• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ก่อนที่คุณจะกลายเป็นคุณแม่

ก่อนที่คุณจะกลายเป็นคุณแม่

เมื่อคุณรู้ว่าคุณตั้งท้อง ควรไปรับการตรวจและฝากท้องกับหมอทันที หมอจะสั่งตรวจเลือดว่า มีเชื้อกามโรคหรือไม่ เพราะถ้าตรวจพบในขณะที่ตั้งท้องเดือนแรกๆ แล้วรีบทำการรักษษก็จะหายขาดและเด็กที่เกิดมาก็จะสมบูรณ์ทุกประการ

การฉายเอกซเรย์บริเวณหน้าอก เพื่อตรวจวัณโรคปอดครั้งหรือสองครั้งในระหว่างที่ตั้งท้อง จะไม่มีผลต่อลูกในท้อง แต่ถ้าไม่จำเป็น การหลีกเลี่ยงการเอกซเรย์บริเวณท้องเพื่อตรวจโรคต่างๆ จะดกว่า เพราะลูกในท้องไม่ควรได้รับรังสีเอกซเรย์ก่อนอายุ 3 เดือน

คุณควรวางแผนว่าจะคลอดลูกที่บ้านหรือที่ไหน สำหรับท้องแรกควรคลอดที่โรงพยาบาลจะปลอดภัยกว่า และควรให้หมอคนเดียวกันดูแลท้องของคุณจนกระทั่งคลอด

ส่วนใหญ่หญิงมีท้องจะเริ่มรู้สึกแพ้ท้องในระยะ 6-8 สัปดาห์แรกของการตั้งท้อง อาการแพ้ท้องเกี่ยวเนื่องกับจิตใจเป็นอย่างมาก ดังนั้น ถ้าจิตใจของคุณห่วงอยู่กับการแพ้ท้อง อาการแพ้ท้องของคุณก็จะหนักขึ้น คนที่ทำงานนอกบ้านมักแพ้ท้องน้อยกว่าคนที่อยู่กับบ้าน เพราะจิตใจยุ่งอยู่กับงานมากกว่า ถ้าอาการแพ้ท้องคลื่นไส้อาเจียนของคุณหนักจนกินอาหารไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนกินอาหารเพราะกลัวเด็กจะไม่โต เพราะถึงแม้แม่จะดื่มเพียงน้ำกับน้ำผลไม้ ลูกในท้องก็เติบโตได้ บางคนอาการแพ้ท้องดีขึ้นเมื่อเข้าโรงพยาบาลนั้น อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนบรรยากาศ และถึงแม้อาการแพ้ท้องของคุณจะหนักมากก็ตามไม่ควรกินยาแก้แพ้ด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาหมอ และถ้าคุณอดทนสักหน่อยอาการแพ้ท้องก็จะหายไปเอง

ถ้าคุณไปหาหมอเป็นประจำ ก็จะได้รับการตรวจปัสสาวะ ชั่งน้ำหนัก และวัดความดันโลหิต เพื่อตรวจดูว่าคุณเป็นโรคไตหรือเป็นโรคครรภ์เป็นพิษหรือไม่ ถ้าเป็นจะได้ทำการรักษาได้ทันที ในระยะหลังของการตั้งครรภ์ แม่ส่วนใหญ่มักมีอาการบวมที่ข้อเท้าซึ่งถือว่าเป็นอาการปกติ และถ้าได้นอนพักผ่อนสักเล็กน้อยก็จะหาย แม้จะบวมขึ้นมาถึงขา ถ้าความดันโลหิตและปัสสาวะไม่มีอะไรผิดปกติก็ไม่มีปัญหา ในระยะหลังของการตั้งท้อง คุณจะต้องระวังมิให้หกล้ม ไม่ควนสวมรองเท้าส้นสูง ปีนเก้าอี้หยิบของจากที่สูง ไม่ควรขี่จักรยาน จักรยานยนต์ หรือเดินในที่ที่อาจทำให้ล้มง่าย ฯลฯ

