• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฉันเป็นกระต่าย กายสีขาว

ฉันเป็นกระต่าย กายสีขาว

วันนี้พี่เอื้อเตรียมกิจกรรมไว้ 2 อย่าง คือ ระบายสี และปั้นดินน้ำมัน เด็กๆ ชอบมาก

เขาปั้นดินน้ำมันเป็นแท่งยาวว่าเป็นงู บ้างเอามาพันรอบข้อมือเป็นกำไล บางคนเอามาใส่เป็นสร้อยคอ พี่เอื้อปั้นดินน้ำมันเป็นลูกกลมขนาดไม่เท่ากันสองลูก เอาลูกเล็กวางบนลูกใหญ่ แล้วปั้นหูยาวใหญ่ติดไว้ด้านบนสองข้างของลูกเล็ก แล้วทายเด็กๆ ว่า

“อะไรเอ่ย ขนฟูขาว ลูกตาวาวสีแดง” เด็กๆ ช่วยกันทาย น้องอั๋นวัยขวบครึ่งว่า “หมา หมา...โฮ้ง โฮ้ง”
น้องภัมร์ว่า “กระต่ายครับ”

ดินน้ำมันเป็นของเล่นที่ดี ราคาไม่แพง หาง่าย ทนทาน ช่วยให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือและนิ้วด้วย ดีกว่าของเล่นสำเร็จรูปราคาแพงซึ่งเด็กเล่นไม่นานก็เบื่อ

หลังจากการปั้นดินน้ำมัน พี่เอื้อชวนให้เด็กๆ มาแปลงกายเป็นกระต่าย โดยกำมือทั้ง 2 ข้าง เหยียดนิ้วชี้และนิ้วกลางออก เอามือทั้งสองไปไว้ที่ด้านข้างของศีรษะ แล้วกระโดดไปมาอย่างสนุกสนาน พอเหนื่อยก็พัก พี่เอื้อถามเด็กๆ ว่า

“กระต่ายกินอะไรคะ”

“ผักบุ้งค่ะ”

“แครอตครับ”

เด็กๆ ช่วยกันตอบ

อาหารกลางวันวันนั้นมีแกงจืดหมูสับกับหัวผักกาดขาวและแครอตสีส้ม พี่เอื้อบอกเด็กๆ ว่า

“แครอตสีสวย หวานอร่อย กระต่ายชอบกิน กินแล้วแข็งแรง เด็กๆ อยากแข็งแรง ต้องกินแครอตด้วยนะคะ”

เด็กหลายคนกินแครอตรวมทั้งข้าวจนหมด

เวลากินอาหารเป็นเวลาที่ดีสำหรับปลูกฝังนิสัยการกินอาหารที่ถูกต้องแก่เด็ก โดยที่ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างด้วย

อย่างในกรณีน้องแบงก์ เมื่อพี่เอื้อชวนให้กินผัก น้องแบงก์บอกว่า

“คุณแม่แบงก์ก็ไม่กินผัก เวลากินก๋วยเตี๋ยวราดหน้า กินแต่เส้นกับหมู เหลือผักเพียบเลย”

จึงเป็นการยากที่จะชวนให้น้องแบงก์กินผัก

ตกบ่ายพี่เอื้อทบทวนโยคะให้เด็กๆ เริ่มตั้งแต่ท่างู ท่าผีเสื้อ ท่าสิงโต ท่ากบ ตามลำดับ และเริ่มสอนท่ากระต่ายให้

“อยากเป็นกระต่ายน่ารักต้องทำตามพี่เอื้อนะคะ”

นั่งบนส้นเท้า เอามือจับส้นไว้ (ภาพที่ 1) หายใจเข้า (เฉพาะเด็กโตและผู้ใหญ่ที่ควบคุมการหายใจได้)

“ค่อยๆ โน้มตัวไปข้างหน้า ช้าๆ อย่างนี้ค่ะ” (ภาพที่ 2)

“ค่อยๆ หายใจออกช้าๆ ขณะโน้มตัว ให้ศีรษะจรดพื้นใกล้ๆ หัวเข่า ค่อยๆยกก้นขึ้นจากส้นเท้า กลั้นหายใจนิ่ง นับ 1-2-3-4-5 ในใจ” (ภาพที่ 3)

“จากนั้นค่อยๆ ยืดตัวขึ้นช้าๆ พร้อมทั้งหายใจเข้าช้าๆ นะคะ เสร็จแล้วกลับมานั่งท่าเริ่มต้นอีกครั้ง” (ภาพที่ 4)

“เอามือหงายขึ้นวางที่ต้นขาทั้ง 2 ข้างนะคะ นั่งให้ศีรษะและหลังตรงอยู่ในแนวเดียวกัน” (ภาพที่ 5)

แล้วหายใจออก และพักค่ะ

หลังจากพักเหนื่อยเล็กน้อย พี่เอื้อก็ชวนน้องๆ ทำต่ออีก 4-5 รอบ

ประโยชน์ของท่านี้ คือ ทำให้อวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้องกลับคืนปกติ เช่น ลำไส้ใหญ่ไม่ทำงาน ท้องผูก ความเสื่อมโทรมของประสาทในช่องท้อง ทำให้กล้ามเนื้อที่ช่องท้องและส่วนกลางของลำตัวแข็งแรง

 

ข้อมูลสื่อ

129-030
นิตยสารหมอชาวบ้าน 129
มกราคม 2533
โยคะ
วุฒิโกมล