• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน

เด็กสองเดือนถึงสามเดือน 


                         



ลักษณะของทารก


102. ลักษณะของทารกระยะ 3-4 เดือน
เด็กอายุ 3-4 เดือน จะเคลื่อนไหวมากกว่าเดือนที่แล้ว การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา หู และแขนขา เริ่มประสานกัน
เมื่อเด็กคอแข็งแล้ว จะพยายามหันดูสิ่งแปลก ๆ และหันตามเสียง เวลาอาบน้ำ สระผม เด็กที่ไม่ชอบสระผมจะพยายามหันหัวหนี ทำให้คุณแม่สระผมให้ลำบากขึ้น เวลาวางนอนคว่ำจะชูคอขึ้นสูงและถีบแขนขา นอกจากกล้ามเนื้อคอจะแข็งแรงขึ้นแล้ว กล้ามเนื้อสันหลังก็แข็งแรงขึ้นด้วย เด็กบางคนพลิกค่ำพลิกหงายเองได้แล้ว ถ้าคุณแม่ลืมยกที่กั้นเตียงขึ้นเด็กจะพลิกตกลงมาได้ คุณแม่ต้องไม่วางเด็กในวัยนี้ทิ้งไว้ที่ระเบียงซึ่งไม่มีลูกกรงกั้นเป็นอันขาด

เด็กอายุ 4 เดือน จะเคลื่อนไหวแขนขาได้อิสระขึ้น เด็กบางคนสามารถถือขวดนมได้เองแล้ว บางคนดึงผ้าห่มมาใส่ปากดูด เด็กบางคนเวลาจับยืนบนตักจะถีบเท้ากระโดดเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็นอยากทำอะไรด้วยตัวเอง เราจึงมักเริ่มหัดกายบริหารให้ แต่เรื่องหัดกายบริหารนี้ไม่จำเป็นสำหรับเมืองไทย เพราะอากาศร้อน เด็กสวมเสื้อผ้าน้อย อาบน้ำก็บ่อย เป็นการออกกำลังไปในตัวอยู่แล้ว
นิสัยในการนอนของเด็กแต่ละคนจะเริ่มเห็นชัดขึ้น เด็กส่วนใหญ่จะนอนตอนเช้าประมาณ 2 ชั่วโมง และตอนบ่ายอีกประมาณ 2 ชั่วโมง กลางคืนนอนตั้งแต่สองทุ่มและตื่นกลางดึงประมาณครั้งหรือสองครั้ง แต่มีเด็กบางคนที่มีนิสัยต่างจากนี้ ถ้าเป็นเด็กประเภทชอบนอน นอนเกือบทั้งวันทั้งคืนคุณแม่มักชอบ เพราะเลี้ยงง่าย แต่ถ้าเป็นเด็กประเภทไม่ยอมนอนตอนกลางคืน คุณพ่อคุณแม่มักเดือดร้อน

ปริมาณนมที่เด็กแต่ละคนกินไม่เท่ากัน เด็กบางคนกินเก่ง กินนมครั้งละ 200 ซีซี. แล้วถึงร้องจะเอาอีก เด็กที่กินน้อยจะกินเพียง 120 ซีซี. ก็อิ่ม เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่สลับนมวัวพอถึงระยะนี้บางคนจะไม่ยอมกินนมนมวัว เด็กที่เคยเลี้ยงด้วยนมแม่มาตลอด เมื่อนมแม่เริ่มไม่พอ มีจำนวนมากที่ไม่ยอมกินนมวัว
เด็กผู้ชายที่เคยอาเจียนบ่อย ๆ พอถึงระยะนี้จะเลิกอาเจียนแล้ว
เด็กที่มีน้ำลายมาก น้ำลายจะเริ่มไหลย้อยลงมาจากปาก ส่วนใหญ่อายุหนึ่งขวบแล้วก็ยังไหลอยู่ แต่ถึงเวลาก็จะหยุดไหลไปเอง ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเด็ก จะน้ำลายย้อยจนโต
เด็กที่ท้องผูกบ่อย ๆ จะยังคงมีอาการท้องผูกอยู่ ถ้าเด็กเริ่มกินอาหารด้วยช้อนได้ ลองให้กินนมเปรี้ยว (โยเกิร์ต) ดู มีเด็กจำนวนมากที่ถ่ายสะดวกขึ้นหลังจากให้นมเปรี้ยว เด็กที่เคยถ่ายอุจจาระเหมือนท้องเสียใน ช่วงกินนมแม่ เมื่อเปลี่ยนเป็นนมผง ถึงจะแข็งขึ้น

