีอาบน้ำเด็กแก่ท่าน ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านบ้าง

ในเด็กแรกคลอด จะอาบเพียงครั้งเดียวในวันแรก ส่วนใหญ่พยาบาลจะอาบให้เรียบร้อยไม่มีปัญหา แต่หลังจากนั้นแล้ว มารดาจะต้องช่วยตัวเอง ดังนั้น อาจจะสงสัยว่าจะอาบกี่ครั้งดี ขอแนะนำว่าควรอาบอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือจะถือหลักว่าอาบก่อนให้นมมื้อสาย บ่าย ค่ำ 3ครั้งก็ได้ จากนั้นก็ให้เด็กดูดนม ซึ่งเด็กมักจะนอนในช่วงนี้พอดี จะใช้น้ำร้อนหรือน้ำเย็นดี สำหรับทารกแรกคลอดควรใช้น้ำอุ่นดีที่สุด แต่ถ้าเด็ก ซึ่งอายุหลัง 1 เดือนไปแล้ว อาจจะใช้น้ำประปาธรรมดาได้ในวันที่อากาศร้อน เช่นช่วงบ่าย ๆ แต่ไม่ควรให้ลมโกรกเวลาอาบน้ำ เพราะเด็กจะหนาวสั่นได้
การอาบน้ำเด็กที่สะดือยังไม่หลุด ไม่ควรนำเด็กลงแช่ในอ่างเพราะถือว่าสะดือเด็กก็คือแผลที่กำลังตกสะเก็ต ซึ่งเชื้อโรคอาจเข้าไปตามเส้นเลือดที่สะดือ เข้าไปสู่ตัวเด็กได้ง่าย แต่ถ้าสะดือถูกน้ำภายหลังอาบน้ำเสร็จ ก็ควรเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ให้แห้ง



ขั้นตอนต่าง ๆ ในการอาบน้ำเด็ก
1. ผู้ที่อาบน้ำเด็กควรล้างมือให้สะอาด

2. ห่อตัวเด็กโดยเก็บแขนแนบลำตัวทั้งสองข้าง เหลือเฉพาะส่วนศีรษะ

3. ทำความสะอาดตา โดยใช้สำลีชุบน้ำสุก บีบหมาด ๆ เช็ดตาข้างที่สะอาดมากกว่าก่อน และเช็ด
จากจุดที่สะอาดกว่าไปหาจุดที่สะอาดน้อยกว่า สำลีที่เช็ดตาแต่ละข้างเมื่อใช้แล้วให้ทิ้งไปเลย เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากตาที่มีเชื้อมาสู่ตาข้างที่ดี เสร็จแล้วทำความสะอาดใบหน้าทั่ว ๆ ไป อาจใช้ฟองน้ำสำหรับอาบน้ำเด็กหรือผ้าขนหนูก็ได้ บิดน้ำให้หมาด ๆ เช็ดตามบริเวณหน้า มุมปาก ซอกคอ ซอกหู จมูก ใช้ไม้จิ้มฟันพันสำลี จะทำเองหรือซื้อตามท้องตลาดก็ได้ นำมาจุ่มน้ำพอหมาด ๆ แล้วเช็ดในรูจมูกเอาน้ำมูกที่แห้งติดอยู่ออก

4. วิธีสระผม ในรายที่หนังศีรษะเป็นสะเก็ดดำ ๆ ให้ทาด้วยน้ำมันมะกอกทิ้งไว้ก่อน 30 นาที แล้ว
จึงสระออก ก่อนสระผมให้อุ้มเด็กมาหนีบไว้ข้างลำตัวข้างซ้าย แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วนางของมือข้างซ้าย กดใบหูให้ทับรูป้องกันน้ำเข้าหู อาจจะใช้สำลีอุดไว้ก็ได้ในรายที่นิ้วสั้นไม่สามารถกดใบหูปิดได้ จากนั้นก็วักน้ำใส่ผม แล้วใช้ผ้าถูกับก้อนสบู่ นำมาถูที่ศีรษะเด็กให้เกิดฟอง ใช้นิ้วมือข้างขวาคลึงตามหนังศีรษะเบา ๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้นด้วย ไม่ควรใช้เล็บที่ยาว ๆ เกาหนังศีรษะเพราะจะทำให้หนังศีรษะถลอกเป็นแผลได้ สระผมเสร็จคลี่ผ้าที่ห่อตัวเด็กเช็ดศีรษะให้แห้ง

