• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน



                            

 


สภาพแวดล้อม


93. ทดสอบวัณโรค (Tuberculin Reaction)
การทดสอบวัณโรค กระทำโดยการฉีดน้ำยาทูเบอร์คูลิน (Tuberculin) 0.1 ซีซี. เข้าไปใต้ผิวหนัง แล้วดูผล 48 ชั่วโมงหลังจากทำการฉีด ว่ามีอาการบวมแดงตรงบริเวณที่ฉีดหรือไม่ ถ้ามีแต่รอยเข็มฉีดยาหรือมีตุ่มแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 4 มิลลิเมตร เรียกว่าให้ผลลบ แสดงว่าไม่เคยได้รับเชื้อวัณโรค ถ้ามีอาการบวมแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 มม. ขึ้นไป เรียกว่าให้ผลบวก แสดงว่าได้รับเชื้อวัณโรค ถ้าเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่างขนาด 5-9 มม. เรียกว่า น่าสงสัย ต้องทดสอบอีกครั้ง 1-2 เดือนหลังจากนั้น

ถ้าผลทดสอบวัณโรคเป็นลบ เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) ถ้าผลทดสอบเป็นบวกและเด็กไม่เคยไดรับการฉีดวัคซีนบีซีจีมาก่อน แสดงว่าร่างกายได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไป แต่ถึงแม้จะได้ รับเชื้อวัณโรค ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคทุกคนไป ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอะไร แต่ในบางรายอาจเป็นโรคได้ ควรถ่ายเอ๊กซเรย์บริเวณหน้าอกดู
การถ่ายเอ๊กซเรย์หน้าอก ไมได้หมายความว่าจะตรวจพบวัณโรคได้ 100% ถ้าเป็นบริเวณที่เห็นไม่ถนัดในฟิล์มเอ๊กซเรย์ก็อาจตรวจไม่พบ ดังนั้น ในกรณีที่เป็นเด็กทารกถึงแม้จะตรวจไม่พบ ก็ควรทำการรักษาเหมือนกับกำลังเป็นวัณโรค จะปลอดภัยกว่า
สำหรับในรายที่ผลทดสอบเป็นที่น่าสงสัย ต้องทดสอบอีก 1-2 เดือนหลังจากครั้งแรก ถ้าผลทดสอบครั้งที่สองให้ผลเช่นเดียวกับครั้งแรก ให้ถือเสมือนไมได้รับเชื้อ เพราะในกรณีเช่นนี้ มีน้อยรายเหลือเกินที่จะพบว่าเป็นวัณโรคจากการถ่ายเอ๊กซเรย์ ส่วนใหญ่จะพบว่าถูกหาว่าเป็นวัณโรคเพราะหมอเข้าใจผิดเอาว่าเงาของเส้นเลือดตรงขั้วปอดหรือเงาของต่อมธัยมัส (Thymus gland) เป็นแผลที่เกิดจากเชื้อวัณโรค
ถ้าผลทดสอบวัณโรคของลูกคุณให้ผลเป็นที่น่าสงสัย และหมอบอกว่า ฟิล์มเอ๊กซเรย์แสดงว่าขั้วปอดไม่ปกติ คุณควรให้คนที่ชำนาญการดูฟิล์มเอ๊กซเรย์อีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่มีใครพอที่จะดูให้ได้ ควรทดสอบวัณโรคอีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน

 


 


94. บีซีจี

บีซีจี คือ วัคซีนป้องกันไม่ให้เป็นวัณโรค หรือถ้าเป็นอาการก็ไม่หนัก เด็กที่คลอดในโรงพยาบาลมักได้รับการฉีดวัคซีนนี้ตั้งแต่แรกเกิด เพราะในเมืองไทยยังมีคนเป็นวัณโรคมาก ถ้าคลอดที่บ้านหรือยังไม่ได้รับการฉีดเลย ควรพาไปฉีดเมื่ออายุ 1-3 เดือน การฉีด บีซีจี. จะช่วยป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 10 ปี
เด็กที่เคยได้รับการฉีดบีซีจีมาแล้ว ถ้าทำการทดสอบวัณโรค ผลทีได้รับจะเป็นผลบวก เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องไม่ลืมว่าลูกดีรับการฉีดบีซีจีเมื่อไร มิฉะนั้นเมื่อมีการทดสอบวัณโรคแล้วได้ผลบวก คุฯจะหาว่าลูกของคุณเป็นวัณโรค

