• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

             




การเลี้ยงดู


85 เลี้ยงด้วยนมแม่

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่และนมแม่ไหลดีนั้น ช่วงระยะอายุ 2-3 เดือน เป็นระยะที่ไม่ค่อยเป็นโรค น้ำหนักเด็กจะเพิ่มเฉลี่ยวันละประมาณ 30 กรัม ( 5 วัน 150 กรัม )ความสูงจะเพิ่มเดือนละประมาณ 2 เซนติเมตร ถ้าเด็กกินนมได้มากขึ้น ช่วงห่างระหว่างมื้อนมจะยาวขึ้น เช่น เมื่อก่อนเคยหิวทุก 3 ชั่วโมง อาจยืดเป็น 4 ชั่วโมง หรือบางครั้งถึง 5 ชั่วโมง ถ้าเด็กนอนหลับอยู่ แม้จะถึงเวลาให้นมก็ไม่ควรปลุกขึ้นมากินนม ควรปล่อยให้นอนต่อไป ถ้าคุณปลุกลูกขึ้นมากินนมทุก 3 ชั่วโมง คุณก็จะไม่รู้สึกสักทีว่าเด็กสามารถกินนมได้มากขึ้น และยืดเวลาระหว่างมื้อนมได้
เด็กบางคนน้ำหนักตัวเพิ่มน้อย แต่ไม่ค่อยกินนม ถึงเวลานมแล้วก็ยังไม่ร้อง เป็นเด็กประเภทกินน้อยและนอนเก่ง เด็กแบบนี้ ถ้าคุณปลุกให้กินนมทุก 3 ชั่วโมง เด็กจะกินนมแต่ละมื้อน้อยลง รวมปริมาณนมที่กินในแต่ละวันแล้ว จะไม่แตกต่างกับที่คุณจะปล่อยให้เด็กตื่นขึ้นมากินเอง และถึงแม้คุณจะเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมวัว เด็กก็จะกินแต่ละมื้อไม่ถึง 120 ซี.ซี.

คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่บางคน เมื่อพ้นสองเดือน นมแม่จะไหลน้อยลง คุณแม่จะรู้สึกด้วยตนเองว่านมน้อย แต่ถ้าจะให้แน่นอน ควรชั่งน้ำหนักเด็กดู ถ้าเมื่อก่อนเคยเพิ่ม 150 กรัมทุก 5 วัน แล้วกลับเพิ่มเพียง 100 กรัม แสดงว่านมไม่พอแน่ และเมื่อเกินสองเดือนแล้ว ไม่ว่าจะนวดเต้านมหรือจะกินแกงเลียง เพื่อให้มีน้ำนมมากขึ้น ก็ไม่ค่อยได้ผลเสียแล้ว
ทางฝ่ายลูก ก็จะแสดงให้เห็นว่านมแม่ไม่พอ โดยร้องหิวบ่อยขึ้น ตอนกลางคืน ถ้าเคยตื่นกินนมหนเดียว จะตื่นร้องหิวถึง 2-3 หน แสดงว่านมแม่ไม่พอ ถ้าเป็นเช่นนี้ คุณลองให้นมวัวเพิ่มสัก 1 มื้อ โดยชงให้ 150 ซี.ซี. และเลือกให้ตอนที่นมแม่ไม่ค่อยคัด (ส่วนใหญ่จะเป็นช่วง 4-6 โมงเย็น) เด็กอาจกินไม่หมด 150 ซี.ซี. แต่ถ้าดูท่าทางเด็กรู้สึกอิ่ม ก็พอแค่นั้นไม่ต้องบังคับให้กินให้หมด

