• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสามขวบถึงสี่ขวบ

การเลี้ยงดู

316 การลงโทษ

การลงโทษ คือการให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบในการกระทำของตน แต่เราจะให้เด็กอายุ 3 ขวบ รับผิดชอบเมื่อกระทำผิดนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
เมื่อเด็กเล็กทำสิ่งที่อันตราย เช่น ปีนป่าย เล่นไฟ ฯลฯ เราตีเด็กเพื่อให้เด็กจดจำความเจ็บเอาไว้ จะได้ไม่ทำอีก นี่คือเหตุผลที่เราตีเด็ก ความจริงหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กเล็กทำในสิ่งที่อันตรายคือหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้รับผิดชอบควรจะเป็นพ่อแม่ แต่พ่อแม่กลับไปลงโทษเด็ก เด็กจึงกลายเป็นผู้รับเคราะห์

อย่างไรก็ตาม ในสภาพแวดล้อมของเราทุกวันนี้ เราไม่สามารถเก็บงำสิ่งของรอบกายจนกระทั่งสิ่งที่อันตรายสำหรับเด็กไม่เหลือเลยสักชิ้นเดียว เด็กอาจจะแอบปีนหน้าต่างแม้ว่าจะถูกห้ามปรามเอาไว้ หรือเอาหนังสือเล่มสำคัญของคุณพ่อมาฉีกเล่น คุณพ่อคุณแม่ก็คือปุถุชนคนธรรมดา เมื่อของสำคัญถูกทำลายย่อมโมโหและตีลูก

การตีลูกด้วยความโมโหเมื่อลูกทำผิด คิดว่ายังดีกว่าการตีเมื่อใคร่ครวญไตร่ตรองแล้วและตั้งใจตีจริงๆ เพราะสำหรับเด็ก 3 ขวบนั้น การตีทันทีที่ทำผิดจะทำให้เด็กรู้ว่าการกระทำนั้นผิดและทำให้พ่อแม่เดือดร้อน เป็นการเตือนที่ได้ผลสำหรับเด็กเล็ก ถ้าหากมีเวลาใคร่ครวญให้ดีพ่อแม่ย่อมรู้ว่าสาเหตุที่เด็กทำผิดก็เพราะพ่อแม่ป้องกันไว้ไม่ดีพอ แล้วยังตีเด็กด้วยความจงใจเพื่อห้ามปรามแบบนี้นับว่าทารุณ

พ่อแม่ที่ตีลูกด้วยความโมโหปรู๊ดปร๊าดในขณะนั้น เมื่อเวลาผ่านไปย่อมสำนึกผิดว่าตนไม่ควรลงโทษลูกถึงขนาดนั้น จึงบริการลูกเป็นการแก้ตัว ทำให้เด็กลืมความน่ากลัวของพ่อแม่ตอนถูกตี และเข้าใจว่าพ่อแม่ทำเพราะความโกรธ แต่ถ้าหากลูกฉีกหนังสือเล่มสำคัญของคุณพ่อแล้วคุณแม่บอกว่า เดี๋ยวเถอะคุณพ่อกลับมาจะให้ตี เด็กก็ถูกดุถูกตีตอนที่ลืมไปแล้วว่าทำอะไรลงไป กลายเป็นการลงโทษที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

กระนั้นก็ดี ถ้าหากเด็กกระทำผิดด้วยความพลั้งเผลอ หรือด้วยเหตุผลทางธรรมชาติ ห้ามลงโทษอย่างเด็ดขาด เช่น เผลอฉี่รดที่นอนฉี่รดกางเกงเมื่อเล่นเพลิน ทำข้าวหก แอบกินน้ำเมื่อแม่บังคับไม่ให้กิน เพราะกลัวฉี่รดที่นอน เป็นต้น

317 ให้ลูกช่วยงาน
เวลาคุณแม่ตากผ้า ให้ลูกช่วยหยิบผ้าในตะกร้าส่งให้ เวลาคุณพ่อเป็นช่างไม้ในวันหยุด ให้ลูกช่วยงานที่ทำได้บ้าง เป็นการสอนให้ลูกรู้จักใช้แรงงาน เกิดความมั่นใจในตนเอง และรู้สึกว่าตนเป็นสมาชิกสำคัญคนหนึ่งของครอบครัว

อย่างไรก็ดี เราต้องทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับการใช้แรงงาน และเข้าใจความหมายของมันด้วย อย่าใช้แรงงานเป็นการลงโทษ เช่น หนูฉี่รดที่นอนเพราะฉะนั้นหนูต้องช่วยซักผ้า แบบนี้แย่ที่สุด การใช้แรงงานจะต้องเป็นเรื่องสนุกและประทับใจสำหรับเด็ก พ่อแม่ควรจะแสดงความปลื้มปีติที่ลูกช่วยงานจนสำเร็จด้วยแรงของลูก

เวลาลูกช่วยงาน พ่อแม่ควรจะลงมือทำงานนั้นด้วย ความภูมิใจที่ได้ช่วยงานคุณพ่อคุณแม่นี้สำคัญมากสำหรับเด็ก คุณแม่อย่าเอาแต่สั่งงานท่าเดียว เพราะการใช้แรงงานต้องเป็นความภูมิใจด้วย

เมื่อมีน้อง ลูกคนพี่มักชอบช่วยงานเพราะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองโตแล้ว และภูมิใจที่เริ่มพึ่งตนเองได้ เด็กที่อยู่บ้านไม่ยอมทำงาน แต่เวลาอยู่โรงเรียนอนุบาลกลับชอบรับหน้าที่แจกอาหาร แจกสมุดหนังสือ เพราะแกมีความรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นตัวของตัวเองเมื่ออยู่โรงเรียน

ไม่ควรให้ค่าจ้างตอบแทนเป็นเงินเมื่อใช้ลูกทำงาน เพราะจะทำให้เด็กเมิน ไม่ช่วยงานถ้าไม่ได้รางวัลตอบแทน ยิ่งกว่านั้น “บ้าน” มิใช่สถานที่อยู่ของนายทุน ผู้จ้างกับกรรมกรผู้รับค่าจ้างแรงงานสักหน่อย

ข้อมูลสื่อ

101-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 101
กันยายน 2530