• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคคาวาซากิ

คาวาซากิเป็นชื่อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ผู้อ่านหลายท่านอาจคิดว่ามีสาเหตุหรือเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อนี้ จริง ๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย แต่ไปเกี่ยวข้องกับผู้ที่พบโรคนี้ครั้งแรกต่างหาก

สำหรับคอลัมน์ “โรคน่ารู้” ฉบับนี้ แพทย์หญิงประมวญ สุนากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก ท่านจะพูดถึงอาการ สาเหตุ การรักษา โรคแทรกซ้อน และอันตรายของโรคคาวาซากิให้เราทราบกัน

โรคคาวาซากิเป็นโรคที่พบได้ประปรายทั่วไป พบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น โดยศาสตราจารย์คาวาซากิเมื่อ พ.ศ.2510 สำหรับประเทศไทย จากสถิติผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลเด็กปีละ 10,000 คน จะพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ตั้งแต่ปีละ 5-27 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

อาการของโรค

จะมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ไข้จะอยู่นานกว่า 5 วัน อาจจะเป็นอยู่ 2-3 สัปดาห์ และต้องมีอาการอื่นร่วมด้วยดังนี้
1. ตาแดงทั้ง 2 ข้าง
2. เยื่อบุในปากและริมฝีปากแดง แห้ง แตกเป็นสะเก็ด
3. ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บวมแดงประมาณ 2 สัปดาห์จะมีหนังลอก
4. ผื่นแดงตามตัว
5. ต่อมน้ำเหลืองโต

นอกจากนี้อาจมีปวดข้อ ท้องเสีย อาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ ร่วม

ต้องแยกจากโรคไข้ที่มีผื่น เช่น ไข้เลือดออก หัด หัดเยอรมัน การตรวจทางห้องทดลองที่สำคัญจะมีเกร็ดเลือดสูง เม็ดเลือดแดงตกตะกอนเร็ว

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อบางชนิด ยังไม่พบสาเหตุสนับสนุนว่าเป็นโรคติดเชื้อโดยตรง ไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง

การรักษา

1. ใช้การรักษาประคับประคอง
2. ถ้ามีอาการบ่งชี้ว่าจะเกิดโรคแทรก เช่น มีเกร็ดเลือดสูงมากอาจต้องให้ยาลดเพื่อป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด
3. มีการศึกษาให้แกรมม่ากลอบูลินในระยะเป็นไข้ เพื่อป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง แต่ผลยังไม่แน่นอน

โรคแทรกซ้อน
1. ทางระบบหัวใจและหลอดเลือดพบได้บ่อยถึง 31% ในญี่ปุ่นพบเส้นเลือดหัวใจโป่งพองถึง 20% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก็พบได้ อันตรายอาจทำให้ตายปัจจุบันได้

ดังนั้นเด็กที่เป็นโรคนี้ควรได้รับการตรวจหัวใจและหลอดเลือดทุกคน เพื่อป้องกันโรคแทรกนี้ และควรได้รับการตรวจเป็นระยะ ๆ ใน 2 เดือนแรก

2. ทางระบบอื่น ๆ ได้แก่ อาการทางไต สมอง ถุงน้ำดี ฯลฯ

อัตราตาย
0.5-1%
จำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 2523-2530 มี 94 คน ไม่มีผู้ป่วยถึงแก่ความตาย

จากการตรวจเส้นเลือดหัวใจโดยวิธีพิเศษ 25 ราย พบมีเส้นเลือดหัวใจโป่งพอง 20%

ผู้ป่วยรายสุดท้ายรับไว้วันที่ 30 สิงหาคม 2530 อายุ 8 เดือน เพศชาย บ้านอยู่เขตบางเขน รับไว้ที่โรงพยาบาล 2 สัปดาห์ไข้จึงลด มีโรคแทรกซ้อนทางไตร่วมด้วย

                  

ข้อมูลสื่อ

102-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 102
ตุลาคม 2530
โรคน่ารู้
พญ.ประมวญ สุนากร