คุณไม่จำเป็นต้องฝืนกินอาหารให้มากจนเกินไป แต่เมื่ออาการแพ้ท้องของคุณน้อยลง และกินอาหารอะไรก็ได้แล้ว คุณต้องระวังอย่าให้ขาดอาหารจำพวก แคลเซียม เหล็ก ไอโอดีน วิตามิน โปรตีน ฯลฯ แคลเซียมจำเป็นสำหรับการสร้างกระดูกและฟันของเด็ก แคลเซียมมีมากในน้ำนม ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรดื่มนมทุกวัน (ประมาณครึ่งลิตร) และกินปลาตัวเล็กๆ ที่กินได้ทั้งตัว (เช่น ปลาไส้ตัน ฯลฯ) สำหรับ เหล็กนั้นจะได้จากไข่แดง ตับ หอยนางรม ปลา ผักสีเขียวจัด (เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ฯลฯ ไอโอดีน ได้จากอาหารทะเล ส่วนวิตามิน คุณอาจกินวิตามินรวมสำหรับสตรีที่มีท้องสะดวกดี

ร่างกายของเด็กถูกสร้างด้วยโปรตีน ดังนั้น อาหารจำพวกโปรตีนจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะโปรตีนจากสัตว์ เช่น ปลา ไข่ เนื้อ เป็นต้น สำหรับผักสด ผลไม้ ก็ไม่ควรขาดเช่นกัน คุณไม่จำเป็นต้องรับประทานข้าวมาก เพราะอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลจะทำให้คุณอ้วนเกินความจำเป็น และหลังคลอดจะลดน้ำหนักลงยาก เมื่อตั้งท้องได้ 8 เดือน ถ้าลูกของคุณใหญ่เกินไป หมอจะสั่งให้คุณลดอาหารลง การที่คุณตั้งท้องและมีไขมันมากจะเพิ่มภาระการทำงานให้แก่หัวใจ ดังนั้น ไม่ควรกินของมันๆ เช่น หมูเนื้อขาว อาหารทอดน้ำมัน ฯลฯ มากเกินไป

คุณไม่ควรกินอาหารรสจัดหรืออาหารชูรส (เช่น แกงเผ็ดๆ พริก กระเทียม ฯลฯ) สำหรับกาแฟนั้น ถ้าเพียงวันละแก้วก็ดื่มได้ บุหรี่ถ้าเป็นไปได้ควรงด แต่ถ้าเลิกสูบไม่ได้ก็ควรลดลงให้กว่าครึ่ง ควรงดเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วย (เหล้า เบียร์ เป็นต้น)

สำหรับการเดินทางไกลนั้น ผู้ที่จะแนะนำคุณได้ดีที่สุด คือ หมอที่ดูแลคุณอยู่ การเดินทางไกลไม่ควรทำหลังตั้งท้องแล้ว 8 เดือน และถ้าเป็นไปได้ควรเดินทางด้วยรถไฟมากกว่ารถยนต์ สำหรับผู้ที่เคยแท้งควรระวังให้มาก

แม่บ้านที่ทำงานอยู่กับบ้าน ไม่ควรเลิกทำงานบ้านในระหว่างมีท้อง ควรทำงานต่อไปตามปกติ ยกเว้นระยะที่มีอาการแพ้ท้องมาก และควรเดินเล่นออกกำลังกายทุกวัน แต่ต้องหยุดพักทันทีที่คุณรู้สึกเหนื่อย หญิงมีท้องไม่ควรไปเล่นน้ำทะเล และแม่น้ำลำคลอง เพราะน้ำบางแห่งสกปรก การร่วมกับสามีควรหลีกเลี่ยงระยะแรกของการตั้งท้อง เพื่อป้องกันการแท้งลูก และไม่ควรร่วมกับสามีในระยะ 10 สัปดาห์ก่อนกำหนดคลอด

คุณควรถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา สำหรับผู้ที่ท้องผูกบ่อยๆ เมื่อตั้งท้อง ท้องจะผูกมากขึ้น คุณควรพยายามถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาหลังอาหารเช้า รับประทานผักสดผลไม้ (เช่น มะละกอ กล้วย ฯลฯ) ให้มากๆ ดื่มน้ำมากๆ หลังตื่นนอนตอนเช้า การใช้ยาถ่ายอาจทำให้แท้งลูกได้ การขาดการออกกำลังกายก็ทำให้ท้องผูกได้ คุณควรเดินเล่นเป็นประจำทุกวัน