เมื่อเพิ่มนมวัวให้วันละมื้อแล้วเด็กไม่ร้องก็ให้วันละมื้อต่อไป แต่ถ้าน้ำหนักเด็กเพิ่มเพียงวันละ 20 กรัม ควรเพิ่มนมวัวให้อีกมื้อหนึ่ง เป็นวันละ 2 มื้อ และถ้าเพิ่มให้ 2 มื้อแล้ว แต่น้ำหนักเพิ่มเพียง 100 กรัมใน 5 วัน ให้เพิ่มนมวัวเป็น 3 มื้อ ถึงแม้เด็กจะกินนมเก่ง เราไม่ควรให้นมแต่ละมื้อเกิน 150 ซี.ซี. และน้ำหนักเพิ่มเฉลี่ยไม่ควรเกินวันละ 40 กรัม (5 วัน 200 กรัม) ถ้าให้นมวัววันละ 2-3 มื้อ แล้วน้ำหนักเพิ่มประมาณวันละ 30 กรัม ก็ใช้ได้
เด็กที่เคยเลี้ยงด้วยนมแม่ล้วน ๆ ไม่ได้ให้ของอื่นเลย เมื่อต้องให้นมวัววันละ 3 มื้อ ควรให้กินวิตามินซีเพิ่ม (ให้น้ำผลไม้หรือวิตามินซี วันละ 30 มิลลิกรัม ขึ้นไปหรือวิตามินรวม วันละ 0.25 ซี.ซี.)
เด็กซึ่งเคยกินแต่นมแม่บางคน ไม่ชอบหัวนมยาง คุณแม่ควรให้กินนมจากขวดตอนที่เด็กรู้สึกหิวมากหน่อย และไม่ควรบังคับให้กินโดยการฝืนตุนหัวนมใส่ปาก เด็กอาจไม่ชอบรูปร่างหรือความแข็งของหัวนมบางชนิด ควรลองดูหลาย ๆ ชนิด ไม่ควรให้นมวัวตามหลังนมแม่ ควรให้สลับมื้อกันดีกว่า เพราะถ้าให้กินนมจากขวดตามหลังนมแม่ เด็กจะรู้สึกเปรียบเทียบระหว่างหัวนมแม่กับหัวนมยาง และจะไม่ชอบหัวนมยาง นอกจากนั้น รสนมวัวกับรสนมแม่ ยังไม่เหมือนกันอีกด้วย

มีเด็กน้อยคนที่จะปฏิเสธนมวัวตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่จะกินนมวัวไปสักระยะหนึ่ง แล้วอยู่ๆ ก็ไม่ยอมกินขึ้นมา ทำให้คุณแม่ตกใจ เพราะที่ให้นมวัวก็เพราะนมแม่ไม่พอ ถ้าไม่ยอมกินลูกต้องขาดอาหารแน่ จึงต้องพยายามหาวิธีให้ลูกกินนมวัวให้ได้ เช่น ชงนมให้จางเล็กน้อย เปลี่ยนยี่ห้อนม เปลี่ยนเวลาให้นม เปลี่ยนหัวนมแบบต่าง ๆ ฯลฯ บางครั้งถ้าให้นมวัวตอนที่ เด็กกำลังง่วง เด็กอาจยอมกิน แต่ถ้าเป็นตอนที่เด็กตื่น จะไม่ยอมกินเลย บางครั้งลองผสมยาคูลท์ลงในนม เด็กอาจยอมกิน แต่บางทีก็ไม่เป็นผล
ในกรณีเช่นนี้ คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลนัก มีเด็กจำนวนมากที่ติดใจรสนมแม่จนไม่ยอมกินนมวัว แต่ในที่สุดก็จะเติบโตขึ้นมาได้ ไม่มีเด็กคนไหนขาดอาหารตายด้วยเรื่องนี้ ถ้าเด็กไม่ยอมกินนมวัว ก็ให้นมแม่ต่อไป และให้น้ำต้มสุกผสมกลูโค้สหรือน้ำผลไม้ หลังให้นมแม่ เพื่อยืดเวลาไม่ให้หิวเร็วนัก ระหว่างนี้ ไม่จำเป็นต้องบังคับให้เด็กกินนมวัว ถึงน้ำหนักเด็กจะไม่เพิ่มเพราะนมไม่พอก็ไม่เป็นไร เพราะส่วนใหญ่ปัญหานี้จะเกิดเมื่อตอนเด็กอายุใกล้ 3 เดือน พอเด็กอายุได้ 3 เดือน ก็เริ่มให้อาหารเสริม เช่น น้ำแกงจืด น้ำข้าวต้ม อาหารเสริมสำเร็จรูปสำหรับเด็กอ่อน (เช่น อาหารเด็กอ่อนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาหารเสริมดอยคำ โครงการหลวงภาคเหนือ) เพิ่มปริมาณอาหารเสริมให้เร็วหน่อย เพื่อทดแทนปริมาณนมที่ไม่พอ โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่ไม่ชอบกินนมวัว มักชอบอาหารเสริม

