• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กห้าขวบถึงหกขวบ

เด็กห้าขวบถึงหกขวบ

การเลี้ยงดู

377. เด็กอยู่ไม่สุข

เด็กบางคนเป็นเด็กอยู่ไม่สุข ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายซึ่งไม่สามารถนั่งเล่นเงียบๆ อยู่ได้ ไม่ชอบอดทนรออะไรนานๆ เดี๋ยวก็เล่นโน่น เดี๋ยวก็เล่นนี่ เปลี่ยนใจง่าย แต่ถ้าได้ทำอะไรที่ชอบ จะมุ่งทำอยู่แต่สิ่งนั้นได้นานมาก ไม่ยอมเลิกง่ายๆ เวลาไปต่างสถานที่ หรือมีแขกแปลกหน้ามาที่บ้าน ก็ชอบทำอะไรแปลกๆ ซึ่งปกติไม่เคยทำ เช่น ตะโกนร้องเพลงเสียงดัง เป็นต้น

เวลาแม่ไปดูลูกที่โรงเรียนอนุบาล เห็นลูกของตนไม่เหมือนเด็กคนอื่นซึ่งนั่งฟังครูพูดกันเรียบร้อยดี แต่ลูกกลับนั่งยุกยิกๆ มองไปทางอื่นบ้าง ลุกยืนบ้าง บางทีก็แกว่งขาไม่หยุด เอามือแคะหู เกาหัว วุ่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อคุยกับครู ครูก็บอกว่า ลูกไม่มีสมาธิเอาเสียเลย ทำกิจกรรมรวมกลุ่มกับเด็กอื่นไม่ค่อยได้ แม่คงตกใจมาก คิดว่าลูกเป็นเด็กผิดปกติ

ความจริงเด็กแบบนี้ไม่ควรถูกหาว่าเป็นเด็กผิดปกติ หากแกไปโรงเรียนอย่างร่าเริงชีวิตความเป็นอยู่ก็ราบรื่นดี และมีเพื่อนเล่นมากมาย ถึงแกจะเป็นเด็กที่อยู่ไม่สุขก็ไม่มีปัญหา เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วทุกคนจะอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ

เด็กระดับอนุบาลและประถมต้นบางคน ซึ่งครูที่โรงเรียนเอือมระอา เพราะไม่เชื่อฟังคำสั่งครูและไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยในระเบียบ เด็กพวกนี้เป็นเด็กซนซึ่งหากอยู่ในชั่วโมงเล่นอิสระแล้ว แกจะมีความคิดสร้างสรรค์ เล่นกับเพื่อนอย่างสนุกสนานแคล่วคล่องว่องไว

เมื่อเด็กซนถูกบังคับให้อยู่ในระเบียบ พลังงานในตัวแกซึ่งถูกกดดันอยู่ จะแปรรูปออกมาเป็นการแกว่งเท้า แกว่งแขน ยุกยิกไม่หยุด กลายเป็นเด็กผิดปกติในสายตาของครูเจ้าระเบียบ

การศึกษาของเด็กวัยนี้ ควรเป็นการเรียนรู้อย่างอิสระ มิใช่บังคับให้เด็กทุกคนทำทุกอย่างเหมือนกันหมด เด็กอยู่ไม่สุข มิใช่เด็กซึ่งด้อยความสามารถกว่าเด็กอื่น หากเด็กได้ทำในสิ่งที่ตนสนใจแกก็จะมีสมาธิทำได้ ผู้ใหญ่ที่มีนิสัยอยู่ไม่สุขก็มีมิใช่น้อย ลองสังเกตเวลามีประชุมนักวิชาการ เมื่อผู้มีความสามารถทั้งหลายต้องกลายเป็นผู้นั่งฟัง บางคนจะนั่งเขย่าเท้า บางคนก็หมุนไปป์ เคาะนิ้ว ดูเหมือนจะเป็นนิสัยของผู้มีพลังสูงทั้งหลายกระมัง ไม่ควรบังคับให้เด็กอยู่ไม่สุข นั่งขัดสมาธิอยู่นิ่งๆ เพื่อดัดนิสัย เพราะน่าสงสาร ยิ่งใครใช้ยากล่อมประสาทช่วย ก็เท่ากับตัดสมรรถภาพของเด็กไปอย่างน่าเสียดาย