การตั้งท้องอาจทำให้ฟันของคุณเสื่อมลงได้ การป้องกันบาดทะยักในเด็กแรกเกิด คุณควรฉีดวัคซีนกันบาดทะยักในเด็กแรกเกิด คุณควรฉีดวัคซีนกันบาดทะยักก่อนท้องอายุได้ 6 เดือน

เด็กในท้องจะเติบโตขึ้นทุกวัน ดังนั้น คุณไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดหน้าอก หน้าท้องควนสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย เท้าของคุณจะบวมง่ายขึ้นจึงไม่ควรสวมรองเท้าคับๆ

ในกรณีที่ท้องขยายใหญ่รวดเร็วเกินไป จะทำให้เกิดอาการท้องลาย คุณควรระวังไม่ให้น้ำหนักเพิ่มเร็วเกินไป โดยชั่งน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมอาหารที่รับประทานโดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน

สำหรับผู้ที่มีหัวนมบอด ควรนวดและดึงหัวนมประมาณ 4-5 นาทีทุกครั้งหลังอาบน้ำ แต่ไม่ควรกังวลกับมันมากนัก เพราะส่วนใหญ่ปัญหานี้มักจะแก้ตก เมื่อพยายามให้เด็กดูดนมหลังคลอด ข้อสำคัญคือ เมื่อคลอดแล้วต้องพยายามให้เด็กดูดนม อย่าล้มเลิกความตั้งใจแล้วหันไปหานมผงเสียง่ายๆ เป็นอันขาด

ปัญหาสำหรับหญิงท้องอีกอย่างหนึ่ง คือ การแท้งลูก ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ เช่น แม่เป็นโรคติดต่อเป็นโรคครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง หรือสาเหตุจากการรับประทานยารักษาโรค ฯลฯ ส่วนใหญ่การแท้งลูกมักไม่ทราบสาเหตุโดยแน่ชัด ลักษณะอาการของการแท้งลูก คือ มีเลือดออกและปวดบริเวณท้องน้อย ซึ่งบางครั้งอาการปวดอาจไม่รุนแรงนัก ถ้ามีอาการดังกล่าว คุณควรนอนพักผ่อนให้สบายๆ และติดต่อแพทย์ เลือดหรือชิ้นเนื้อที่ออกทางช่องคลอดควรเก็บไว้ให้หมอดู ในกรณีที่คุณอาจแท้งหมอจำเป็นต้องให้อยู่โรงพยาบาล เพื่อให้พักผ่อนร่างกายให้มากที่สุด

การป้องกันการแท้งลูกกระทำได้อีกอย่างโดยระวังมิให้เป็นโรคติดต่อ ไปรับการตรวจขณะตั้งท้องเป็นประจำเพื่อป้องกันโรคครรภ์เป็นพิษ ไม่กินยาทุกชนิดด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาหมอ เป็นต้น

สำหรับผู้ที่มีประวัติการแท้งลูกมาก่อนควรระวังให้มาก ควรปรึกษาและฝากท้องกับหมอในระยะเริ่มตั้งท้อง เมื่อใกล้เดือนที่คุณเคยแท้งลูกควรหลีกเลี่ยง การใช้แรงกายอย่างหักโหมและการร่วมกับสามี ถึงแม้คุณจะไม่เคยมีประวัติการแท้งลูกมาก่อนก็ตาม ในระยะแรกตั้งท้องจนถึง 3-4 เดือน ไม่ควรกินยา เพราะระยะนี้เป็นระยะที่ส่วนต่างๆ ของเด็กในท้องกำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ยาบางชนิดมีผลทำให้เด็กในท้องกลายเป็นเด็กไม่สมประกอบไปได้ และถึงแม่จะตั้งท้องเลย 4 เดือนไปแล้วก็ตาม ถ้าคุณกินยาที่มีส่วนผสมของเตตร้าซัยคลีน ลูกของคุณจะมีฟันสีเหลือง ถ้าคุณฉีดยา สเตร๊ปโตมัยซิน หรือ กาน่ามัยซิน ระหว่างมีท้องลูกของคุณอาจหูพิการได้

