• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสามเดือนถึงสี่เดือน

เด็กสามเดือนถึงสี่เดือน 


                        



ลักษณะของทารก


104. เลี้ยงด้วยนมวัว
ข้างกระป๋องนมผงเกือบทุกยี่ห้อ จะระบุให้ชงนมให้เด็กอายุ 3 เดือนมื้อละ 180 ซีซี. คุณแม่ดูตัวเลขนี้มักจะนึกว่าต้องให้ลูกมากกว่าเดือนที่แล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น การที่เพิ่มนมให้เด็กเป็นมื้อละ 180 ซีซี. นั้น ก็เพื่อจะลดจำนวนมื้อนมในแต่ละวัน จากวันละ 6 มื้อ ให้เหลือวันละ 5 มื้อ คุณแม่ส่วนใหญ่มักไม่นึกถึงข้อนี้ เคยให้กินนม วันละ 6 ครั้งอย่างไรก็คงให้เช่นเดิม แล้วเพิ่มนมเป็นมื้อละ 180 ซีซี. เด็กช่วงอายุ 3 เดือนนี้มักจะกินนมเก่ง ชงให้เพียง 150 ซีซี. จะดูดจนหมดแล้วยังดูดขวดเปล่าต่อเหมือนไม่พอ ขวดนมสมัยนี้ก็ใหญ่จุถึง 240 ซีซี. ชงนมให้ 150 ซีซี. จะดูนิดเดียวเหมือนไม่พอจริง ๆ แต่จากประสบการณ์ของกุมารแพทย์ (หมอเด็ก) กล่าวไว้ว่า เราไม่ควรให้เด็กทารกกินนมเกินวันละ 1 ลิตร (1000 ซีซี.) ถ้าชงให้ครั้งละ 180 ซีซี. วันละ 6 ครั้งก็จะเกินหนึ่งลิตรไป ถึงแม้ว่าเด็กจะกินนมเกินวันละลิตร เด็กจะไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาทันที ท้องไม่เสีย ร่าเริงดี น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อนบ้านมักจะชมว่า “แหม หนูอ้วนน่ารักจัง” คุณแม่ได้ยินอย่างนี้ก็ยิ่งดีใจ ให้ลูกกินนมมากเข้าไปอีก บางมื้อชงให้ถึง 200 ซีซี. เมื่อทำอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป จะเกิดอาการผิดปกติขึ้นสักวันหนึ่ง

อาการผิดปกติประการหนึ่งคือ “โรคเกลียดนม” (ดูหัวข้อ 97 โรคเกลียดนม) อีกประการหนึ่งคือ “โรคอ้วนเกินขนาด” การอ้วนเกินไป คือการที่ร่างกายต้องเลี้ยงไขมันที่พอกอยู่ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักโดยไม่จำเป็น ตัวเด็กเองต้องแบกไขมันหนัก ๆ อยู่ ตลอดเวลา ทำให้การเคลื่อนไหวเนือยลง เด็กอาจยืนช้ากว่าปกติ ดังนั้น ถึงแม้เด็กจะกินเก่ง คุณแม่ไม่ควรให้นมกินเกินวันละ 1 ลิตร ถ้าเด็กไม่พอให้กินน้ำผลไม้แทน

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัวบางคนเป็นเด็กกินน้อย น้ำหนักอาจไม่ถึงน้ำหนักเฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน เด็กกินน้อยไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มกินน้อยเมื่ออายุ 3 เดือน ตอนอายุ 2 เดือนก็กินน้อย ถ้าชงนมให้ตามสลากข้างกระป๋องจะกินไม่ไหมด ชงให้ 150 ซีซี. จะเหลือถึง 40-50 ซีซี. ทุกมื้อไป เด็กแบบนี้ไม่มีวิธีใด ๆ จะทำให้อ้วนได้ และไม่จำเป็นต้องทำให้อ้วนด้วย
คุณแม่จะรู้ดีที่สุดว่าลูกผอมเพราะป่วยหรือ เพราะมีนิสัยกินน้อย ไม่ว่าเพื่อนบ้านจะดีว่าลูกคุณผอม กร๋องอย่างไร คุณไม่ต้องสนใจ ถ้าลูกของคุณร่าเริงดี ทั้งยังถีบขากระโดดได้แล้ว เพราะความผอมไม่เป็นภัยใด ๆ ทั้งสิ้นต่อการดำรงชีวิต เด็กจะกินนมมื้อละ 120 ซีซี. หรือ 180 ซีซี. ก็เป็นสิทธิส่วนตัวของเด็ก ในเมื่อไม่มีใครจะบังคับให้คุณกินข้าวมื้อละ 2 ชามก็ได้ ก็ไม่ควรมีใครบังคับให้เด็กต้องกินนมมื้อละ 180 ซีซี. เช่นกัน มีคุณแม่หลายคนที่เห็นลูกผอมแล้วพาไปหาหมอ เพื่อให้หมอทำให้อ้วนโดยการฉีดกลูโคสเข้าไป เป็นการทำลายชีวิตอันสงบสุขของลูกอย่างไร้เหตุผลจริง ๆ 