เมื่อเด็กอายุได้ 3 เดือน คุณแม่บางคนจะเริ่มฝึกนั่งกระโถนให้ มีเด็กบางคนที่หัดได้ แต่การที่เด็กบางคนสามารถถ่ายลงกระโถนได้นั้น ไม่ใช่เป็นเพราะการฝึกของคุณแม่ แต่เป็นเพราะเป็นเด็กที่อึฉี่ไม่บ่อย ทำให้คุณแม่สามารถคาดเวลาได้ว่าจะถ่ายเมื่อไร พอใกล้เวลา จับนั่งกระโถนเด็กก็จะถ่าย ทำให้คุณแม่ดีใจนึกว่าเก่งทั้งแม่ทั้งลูก ถ้าบังเอิญลูกของคุณเป็นเด็กประเภทถ่ายบ่อยไม่เป็นเวลา คุณแม่จะฝึกไม่สำเร็จ ในวันหนึ่ง อาจมีเพียงครั้งหรือสองครั้งที่บังเอิญเวลาจับนั่งกระโถนตรงกับเวลาถ่ายของเด็ก เด็กจึงถ่ายลงกระโถน คุณแม่อย่ามัวเสียเวลาฝึกลูกนั่งกระโถนเลย เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์จะดีกว่า

สิ่งที่สำคัญกว่าการฝึกลูกนั่งกระโถน คือการพาลูกออกตากอากาศนอกบ้าน วันหนึ่ง ๆ ควรให้ลูกอยู่นอกบ้านอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะอากาศภายนอกจะทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อหลอดลมของทารกแข็งแรงขึ้น นอกจากนั้น เด็กจะรู้สึกสนุกและชอบอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน เป็นการให้ประโยชน์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้นคุณแม่ควรพยายามพาลูกออกนอกบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเด็กได้ตากอากาศภายนอก กลางคืนเด็กจะนอนหลับสบาย ทำให้คุณแม่สบายไปด้วย เด็กที่ไม่ค่อยนอนตอนกลางคืน ควรพาออกเที่ยวมาก ๆ หน่อย

เมื่อเด็กอายุได้ 3 เดือนแล้ว แพทย์ พยาบาล บางคนจะแนะนำให้เริ่มให้อาหารเสริม เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง แป้งอาหาร เต้าหู้ ฯลฯ โดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจของคุณแม่ไม่อำนวยให้ซื้อนมผงราคาแพงเลี้ยงลูกได้เต็มที่ ควรเริ่มฝึกให้กินอาหารเสริมเร็วหน่อย แล้วเลือกของมีประโยชน์ที่ราคาถูกให้เด็กกิน จะช่วยประหยัดได้บ้าง แต่ถ้าคุณมีเงินพอที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมชั้นดีได้อย่างสบาย ๆ คุณไม่ต้องรีบร้อนให้อาหารเสริม เพราะไม่ใช่ว่าพออายุได้ 3 เดือน เด็กทุกคนจะต้องกินอาหารเสริมได้ เด็กแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนสามารถกินอาหารจากช้อนได้เร็ว บางคนถ้าป้อนให้ด้วยช้อนจะทำหกเกือบหมด เด็กบางคนชอบอาหารเสริม บางคนต้องคอยถึงอายุ 5 เดือนขึ้นไปจึงจะยอมกิน การเริ่มให้อาหารเสริมเร็วไม่ได้ช่วยให้เด็กแข็งแรงขึ้นแต่อย่างใด และการเริ่มให้ช้าก็ไม่ได้ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กที่กินยาก เลือกอาหารแต่อย่างใดเช่นกัน การให้อาหารเสริม ไม่ใช่การฝึกให้เด็กทนกินอาหารที่ไม่ชอบ แต่คือการสอนให้เด็กค่อย ๆ เคยชินกับการกินอาหารซึ่งเป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนเรา การทำให้เด็กหมดความสุขกับการกินเพราะถูกบังคับ เป็นการกระทำที่โง่เขลา เด็กจะชอบกินอาหารเสริมหรือไม่นั้นอยู่ที่ตัวเด็กเอง ไม่ใช่เรื่องที่จะฝึกสอนกันได้