ระหว่างมีท้อง คุณไม่ควรเลี้ยงหรือเล่นกับสุนัขและแมว เพื่อป้องกันการติดโรค เช่น พยาธิท็อกโซปลาสมา (Toxoplasmosis) ซึ่งอาจจะทำให้ลูกที่ออกมามีความผิดปกติต่างๆ ได้ เช่น หัวโตหรือหัวเล็ก ซัก ตามองไม่เห็น ฯลฯ และควรระวังโรคหัดเยอรมันซึ่งจะทำให้ลูกของคุณพิการได้ ถ้าคุณตั้งท้องยังไม่ถึง 3 เดือน และมีเด็กในละแวกบ้านของคุณเป็นหัดเยอรมัน คุณไม่ควรเข้าใกล้เด็กๆ เหล่านั้น ในกรณีที่ลูกคนโตของคุณ เกิดเยอรมันขึ้นมาก็ออกจะเป็นเรื่องยุ่งสักหน่อยสำหรับ เพราะบางครั้งแม้คุณจะเป็นหัดเยอรมันแต่ไม่มีผื่นให้เห็น อย่างไรก็ตามถ้าบุตรของคุณเป็นหัดเยอรมันแล้ว หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ คุณมีผื่นขึ้นเหมือนกับลูกของคุณละก็ ในกรณีที่คุณตั้งท้องไม่ถึง 3 เดือน คุณควรจะปรึกษาหมอ หมออาจพิจารณาทำแท้งเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันเด็กในท้องไม่ให้พิการ แต่ถ้าคุณไม่เป็นผื่นและไม่ทราบว่าเป็นหัดหรือไม่ก็ทบทวนดูว่า คุณเคยเป็นหัดเยอรมันมาก่อนหรือไม่ ถ้าเคยก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ถ้าไม่เคยก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะตัดสินใจโดยการปรึกษาแพทย์

นอกจากหัดเยอรมันแล้ว โรคอื่นๆ ที่จะทำให้เด็กในท้องพิการอย่างแน่นอนนั้นดูเหมือนจะไม่มี แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะตั้งท้อง 3 เดือนแรก เพื่อความปลอดภัยไม่ควรเข้าใกล้คนที่เป็นหวัด เพราะโรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส หลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อลูกในท้องของคุณก็ได้

เมื่อครบกำหนดคลอดแล้ว คุณยังไม่คลอดก็ไม่ต้องวิตกกังวล การคลอดล่าช้ากว่ากำหนดประมาณ 2 สัปดาห์นั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเกินกำหนด 2 สัปดาห์ไปแล้ว เด็กอาจจะเกิดภาวะขาดออกซิเจนได้ คุณไม่ควรกังวลเรื่องความเจ็บปวดตอนคลอด และไม่จำเป็นต้องขอร้องให้หมอทำคลอดแบบไม่เจ็บให้ เพราะหมอที่ดูแลคุณอยู่จะรู้ดีว่านิสัยของคุณเป็นอย่างไร และจะเลือกวิธีทำคลอดที่เหมาะสมให้แก่คุณเอง

เมื่อคุณทราบว่าจะมีลูก ทั้งคุณและสามีมักคิดถึงเรื่องกรรมพันธุ์ อยากจะรู้ว่าในครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่งมีผู้ที่เป็นโรคที่ติดต่อได้ทางกรรมพันธุ์หรือไม่ เช่น เบาหวาน ตาบอดสี โรคจิต เป็นต้น ในประเทศไทย ที่พบบ่อยคือ โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคโลหิตจงชนิดหนึ่งที่พบได้ในบ้านเรา ผู้ป่วยจะมีอาการซีดเหลืองและม้ามโตเรื้อรัง บางครั้งชาวบ้านเรียกว่าป้าง) ซึ่งมักพบในคู่สมรสที่เป้ฯญาติใกล้ชิดกัน สามารถตรวจดูทางเลือดได้ สำหรับเรื่องนี้ก็เช่นกัน คุณไม่ควรกังวลกับมันนัก เพราะคนเราถึงแม้จะมีส่วนบกพร่องบ้าง แต่ส่วนดีก็มีอีกมาก ถ้าเราพัฒนาส่วนที่ดีนั้นขึ้นมา ส่วนที่บกพร่องก็อาจไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก

การตรวจว่าคุณตั้งท้องแฝดหรือไม่นั้น ค่อนข้างยุ่งยาก ถ้าคุณรู้สึกว่ามีเด็กดิ้นอยู่ 2 แห่งในท้องหรือท้องโตเร็วผิดปกติธรรมดา ควรบอกหมอให้ทราบ หมอจะได้ฟังเสียงหัวใจอย่างละเอียด ถ้าตรวจโดยการฉายเอกซเรย์ก็จะทราบได้ทันทีว่าเป็นท้องแฝดหรือไม่ ซึ่งควรตรวจหลังตั้งท้องเกิน 7 เดือนไปแล้ว แต่ถ้าไม่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยง

ในระยะ 4-7 วัน เต้านมของเด็กอาจมีอาการบวมขึ้นไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย บางครั้งอาจมีน้ำนมไหลออกมาได้ อาการนี้จะหายไปใน 2-3 สัปดาห์ เด็กบางคนอาจมีคล้ายเต้านมเล็กๆ ตรงใต้แขนด้านหน้า สำหรับเด็กหญิงบางครั้งมีของเหลวคล้ายระดูขาวไหลออกมาจากอวัยวะเพศ บางทีก็มีเลือดปน ทั้งนี้เพราะได้รับฮอร์โมนจากแม่ อาการนี้จะหายไปเองเช่นกัน

ในบางกรณี เด็ก 3-5 วัน จะมีอาการตัวร้อน (ประมาณ 38 องศาเซลเซียส) ในราว 2-3 ชั่วโมง อาจเกิดจากน้ำไม่พอ ควรให้ดื่มน้ำต้มสุก เด็กบางรายจะมีปุ่มสีขาวๆ ที่เหงือก ทำให้ตกใจคิดว่าฟันขึ้นแล้ว ปุ่มนี้จะมีอยู่ในราว 3-5 เดือน แล้วจะหายไปเองและไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

นิสัยของเด็กแต่ละคนจะแสดงออกที่การร้อง บางคนร้องเก่ง บางคนไม่ค่อยร้อง สำหรับเด็กที่ร้องเก่ง พอหิวหน่อยก็ร้อง มีเสียงอะไรดังทำให้ตื่นก็ร้อง ผ้าอ้อมเปียกก็ร้อง ทั้งยังร้องเสียงดังอีกด้วย ตรงกันข้ามเด็กบางคนเกือบไม่ร้องเลย นอกจากเวลาหิวจัดๆ เท่านั้น

นิสัยของเด็กแต่ละคนยังแตกต่างกันที่การขับถ่ายอีกด้วย เด็กบางคนถ่ายอุจจาระวันละ 10-15 ครั้งก็มี บางคนวันละครั้งเท่านั้นก็มี ลักษณะของอุจจาระของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน ถึงแม้จะกินนมแม่เหมือนกัน อุจจาระของเด็กคนหนึ่งอาจมีสีเหลืองเหนียวๆ อีกคนหนึ่งอาจมีสีเขียวมีเศษขาวๆ และมีเมือกปน อุจจาระของเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผงที่มีสีขาวก็มีสีเหลืองก็มี ถ้าดูแต่อุจจาระไม่อาจตัดสินได้ว่าดีหรือไม่ดี ถ้าเด็กเจริญเติบโตดีไม่ว่าอุจจาระจะมีสีอะไรหรือมีรูปร่างอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา

นอกจากนี้แล้ว นิสัยของเด็กแต่ละคนยังแตกต่างกันที่การดูดนม บางคนดูดได้ 3-4 นาที ก็เหนื่อยเลิกดูดต้องเขี่ยข้างแก้มบ้าง ขยับหัวนมไปมาบ้างจึงจะดูด แต่พอดูดได้อีก 2-3 นาที ก็เลิกดูดอีก ให้นมแต่ละข้างต้องใช้เวลากว่า 20 นาที แต่เด็กบางคนก็ดูดเอาดูดเอา นมข้างหนึ่งดูดหมดภายใน 10 นาที พอเปลี่ยนให้อีกข้างก็ดูดต่อแล้วหลับไปเลย