เมื่อคุณแม่เริ่มให้นมวัวแก่ลูก เพราะนมแม่ไม่พอ เวลาชงนมต้องรักษาความสะอาดฆ่าเชื้อโรคอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อเริ่มให้นมวัว ลักษณะอุจจาระของเด็กจะเปลี่ยนไปส่วนใหญ่อึจะมีสีขาวขึ้น และเป็นก้อนแข็งกว่าเดิม แต่บางรายอาจจะอึบ่อยขึ้น และเหลวกว่าเดิมก็มี ซึ่งจะทำให้คุณแม่คิดว่าลูกตั้งท้องเสีย แต่ถ้ามั่นใจว่าได้รักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็แน่ใจได้ว่าท้องไม่ได้เสีย แต่อึเหลวเพราะเปลี่ยนนม คุณควรชั่งน้ำหนักดู ถ้าน้ำหนักเพิ่มดีก็ไม่มีปัญหา ก่อนพาลูกไปหาหมอด้วยโรคท้องเสีย จงจำไว้เสมอว่า น้ำหนักสำคัญกว่าอึ

เด็กบางคนเมื่อเริ่มให้นมวัว จะชอบดูดนมจากขวดมากกว่านมแม่ เพราะดูดออกง่ายกว่า ไม่เหมือนนมแม่ซึ่งต้องออกแรงดูด เมื่อให้นมแม่ เด็กจะเอาลิ้นดันหัวนมออกไม่ยอมดูด ในกรณีเช่นนี้ คุณแม่เปลี่ยนไปให้นมวัวได้เลย แต้ถ้าเด็กยังตื่นขึ้นกินนมกลางดึก ช่วงกลางคืนนี้ให้นมแม่ดีกว่า เพราะไม่ยุ่งยาก ถ้าเด็กไม่ตื่นกินนม ก็ให้นมแม่มื้อแรกตอนเช้าจะสะดวกดี
สำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ลูก ๆ เด็กจะอึบ่อยลักษณะอุจจาระเหมือนท้องเสีย (ดูหัวข้อ 100 “ท้องเสียและท้องผูก”)





86.เลี้ยงด้วยนมวัว
เด็กอายุ 2-3 เดือนจะเป็นระยะที่เด็กกินเก่ง ถ้าให้กินนมมากตามอำเภอใจ เด็กจะกินมากเกินไป เมื่อกินมากเกินไป เด็กบางคนอาจเป็นโรคเกลียดนมได้ (ดูหัวข้อ 97 “โรคเกลียดนม”) แต่เด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ถึงกับเป็นโรคเกลียดนม แม่มักจะไม่รู้สึกว่าร่างกายของลูกปกติ กลับคิดว่าลูกอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี
เมื่อเด็กกินนมมากเกินไปอยู่เรื่อย ๆ ผลก็คือเด็กจะอ้วนเกินไป เด็กอ้วนเกินไปเป็นเด็กผิดปกติ เพราะมีไขมันจับตามร่างกายเกินความจำเป็น ทำให้หัวใจต้องทำงานมากกว่าปกติ เพื่อเลี้ยงไขมันและทำให้ตับไตต้องทำงานไม่ได้หยุด จนเหนื่อยล้าเพื่อจัดการกับอาหารที่เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป แต่การทำงานหนักของอวัยวะภายในเหล่านี้จะไม่ปรากฏออกมาให้เห็นภายนอก ทำให้คุณแม่หลงดีใจว่าลูกอ้วนท้วนแข็งแรงดี การที่คุณแม่ทั้งหลายเข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนตัวใหญ่ คือ เด็กแข็งแรงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาพโฆษณาของบริษัทนมที่ชอบเอาเด็กอ้วนๆ ออกมาโฆษณานมแล้วบอกว่า “หนูอ้วนท้วนแข็งแรง..” เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่แล้วอ้วนก็มี แต่สำหรับนมแม่นั้นมีข้อดีคือ ถึงเด็กจะกินมากเกินไปก็ย่อยง่าย ไม่เป็นภาระให้ตับไตต้องทำงานจนเหนื่อย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า “โรคอ้วนเกินไป” จะเกิดเฉพาะกับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัวเท่านั้น ถ้าจะป้องกันโรคอ้วนเกินไป ก็ต้องไม่ให้เด็กกินนมมากเกินไป เด็กกินนมวัวจากขวดซึ่งจะมีขีดบอกปริมาณนมที่กินให้เรียบร้อย คุณแม่ต้องรู้แน่ว่าลูกกินนมไปเท่าไร ดังนั้น ถ้าลูกเป็นโรคอ้วนเกินไป ความผิดอยู่ที่คุณแม่แน่นอน