5. ทำความสะอาดลำตัว แขน ขา วางตัวเด็กลงบนเตียง หรือเบาะที่ปูด้วยผ้ายางกันเปียก เอาผ้าที่ห่อ
ตัวเด็กออกให้หมด ใช้ฟองน้ำหรือผ้าขนหนูชุบน้ำ เช็ดตามตัวก่อน แล้วจึงฟอกสบู่ วิธีฟอกก็เช่นเดียวกับการสระผมคือนำผ้าหรือฟองน้ำถูสบู่ก่อนแล้วนำมาถูเด็ก ฟอกตามซอกคอ รักแร้ ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้าทั้งด้านหน้าด้านหลัง เสร็จแล้ว อวัยวะเพศควรเช็ดให้สะอาดด้วย เพราะอวัยวะเพศนี้มักมีสิ่งสกปรกหมักหมมได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ควรใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดตรงกลาง และใช้นิ้วมือแหวกแคมทั้งสองข้างออกแล้วเช็ดให้สะอาด เมื่อฟอกสบู่ตามส่วนต่าง ๆ ครบแล้ว ใช้ฟองน้ำหรือผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดสบู่ตามตัวออกให้หมด อย่างคร่าว ๆ ก่อน จากนั้นประคองเด็กวางลงในอ่างซึ่งอาจจะเป็นอ่างพลาสติคที่มีขายทั่ว ๆ ไปตามท้องตลาด (ราคาถูก) หรือจะใช้อ่างสำหรับอาบน้ำเด็กโดยเฉพาะก็ได้ เพราะมีที่วางสบู่ด้วย แต่ขอแนะนำใช้อ่างพลาสติคธรรมดาดีกว่า ประหยัดกว่า และใช้อาบได้ดีพอ ๆ กัน ล้างสบู่ออกให้เกลี้ยง แล้ว รีบนำเด็กขึ้น ห่อผ้าให้เพื่อให้เกิดความอบอุ่น (ไม่ควรแช่เด็กนานเกิน 10 นาที เพราะเด็กจะหนาวได้ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำเริ่มลดลง น้ำจะเย็นจึงทำให้เด็กหนาวได้) เช็ดตามตัวให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ ข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ เพราะถ้าไม่แห้งแล้ว เมื่อถูกับแป้งจะทำให้ชื้น จะเป็นสาเหตุให้บริเวณนั้นเปื่อยง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่เจ้าเนื้อต้องดูแลเป็นพิเศษ

6. ทาแป้ง ระวังเด็กจะจามเพราะแป้งเข้าจมูกก่อนทาตามตัวเด็ก ให้เทแป้งลงบนฝ่ามือก่อนแล้วจึง
ค่อย ๆ ทาไปบนตัวเด็กตามส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการ เช่น ที่ใบหน้า ซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ยกเว้น สะดือ (ในรายที่สะดือยังไม่หลุด) ในรายที่เด็กอ้วน ซอกคอ ขาหนีบ ข้อพับ จำเป็นมากเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนัง

7. แต่งตัว ให้ใส่เสื้อผ้า ผ้าอ้อม แล้วหวีผมให้เรียบร้อย เสื้อผ้าสวมใส่ตามฤดูกาล อากาศเย็นควรใส่
ผ้าที่หนา ๆ หลายชั้น และใส่ถุงเท้าถุงมือด้วย ถ้าอากาศร้อน ถุงเท้าถุงมือไม่จำเป็น