ถ้าเด็กเกิดป่วยแล้วบังเอิญต้องถ่ายเอ๊กซเรย์หน้าอก และเมื่อหมอดูฟิล์มแล้วบอกว่าสงสัยจะเป็นวัณโรค ในกรณีนี้ ควรทำการทดสอบวัณโรคดูด้วย ถ้าให้ผลลบ ก็จะยืนยันได้ว่าลูกของคุณไม่ได้เป็นวัณโรค แต่ถ้าลูกคุณเคยฉีดบีซีจีมาก่อน และผลทดสอบเป็นบวก ในกรณีเช่นนี้ คุณก็ยืนยันไมได้ว่าลูกคุณไม่ได้เป็นวัณโรค นี่คือข้อด้อยของบีซีจีเพราะทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่าเด็กเป็นโรคหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าผลบวกจากการทดสอบวัณโรคนั้นเป็นผลของบีซีจี หรือผลของโรคควรให้หมอที่ดูแลลูกคุณเป็นผู้พิจารณาและให้คำแนะนำต่อไป

 





95. วัคซีนป้องกันคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก (ดีพีที)

วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนผสมเพื่อไม่ให้เด็กต้องถูกฉีดบ่อย ๆ วัคซีนนี้เริ่มให้ครั้งแรกระหว่างอายุ 2-6 เดือน ต้องฉีด 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 4-8 สัปดาห์ วัคซีนนี้ตอนฉีดค่อนข้างเจ็บ เด็กส่วนใหญ่จะร้องไห้ ดังนั้นควรพาไปฉีดเร็ว ๆ ตั้งแต่เด็กยังไม่รู้ความ ถ้าเด็กอายุเกินขวบไปแล้วจะจำได้ว่าเจ็บมากตอนฉีดยา และจะดิ้นไม่ยอม ทำให้ฉีดลำบาก
การพาลูกไปฉีดวัคซีน ควรพาไปตอนที่เด็กแข็งแรงดี เพราะการฉีดวัคซีนจะช่วยสร้างความต้านทานโรคขึ้นในร่างกาย ถ้าฉีดตอนที่ร่างกายผิดปกติไม่แข็งแรง การสร้างความต้านทานก็ไม่สมบูรณ์ ควรหลีกเลี่ยงช่วงอากาศร้อนจัด (เดือนเมษายน) เพราะถ้าเด็กเป็นไข้ตอนอากาศร้อน จะเดือดร้อนทั้งแม่ทั้งลูก
การฉีดวัคซีนดีพีทีนี้ จะส่งผลให้เด็กบางคน (ประมาณ 1 คนในหมื่นคน) มีอาการพิการทางประสาท เนื่องจากเกิดช็อคหรือเกร็ง มีบางรายที่ถึงแก่ชีวิต เนื่องจากเด็กที่เสียชีวิตเพราะวัคซีนนี้อายุ 5 เดือน หมอบางคนจึงเริ่มฉีดยาเมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป

เด็กคนไหนจะฉีดวัคซีนได้หรือไม่นั้น หมอจะเป็นผู้ตรวจ บางครั้งเด็กที่เป็นโรคลิ้นหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด หมอจะสั่งไม่ให้ฉีด แต่เด็กประเภทนี้ถ้าเป็นไปได้ควรฉีดวัคซีนไว้ เพราะถ้าเป็นไอกรน หรือคอตีบ อาการจะหนักกว่าเด็กปกติ
ก่อนพา ลูกไปฉีดวัคซีนควรอาบน้ำให้เรียบร้อย เพราะหลังจากฉีดแล้ว ไม่ควรอาบน้ำหนึ่งวัน
หลังจากฉีดวัคซีนครั้งแรก เด็กมักมีอาการตัวร้อน แต่มีน้อยรายที่หลังจากฉีดวัคซีนประมาณ 6 ชั่วโมงแล้ว มีไข้ประมาณ 38 องศาเซลเซียส เมื่อดูที่รอยฉีดจะเห็นบวมแดง และเมื่อแตะดู เด็กจะแสดงอาการเจ็บเราจึงรู้ได้ว่าเด็กเป็นไข้ เนื่องจากการฉีดยา ควรเช็ดตัวให้ด้วยน้ำเย็น (หมายถึงน้ำธรรมดา ไม่ใช่น้ำแช่เย็นหรือน้ำแช่น้ำแข็ง) และให้ดูดน้ำต้มสุกหรือน้ำผลไม้ตามแต่เด็กต้องการ ถ้าเด็กไม่ยอมกินนมก็ไม่ต้องฝืนบังคับให้กิน เด็กบางคนที่ไม่เป็นไข้ ตรงรอยฉีดยาก็มักจะแดงและเป็นก้อนแข็ง แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายในวันเดียว
ถึงแม้ว่าตามปกติ หลังจากการฉีดวัคซีนดีพีทีครั้งแรก เด็กจะไม่มีไข้ แต่สำหรับครั้งที่สองแล้วเด็กบางคนจะมีไข้หลังจากฉีดประมาณ 6 ชั่วโมง ถ้าเป็นเด็กอายุ 8-9 เดือนขึ้นไป บางคนอาจมีอาการเนื่องจากไข้สูง แต่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตามถ้าเด็กอายุ 3-4 เดือน หรือโตกว่านี้มีอาการชักตั้งแต่การฉีดดีพีทีครั้งแรกหลังจากการฉีดวัคซีนประมาณ 30 นาที ให้คิดว่าอาการชักเกิดจากวัคซีนส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อระบบประสาทของทารก ถ้าลูกคุณมีอาการเช่นนี้ ควรยกเลิกการฉีดวัคซีนดีพีทีครั้งที่ 2 และ 3 จะปลอดภัยกว่า
อาการเป็นไข้หลังการฉีดวัคซีนมีต่างๆ กัน ถึงแม้ว่าหลังการฉีดครั้งที่สองเด็กจะเป็นไข้ ก็ไม่แน่ว่าครั้งที่สามจะเป็นไข้หรือไม่ ถ้าเด็กเพียงแต่เป็นไข้ ไม่ควรยกเลิกการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป ถ้าเด็กมีอาการชักเนื่องจากไข้ เมื่อฉีดครั้งต่อไป ควรให้กินยาลดไข้ หลังจากฉีดวัคซีน 6 ชั่วโมง หรือจะให้กินยากันชักซึ่งมีตัวยาลดไข้อยู่ด้วยก็ได้ หรืออาจใช้วิธีลดปริมาณวัคซีนที่ฉีดแต่ละครั้งลงแล้วฉีดมากครั้งขึ้นก็ได้ แต่เด็กบางคน ไม่ว่าจะฉีดน้อยหรือฉีดมาก ก็เป็นไข้ทุกครั้งไป ถ้าเด็กเป็นไข้เนื่องจากวัคซีน ไข้จะสูงสุดหลังจากฉีดแล้ว 12 ชั่วโมง และไข้จะหายไปในเวลา 24 ชั่วโมง ถ้าเด็กมีไข้สูงติดต่อกันนานถึง 48 ชั่วโมง ให้คิดว่ามีโรคอื่นด้วย ถ้าเด็กอายุประมาณ 7-8 เดือนขึ้นไป อาจมี โรคสาไข้ หรือ “หัดเทียม (Roseola infintum) เข้ามาแทรก