สำหรับเด็กวัย 2-3 เดือนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้อ้วนเกินไป ไม่ควรให้นมเกินกว่า 900 ซี.ซี ต่อวัน ถ้าเด็กกินนมวันละ 6 ครั้ง แต่ละครั้งต้องไม่เกิน 150 ซี.ซี. ถ้าเด็กกินนม 5 ครั้ง แต่ละครั้งต้องไม่เกิน 180 ซี.ซี.
อาหารสำเร็จรูปบางอย่างจะโฆษณาว่าเริ่มให้ทารกได้ตั้งแต่ 2 เดือน แต่คุณแม่ไม่ควรให้ เพราะอาหารเสริมสำหรับเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่คือ อาหารพวกแป้ง ซึ่งถ้าจับเด็กเอาช้อนหยอดใส่ปาก เด็กตัวแค่นี้ก็คงยอมกิน แต่การหัดเด็กให้กินอาหารพวกแป้งจนเป็นนิสัยนั้น เท่ากับหัดเด็กให้กลายเป็นเด็กอ้วนนั่นเอง ซึ่งถึงจะไม่หัด เด็กที่กินนมวัวก็มีแนวโน้มจะอ้วนเกินไปอยู่แล้ว

เด็กทารกมีนิสัยต่างๆ กัน เด็กกินจุก็มี เด็กกินไม่ตุก็มี เด็กที่กินไม่เก่งนั้น ถ้าเลี้ยงด้วยนมแม่ แม่จะไม่รู้ว่าแต่ละครั้งเด็กกินนมไปเท่าไร จะรู้ว่าเด็กกินน้อยต่อเมื่อเห็นเด็กตัวไม่ค่อยโต แต่เด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัวนั้น แม่รู้ว่าเด็กกินนมเท่าไร เมื่อชงนมให้ตามปริมาณที่ระบุไว้ที่สลากข้างกระป๋องสำหรับเด็ก 2 เดือนแล้ว ลูกกินเหลือมากทุกครั้ง แม่จะรู้ทันทีว่าลูกกินน้อย นมบางตราเขียนไว้ที่ข้างกระป๋องว่า เด็ก 2 เดือนให้ชง 160 ซี.ซี. แม่ที่ให้ลูกกินนมตรานี้ ถ้าลูกกินเพียง 140 ซี.ซี. มักจะกลัวว่าลูกกินนมน้อยไป จึงพยายามใช้อุบายต่าง ๆ ให้ลูกกินนมมากขึ้น แต่นมบางตราจะเขียนไว้ว่าเด็กอายุ 2 เดือนให้ 140 ซี.ซี. แม่ที่ให้ลูกกินนมตราหลังนี้ เมื่อเห็นลูกกินหมด 140 ซี.ซี. จะรู้สึกดีใจ อันที่จริงไม่มีปริมาณนมมาตรฐานขั้นต่ำใด ๆ สำหรับเด็กอายุ 2 เดือน ว่าจะต้องกินนม เท่านั้นเท่านี้ เด็กที่กินนมน้อยบางคนครั้งหนึ่ง ๆ เกือบไม่ถึง 100 ซี.ซี. ก็มี เด็กแบบนี้จะกินน้อยมาตั้งแต่ตอนอายุ 1 เดือนแล้ว กลางคืนก็ไม่ตื่นขึ้นมากินนม การบังคับให้เด็กแบบนี้กินนมมากขึ้น เป็นความคิดที่ผิด คุณแม่เห็นเด็กอื่นอ้วนใหญ่กว่า ก็ไม่ต้องรู้สึกอิจฉา สำหรับเด็กอายุ 2 เดือนนั้น ความอ้วนความผอมไม่เกี่ยวกับความสามารถของเด็ก ถ้าจะมีใครบอกว่าลูกคุณผอมเกินไป คุณแม่เองนั่นแหละ จะรู้ดีที่สุดว่าลูกคุณแข็งแรงหรือไม่ และตัวคุณเอง เอาใจใส่เลี้ยงดูลูกดีเพียงไร คุณไม่จำเป็นต้องสนใจคำพูดของคนอื่น