 

105. อาหารเสริม
เด็กอายุ 3 เดือนที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ถ้านมแม่ไหลดี ยังไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริม เด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว ถ้ากินนมเก่ง น้ำหนักเพิ่มเฉลี่ยวันละ 20 กรัม (10 วันเพิ่ม 200 กรัม) นอกจากน้ำผลไม้เพื่อเพิ่มวิตามินซีแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริมอย่างอื่น

เราให้อาหารเสริมแก่เด็ก เพื่อหัดให้เด็กคุ้นเคยกับการกินอาหารด้วยช้อน เมื่อเด็กถึงวัยห่านม จะได้รู้จักกินข้าวและอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนม การให้อาหารเสริมเร็วเกินไป มีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะเด็กยิ่งอายุน้อย การเตรียมอาหารก็ยุ่งยากเสียเวลาเพราะต้องทำให้เหลว ต้องฆ่าเชื้อโรคอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นเด็กจะท้องเสีย แทนที่จะได้อาหารเสริม กลับกลายเป็นโรคขาดอาหารไปเลย ระบบย่อยของทารกยังไม่สามารถย่อยอาหารเสริมได้ดี ทำให้ท้องอืด ไม่กินนมซึ่งเป็นอาหารหลัก ในชนบทบางแห่ง เด็กอายุได้เดือนเดียวให้กินกล้วยน้ำว้าหรือข้าวบดแล้ว ในเมือง คุณแม่ที่เห่อลูกคนแรก มักขยันอยากทำอะไร ๆ ให้ลูกกินและดีใจว่าลูกกินกล้วยกินข้าวได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ นึกว่าลูกเก่ง ที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าคุณมีเวลา แทนที่จะมานั่งบดข้าวให้ลูก พาลูกออกไปเดินเล่นข้างนอกบ้านดีกว่า ถึงแม้ว่าเด็กจะกินฟักทองเร็วขึ้นสัก 2-3 เดือน ก็ไม่มีผลอะไรเลยต่อชีวิตทั้งชีวิตของเด็ก แต่ถ้าคุณแม่มัวสาละวนอยู่กับการทำอาหารเสริมจนไม่มีเวลาพาลูกออกถูกอากาศนอกบ้าน นี่สิ จะทำให้เด็กอ่อนแอ ไม่มีความต้านทานดีพอ โรคที่ไม่ควรจะเป็นก็กลับต้องมาเป็น และอาจส่งผลต่อวิถีชีวิตของลูกได้

ถ้าคุณยังกังวลอยู่กับเรื่องอาหารเสริม เพราะใคร ๆ รอบด้านบอกว่าลูกอายุตั้ง 3 เดือนแล้ว ยังไม่ให้อาหารเสริมอีกหรือ คุณอาจเริ่มฝึกให้ลูกใช้ช้อนเป็นก่อน เพราะการให้อาหารเสริมในช่วงอายุก่อน 6 เดือน จุดประสงค์ใหญ่เพื่อฝึกให้เด็กเคยชินกับอาหารอ่อนและแข็ง ซึ่งกินจากจุกนมแม่ไม่ได้ต้องใช้ช้อน ในเมื่อเราเน้นที่การฝึกการใช้ช้อน คุณแม่ไม่จะเป็นต้องทำอาหารให้ลูกเป็นพิเศษ บางน้ำผลไม้ที่เคยให้ดูดจากขวดสักส่วนหนึ่งป้อนด้วยช้อน ครั้งแรก ๆ เด็กยังไม่ชิน อาจทำหกเสียมาก แต่เด็กจะพยายามกินเพราะเคยรู้รสน้ำผลไม้อยู่แล้วว่าอร่อย ตอนเย็นเวลาทำแกงจืด ก็แบ่งน้ำแกงจืดส่วนหนึ่งให้ (ไม่ควรใส่ผงชูรส) เติมน้ำสุกให้รสเจือจางลง และป้อนให้หลังจากทำเสร็จใหม่ ๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้ก่อนมื้อนม เพราะจะต้องเสียเวลาอุ่นใหม่ เมื่อลูกใช้ช้อนเก่งแล้ว ค่อยเริ่มหัดให้รู้รสอาหาร ในช่วงอายุ 3-4 เดือนนี้ ไม่ต้องทำอะไรให้เป็นพิเศษ