378. เด็กดื้อ

บางครั้ง แม้ว่าพ่อแม่จะพยายามระงับความโกรธ และพูดกับลูกดีๆ ด้วยเหตุผล ลูกก็ไม่ยอมเชื่อฟังเพราะเด็กมีเหตุผลของแกเอง เช่น ในฤดูหนาว แม่อยากให้ลูกนุ่งกางเกงขายาว ลูกก็ดื้อดึงไม่ยอมท่าเดียว จะใส่กางเกงขาสั้นให้ได้ ผู้ใหญ่ก็คิดว่าเด็กดื้อโดยไม่มีเหตุผล แต่เด็กอาจมีเหตุผลของแกเอง เช่น นุ่งกางเกงขาสั้นเวลาปวดปัสสาวะถอดง่ายกว่า เป็นต้น

นอกจากนั้น หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติของร่างกายแล้ว เด็กอาจทำตามคำสั่งของพ่อแม่ไม่ได้ เช่น เด็กที่ฉี่รดที่นอนตอนกลางคืนเป็นประจำ คุณแม่สั่งห้ามดื่มน้ำหลังอาหารเย็น เด็กย่อมไม่เชื่อฟัง เพราะตัวแกก็บังคับตัวเองมิให้หิวน้ำไม่ได้ ธรรมชาติสร้างแกขึ้นมาให้ต้องการน้ำมากกว่าเด็กอื่น พ่อแม่ห้ามอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเด็กโตขึ้น แกจะรู้จักบังคับการขับถ่ายได้ดีขึ้น และเลิกปัสสาวะรดที่นอนไปเอง

แต่เด็กบางคนเป็นเด็กดื้อโดยไม่มีเหตุผลจริงๆ เห็นเด็กข้างบ้านมีหุ่นยนต์ ก็รบเร้าให้พ่อแม่ซื้อให้บ้าง พอบอกว่าเพิ่งซื้อรถยนต์ให้หยกๆ ควรรอจนกว่าจะได้ของขวัญปีใหม่ ลูกก็ไม่ยอมท่าเดียว ล้มตัวลงนอนร้องไห้กลิ้งเกลือกอยู่กับพื้น ยิ่งถ้าเด็กรู้ว่าแม่เป็นคนใจอ่อน แกจะแผลฤทธิ์หนักขึ้นไปอีก และถึงแม้แม่จะเป็นคนใจแข็งไม่ยอมตามใจง่ายๆ เด็กแบบนี้ก็ขออาละวาดสักตั้งหนึ่ง หากแม่เป็นคนที่มีลูก 4-5 คนแล้ว คงรู้สึกเฉยๆ คิดว่านิสัยลูกเป็นอย่างนี้เอง แต่ถ้าเป็นแม่ซึ่งมีลูกคนเดียว แม่จะรู้สึกกลุ้มใจ นึกว่าตัวเองคงเลี้ยงลูกผิดวิธี ลูกจึงกลายเป็นเด็กดื้อเช่นนี้

การต่อกรกับเด็กดื้อ พูดไม่รู้เรื่องนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ทำเป็นไม่สนใจ และไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องที่ไร้เหตุผล เด็กดื้อนั้น พอโตขึ้นชั้นมัธยม จะยอมรับเหตุผลมากขึ้น และเมื่อจบชั้นมัธยมปลาย ก็จะกลายเป็นคนธรรมดา

เด็กดื้อรั้นมิใช่เด็กโง่หรือฉลาดช้า แต่เป็นเด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ดังนั้น เมื่อความสามารถด้านต่างๆ พัฒนาขึ้น และรู้จักควบคุมอารมณ์ดีขึ้น เขาจะกลายเป็นคนน่าสนใจทีเดียว การมีเด็กดื้อ พูดไม่รู้เรื่องอยู่ในครอบครัวนั้น เรื่องเล็กน้อยอาจกลายเป็นต้นเหตุทำให้บ้านขาดสันติสุขไปได้ ดังนั้น หากเด็กเรียกร้องในสิ่งที่ยอมตามได้ และไม่เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ บางครั้งถ้าจำต้องตามใจเด็กเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะสงครามในบ้าน

สำหรับปัญหาที่ว่า เราควรตามใจเด็กในระดับใดและตอนไหนต้องปฏิเสธนั้น เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องตัดสินใจเอาเองเมื่อเผชิญหน้ากับข้อเรียกร้อง เพราะผู้ที่รู้จักลูกดีที่สุด คือ ตัวพ่อแม่นั่นเอง พ่อแม่ต้องมีศิลปะในการแก้ปัญหา ซึ่งก็คือ ความสามารถในการเลี้ยงลูก แต่สิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด คือ การร้องขออ้อนวอนให้ลูกหยุดอาละวาด

ข้อมูลสื่อ

129-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533