• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสามเดือนถึงสี่เดือน

เด็กสามเดือนถึงสี่เดือน

 

                              

 


สภาพแวดล้อม

 

108. ภูมิอากาศ
ถ้าเด็กอายุ 3 เดือนในช่วงที่ย่างเข้าฤดูร้อนพอดี เด็กอาจกินนมน้อยลง คุณแม่อย่าฝืนบังคับให้เด็กกินมากขึ้น ถ้าเด็กที่เคยกินนมมื้อละ 160 ซีซี. กลับกินนมเพียง 100 ซีซี. ควรนึกถึงโรคเกลียดนม (ดู หัวข้อ 97 โรคเกลียดนม) แต่ถ้าคุณแม่มั่นใจว่าไม่เคยให้นมลูกในปริมาณที่มากเกินไปจนถึงกับเป็นโรคเกลียดนมก็ลองแช่นมให้เย็นลงเล็กน้อย (ประมาณ 15 องศาเซลเซียส) ถ้าเด็กดูดนมดีขึ้น ในช่วงอากาศร้อนก็ให้กินนมแช่เย็น

ในช่วงที่อากาศร้อนจัด ตอนกลางคืน อุณหภูมิในห้องสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ทำให้เด็กนอนไม่ค่อยหลับ คุณแม่ลองให้นอนหมอนน้ำแข็ง (มีของสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ซึ่งใช้สะดวก ถ้าไม่มีใช้กระเป๋าน้ำร้อนใส่น้ำเย็นจัดๆ และใส่น้ำแข็งลงไปด้วยก็พอได้) เด็กจะนอนหลับดีขึ้นและช่วยให้เป็นผดน้อยลงด้วย ก่อนนอน เปิดพัดลมระยะห่างประมาณ 2 เมตร ให้คอแกว่งไปมาจนเด็กหลับจึงปิด แต่ถ้าเป็นเด็กขี้ร้อน ซึ่งจะตื่นเมื่อปิดพัดลม จึงต้องเปิดให้ตลอดทั้งคืน ควรแหงนคอพัดลมขึ้นไม่ให้ลมถูกตัวเด็กโดยตรงเมื่ออากาศร้อนเหงื่อออกมาก เด็กจะฉี่น้อยลง คุณแม่ควรให้เด็กกินน้ำต้มสุก หรือน้ำผลไม้เพื่อให้ร่างกายได้น้ำเพียงพอ ถ้าเด็กไม่ชอบกินน้ำเปล่า และไม่อยากให้น้ำผลไม้มากเกินไป อาจให้น้ำชาจางๆ ก็ได้ ในช่วงอากาศร้อน ควรอาบน้ำให้เด็กบ่อยๆ เพราะเด็กชอบเล่นน้ำและช่วยป้องกันผดด้วย
ในฤดูร้อน อากาศร้อนจัด ไม่ควรพาเด็กอ่อนไปตากอากาศชายทะเล เพราะแดดร้อนจัดเกินไป ผิวหนังเด็กยังบาง ถูกแดดจัดจะอักเสบ ถึงแม้จะพาไปอยู่ในที่ร่ม แต่ความร้อนในรถระหว่างเดินทาง ก็ทำให้เด็กตัวร้อนได้

เมื่อย่างเข้าหน้าฝน ยุงจะชุกชุมขึ้น ระวังอย่าให้ยุงกัดเด็ก ให้ลูกนอนในมุ้งโปร่งๆ ดีที่สุด ถ้าจะใช้ยากันยุง อย่าปิดประตูหน้าต่าง ต้องเปิดให้ลมผ่านเข้าออกได้ดี ถ้าใช้ยาฉีดฆ่ายุง เวลาฉีดต้องย้ายเด็กไปอยู่ห้องอื่นและอย่าฉีดเหนือเตียงเด็ก เพราะน้ำยาจะตกลงไปตกค้างบนเตียง อย่าใช้ยาฉีดแมลงสาบฉีดยุง
ในฤดูหนาว ระวังอย่าห่มผ้าให้เด็กมากเกินไป ตามปกติเด็กจะรู้สึกหนาวน้อยกว่าผู้ใหญ่ ควรสวมเสื้อผ้าหรือห่มผ้าให้บางกว่าผู้ใหญ่เล็กน้อย