แต่มีเด็กบางคนที่อาหารเสริมเป็นของจำเป็น คือ เด็กที่เคยเลี้ยงด้วยนมแม่ และเมื่อนมแม่ไม่พอ ไม่ยอมกินนมวัว หรือเด็กที่นมแม่ไม่มีและฐานะทางเศรษฐกิจของพ่อแม่ไม่อำนวยให้เลี้ยงลูกด้วยนมวัว สำหรับเลี้ยงทารกเพราะราคาแพง เด็กแบบนี้ ต้องให้อาหารเสริมช่วยเพื่อให้ร่างกายได้ธาตุอาหารครบถ้วน ในกรณีเช่นนี้ ก่อนอื่นคุณแม่ต้องหัดให้เด็กรู้จักการกินด้วยช้อนเสียก่อน โดยให้น้ำผลไม้หรือน้ำแกงจืดด้วยช้อนประมาณ 7-10 วัน เมื่อเด็กใช้ช้อนเก่งแล้ว จึงเริ่มให้อาหารเสริมตามตารางให้อาหารเสริม สำหรับเด็กอายุ 4-6 เดือน (จะกล่าวถึงในภายหลัง) แต่คุณแม่ต้องระวังอย่าเพิ่มปริมาณอาหารให้เร็วเกินไปนัก





106. เลี้ยงลูกให้แข็งแรง
เมื่อเด็กอายุเกิน 3 เดือนขึ้นไป วันหนึ่ง ๆ ควรให้ถูกอากาศนอกบ้านอย่างน้อย 3 ชั่วโมง คุณแม่อาจใส่รถเข็นพาเที่ยวก็ได้ แต่ถ้าอุ้มพาเดินเล่นได้ควรอุ้มเพราะเด็กอายุ 3 เดือนจะสนใจสิ่งรอบตัว ชูคอหันดูโน่นดูนี่ การอุ้มทำให้เด็กพยายามยืดตัวตรง และเมื่อเด็กดีใจจะแกว่งแขนไปมา เป็นการออกกำลังที่ดี สำหรับเด็กทารก
ถ้าอากาศร้อน เหงื่อจะออกมาก เมื่อกลับจากเดินเล่น ควรให้เด็กกินน้ำผลไม้ หรือน้ำต้มสุก เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไป

เด็กที่คุณแม่ให้นอนหงายมาตลอด เมื่ออายุได้ 3 เดือนควรจับคว่ำบ้าง ครั้งละ 4-5 นาที เด็กจะชันคอขึ้น และมองไปข้างหน้าทำท่าเหมือนจะพยายามคลาน เด็กมักจะชอบนอนคว่ำ ถ้าพลิกคว่ำได้เองแล้วเด็กจะพยายามคว่ำอยู่เสมอ ถ้ายังคว่ำเองไม่ได้ จะแสดงกิริยาให้คุณแม่รู้ว่าอยากจะคว่ำ
วันไหนถ้าอากาศไม่ดี หรือคุณแม่ไม่ว่างไม่มีเวลาพาลูกออกนอกบ้าน ควรหัดกายบริหารให้เพื่อลูกจะได้ออกกำลังกายบ้าง
คุณแม่ควรอาบน้ำให้ลูกบ่อย ๆ เพราะทำให้ผิวหนังสะอาด ช่วยป้องกันผดและทำให้ผิวหนังแข็งแรง นอกจากนั้นการที่เด็กได้เล่นน้ำบ่อย ๆ จะช่วยให้เด็กนอนหลับดีอีกด้วย
การฉีดวัคซีน ดูหัวข้อ 92-96 ฉีดวัคซีน ในหมอชาวบ้านปีที่ 2 ฉบับที่ 18-19