การให้อาหารเสริมไม่ควรเน้นที่การให้ตามตาราง แต่ควรเริ่มจากการสอนให้เด็กรู้จักการกินอาหารด้วยช้อน ถ้าเด็กชอบกินน้ำผลไม้ อาจแบ่งน้ำผลไม้ส่วนหนึ่งป้อนให้ด้วยช้อน ถ้าไม่ชอบน้ำผลไม้ อาจลองให้น้ำแกงจืดด้วยช้อนดู โดยเริ่มให้แต่น้อย ช้อนสองช้อน ถ้าชอบจึงค่อย ๆ เพิ่ม ถ้าเด็กไม่ชอบก็รอไปอีกครึ่งเดือนแล้วค่อยลองให้ใหม่ ไม่มีกฎข้อบังคับใด ๆ ว่าเด็กอายุ 4 เดือนจะต้องกินไอ้โน่นไอ้นี่ให้ได้เท่านั้นเท่านี้ เด็กแต่ละคนชอบอาหารแตกต่างกันในระหว่างที่เด็กยังไม่ชอบอาหารเสริม คุณแม่เพียงแต่ฝึกการกินอาหารด้วยช้อนรอไว้ก็พอ

เด็กในช่วง 3-4 เดือนนี้ มักไม่เป็นโรคร้ายแรงถึงแม้พี่จะเป็นหัด เด็กทารกจะไม่ติด คางทูมก็ไม่ติด แต่เด็กจะติดอีสุกอีใสได้ แต่ถึงเป็นอาการก็ไม่หนักถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นหวัด ลูกมักติดและมีไข้ ไข้จะไม่สูง ส่วนมากมักมีเพียงอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลจามแล้วไอ แล้วก็หาย ถ้ารักษาความสะอาดอยู่เสมอเด็กวัยนี้มักจะไม่เป็นโรคท้องร่วงเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส
เด็กที่เคยเป็นผดมาก ถึงระยะนี้อาการจะค่อยดีขึ้น
เด็กที่กระดูกต้นขาหลุดจากข้อต่อตะโพกมาแต่กำเนิด ถ้าพบในช่วงนี้จะสามารถรักษาให้หายได้ก่อนอายุ 1 ขวบ

 

การเลี้ยงดู

103. การเลี้ยงด้วยนมแม่
เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ถ้าคุณแม่ไม่กังวลเรื่องอึเหลวเหมือนท้องเสีย หรือเรื่องเด็กไม่ถ่ายทุกวัน สองวันจึงถ่ายทีหนึ่ง จะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายจริง ๆ และเมื่อเด็กกินแต่นมแม่มาตลอด 3 เดือน พอจะเริ่มให้นมวัว เด็กส่วนใหญ่มักไม่ค่อยยอม
เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ เมื่อถึงช่วงนี้ ถ้าน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มเพียงวันละ 10 กรัม (ปกติจะต้องเพิ่มประมาณ 20 กรัม) หรือตกกลางคืนร้องกวนเพราะหิว แสดงว่านมแม่ไม่พอ ต้องให้นมวัวเพิ่ม แต่พอคุณแม่ชงนมให้ มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ยอมกิน เด็กอายุ 3 เดือน ชักจะรู้อะไรมากขึ้น ลองไม่ชอบนมวัวเสียสักครั้งหนึ่งแล้ว ทำอย่างไร ๆ ก็จะไม่ยอมกินอีก ถ้าพยายามบังคับเอาหัวนมใส่ปากให้กิน คราวหลังพอเด็กเห็นขวดนมจะร้องไห้ทันที

ถึงแม้เด็กจะไม่ยอมกินนมวัว คุณแม่ไม่ต้องกลุ้มใจ เพราะพออายุ 4 เดือน เด็กจะกินอาหารเสริมได้ ในระหว่างนี้ถึงแม้นมแม่จะไม่พอ ก็เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวดีกว่าบังคับให้เด็กกินนมวัวที่ไม่ชอบ และถึงแม้ในช่วงนี้ น้ำหนักจะไม่ค่อยเพิ่ม แต่พอเด็กกินอาหารเสริมได้มากขึ้น น้ำหนักจะกลับเพิ่มตามปกติ และไม่มีผลร้ายต่อร่างกายของเด็กในระยะยาวแต่อย่างใด ถ้านมแม่มีน้อยทำให้เด็กหิวจัด เด็กจะค่อย ๆ กินนมวัวเองโดยไม่ต้องบังคับ โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่มีนิสัยกินน้อยมักเลี้ยงด้วยนมแม่ล้วน ๆ ได้พอเพียง แต่เด็กที่กินจุ เมื่อนมแม่ไม่พอจะยอมกินนมวัวด้วย

