• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กระหม่อม(เด็ก) นั้น สำคัญไฉน

กระหม่อม(เด็ก) นั้น สำคัญไฉน




 

คุณผู้อ่านครับ ถ้าคุณกำลังเลี้ยงดูลูกน้อยที่ยังต้องนอนแบเบาะหรือไกวเปลอยู่ละก้อ ลองใช้นิ้วมือแตะลงตรงกลางศีรษะของเด็กน้อย แล้วค่อย ๆ เลื่อนมาทางข้างหน้า จะพบว่า มีแอ่งนุ่ม ๆ เป็นรูปขนมเปียกปูน (รูปที่ 1) นี่ก็คือ กระหม่อมด้านหน้าของเด็กนั่นเองแอ่งนี้เกิดจากกะโหลกศีรษะยังงอกมาปิดไม่สนิท เด็กบางคนจะปิดเมื่ออายุ 6 เดือนไปแล้ว บางคนก็รอจนถึงขวบครึ่งค่อยปิด

กระหม่อมเด็กนี้ มีความสำคัญอย่างไรหรือครับ ?

ถ้าจะเป็น “หมอ” ของลูกน้อย เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็ต้องสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของกระหม่อมให้ดี
เวลาลูกน้อยของคุณมีอาการท้องเดิน (ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง) หรืออาเจียนมาก ๆ คุณควรคลำดูกระหม่อมว่า มันบุ๋มลึกลงไปผิดกว่าปกติหรือเปล่า ถ้ามันบุ๋มลงไป (รูปที่ 2) ร่วมกับมีอาการซึม ไม่ยิ้ม ไม่เล่นหัวเหมือนปกติ และปัสสาวะออกน้อย ก็แสดงว่า ร่างกายของเด็กมีอาการขาดน้ำเสียแล้ว ถ้ากระหม่อมบุ๋มมาก ๆ และดวงตาดูลึก ก็ยิ่งแสดงว่า อาการรุนแรง หากช่วยเหลือไม่ทัน เด็กอาจมีอันตรายได้

กระหม่อมจึงเป็นสิ่งที่บอกคุณว่า เด็กมีอาการขาดน้ำ จากท้องเดินหรืออาเจียนหรือยัง

การป้องกันมิให้เกิดอาการขาดน้ำถึงขั้นรุนแรง ก็ง่ายนิดเดียว เพียงแต่ให้เด็กอดข้าวและนมผสม (ถ้าคุณให้ลูกกินนมแม่อยู่ ก็อนุโลมให้กินนมแม่ต่อไปได้) สัก 6-8 ชั่วโมง แล้วผสมน้ำสุก 1 ขวดแม่โขงกลม (ขวดน้ำปลา) กับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ (1-2 กำมือ) และเกลือป่น ½ ช้อนกาแฟหรือช้อนหวาน (1-2 หยิบมือ) ให้กินแทนอาหาร ถ้าเด็กมีปัสสาวะออกมากขึ้น และกระหม่อมหายบุ๋ม ก็แสดงว่าดีขึ้น
เด็กทารกที่มีอาการท้องเดิน ดูแลแบบนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เอง
ส่วนเด็กที่ถ่ายมาก อาเจียนมาก กินน้ำเกลือผสมเองไม่ได้เลย และอาการรุนแรงขึ้น ก็ควรจะพาไปหาหมอโดยเร็ว อาจต้องให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด
นอกจากอาการ “กระหม่อมบุ๋ม” ซึ่งช่วยบอกอาการขาดน้ำเวลาท้องเดินแล้ว เวลาลูกน้อยของคุณมีอาการตัวร้อน ก็ควรคลำกระหม่อมดูว่ามีลักษณะโป่งตึงหรือไม่

มันเป็นอย่างไรหรือครับ ?

คุณลองทำให้ลูกของคุณร้องแง ๆ ซิครับ แล้วคลำดูกระหม่อม จะเห็นว่ามันตึงกว่าเวลาไม่ร้องใช่ไหม ?
ถ้าลูกของคุณมีอาการตัวร้อน แล้วคลำได้กระหม่อมมีลักษณะโป่งตึง ในลักษณะเดียวกัน โดยที่เด็กไม่ได้ร้องแต่อย่างใด ร่วมกับมีอาการซึม กินอะไรก็อาเจียนออกหมด ก็ให้พึงสงสัยว่า อาจมีความผิดปกติในสมอง (เช่น เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ) เกิดขึ้นแล้ว ทางที่ดีก็ควรจะพาไปหาหมอตรวจให้แน่ใจ หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้

ขอให้หัดคลำกระหม่อมของลูกน้อยของคุณให้คล่อง ๆ ไว้เถอะครับ ข้อสำคัญอย่าเผลอไปคลำของเด็กโตหรือของผู้ใหญ่เข้าล่ะเพราะกระหม่อมมักจะปิดเมื่ออายุเลยขวบครึ่งไปแล้วคงคลำไม่พบหรอกครับ

 

ข้อมูลสื่อ

16-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 16
สิงหาคม 2523
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