• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุณแม่ในวันคลอด

3. คุณแม่ในวันคลอด

คุณไม่ต้องทำอะไรเลยในวันแรกหลังคลอด สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ พักผ่อนให้มากที่สุด เมื่อผ่านการคลอดลูกโดยปลอดภัยแล้ว คุณคงจะนึกในใจว่า “ง่ายกว่าที่คิดไว้ตั้งเยอะ” การเลี้ยงลูกของคุณก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นอะไรเลย เด็กที่เกิดมาครบกำหนดเป็นปรกตินั้น จะเติบโตขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว

ไม่ว่าคุณจะคลอดที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลอย่ามัวเป็นห่วงลูกของคุณ ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพยาบาลหรือผู้ดูแล แล้วนอนให้หลับพักผ่อนให้มาก เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกระตุ้นน้ำนมแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกของคุณต้องการมากที่สุด

สำหรับวันแรกคุณยังคงไม่รู้สึกว่า เต้านมคัดคุณไม่จำเป็นต้องรีบร้อนให้นมแก่ลูก ถ้าวันรุ่งขึ้นยังไม่มีน้ำนมก็คอยจนกว่านมจะคัดแล้วค่อยให้ ลูกของคุณเองก็ยังกินนมไม่ได้มากนักในวันแรกๆ เพราะฉะนั้นถึงจะไม่มีน้ำนมคุณก็อย่าเป็นกังวล และเมื่อเห็นลูกของคุณครั้งแรกก็ไม่ต้องตกใจเรื่องหัวเบี้ยวปูด และในกรณีที่ลูกของคุณมีน้ำหนักน้อย โรงพยาบาลบางแห่งอาจไม่อาบน้ำให้เพื่อสงวนพลังงานในตัวเด็กไว้คุณก็อย่าเก็บเอามากลุ้มอกกลุ้มใจหรือต่อว่าพยาบาลว่าไม่เหลียวแลดูลูกของคุณ

4 . จะเริ่มให้นมเมื่อไรดี
ในตำราแพทย์โบราณของจีนมีเขียนไว้ว่า ไม่ควรรีบให้นมลูกหลังคลอดทันที ควรให้ครึ่งวันหรือวันหลังคลอด แม่หลังคลอดลูกจะอ่อนเพลียและน้ำนมยังไม่ค่อยมี การไม่ให้นมลูกในวันคลอดจึงเป็นไปตามธรรมชาติ

ในปัจจุบัน โรงพยาบาลบางแห่งจะรีบให้นมผงแก่เด็กในวันที่สองถ้าน้ำนมแม่ยังไม่มี แต่ที่จริงแล้วไม่ควรรีบร้อนให้ เพราะร่างกายของเด็กกำลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่จากชีวิตที่อาศัยร่างกายของแม่ มาเป็นชีวิตเอกเทศ ตัวเด็กเองก็ไม่อยากกินนมจนกว่าการเปลี่ยนแปลงในร่างกายจะสมบูรณ์ การนอนหลับของเด็ก เป็นการรวบรวมพลังงานทั้งหมดพุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงนี้ สำหรับอาหารนั้น เด็กได้สะสมไว้มากพอขณะที่อยู่ในท้องของแม่ เพราะฉะนั้น ไม่กินนมสองวันหรือสามวันก็ไม่เป็นไร แต่เด็กอาจร้องบ้างเป็นบางครั้งเพราะคอแห้ง ในระยะครึ่งวันหรือหนึ่งวันแรกให้แต่น้ำ (น้ำต้มสุก) เท่านั้นก็เพียงพอ

แต่มีเด็กบางคนที่ร่างกายเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เมื่อให้นมวันแรกก็ดูดเอาดูดเอา สำหรับเด็กประเภทนี้ให้นมได้เลย แต่เด็กส่วนใหญ่แล้วถึงแม้นมแม่จะไหลดีตั้งแต่วันแรก ก็จะดูดได้เพียง 10 กรัม (วัดโดยการชั่งน้ำหนัก) เท่านั้น ซึ่งเป็นการบอกทางอ้อมว่า “หนูยังปฏิวัติไม่เสร็จนะจ้ะ” การพยายามยัดเยียดให้เด็กประเภทนี้กินนม เป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์และฝืนธรรมชาติ