 


สภาพผิดปกติ


109.ท้องเสีย
เมื่อเด็กถ่ายอุจจาระเหมือนท้องเสีย อุจจาระเหลวมีเศษอาหารปน หรืออุจจาระที่เคยเหลืองกลับเขียวและถ่ายบ่อยขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณแม่จะต้องสังเกต คือ ตัวเด็กเองว่าร่าเริงดี กินนมดีตามปกติ ไม่มีไข้ น้ำหนักเพิ่มในอัตราปกติ (ประมาณวันละ 20 กรัม) ถ้าเด็กไม่มีอาการอื่น นอกจากอุจจาระผิดปกติก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเด็กท้องเสียได้ง่ายโดยสาเหตุต่าง ๆ เช่น นมแม่ไหลดีขึ้นอย่างกะทันหันกินนมวัวมากเกินไป เปลี่ยนชนิดของน้ำผลไม้ที่ให้ ฯลฯ ดังนั้น การที่เด็กอึบ่อยขึ้นหรืออึเหลว ถ้าพอจะรู้สาเหตุก็แก้ไขได้ไม่ยาก

อาการท้องเสียของเด็กที่จะเป็นปัญหา คือ ท้องเสียเนื่องจากเชื้อโรค เช่น เชื้อบิด หรือเชื้ออีโคไล(E.coli) เข้าไปในลำไส้ ในกรณีเช่นนี้ ตัวเด็กจะแสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็น เช่น มีไข้ ไม่ค่อยยอมกินนม หรือกินนมแล้วอาเจียน ไม่ค่อยร่าเริง น้ำหนักลดลงกะทันหัน แสดงว่าเป็นโรค แต่โรคจากเชื้อโรคเหล่านี้ สามารถป้องกันได้โดยการฆ่าเชื้อโรคอย่างเคร่งครัดเวลาชงนมและคั้นน้ำผลไม้ เด็กที่กินนมแม่และไม่ได้น้ำผลไม้ อาจกล่าวได้ว่าเกือบไม่เป็นโรคท้องร่วงเลย นอกจากกรณีที่แม่ท้องเสียมา 2-3 วัน แล้วไม่ล้างมือให้สะอาดเวลาให้นม เชื้อโรคจากมือแม่อาจติดเข้าปากลูกได้ โรคท้องร่วงเนื่องจากเชื้อโรคเหล่านี้ รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ถ้ารักษาให้ถูกต้อง เด็กจะเป็นอยู่ไม่นาน

อาการท้องเสียที่มักจะเป็นอยู่นาน มักเกิดขึ้นเนื่องจากคุณแม่ระวังเกินไป เช่น เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สลับกับนมวัว แล้วบังเอิญลูกอึเหลว คุณแม่รีบหยุดให้นมวัว (ในกรณีเช่นนี้ ไม่เฉพาะแต่คุณเท่านั้น คุณหมอก็มักสั่งให้หยุดนมวัว) ตั้งใจจะให้นมวัวอีกเมื่อลูกหายท้องเสีย แต่เด็กมักจะอึเหลวไม่หายสักที จึงได้แต่กินนมแม่และท้องจะเสียอยู่เช่นนั้นเป็นอาทิตย์ ในกรณีเช่นนี้ ถ้าค่อยๆให้กินนมวัว กลับไปเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สลับนมวัวตามเดิม อาการท้องเสียจะหายไป แต่ส่วนใหญ่คุณแม่มักไม่กล้าตัดสินใจ
นอกจากนั้น ในกรณีที่เด็กกินอาหารเสริมแล้ว ต่อมาเกิดท้องเสีย คุณแม่มักหยุดให้อาหารเสริม, ให้กินแต่นมอย่างเดียว ทำให้ท้องเสียไม่หายก็มี ถ้ากลับให้อาหารเสริมตามเดิมเมื่อไร อาการท้องเสียจะหายไป
ถ้าเด็กแข็งแรงร่าเริงเป็นปกติดี แต่มีอาการท้องเสียไม่หาย เพราะแม่ไม่ยอมให้กินอะไรนอกจากนมแม่หรือนมผงชงจาง ๆ ทั้ง ๆ ที่เด็กร้องหิว อาการท้องเสียแบบนี้น่าจะเรียกว่า “ท้องเสียเพราะอดอาหาร”

