• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กลายพันธุ์

กลายพันธุ์

“ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง” อนิจจังหรือความไม่เที่ยงแท้แน่นอนเป็นเรื่องธรรมดาคู่กับโลกเรื่องของกรรมพันธุ์ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเหมือนกันครับ คือ พันธุ์ดีๆ มันก็กลายกันได้ท่านผู้อ่านคงเคยเห็นนะครับว่าตระกูลที่เป็นคนฉลาดๆ ทั้งตระกูลก็อาจมีลูกเป็นคนปัญญาอ่อนได้ นั่นแหละครับผลของการกลายพันธุ์

การกลายพันธุ์เป็นของธรรมดาสำหรับสิ่งมีชีวิต เกิดขึ้นอยู่เสมอ ในอัตราที่มากบ้างน้อยบ้างตามสภาวะแวดล้อม บางครั้งการกลายพันธุ์ดีกว่าพ่อแม่ ทำให้ได้ลูกที่พันธุ์ดีกว่าพ่อแม่ บางครั้งการกลายพันธุ์ก็ไม่มีผลดีหรือผลเสียอะไร เรียกว่าเท่าทุน คือลูกไม่ดีไม่เลวกว่าพ่อแม่ บางครั้งการกลายพันธุ์กลับมีผลร้าย ได้ลูกที่เลวกว่าพ่อแม่ อย่างกรณีลูกปัญญาอ่อนของพ่อแม่เป็นคนฉลาดเป็นนักปราชญ์

การตัดสินว่าการกลายพันธุ์ดีหรือไม่ดีนั้น เราถือประโยชน์ของคนเราเป็นเกณฑ์ เช่น สุนัขที่เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม ถ้ามีการกลายพันธุ์ทำให้ขาสั้นตัวเตี้ยมาก เราอาจจะชอบเพราะทำให้ดูน่ารักดี เราก็ว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่ดี แต่ถ้าเราสามมารถพูดกับสุนัขรู้เรื่อง เราอาจได้ยินพ่อแม่สุนัขที่มีลูกตัวเตี้ยบ่นว่า “ไอ้ลูกผ่าเหล่า ตัวเตี้ยอย่างนี้จะวิ่งไล่ใครไหว เวลาหมาอันธพานมารังแก จะสู้มันไหวได้ยังไง”

ผลไม้ก็เหมือนกัน ถ้ามีการกลายพันธุ์ทำให้เนื้อหนา เมล็ดลีบ เช่น ทุเรียน เราก็ชอบใจได้ทุเรียนพันธุ์ดี แต่ลองนุกถึงหัวอกทุเรียนดูเถอะครับ ว่าเมล็ดลีบนั้นมันเพาะไม่ขึ้นเท่ากับทุเรียนต้นนั้นเป็นหมันนะครับ ทุเรียนที่เราว่าพันธุ์ดี เพราะเมล็ดลีบจึงหมายถึง การสูญพันธุ์ของทุเรียนต้นนั้น ถ้าคนเราไม่ช่วยมันแพร่พันธุ์โดยการตอนกิ่งไปปลูก

ในสัตว์และพืชเราอยากให้มีการกลายพันธุ์ เพื่อให้เกิดพันธุ์แปลกๆ ขึ้น แล้วเราก็เลือกเอาไว้แต่พันธุ์ที่เราชอบเราว่าดี ตัวหรือต้นที่ไม่ดีเราก็ทิ้งไปหรือไม่เอามาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อีก ตัวอย่างเช่น ต้นไม้ออกเราพยายามทำให้กลายพันธุ์ ให้ได้พันธุ์ที่รูปร่าง ขนาด และสีของดอกแตกต่างออกไป ไม้ผลเราก็ทำในทำนองเดียวกัน การทำให้กลายพันธุ์ส่วนใหญ่เขาใช้รังสีเอ๊กซ์ (เอ๊กซเรย์)

แต่ในคนเราไม่อยากให้เกิดการกลายพันธุ์ เพราะการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ทำให้เกิดความพิกลพิการหรืออ่อนแอหรือโง่กว่าคนธรรมดา ที่จริงการกลายพันธุ์ในคนที่ทำให้เกิดพันธุ์ดีกว่าเดิมจะต้องมีแน่ๆ แต่คงจะหายากพอๆ กับการงมเข็มในมหาสมุทรนั่นแหละครับ การกลายพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่กลัวกันมากในมนุษย์