คุณแม่มักจะมีปัญหาว่า ถ้าเกิดพาลูกไปฉีดวัคซีน ครั้งที่ 2 ตามเวลานัดไม่ได้เพราะเกิดย้ายบ้านหรือเด็กเกิดเป็นหวัดในช่วงนั้น จนเลยเวลานัดไปหลายอาทิตย์ ควรจะทำอย่างไร
ช่วงห่างระหว่างการฉีดวัคซีนครั้งแรกกับครั้งที่ 2 ห่างได้นานที่สุดถึง 8 อาทิตย์ และช่วงห่างระหว่างครั้งที่ 2 กับครั้งที่ 3 ห่างได้นานที่สุดถึง 6 เดือน (จากผลการทดลองที่ประเทศอังกฤษ) ดังนั้น ถึงแม้คุณแม่จะพาลูกไปตามวันที่หมอนัดไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นฉีดครั้งที่ 1 ใหม่เสมอไป
ผลข้างเคียงของวัคซีนดีพีทีนั้น นอกจากอาการไข้ อาการบวมแดงตรงรอยฉีด อาการเบื่ออาหารแล้วอาจมีบางรายที่ส่งผลกระทบถึงระบบประสาทด้วยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากวัคซีนไอกรน แต่ผลข้างเคียงของดี-พีทีนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับผลข้างเคียงของวัคซีนฝีดาษและไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังน้อยกว่ามาก

 






96. ข้อควรระวังในการปลูกฝี
องค์การอนามัยโลก เริ่มรณรงค์โครงการ 8 ปีเพื่อกำจัดไข้ทรพิษหรือฝีดาษในปี 1967 ในขณะนั้นประเทศที่มีโรคนี้ระบาดมีถึง 43 ประเทศ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 1974 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 55.000 คน และในเดือนธันวาคมของปีเดียวกันนั้น จำนวนผู้ป่วยลดลงเหลือเพียง 1.392 คน การรณรงค์เกี่ยวกับโรคนี้ขององค์การอนามัยโลกให้ผลดีมาก จนกระทั่งบัดนี้ไม่มีผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษในโลกมาหลายปีแล้ว
เมื่ออันตรายของโรคไข้ทรพิษหมดไป อันตรายจาการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษก็เป็นปัญหาขึ้น เพราะในแต่ละปี จะมีเด็ก 3-6 คนในล้านคน ซึ่งทำการปลูกฝี ต้องเสียชีวิตหรือพิการตลอดชีวิตเพราะสมองอักเสบ เนื่องจากผลของวัคซีน ครอบครัวของเด็กเหล่านี้ต้องรับเคราะห์กรรมตลอดมา เพื่อการกำจัดโรคไข้ทรพิษ แต่ในเมื่อโรคไข้ทรพิษไม่มีปรากฏมาหลายปีแล้ว การที่จะต้องมีเด็กและครอบครัวจำนวนหนึ่งต้องรับเคราะห์เนื่องจากการปลูกฝีนั้น ดูจะไม่คุ้มค่าเสียแล้ว

ในวงการแพทย์ปัจจุบัน มีหลายเสียงที่ให้ยกเลิกการปลูกฝี ด้วยเหตุผลที่ว่า ถึงจะปลูกฝีก็ให้ความต้านทานโรคได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น ไม่ได้ป้องกันได้ตลอดชีวิต และเมื่อมีการปลูกฝี จะต้องมีเด็กจำนวนหนึ่งต้องรับเคราะห์เป็นโรคสมองอักเสบถึงแก่กรรมหรือพิการตลอดชีวิต ดังนั้น ในหลายประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) จึงไม่บังคับให้เด็กทุกคนต้องปลูกฝีใครอยากปลูกก็ปลูกได้ ใครไม่อยากปลูกก็ไม่ต้องปลูก

 

ข้อมูลสื่อ

19-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 19
พฤศจิกายน 2523