 



110. ติดหวัด
เด็กอายุ 3-4 เดือน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่พามาหาหมอ ส่วนใหญ่เป็นเพราะหวัด หวัดเป็นโรคซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและติดต่อกันได้ ถ้าคนในบ้าน โดยเฉพาะคุณแม่เป็นหวัด มีอาการปวดศีรษะบ้าง คัดจมูก ไอจาม หรือตัวร้อน ลูกมักจะติดหวัดด้วย หลังจากนั้นสักวันสองวัน เด็กจะแสดงอาการให้เห็น
เด็กอายุเท่านี้ถึงจะเป็นหวัด ตัวจะไม่ร้อนจัด ส่วนใหญ่อุณหภูมิประมาณ 37.5 -37.6 องศาเซลเซียส อาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ดูดนมลำบาก หรือ ไอจาม แต่อาการไม่หนัก
เด็กอาจกินนมน้อยลง อาการหวัดอาจจะประมาณ 2-3 วันก็หาย น้ำมูกใส ๆ จะค่อย ๆ ข้น แล้วหายไป เด็กจะกินนมมากขึ้นตามปกติในวันที่ 3 หรือ 4 บางครั้งเด็กจะอึบ่อยขึ้นในช่วงที่เป็นหวัดคล้ายท้องเสีย

สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรง เพราะขาดอาหาร เมื่อเป็นหวัดอาจกลายเป็นโรคปอดบวมได้ ถ้าพาไปหาหมอเมื่อเป็นหวัดหมออาจฉีดยาหรือให้กินยาเพื่อป้องกันโรคปอดบวมซึ่งเกิดจาก “เชื้อปอดบวม”-นิวโมคอคคัส(Pneumococcus) หรือ “เชื้อลูกโซ่” –สเตร็ปโตคอคคัส (Streptococcus) ส่วนเชื้อไวรัสซึ่งเป็นต้นเหตุของหวัดนั้น ไม่ว่ายาปฏิชีวนะหรือยาฉีดอะไรก็ทำลายไม่ได้ในช่วงที่เด็กเป็นหวัดตัวร้อน ไม่ควรอาบน้ำให้ ควรเช็ดตัวให้แทน ถ้าเห็นว่าเด็กไม่ค่อยกินนม อาจชงนมให้จางลงเล็กน้อย(ลดนมผงลงไปประมาณ 1/4 ถึง 1/2 ช้อน) ส่วนน้ำผลไม้ควรให้ต่อไป
เด็กที่ตามปกติมีเสมหะมากและชอบไอตอนเช้ามืด หลังจากหายหวัดมักมีอาการไออยู่ ถ้าคุณแม่คิดว่าอาการไอเป็นเพราะหวัดยังไม่หายและปฏิบัติต่อเด็กเหมือนคนป่วย เด็กจะถูกกักอยู่ในบ้านเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน ร่างกายจะยิ่งอ่อนแอลง เมื่อเด็กไม่มีน้ำมูก ตัวไม่ร้อน กลับกินนมได้เหมือนเดิม คุณแม่ควรปฏิบัติเหมือนเด็กปกติ อาบน้ำให้และพาออกตากอากาศนอกบ้านเช่นเคย

 



 