ถ้าคุณแม่ต้องเพิ่มนมวัวให้ลูกเพราะให้นมแม่อย่างเดียวน้ำหนักไม่ค่อยเพิ่มหรือเพราะคุณแม่จะต้องออกไปทำงานในวันแรกที่เริ่มให้ลองชงนมให้ 1 มื้อ ปริมาณ 150 ซีซี. ถ้าเด็กกินเหลือถึง 20 ซีซี. แสดงว่าเป็นเด็กกินน้อย วันรุ่งขึ้นชงให้มื้อละ 150 ซีซี. แต่ถ้าวันแรกกินหมด 150 ซีซี. ในกรณีที่เด็กกินนมวันละ 5 มื้อ วันรุ่งขึ้นชงให้มื้อละ 180 ซีซี. ถ้ากินนมวันละ 6 มื้อ ชงให้มื้อละ 150 ซีซี.ถ้าให้นมวัววันละมื้อแล้วเด็กยังทำท่าไม่พอ ร้องกวนเพราะหิว คุณแม่ต้องเพิ่มมื้อนมวัวให้เป็น 2 หรือ 3 มื้อ แต่ไม่ควรเปลี่ยนไปเลี้ยงด้วยนมวัวทั้งหมด ควรเลี้ยงด้วยนมแม่ครึ่งหนึ่ง เพราะสะดวกดี เช่น ถ้าเด็กกินนมวันละ 5 มื้อ ก็ให้นมวัว 3 มื้อ นมแม่ 2 มื้อ เป็นต้น ตอนเช้านมมื้อแรก ตอนกลางวัน ดึก ให้นมแม่จะสะดวกกว่า เพราะพอลูกหิวก็เปิดนมให้ได้ทันที ถ้าเด็กกินนมวันละ 3 มื้อขึ้นไป คุณแม่อย่าลืมให้น้ำผลไม้เพื่อเพิ่มวิตามินซีด้วย

ถ้าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน ๆ แล้วน้ำหนักเพิ่ม 10 วัน 200 กรัม ระหว่างอายุ 3-4 เดือนนี้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริมอย่างอื่น นอกจากน้ำผลไม้วันละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น
เมื่อเด็กอายุ 3 เดือน จำนวนมื้อที่ให้นมในแต่ละวันจะแน่นอนขึ้น เด็กบางคนกินนมวันละ 5 มื้อ โดยไม่ตื่นขึ้นกินมื้อกลางดึก แต่บางคนกินวันละ 6 มื้อ ช่วงห่างกันมื้อละ 4 ชั่วโมง 5 ครั้ง และตอนกลางดึกอีก 1 ครั้ง

ตามประเพณีตะวันตก เด็กมักจะแยกห้องนอน กับแม่เมื่ออายุ 3 เดือน ดังนั้น การกินนมกลางดึก จะทำให้แม่ลำบาก เขาจึงหัดไม่ให้ลูกกินนมกลางคืน แต่การที่เด็กกินนมกลางคืน ไม่มีผลเสียใด ๆ ทั้งสิ้นต่อสุขภาพ ถ้าคุณแม่นอนห้องเดียวกับลูก เวลาลูกตื่นร้องตอนกลางคืน คุณแม่ตื่นเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ เสร็จแล้วยังไม่เงียบ ก็อุ้มกล่อมให้นอน ในกรณีเช่นนี้ ถ้ามีนมแม่ ก็ให้ลูกดูดนม เด็กจะรู้สึกอบอุ่นเดี๋ยวเดียวก็หลับ นี่คือสิทธิพิเศษของคุณแม่ที่มีนมแม่คุณอย่าเห่อทำตามฝรั่งจนกระทั่งสละสิทธิพิเศษอันนี้ทิ้งไปเปล่า ๆ

 

ข้อมูลสื่อ

22-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 22
กุมภาพันธ์ 2524