อย่างไรก็ตาม ในระยะสัปดาห์แรกนี้ เด็กแต่ละคนยังดูดนมไม่สม่ำเสมอ เด็กส่วนใหญ่กินนมวันละ 7-8 ครั้ง แต่เด็กที่กินเพียงวันละ 5 ครั้งก็มี เด็กคนเดียวกันบางครั้งก็กินมาก บางครั้งก็กินน้อย ไม่จำเป็นต้องให้กินนมปริมาณเท่ากันเสมอไปทุกครั้ง เด็กบางคนจะแหวะนม ถ้ากินมากเกินไป แต่บางคนก็ไม่แหวะเลย

อุณหภูมิร่างกายของเด็กอายุหนึ่งสัปดาห์ (ประมาณ 36.7 องศาเซลเซียส) จะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ระหว่างเช้าหรือบ่าย แต่ถ้าห่มผ้าให้อบอุ่นมาก อุณหภูมิก็จะสูงขึ้นบ้าง ชีพจรเต้นประมาณ 120 ครั้งต่อนาที หายใจประมาณ 40 ครั้งต่อนาที

ลักษณะของเด็กอ่อน 1 วันแรกของเด็กอ่อน

ถ้าลูกของคุณมีน้ำหนักมากกว่า 2.5 กิโลกรัมขึ้นไป ก็เรียกได้ว่าใช้ได้ เพราะเด็กที่น้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัมจะถูกจัดให้อยู่ในประเภท “เด็กไม่ครบกำหนด” (Premature) และต้องดูแลเป็นพิเศษ ลักษณะของเด็กที่สมบูรณ์แข็งแรง คือ สีผิวสดใสและร้องเสียงดัง

คุณแม่บางคนอาจสงสัยว่า ลูกของคุณจะถ่ายปัสสาวะครั้งแรกเมื่อไร ปกติแล้วเด็กจะถ่ายภายใน 24 ชั่วโมง แต่เด็กแข็งแรงบางคนอาจไม่ถ่ายภายใน 48 ชั่วโมงก็มี คุณอาจตกใจเมื่อเห็นปัสสาวะของเด็กมีสีแดงคล้ายสีอิฐเนื่องจาก เป็น เกลือของกรดยูริค ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาอะไร สำหรับอุจจาระก็เช่นเดียวกัน เด็กจะถ่ายอุจจาระครั้งแรก 24 ชั่วโมงหลังจากเกิด อุจจาระจะมีสีเขียวคล้ำดำเหนียวๆ เรียกว่า “ขี้เทา”

เดือนแรกเด็กจะร้องบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะนอนหลับ รูปหัวของเด็กมักจะหัวเบี้ยวหัวบูด เพราะถูกบีบระหว่างผ่านช่องคลอด โดยเฉพาะลูกคนแรกหรือลูกของลูกของหญิงมีอายุหัวเห็นได้ชัด ลักษณะเช่นนี้จะหายไปเองโดยธรรมชาติ คุณไม่ต้องกังวลให้เด็กหนุนหมอนท่าไหนดี ที่จริงแล้วคุณไม่ต้องให้เด็กหนุนหมอนเลยก็ได้ ถ้าคุณคลำหัวเด็กตอนบนด้านหน้า อาจตกใจเมื่อพบส่วนที่ไม่มีกะโหลกและนิ่มบุ๋มลงไป ซึ่งเราเรียกว่า “กระหม่อม” (ที่ยังไม่ได้ปิด) ทั้งนี้เพื่อให้รูปหัวของเด็กเปลี่ยนแปลงได้ในขณะที่ผ่านช่องคลอดของแม่)

ใบหน้าของเด็กแรกเกิดจะดูบวม โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา คุณจะเห็นเด็กมีขี้ตาติดอยู่เนื่องจากพยาบาลหยอดยาฆ่าเชื้อโรคให้ สำหรับเด็กผู้หญิงคุณไม่ต้องกังวลเมื่อจมูกแบน จมูกจะโด่งขึ้นเมื่อโต ถ้าคุณเห็นสายสะดือรู้สึกว่ามีสีคล้ำๆ น่าเกลียด อวัยวะเพศของเด็กชายจะดูเหมือนว่าบวม ของเด็กหญิงก็ดูผิดรูปผิดร่าง ซึ่งก็จะดีขึ้นเองตามธรรมชาติ