สภาพแวดล้อม


107. ป้องกันอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ กับเด็กอายุ 3-4 เดือน คือ อุบัติเหตุรถยนต์ เพราะคุณพ่อและคุณแม่เริ่มอยากพาลูกออกเที่ยว และเด็กที่ชอบร้องตอนกลางคืน โดยไม่ยอมหยุดง่าย ๆ คุณพ่อคุณแม่มักพาขึ้นรถเที่ยวเพื่อให้หลับ ทำให้โอกาสที่จะประสบอุบัติเหตุรถยนต์มีมากขึ้น ดังนั้น เวลาพาลูกขึ้นรถยนต์ต้องระวังส่วนศีรษะให้ดี ถ้าพาขึ้นแท็กซี่ ไม่ควรนั่งข้างคนขับและต้องคอยระวังเวลาคนขับเบรกรถกะทันหัน อย่าให้หัวเด็กกระแทกอะไรเข้า
อุบัติเหตุตกเตียงก็เกิดขึ้นบ่อยในช่วงอายุนี้ เพราะคุณแม่เห็นว่าลูกยังคลานไม่ได้ จึงเอาวางไว้บนเตียง โดยไม่มีอะไรกั้น เด็กดิ้นไปดิ้นมาตกเตียงได้ คุณแม่ต้องจำไว้เสมอว่า เมื่อวางลูกบนเตียง ถ้าไม่อยู่ด้วยจะต้องเอาที่กั้นเตียงขึ้นเสมอ

สำหรับบ้านที่ไม่ได้ให้ลูกนอนบนเตียง อาจมีอุบัติเหตุตกระเบียง เช่น วันไหนอากาศร้อน คุณแม่เอาลูกไปนอนรับลมตรงระเบียง พอดีมีคนมาเรียก หรือน้ำเดือดวิ่งไปดู ลูกอยู่ทางนี้พลิกตกระเบียง ถ้าเป็นระเบียงเตี้ย ๆ ไม่เกินหนึ่งเมตรก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นระเบียงชั้นสอง ลูกคอไม่หักก็บุญแล้ว และถึงไม่มีบาดแผลภายนอก ก็ต้องพาไปตรวจที่โรงพยาบาล ทางที่ดีอย่าวางเด็กไว้ใกล้ระเบียงที่ไม่มีอะไรกั้นจะดีที่สุด

เด็กอายุ 3 เดือน ถ้าเราเอาของเล่นให้จับ จะกำแน่นไม่ยอมปล่อย เรื่องที่เกิดบ่อย คือ คุณแม่เอาของเล่น (เช่น ป๋องแป๋ง) ให้กำเล่น เด็กจะแกว่งฟาดหน้าจนเป็นแผลแล้วยังไม่ยอมปล่อย
อุบัติเหตุอีกอย่างสำหรับเด็กในช่วงอายุนี้คือ ขอบกลืนของเล็ก ๆ เข้าไปติดคอ ดังนั้น ไม่ควรวางของเล็ก ๆ ไว้ใกล้ตัวเด็ก
เด็กที่เป็นผดแล้วชอบเกา หรือเด็กที่ชอบดูดนิ้ว คุณแม่มักใส่ถุงมือให้ แต่มีถุงมือบางอย่างที่เย็บไม่เรียบร้อย ด้านในมีด้ายลุ่ยออกมาพันนิ้วมือเด็กจนเลือดไม่เดินก็มี ถ้าจำเป็นต้องใส่ถุงมือให้ ควรตรวจดูความเรียบร้อยของถุงมือให้ดีทุกครั้ง และต้องเปลี่ยนถุงมือบ่อย ๆ เพราะเด็กชอบเอาถุงมือไปดูด ถุงมือเปียก ฝุ่นและสิ่งสกปรกจับง่ายกลับยิ่งสกปรกกว่าดูดนิ้วเสียอีก

 

ข้อมูลสื่อ

23-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 23
มีนาคม 2524