5. นมน้ำเหลือง : นมที่ต้องให้ลูกคุณกิน

น้ำนมเหลือง คือ น้ำนมของคุณแม่ในระยะ 4-5 วันแรก ซึ่งมีสีออกเหลือง หน้าที่ของน้ำนมเหลืองนี้เพิ่งจะมาทราบกันเมื่อนานมานี้ว่า จะช่วยเพิ่มแลคโตบาซิลลัส (แบคทีเรียชนิดหนึ่ง) ซึ่งมีประโยชน์ในลำไส้ของเด็กและลดปริมาณแบคทีเรียอีโคไลซึ่งมีอันตรายลงได้ นอกจากนั้นยังมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ (ตัวสำคัญ คือ แกมม่าโกลบูลิน-จี ซึ่งทำหน้าที่ระงับการขยายตัวของเชื้อโรค) อยู่มากกว่านมแม่ในระยะหลังๆ ทั้งยังมีโปรตีนซึ่งมีธาตุเหล็กที่เรียกว่า ทรานสเฟอร์ริน (ซึ่งช่วยนำธาตุเหล็กไปใช้สร้างเม็ดเลือดแดง) สิ่งเหล่านี้ไม่มีในนมผง การให้นมน้ำเหลืองแก่ลูกจะช่วยสร้างกำแพงป้องกันเชื้อโรคขึ้นในลำไส้เมื่อเปรียบเทียบลูกที่เลี้ยงด้วยนมแม่กับลูกที่เลี้ยงด้วยนมผงแล้ว ปรากฏว่าในลำไส้ของเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผงมีแบคทีเรียอีโคไลมากกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่หลายพันหลายหมื่นเท่า

เนื่องจากเราไม่ทราบบทบาทของนมน้ำเหลืองมาเป็นเวลานาน จนเกิดประเพณีไม่ให้นมแม่ในวันแรกๆ ขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้สมควรได้รับการแก้ไขอย่างรีบด่วน

แผนกสูตินารีเวช (ทำคลอดและรักษาโรคสตรี) ของโรงพยาบาลทุกแห่ง ควรกำหนดให้เด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงหนึ่งสัปดาห์กินนมแม่ ในกรณีที่น้ำนมแม่ไม่พอ ให้เติมด้วยน้ำตาลกูลโคสหรือนมคน (จากแม่นม) เพราะการให้นมผงจะทำให้ลำไส้เต็มไปด้วยแบคทีเรียอีโคไล

ในระยะนี้การที่เด็กแรกเกิดมีการอักเสบตามเยื่อบุต่างๆ และโรคติดเชื้อในเลือดกันมาก ก็เพราะการเลี้ยงด้วยนมวัว ทำให้เกิดเชื้อโรคมากในลำไส้แล้วผ่านตับเข้าหลอดโลหิตดำแล้วแพร่ไปทั่วร่างกาย

6. การเลี้ยงด้วยนมแม่

ในปัจจุบัน แม่ที่ให้นมแม่แก่ลูกของตนมีจำนวนลดลง มักจะอ้างว่าไม่มีนม ที่ไม่มีนมก็เพราะไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรก พอนมแม่ไม่ค่อยมีก็เปลี่ยนไปให้นมวัวทันที เป็นเพราะคุณแม่ทั้งหลายไม่รู้คุณค่าของน้ำนมแม่นั่นเอง

“ไม่มีอาหารอะไรที่ดีกว่านมแม่”

เป็นความจริงที่ว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว จะอ้วนท้วนกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ทั้งนี้เพราะปริมาณของนมแม่ จะถูกจำกัดตามธรรมชาติ แต่นมผงนั้นพอเด็กกินหมดไปขวดหนึ่งแล้วไม่พอก็เติมอีกขวดได้ ถ้าอยากจะให้เด็กที่กินจุกินเท่าไรก็ได้ตามใจชอบแล้วล่ะก็นมผงจะดีกว่านมแม่ เพราะให้กินเท่าไรก็ได้ พอปล่อยให้กินตามชอบไปเรื่อยๆ ไม่นานเด็กนั้นก็กลายเป็น “เด็กยักษ์” ไปเลย “เด็กยักษ์” มักเป็นที่นิยมในโฆษณาขายนม มีรูปปรากฏในโปสเตอร์ในหน้าหนังสือพิมพ์และในจอทีวี ทำให้บรรดาคุณแม่นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมวัวไปด้วย