การพาเด็กที่มีนิสัยกินน้อยไปฉีดยาเจริญอาหารนั้น เป็นเรื่องไร้สาระ การที่เด็กกินน้อยก็เพราะโครงสร้างของร่างกายเด็กมีความต้องการอาหารน้อย การฉีดยาเพื่อให้เด็กกินมากขึ้นจึงทำให้ “ผิดธรรมชาติ” นอกจากนั้น เด็กเล็ก ๆ มักกลัวเข็มฉีดยา อาจทำให้เด็กที่เคยเลี้ยงง่ายนอนหลับดีตอนกลางคืน กลับกลายเป็นร้องกวนโยเย เลี้ยงยากไปได้
คุณไม่ควรชงนมให้ข้นขึ้นเมื่อเห็นลูกกินน้อย เพราะการที่เด็กกินน้อย ไม่ใช่เพราะกระเพาะเล็ก แต่เป็นเพราะร่างกายต้องการอาหารน้อย ถ้าชงนมให้ข้นขึ้น ปริมาณนมที่เด็กกินจะลดลงไปตามส่วนเท่านั้นเอง





87.เลี้ยงลูกให้แข็งแรง

คุณแม่บางคนกลัวว่าอุ้มลูกบ่อย ๆ แล้วจะติดมือ ทำให้ทำงานไม่ได้ จึงไม่ค่อยยอมอุ้มลูก นอกจากเวลาให้นมและเวลาอาบน้ำ คุณแม่ประเภทนี้มักเป็นคนขยัน ทำความสะอาดบ้าน จัดบ้านอย่างสวยงาม ปลูกต้นไม้ทำสวนเอง แม้กระทั่งเสื้อเด็กก็เย็บเอง คุณแม่แบบนี้จะพยายามหัดให้ลูกนอนเฉย ๆ อยู่บนเตียงโดยไม่ยอมอุ้ม จะได้ทำงานบ้านทั้งหมดให้เสร็จเรียบร้อย สะอาดหมดจดทุกซอกทุกมุม
ถ้าคุณแม่เลี้ยงลูกแบบนี้ บ้านของคุณอาจจะสวย ลูกของคุณอาจมีเสื้อผ้าสวย ๆ งาม ๆ ใส่มากมายหลายตัว แต่ลูกของคุณจะไม่แข็งแรง เพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ค่อยร้องอุทธรณ์ฎีกา เมื่อทิ้งให้นอนอยู่บนเตียงทั้งวัน คุณแม่เห็นไม่ร้องเลยยิ่งไม่อุ้ม ทำให้เด็กคอแข็งช้ากว่าปกติ เมื่อเด็กอายุได้ 2 เดือน ควรอุ้มอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง เมื่อเราอุ้ม เด็กจะพยายามชูคอดูโน่นดูนี่ ทำให้กล้ามเนื้อคอแข็ง เด็กจะพยายามยืดตัวให้ตรง จึงใช้กลเมเนื้อหลัง หน้าอก และท้อง และเมื่อเด็กดีใจที่แม่อุ้มหรือเมื่อเห็นอะไรแปลก ๆ จะแกว่งแขนไปมา จึงใช้กล้ามเนื้อแขน ทั้งหมดนี้ คือการออกกำลังกายของเด็กอ่อน

เมื่ออุ้มลูก ก็ไม่ใช่สักแต่ว่าอุ้มอยู่กับที่เฉย ๆ ควรพาออกเดินเล่นนอกบ้าน เด็กอายุ 2 เดือน ตามองเห็นสิ่งรอบตัวแล้ว เด็กจะรู้สึกสนุกสนานเมื่อเห็นรถแล่น หรือเห็นเด็กอื่น ๆ กำลังเล่นกันเจี๊ยวจ๊าว แต่คุณต้องระวังอย่าให้เด็กอ่อนถูกแดดจัด หรืออุ้มนานเกินไปเวลาอากาศร้อน เพราะว่าไอร้อนจากตัวคุณแม่ผสมกับความร้อนของอากาศ จะทำให้เด็กตัวร้อนเกินไป ถ้าอากาศร้อนมาก ให้เด็กนอนในรถเข็นหรือในตะกร้าแล้ววางไว้ใต้ร่มไม้

คุณควรอาบน้ำให้ลูกบ่อย ๆ เพราะการอาบน้ำ นอกจากทำให้ร่างกายสะอาดแล้ว ยังทำให้ผิวหนังกระทบความร้อนบ้างความเย็นบ้าง เป็นการฝึกผิวหนังของเด็กอีกด้วย


 

ข้อมูลสื่อ

17-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 17
กันยายน 2523