ถึงกระนั้นเราก็หนีการกลายพันธุ์ไม่พ้น เพราะมันเป็นของธรรมดาสำหรับสิ่งมีชีวิต ที่จะต้องเกิดการกลายพันธุ์บ้าง แต่เกิดไม่บ่อยนัก คือ คู่สามีภรรยาทุกคู่มีโอกาสจะมีลูกโง่หรือพิการจากการกลายพันธุ์ได้ทั้งนั้น แต่โอกาสที่ว่ามีน้อยมากเหมือนโดนล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ว่างั้นเถอะ ที่เราจะหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ได้ก็โดยการระมัดระวังอย่าไปโดนสิ่งที่เป็นต้นเหตุของการกลายพันธุ์เพราะถ้าโดนก็จะมีโอกาสได้ลูกพิกลพิการอ่อนแอ หรือโง่ ได้บ่อยขึ้น

ที่จริงการกลายพันธุ์มี 2 แบบ แบบที่พูดถึงข้างต้นเป็นแบบที่พันธุ์ใหม่จะถ่ายทอดไปยังรุ่นลูก หลาน เหลน ต่อไปได้ เป็นการกลายพันธุ์ของเนื้อเยื่อสืบพันธุ์ ซึ่งก็คือ รังไข่ของผู้หญิงและอัณฑะในผู้ชาย ทำให้เกิดไข่ หรือเชื้ออสุจิ ที่นำพันธุ์ผิดปกติเด็กที่เกิดจากไข่หรือเชื้ออสุจิที่กลายพันธุ์ ก็จะเป็นเด็กที่มีพันธุ์ผิดปรกติ และอาจมีลักษณะปรกติ เลวลง หรือดีขึ้นก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักปรกติหรือเลวลง ที่ดีขึ้นก็มีได้แต่มีน้อยเต็มที

การกลายพันธุ์แบบที่สอง เป็นการกลายพันธุ์ของเนื้อเยื่อของร่างกายที่ไม่ใช่เนื้อเยื่อสืบพันธุ์ คือ อวัยวะอื่นๆ นอกเหนือจากรังไข่หรืออัณฑะ การกลายพันธุ์แบบนี้ไม่ถ่ายทอดไปยังลูกหลาน แต่เชื่อว่าเกิดขึ้นในร่างกายคนเราอยู่เสมอ โดยไม่เกิดอันตรายหรือผลเสียหาย แต่ในบางครั้งก็ทำให้เกิดโรคเหมือนกัน และเป็นโรคที่น่ากลัวเสียด้วย คือ โรคมะเร็ง

คนเราจึงต้องหลีกเลี่ยงสาเหตุของการกลายพันธุ์ เพื่อป้องกันการมีลูกผิดปรกติ และป้องกันโรคมะเร็ง

เพื่อสุขภาพของท่านพ่อแม่พี่น้องที่อ่านนิตยสาร “หมอชาวบ้าน” ทั้งหลาย และเพื่อสุขภาพของลูกหลานเหลนของท่าน ท่านจึงควรต้องทราบสิ่งที่เป็นสาเหตุของการกลายพันธุ์และหลีกเลี่ยงมันให้ไกลที่สุดที่จะไกลได้

แต่จะหลีกเลี่ยงอย่างไรมันก็ไม่พ้นหรอกครับ เพราะต้นเหตุของการกลายพันธุ์มันอยู่กับเราในตัวเราก็มี เราก็เลยต้องทำความรู้จักกับมันให้ดีๆ และหาทางอยู่ร่วมกับมันอย่างสันติ อย่างที่นักการเมืองชอบพูดกันนักหนานั่นแหละครับ

สิ่งที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่

1.กัมมันตรังสี

2.รังสีเหนือม่วง

3.สารเคมีหลายชนิด

อย่าเพิ่งตกใจนะครับส่าไอ้สาเหตุ 3 อย่างนั้นอ่านแล้วไม่เห็นรู้เรื่องเลยผมจะค่อยๆ อธิบายให้ (อ่าน) ฟัง