“เด็กยักษ์” ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่แข็งแรง เด็กอ้วนเพราะมีไขมันมากเกินไป การที่ต้องแบกไขมันส่วนเกินอยู่ ทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้นโดยไม่จำเป็น หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญที่จะต้องทำงานโดยไม่หยุดไปตลอดชีวิต การที่ให้แบกภาระหนักอึ้งเสียตั้งแต่ยังเป็นเด็ดอ่อนนั้นไม่ดีแน่ แม้ว่าในปัจจุบันนมผงจะได้รับการปรับปรุงให้มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม แต่ถึงจะปรับปรุงอย่างไร นมผงก็ยังคือ นมวัวที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาสำหรับเลี้ยงวัวอยู่นั่นเอง สำหรับลูกคนนั้นนมคนย่อมดีและเหมาะสมกว่าอย่างแน่นอน

นมแม่นั้นนอกจากจะเป็นนมคนแล้ว ยังเป็นนมที่ได้รับการเลือกสรรแล้วจากประชากรโลก สามพันล้านคนว่าเหมาะที่สุดสำหรับลูก การไม่ให้นมแม่แก่ลูกของคุณเป็นการตัดสิทธิอันชอบธรรมของลูกคุณเอง การที่นมแม่ดีกว่านมผงนั้นเพราะ โปรตีนในนมแม่ดูดซึมเลี้ยงร่างกายของเด็ก ได้ดีกว่าโปรตีนของนมวัวโดยเฉพาะเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน ถึงแม้จะกินนมผงเป็นจำนวนมาก ส่วนที่จะเป็นเลือดเป็นเนื้อนั้นมีน้อย ดังนั้นคุณควรให้นมแม่แก่ลูกของคุณอย่างน้อยเป็นเวลาถึง 3 เดือน

“นมแม่สะดวกและปลอดภัย”

ไม่ว่าจะกลางดึกหรือในรถ เพียงแต่เลิกเสื้อคุณก็ให้นมแก่ลูกได้แล้ว คุณไม่ต้องไปหยิบกระป๋องนม ไม่ต้องต้มน้ำ ไม่ต้องละลายนม ไม่ต้องต้มขวดเพื่อป้องกันเชื้อโรค นมแม่นั้นผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาเรียบร้อยแล้ว ในนมแม่ไม่มีเชื้อโรคที่จะเป็นอันตรายต่อเด็ก ไม่ว่าแถวบ้านคุณจะมีอหิวาต์หรือทัยฟอยด์ระบาด คุณก็ให้นมแก่ลูกของคุณได้อย่างสบายใจ

มักจะมีผู้ยกเอาสถิติขึ้นมากล่าวเสมอว่า เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่มีอัตราการตายต่ำกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผง แต่สถิตินี้ที่จริงไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่า นมแม่ดีกว่านมวัว เพราะเด็กที่เกิดมาไม่ครบกำหนดน้ำหนักจะน้อยและมีอัตราการตายสูงนั้น จัดอยู่ในประเภทที่เลี้ยงด้วยนมผงแต่อย่างไรก็ตามเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่มีโอกาสติดโรคทางปากและโอกาสที่จะอ้วนเกินไปน้อยกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผง

“การเลี้ยงด้วยนมแม่ ให้ประโยชน์แก่ตัวแม่ด้วย”

แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะฟื้นตัวจากภาวะหลังคลอดเร็วกว่า การที่เด็กดูดนมจะช่วยกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น แม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกจะมีโอกาสตั้งท้องง่ายกว่า นอกจากนี้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งที่เต้านมน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ให้นมลูกอีกด้วย