111. มีเสมหะ
ในจำนวนเด็กที่มาหาหมอ มีประมาณหนึ่งในสี่ที่มีเสมหะมาก มีเสียงครืดคราดในอก บางคนเริ่มเป็นตั้งแต่อายุครึ่งเดือน ถ้าเป็นเด็กที่อายุภายใน 1 เดือน หมอจะไม่สั่งให้พามารักษาเพราะตัวยังเล็กเกินไป แต่ถ้าเด็กอายุ 3-4 เดือนขึ้นไปแล้ว เมื่อเห็นเด็กมีเสียงครืดคราดในอก หมอบางคนอาจจะบอกว่าเป็นโรคหืดในเด็กเล็ก ให้พามาฉีดยารักษาเป็นประจำ แต่จากประสบการณ์ 30 กว่าปีของหมอเอง ไม่ค่อยเห็นมีเด็กหายเพราะการฉีดยา แต่พบเด็กมากรายซึ่งกลายเป็นเด็กที่หวาดผวาร้องกวนตอนกลางคืน เมื่อแม่เริ่มพาไปฉีดยา

ตอนที่เด็กอายุหนึ่งเดือน จะมีอาการเพียงเสียงครืดคราดในหน้าอก เมื่ออายุ 3 เดือน ปริมาณนมที่เด็กกินมีมากขึ้น บางครั้งเวลาไอตอนกลางคืน เด็กจะอาเจียนนมออกมาด้วย พอเด็กอาเจียนนม คุณแม่มักตกใจ ยิ่งได้ยินหมอบอกว่า เป็นโรคหืดในเด็กบ้าง เป็นโรคหลอดลมอักเสบคล้ายหืดบ้าง คุณแม่ยิ่งกลัว ไม่ว่าลูกจะร้องกลัวเข็มฉีดยาแค่ไหน คุณแม่มักทำใจแข็งพาลูกไปฉีดยาเป็นประจำ
การมีเสมหะมากไม่ใช่โรค แต่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก เหมือนกับคนที่มีเหงื่อมาก เราไม่ต้องฉีดยารักษา เพราะการมีเหงื่อมาก ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต การมีเสมหะมากก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้เด็กจะมีเสียงครืดคราดในอกและไอตอนกลางคืนหรือตอนเช้า ถ้าเด็กร่าเริงแจ่มใส กินนมดี และน้ำหนักเพิ่มปกติ ก็แสดงว่าเสมหะไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเด็ก บางครั้งเด็กอาจอาเจียนนมเวลาไอ คุณแม่ก็ให้นมอีกเมื่อเด็กร้องหิว จะไม่มีปัญหาอะไร หรือเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อาเจียน อาจลดปริมาณนมมื้อกลางคืนลงเล็กน้อยก็ได้

เด็กที่มีเสมหะมาก เมื่อโตขึ้นไม่จำเป็นต้องเป็นหืดทุกคนไป ส่วนใหญ่เมื่อโตขึ้น เสมหะจะน้อยลงจนไม่รู้สึก แต่มีส่วนน้อยที่โตขึ้นและมีหืดเป็นโรคประจำตัว เพราะคุณแม่เลี้ยงลูกเหมือนคนป่วย ไม่ได้พยายามฝึกให้ร่างกายแข็งแรง ดังนั้น ข้อสำคัญที่สุด คือ คุณแม่จะต้องไม่เลี้ยงลูกเหมือนคนป่วย ถ้าเด็กแข็งแรงดี ตัวไม่ร้อน ยิ้มเก่ง กินเก่ง ถึงแม้จะมีเสมหะมากและไอ ก็เลี้ยงเหมือนเด็กที่แข็งแรงปกติไม่ต้องสวมเสื้อให้หนาเป็นพิเศษ และพาออกตากอากาศนอกบ้านมาก ๆ
โชคดีที่เด็กมีเสมหะมาก มักมีลำไส้ที่แข็งแรง ท้องไม่ค่อยเสีย จึงเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายในข้อนี้

 

ข้อมูลสื่อ

24-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 24
เมษายน 2524