  • กัมมันตรังสี

เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา มีพลังงานสูงมากและสามารถทะลุส่วนต่างๆ ของร่างกายเราได้ กัมมันตรังสีมีอยู่หลายชนิดครับ ที่เรารู้จักและคุ้นหูและมักจะเคยโดนกันมาแล้วแทบทุกคนก็คือ เอ๊กซเรย์ไงล่ะครับ เราเอามาใช้ถ่ายรูปปอด หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ กระดูกที่หัก ฯลฯ สารพัดประโยชน์ละครับ เอ๊กซเรย์นี้เอามาตรวจคอนกรีตก็ได้ ใช้รักษามะเร็งก็ได้รักษาโรคผิวหนังก็ได้

ท่านที่เคยมีญาติมิตรที่เป็นมะเร็งและหมอนัดให้ไป “ฉายแสง” นั่นแหละครับ คือ การไปให้โดนกัมมันตรังสีที่บริเวณเป็นมะเร็ง ซึ่งอาจเป็นกัมมันตรังสีจากเรเดี้ยมหรือโกบอลต์ -60 หรือสารอื่นก็ได้

สารกัมมันตรังสีอื่นๆ เราอาจเอามาใช้ตรวจตับ ตรวจต่อมธัยรอยด์ คือ ไอโอดีน -131 เอามาตรวจเลือดคือ โครเมี่ยม -51 เป็นต้น ชื่อประหลาดๆ เหล่านี้อย่าไปสนใจมันมากนักเลยครับ เอาเพียงว่าสารกัมมันตรังสีมีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมายทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร และเป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน ที่เรียกว่าโรงไฟฟ้าปรมาณู และประเทศมหาอำนาจเอามาสร้างระเบิดปรมาณู ระเบิดนิวเคลียร์ที่เรารู้จักชื่อกันดีนั่นแหละครับ

ที่ยิ่งกว่านั้น สารกัมมันตรังสีมีอยู่ตามปรกตินิดหน่อย (น้อยมาก) ในร่างกายคนทุกคนมีตามพื้นดินก้อนหิน ในบรรยากาศที่เรียกว่า รังสีคอสมิค ผมจึงบอกไว้แล้วว่าสารกัมมันตรังสีมันอยู่กับตัวเรา หนีไม่พ้นเราเลี่ยงได้เฉพาะว่าอย่าโดนมันใยปริมาณมากๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่าคนเราต้องหลีกเลี่ยงกัมมันตรังสีอย่างที่สุด ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ต้องใช้ให้น้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนรังไข่หรืออัณฑะ

แต่ท่านผู้อ่าน อย่าตกใจ กลัวกัมมันตรังสีจนเกินไปนะครับ ถ้าจะต้องใช้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ตามคำสั่งหมอก็ยอมตามที่หมอบอกเถิดครับ การใช้รังสีทางการแพทย์นี้ เขาได้ระมัดระวังแล้วเป็นอย่างดี ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าจะต้องมีการใช้รังสี ท่านผู้อ่านที่เป็นหญิงและกำลังตั้งท้องอ่อนๆ ต้องบอกหมอนะครับเพราะถ้าไม่ระวังเป็นพิเศษรังสีอาจทำให้เด็กในท้องเกิดความพิการหรือแท้งได้

  • รังสีเหนือม่วง

เป็นส่วนหนึ่งของแดด หรือที่เรียกกันว่า “อุลตราไวโอเลต” มีอำนาจการทะลุทะลวงต่ำมาก ในคนปรกติทะลุผ่านเข้าไปเพียงผิวหนังชั้นนอกเท่านั้นเพราะมีสีที่ผิวหนัง (สีน้ำตาล-ดำ) กั้นไว้ อันตรายจากรังสีเหนือม่วงจากแสงแดดจึงไม่มี แต่มีคนที่เรียกว่า คนเผือก ที่ตัวขาวตาขาวผมสีจางไม่มีสีที่ผิวหนังที่จะกั้นรังสีเหนือม่วง รังสีนี้จึงทะลุลงไปที่ชั้นล่างของผิวหนัง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเนื้อบริเวณนั้น และเกิดมะเร็งที่ผิวหนังได้บ่อย ท่านที่รู้จักคนเผือกโปรดแนะนำให้หลีกเลี่ยงการโดนแดดนะครับ ถ้าจะต้องโดนแดดก็ควรสวมเสื้อผ้าป้องกันแดดโดนผิวหนังโดยตรง จะได้ไม่เป็นมะเร็งผิวหนังครับ