ถึงแม้จะรู้อย่างนี้แล้ว แต่ยังมีผู้ที่ไม่ยอมให้นมลูก เพราะกลัวหน้าอกจะหย่อนยาน ที่จริงการให้นมลูกไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หน้าอกหย่อนยาน แม่ที่เลี้ยงลูกหลายคนด้วยนมแม่แล้ว ยังมีหน้าอกที่สวยงานก็มี คนที่ไม่เคยให้นมลูกเลยแต่หน้าอกยานก็มี การที่หน้าอกเปลี่ยนแปลงนั้นประการแรกขึ้นอยู่กับลักษณะของเต้านม สำหรับผู้ที่ตั้งท้องแล้วหน้าอกไม่ขยายใหญ่มากหลังจากให้นมลูกแล้ว พอตั้งท้องก็ยังขยายใหญ่ขึ้นไปอีกมาก ถ้าปล่อยให้น้ำหนักถ่วงอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งผิวหนังยืด ถึงจะไม่ให้นมลูกหน้าอกก็จะยานแต่ถ้าคอยระวังใส่เสื้อยกทรงให้กระชับอยู่เสมอถึงจะให้นมลูกรูปร่างของหน้าอกก็จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

มีคำกล่าวว่าเด็กที่ดูดนมแม่จะมีอารมณ์ที่มั่นคงว่าเด็กที่ดูดด้วยหัวนมยาง และโตขึ้นจะเป็นคนที่มีความสุขกว่า แต่เรื่องนี้พิสูจน์ได้ยาก

อย่างไรก็ตาม สำหรับแม่ที่ให้ลูกดูดนม ตัวแม่เองจะรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ให้นมลูก บวกกับความไว้ใจว่าตนได้เลี้ยงลูกด้วยวิธีที่ดีที่สุดแล้ว เป็นผลให้แม่เองมีอารมณ์ที่มั่นคง

"สำคัญตอนเริ่มต้น”

เมื่อถามบรรดาคุณแม่ที่บอกว่าไม่มีน้ำนมให้ลูก มักจะได้รับคำตอบว่า ไม่มีตั้งแต่ตอนที่อยู่โรงพยาบาล การที่แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลงกับการที่คนนิยมคลอดลูกในโรงพยาบาลมากขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กัน เพราะพยาบาลในโรงพยาบาลมักจะไม่ค่อยสนใจเร่งรัดให้แม่พยายามอย่างที่สุดที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

คำแนะนำที่ดีที่สุดตอนนี้ ก็คือ คุณต้องทำตัวทำใจให้สบาย ไร้กังวลและไม่ต้องสนใจกับการที่ครอบครัวหรือเพื่อนบางคนไม่สนับสนุนคุณในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และไม่ควรไปตัดสิทธิอันชอบธรรมของลูกคุณด้วย

ควรจะเริ่มให้ลูกคุณหัดดูดได้ตั้งแต่วันที่สองหลังคลอด เมื่อคุณลุกขึ้นนั่งอุ้มลูกได้ ถึงแม้ว่ายังไม่รู้สึกคัดที่เต้านมก็ตาม เมื่อลูกคุณเริ่มดูดก็เป็นการกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมสร้างได้เร็วขึ้นด้วยเพราะฉะนั้นจึงควรจะเริ่มตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาลเลย สำหรับในกรณีที่คุณไม่อาจให้นมลูกได้ขณะที่ยังอยู่ในโรงพยาบาลนั้นก็ควรจะต้องปั๊มนมออกเป็นระยะๆ อาจจะเป็นทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อสร้างทางให้นมไหลไว้ และทำให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมติดต่อเหมือนกับถูกใช้โดยให้ลูกคุณดูดนั่นเอง เมื่อคุณออกจากโรงพยาบาลคุณก็จะได้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ได้ทันที

แต่วิธีนี้ก็มิใช่ว่าจะทำให้แม่ทุกคนมีนมพอเลี้ยงลูกหลังออกจากโรงพยาบาล เพราะมีบางคนที่มีน้ำนมน้อยตามธรรมชาติ แต่ทุกคนควรตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และพยายามให้ถึงที่สุดเสียก่อน เมื่อไม่พอจริงๆ จึงค่อยให้นมผง