เด็กจะนอนท่าเดียวกับตอนที่อยู่ในท้องมารดา ปกติเด็ดเอาหัวออกก่อน จะนอนตัวงอเอาคางชิดหน้าอก มือกำ ขาเข้าหาตัว รอยสีเขียวๆ เรียกว่า “ปานเขียว” (Mongolod spot) ซึ่งจะหายไปเอว เมื่อโตขึ้น ตามคอ เปลือกตา อาจมีไฝสีแดงขนาดเท่าเมล็ดข้าวหรือถั่วแดง ซึ่งก็จะหายไปเองภายในหนึ่งปี ถึงแม้อากาศจะร้อน เหงื่อของเด็กแรกเกิดจะยังไม่ออก น้ำลายไม่ไหล เพราะท่อขับสิ่งเหล่านี้ยังไม่ทำงาน ตายังมองไม่เห็น แต่จะได้ยินเสียงดังๆ ถ้าลองปิดประตูดังปังจะสะดุ้ง อุณหภูมิร่างกายของเด็ก เมื่อแรกเกิดจะเท่ากับของแม่ หลังจากนั้นจะลดลงประมาณ 1-3 องศาเซลเซียส และต่อมาอีก 8 ชั่วโมง อุณหภูมิจะขึ้นไปอีก (ราวประมาณ 36.8-37.2 องศาเซลเซียส) เด็กจะหายใจประมาณ 34-35 ครั้งต่อนาที ชีพจรเต้น 120-130 ครั้งต่อนาที

2 ตั้งแต่แรกเกิดถึงหนึ่งสัปดาห์

พอผ่านไปได้สักหนึ่งสัปดาห์เด็กซึ่งหัวปูดหน้าบวม เมื่อแรกเกิดจะดูน่ารักขึ้นมากสำหรับเด็กที่ได้อาหารเพียงพอในระยะนี้จะนอนทั้งวัน มีบางครั้งที่ลืมตาขึ้นแต่ยังมองอะไรไม่เห็น ช่วงสัปดาห์แรกนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่สำหรับแม่ใหม่พ่อใหม่ซึ่งเลี้ยงลูกคนแรกจะพบการเปลี่ยนแปลงในลูกของคุณดังจะกล่าวต่อไปนี้

เรื่องแรกคือ อาการตัวเหลืองของเด็กซึ่งจะปรากฏในราววันที่สามหลังคลอดเนื่องจากในขณะที่เด็กอยู่ในท้องแม่ต้องใช้เม็ดโลหิตแดงมาก เพราะในท้องมีออกซิเจนน้อย เมื่ออกสู่โลกภายนอกเม็ดโลหิตแดงก็จะถูกกำจัด ซึ่งในขบวนการนี้จะเกิดสารที่ทำให้เกิดสีเหลือง เรียกว่า “บิสิรูบิน” ขึ้น และเป็นหน้าที่ของตับที่กำจัดสารนี้ แต่เนื่องจากระบบการทำงานของอวัยวะภายในของเด็กยังไม่สมบูรณ์ทำให้สาร “บิลิรูบิน” นี้ หลงเหลืออยู่ในเลือดและทำให้เกิดอาการตัวเหลืองซึ่งจะหายไปเองในหนึ่งสัปดาห์ แต่เด็กที่ไม่เกิดอาการตัวเหลืองเลยก็มีเช่นกัน

สะดือเด็กจะหลุดในราววันที่ 4 ถึง 7 หลัง สะดือหลุดแล้วคุณไม่จำเป็นต้องใส่ยาอะไรให้

หลังจากเกิดประมาณ 3-4 วัน อุจจาระของเด็กจะเริ่มเปลี่ยนจากสีดำๆ เป็นสีปกติของอุจจาระเด็ก (อาจเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือสีอื่นขึ้นอยู่กับชนิดของนมที่เลี้ยงและลักษณะของเด็กแต่ละคน) ถ้าสีของอุจจาระเปลี่ยน ก็แสดงว่า ลำไส้ของเด็กไม่ได้อุดตัน

ข้อมูลสื่อ

1-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 1
พฤษภาคม 2522