• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นกกระสาขาเดียว

นกกระสาขาเดียว

“วันนี้พี่เอื้อจะเล่านิทานให้ฟังเอามั้ยคะ”

“เอาครับ แตมชอบฟังนิทาน”

“เอาเรื่องกระต่ายกับเต่านะ” น้องภีมร์บอก

“ลองเรื่องนกกระสากับหมาจิ้งจอกบ้าง ตกลงมั้ยคะ”

“ตกลงครับ”

พี่เอื้อยกรูปให้เด็กดูแล้วถามว่า “นี่อะไรคะ”

“นก นกกินปลาค่ะ” น้องเตยตอบ

“นกขายาว” น้องปลุ้คพูดขึ้นบ้าง

“ปากก็ยาวด้วย”

“ค่ะ นกตัวนี้ขายาว คอยาว ปากยาว กินปลาเป็นอาหาร เราเรียกนกกระสานะคะ” พี่เอื้อสรุป

“แล้วนี่อะไรคะ” พี่เอื้อยกรูปใหม่ขึ้นมาแทน

“หมา หมาน่ากลัว ภีมร์กลัว” น้องภีมร์พูดและทำท่ากลัว

“หมา โฮ้ง โฮ้ง” น้องอั๋นวัยขวบครึ่งพูดขึ้นบ้าง

“หมาเขี้ยวยาว หางเป็นพวง ท่าทางดุร้ายตัวนี้เราเรียกหมาจิ้งจอก” พี่เอื้อบอกเด็กๆ

การให้เด็กวัยก่อนเรียนแสดงออกตามที่เขาเห็นโดยการพูดหรือแสดง เป็นการเรียนที่ดีกว่าการที่ผู้ใหญ่พูดให้เด็กฟังแล้วให้เด็กจำ

“วันหนึ่ง หมาจิ้งจอกรีบร้อนกินปลา ไม่ระวัง ก้างปลาติดคอ หมาจิ้งจอกเจ็บคอมาก ทำอย่างไรก้างปลาก็ไม่หลุด จึงไปขอให้นกกระสาช่วยเอาก้างปลาออก”

“นกกระสาช่วยมั้ยคะ”

“ช่วยครับ” เด็กๆ ตอบ

“ค่ะ นกกระสาให้หมาจิ้งจอกอ้าปากกว้างๆ แล้วนกกระสาก็ใช้ปากยาวๆ ของมันคีบก้างปลาออกจากคอหมาจิ้งจอก หมาจิ้งจอกหายเจ็บคอ และขอบคุณนกกระสาด้วย”

“นกกระสาใจดี ชอบช่วยคนอื่น ใครเคยช่วยแม่บ้างคะ”

“เคยช่วย”

“ช่วยทำอะไรคะ”

“ช่วยแม่หยิบขวดนมให้น้องตองค่ะ”

“ดีมากค่ะ น้องเตยเป็นเด็กดี”

“แล้วก็น่ารักด้วย” แตมพูดต่อ

การให้โอกาสพี่ช่วยเลี้ยงน้องเป็นการปลูกฝังความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เด็ก และยังช่วยป้องกันและขจัดปัญหาเรื่องอิจฉาน้องได้ด้วย

“วันนี้เรามาฝึกโยคะ ท่านกกระสายืนขาเดียวกัน เอามั้ยคะ” พี่เอื้อชวน เด็กๆ รับคำด้วยความดีใจ

“มาสิคะมายืนหน้าพี่เอื้อ นกกระสายืนตรงอย่างนี้ค่ะ” (ภาพที่ 1)

“ตอนนี้นกกระสายกขาซ้ายขึ้นมา งอเข่าอย่างนี้ค่ะ” เด็กๆ ทำตาม (ภาพที่ 2) เด็กเล็กหลายคนยืนขาเดียวไม่ได้ พี่เอื้อปลอบว่า “ลูกนกตัวเล็กยืน 2 ขาก็ได้ค่ะ”

“ทีนี้ เด็กๆงอข้อศอกซ้ายให้ตั้งฉาก ให้มือชี้ลงล่าง อย่างนี้ค่ะ” พี่เอื้อช่วยเด็กๆ จัดท่า

“พร้อมแล้ว ยืนนิ่งๆ นับ 1-6 เสร็จแล้วเอามือและขาลงพักได้ค่ะ”

“ทีนี้เรามาลองยกขาและมือขวาดูบ้างนะคะ” เด็กๆทำตาม

ท่านกกระสา เป็นท่าสำหรับฝึกการทรงตัวบนขาเดียว และได้บริหารข้อเข่า ข้อเท้า ข้อศอก และข้อมือไปในขณะเดียวกันด้วย

 

ข้อมูลสื่อ

132-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 132
เมษายน 2533
โยคะ
วุฒิโกมล