• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กห้าขวบถึงหกขวบ

เด็กห้าขวบถึงหกขวบ

382. การเลือกโรงเรียนประถม

สภาพการแข่งขันเพื่อให้เด็กได้เข้าโรงเรียนดีมีชื่อเสียงในเมืองไทยชักจะใกล้เคียงกับสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่นเข้าไปทุกที จุดเริ่มต้นอยู่ที่การแข่งขันกันสอบเข้ามหาวิทยาลัยดัง ซึ่งชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “สงครามสอบเข้า” ผู้ชนะการแข่งขันจะได้รางวัล คือ มีชื่อมหาวิทยาลัยดังติดตัวไปชั่วชีวิต เป็นความภูมิใจของครอบครัวและช่วยให้เจ้าตัวหางานง่ายขึ้น เพราะสังคมมีค่านิยมฝังแน่นมากในด้านชื่อเสียงของ มหาวิทยาลัย

ความจริงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ ตราบใดที่จำนวนมหาวิทยาลัยดังมีน้อยกว่าความต้องการของผู้สอบเข้า และเป็นต้นตอของ “ปัญหาลูกโซ่แห่งความดัง” กล่าวคือ อยากเข้ามหาวิทยาลัยดังก็ต้องเข้าโรงเรียนมัธยมดังให้ได้ อยากเข้าโรงเรียนมัธยมดัง ก็ต้องเข้าโรงเรียนประถมดัง และโรงเรียนอนุบาลดังให้ได้ ไล่ตามกันลงมา ผลสุดท้าย เด็กจึงต้องกวดวิชาตั้งแต่อยู่ในท้อง

โรงเรียนดัง คือ โรงเรียนที่ทำสถิติสอบเข้าได้สูง เมื่อค่านิยมของสังคมเป็นเช่นนี้ ครูก็จะเน้นการสอบแบบกวดวิชา เพื่อทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน

เด็กที่เรียนแบบกวดวิชา มีการแข่งขันสูงอยู่ตลอดเวลา จะกลายเป็นเด็กที่หัวใจชาด้านกับการเขี่ยคนอื่นตกเวที ไม่เข้าใจถึงความทุกข์และความโศกเศร้าของผู้อื่น คิดถึงแต่ความก้าวหน้าของตนเอง คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง หากสังคมมีแต่คนประเภทนี้ สังคมจะมีความสุขได้อย่างไรเล่า

การข้ามเขตที่อยู่อาศัยไปเรียนในโรงเรียนดังไกลบ้าน ก็สร้างปัญหามากเช่นกัน นอกจากเพิ่มปัญหาจราจรแล้ว ยังมีผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของเด็กด้วย เด็กที่เรียนอยู่แถวละแวกบ้านย่อมมีเพื่อนฝูงอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน เป็นเพื่อนเล่นด้วยกันหลังเลิกเรียน แต่เด็กที่เรียนไกลบ้าน นอกจากไม่มีเวลาแล้ว ยังหาเพื่อนเล่นไม่ค่อยได้อีกด้วย

เมื่อระดับความดังของโรงเรียนมีความแตกต่างกันมาก พ่อแม่ซึ่งมีฐานะดีในชนบทก็ต้องลงทุนส่งลูกไปอยู่โรงเรียนประจำในเมือง เด็กที่จากท้องถิ่นมาตั้งแต่เล็ก ย่อมไม่มีความรู้สึกผูกพันกับถิ่นกำเนิด โตขึ้นเรียนจบแล้วจึงพากันไปอยู่ที่อื่นซึ่งเจริญกว่า ชนบทของเราก็จะล้าหลังตลอดไป เพราะไม่มีใครคิดกลับไปทำให้มันดีขึ้น

โรงเรียนดังกับโรงเรียนดี อาจไม่ใช่สมการเดียวกันเสมอไป โรงเรียนดีควรเป็นโรงเรียนที่สร้างเด็กให้เป็นคนดีมีความรู้ และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

ใครจะเอาลูกเข้าโรงเรียนแบบไหน ก็แล้วแต่วิจารณญาณของพ่อแม่ทุกวันนี้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ไม่มีทางเลือก จำต้องปล่อยให้ลูกไหลไปตามกระแสของสังคม ได้แต่คอยช่วยประคับประคองมิให้เรือล่มก่อนถึงฝั่งเท่านั้นเอง ปัญหาระบบการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับยุคสมัยอยู่เสมอ เสียงสะท้อนของพ่อแม่ก็เป็นแรงหนึ่งซึ่งช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข

ข้อมูลสื่อ

131-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 131
มีนาคม 2533
อื่น ๆ