8. เช็ดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ 70% ในรายที่สะดือยังไม่หลุด หรือเพิ่งหลุดใหม่ ๆ ยังมีน้ำเหลืองอยู่
วิธีเช็ด เช็ดจากโคนสะดือขึ้นไปหาส่วนปลาย โดยจับปลายสะดือดึงขึ้นเล็กน้อย ให้เห็นส่วนโคนสะดือได้ชัด เพื่อสะดวกในการทำความสะอาด ไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะเจ็บหรือปวดท้องเวลาเช็ดสะดือเด็ก เพราะว่าบริเวณนี้ไม่มีเส้นประสาทมาเลี้ยง เด็กจึงไม่เจ็บ แต่เด็กอาจจะร้องบ้าง เนื่องจากแอลกอฮอล์เย็นทำให้เด็กสะดุ้งตกใจร้องได้ เช็ดเสร็จแล้วปล่อยให้แห้ง บางครั้งจะสังเกตเห็นมีเลือดซึม ๆ ปนกับน้ำเหลือง ในระยะที่สะดือใกล้จะหลุดได้ ส่วนมากสะดือจะหลุดภายในเวลา 7-14 วัน (โดยประมาณ) ทุกครั้งที่เช็ดสะดือควรสังเกตดูรอบ ๆ สะดือว่ามีอาการบวมแดงหรือไม่ ถ้าแดงมาก แสดงว่าอักเสบ อาจจะเกิดการติดเชื้อเข้าทางสะดือได้ ควรนำเด็กไปพบหมอ ส่วนมากถ้าติดเชื้อ เด็กมักจะมีไข้ร่วมด้วย

 

                                                          ข้อควรระวังในการอาบน้ำเด็ก

1. ระวังน้ำเข้าหู เวลาสระผม เมื่อน้ำเข้าหู อาจทำให้เป็นน้ำหนวกได้

2. ระวังสบู่เข้าตาเข้าปากเวลาสระผมหรือเวลาทำความสะอาดนิ้วมือเด็ก เพราะเด็กชอบดูดนิ้วมือ
ตัวเอง

3. ในรายที่ผิวหนังแห้งหรือผิวหนังลอกไม่ควรใช้สบู่ฟอก ควรใช้น้ำอุ่นเช็ดหรืออาบ เสร็จแล้วทา
ผิวหนังด้วยน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์แต่เพียงบาง ๆ ก็พอ เพื่อช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น

4. ในรายที่มีไข้สูง ไม่ควรอาบน้ำ ควรเช็ดด้วยน้ำอุ่นก็พอ แต่ถ้าเป็นไข้อยู่หลายวัน บางครั้งอาจจะ
เหนียวตัวจะใช้สบู่ก็ได้ไม่มีอันตรายใด ๆ เสร็จแล้วก็ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดสบู่ออกให้หมด ก็ทำให้ร่างกายสะอาดได้เช่นเดียวกับอาบน้ำ

5. ในรายที่เป็นหวัดเล็กน้อยไม่ได้สระผมหลายวัน จะสระผมให้ด้วยก็ได้ แต่หลังสระผมแล้วต้องรีบเช็ด
ให้ผมแห้งในทันที

6. ทุกครั้งก่อนอาบน้ำควรทดสอบความอุ่นของน้ำโดยใช้หลังมือทดสอบ (เพื่อมิให้น้ำร้อนหรือเย็นเกิน
ไป)

7. ในรายที่ลิ้นไม่เป็นฝ้า ไม่ควรทายาสีม่วง (เจนเชี่ยนไวโอเลต) เพื่อป้องกันฝ้า เพราะไม่มีประโยชน์
นอกจากจะทำให้เด็กรำคาญแล้ว เด็กจะไม่ยอมดูดนมด้วย ในรายที่เป็นฝ้าจากคราบนม ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำสุกบิดหมาด ๆ แล้วพันกับนิ้วมือที่สะอาดกวาดบนลิ้นเด็ก ก็จะทำให้คราบนั้นหลุดไปได้ แต่ถ้าเป็นฝ้าที่เกิดจากเชื้อรามักจะเกาะติดกับลิ้นแน่น เช็ดอย่างเดียวไม่พอควรทาด้วยเจนเชี่ยนไวโอเลตด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

16-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 16
สิงหาคม 2523
พยาบาลในบ้าน
ลลิตา อาชานานุภาพ