มีแม่คนหนึ่งที่คลอดลูกก่อนกำหนด ลูกต้องอยู่ในเครื่องอบที่โรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนในระหว่างนั้นแม่คนนี้นำนมแม่ที่ปั๊มออกมาไปให้ลูกที่โรงพยาบาลทุกวัน เวลาอยู่บ้านก็กำหนดเวลาปั๊มนมเป็นระยะๆ หลังจากนั้นหนึ่งเดือน เมื่อลูกกลับบ้านก็เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ทันทีและอย่างพอเพียง เด็กคนนั้นเดี๋ยวนี้โตขึ้นแข็งแรงสมบูรณ์ดีทีเดียว คุณแม่คนนั้นได้รับผลตอบแทนความยากลำบากอย่างคุ้มค่า

“สำหรับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน”

สำหรับครอบครัวที่มีคุณพ่อและคุณแม่ทำงานนอกบ้าน เมื่อหมดระยะเวลาคลอด คุณแม่ก็จะฝากให้คนอื่นดูแลลูก เพราะต้องออกไปทำงาน คุณแม่ประเภทนี้เป็นบางคนอาจคิดว่า “ไหนๆ ก็จะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผงอยู่แล้ว ก็หัดให้กินเสียตั้งแต่แรกเสียเลย จะได้ชิน ไม่ต้องลำบากเปลี่ยนอีก” ความคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะในความเห็นของกุมารแพทย์ (หมอโรคเด็ก) แล้ว เด็กควรได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างน้อยเป็นเวลาถึง 3 เดือน เพราะความสามารถของเด็กในการย่อยโปรตีนของนมวัวยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะอายุได้ 3 เดือน (90วัน) ดังนั้น คนส่วนมากจึงมีความเห็นว่า กฎหมายควรจะกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 3 เดือน

น่าเสียดายที่ปัจจุบันกฎหมายไทยยังกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้เพียง 45 วันเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรอ้างสาเหตุนี้ตัดสิทธิ์อันชอบธรรมของลูกโดยไม่ให้นมแม่เลย ถึงแม้จะมีเวลาเพียง 45 วันแต่ในเมื่อนมแม่มันดีกว่านมวัว คุณแม่ก็ควรเลือกของที่ดีกว่าให้ลูก ในช่วงเวลาที่ถูกจำกัดให้เพียง 45 วันนี้ คุณแม่กับลูกควรใช้เวลาให้คุ้มและมีความสุขด้วยกันให้เต็มที่

มีแม่บางคนที่อยากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่ทำไม่ได้เพราะตัวเองเป็นโรค เช่น แม่เป็นวัณโรคปอดในระยะติดต่อ ต้องแยกลูกออกและเลี้ยงลูกด้วยนมผงแต่ถ้าไม่ได้เป็นมากและไม่ได้อยู่ในระยะติดต่อก็ให้นมลูกได้ โดยคุณแม่คาดผ้าปิดปากขณะให้นมลูกและต้องรับประทานอาหารให้เพียงพอ เพราะตัวแม่จะเสียโปรตีนไปในขณะให้นมลูก

ในกรณีที่แม่เป็นโรคไต และต้องควบคุมโปรตีนในอาหาร การให้นมลูกจะทำให้สูญเสียโปรตีนไป ฉะนั้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คงทำไม่ได้

ในกรณีที่แม่เสียเลือดมาก และยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะหลังคลอดก็คงให้นมลูกไม่ได้เช่นกัน

ถ้าแม่มีอาการตัวร้อนหลังคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ไม่มีอาการอื่นและแข็งแรงดี ในปัจจุบันมักทำการรักษาแม่ไปด้วยและให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปด้วย ในขณะเดียวกัน เพราะอาการตัวร้อนที่เกิดจากเชื้อแบตทีเรียสามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้ในระยะสั้น

ในกรณีที่หัวนมแม่แตกหรืออักเสบ เฉพาะรายที่เป็นมากจะให้พักนมข้างที่เป็นมากสักชั่วคราว เมื่อดีขึ้นค่อยกลับมาให้ใหม่

แม้แต่เด็กที่เกิดมาปากแหว่งหรือเพดานโหว่ดูดนมแม่ลำบาก ก็ควรพยายามเลี้ยงด้วยนมแม่ ในระยะแรกอาจลำบาก แต่เมื่อชินแล้วเด็กก็จะดูดได้เก่งขึ้นเอง

ข้อมูลสื่อ

2-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 2
มิถุนายน 2522