  • สารเคมี

ที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้มีหลายร้อยชนิดครับ หลายชนิดเป็นยารักษาโรค หลายชนิดเป็นยาฆ่าศัตรูพืช เช่น ยาฆ่าแมลง ฆ่าหนอนพยาธิศัตรูพืช หลายชนิดเป็นยากันบูด หลายชนิดเป็นสารผสมอาหารเพื่อแต่งรสแต่งสี สารเคมีเหล่านี้เกือบทั้งหมดมนุษย์สร้าง (สังเคราะห์) ขึ้นมาใช้ประโยชน์และมันก็มีประโยชน์มากมาย ในประเทศไทยเราถ้าไม่ใช้ยากำจัดศัตรูพืช พืชผลจะโดนแมลง และศัตรูพืชทำลายเสียหายปีละ 1 แสนล้านบาท แต่การใช้ยากำจัดศัตรูพืชปีละ 700 ล้านบาท ทำให้สามารถป้องกันความเสียหายของพืชผลดังกล่าวได้

การใช้สารเคมีจำพวกยารักษาโรค ยากำจัดศัตรูพืช ยากันบูด สารผสมอาหาร จึงสมควรใช้ด้วยความระมัดระวังเลือกใช้สารที่มีอันตรายน้อยที่สุด และปฏิบัติตามข้อแนะนำตามที่ระบุไว้ในฉลากและตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอันตรายจะเกิดแก่ตัวท่านเอง บุตรหลาน หรือญาติพี่น้องของท่าน โดยที่อาจทำให้เกิดความพิการในลูกหลานที่เกิดใหม่ หรือเกิดมะเร็งในตัวท่านเอง หรือญาติพี่น้องของท่าน

สารเคมีที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ บางชนิดเกิดขึ้นตามธรรมชาติที่รู้จักกันดีที่สุด คือ พิษจากเชื้อราบางชนิดที่เรียกว่า “แอลฟ่า ท็อกชิน” หรือ “พิษแอลฟ่า” สงสัยกันว่ามะเร็งตับในคนอาจเกิดจากพิษจากเชื้อรานี้ เชื้อราชนิดดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปและชอบขึ้นตามอาหารที่เก็บไว้นาน เช่น ข้าวที่หุงไว้ตั้งแต่เช้าเก็บไว้จนถึงเวลาค่ำ ราอาจขึ้นได้และปล่อยพิษออกมาในข้าวนั้น ถั่วลิสงดิบๆ ที่เก็บไว้ในที่ชื้นอย่างในอากาศภาคใต้หรือในฤดูฝนของทุกภาค ในประเทศไทยก็มีราขึ้นและปล่อยพิษออกมาในเมล็ดถั่วลิสงได้ พิษของรานี้ทนความร้อน แม้จะเอามาต้มจนเดือดพิษก็ยังคงเดิมไม่สลายไป

อาหารที่รับประทานนี้จึงควรเลือกซื้อของใหม่ๆ และไม่ปรุงเป็นไว้เป็นวันๆ เพราะจะเกิดอันตรายจากพิษราได้

เฮ้อ ! คิดแล้วกลุ้มนะครับ โลกยุคจรวดนี่ อะไรๆ ก็เป็นพิษเสียหมด สารเคมีก็เป็นพิษ อาหารเป็นพิษ เอ๊กซเรย์เป็นพิษ สารพัดพิษ อย่าเพิ่งตกใจครับ ของพวกนี้ที่จริงของดีๆ ทั้งนั้น เราต้องเรียนที่จะอยู่กับมัน และใช้ประโยชน์ของมัน ต้องอยูกับมันอย่างคนฉลาดที่จะไม่ได้รับอันตรายจากพิษของมันครับ ก็ฉลาดสมกับที่อ่าน “หมอชาวบ้าน” ทุกเดือนนั่นแหละครับ

ข้อมูลสื่อ

2-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 2
มิถุนายน 2522
อื่น ๆ
นพ. วิจารณ์ พานิช