• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การตรวจดูอาการ “คอแข็ง”

คอลัมน์นี้ จะสอนให้รู้จักอาการและโรคต่างๆ รวมทั้งวิธีตรวจร่างกายด้วยตนเอง ซึ่งผู้อ่านนำไปปฏิบัติได้เลย หรือภายหลังจากที่ได้ฝึกจากผู้รู้สักครั้งสองครั้ง เราจะนำมาเสนอเป็นประจำทุกครั้ง

ตอน : การตรวจดูอาการ “คอแข็ง”

อาการคอแข็ง พบได้ในโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เลือดออกในสมอง ฝีในสมอง บาดทะยัก ไข้หลังแอ่น

ตรวจเมื่อไร

เมื่อมีอาการไข้ตัวร้อน ปวดหัวรุนแรง อาเจียนพุ่งอย่างแรง แขนขาอ่อนแรง ซึม เพ้อ ชัก หมดสติ เป็น โรคความดันเลือดสูง แล้วหมดสติ หรือได้บาดเจ็บที่บริเวณกะโหลกศีรษะ

ตรวจอย่างไร

ตรวจได้ 2 วิธี คือ

1. บอกให้คนไข้ก้มศีรษะ (ถ้ารู้สึกตัวดี) คนปกติจะสามารถก้มจนคางชิดหน้าอกได้ ส่วนคนที่มีอาการคอแข็ง จะไม่สามารถก้มศีรษะได้ (รูปที่ 1)

2. ให้คนไข้นอนหงาย ผู้ตรวจใช้มือทั้ง 2 ข้างประคองศีรษะของคนไข้ จับยกให้ก้มลงไปข้างหน้า คนปกติจะสามารถยกจนคางชิดหน้าอกได้ แต่คนที่มีอาการคอแข็ง จะก้มไม่ได้ ผู้ตรวจจะมีความรู้สึกว่าคอของคนไข้แข็งเหมือนท่อนไม้ (รูปที่ 2) วิธีนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่ไม่ค่อยรู้สึกตัว

การดูแลรักษา เมื่อพบ อาการคอแข็ง ควรนำคนไข้ส่งโรงพยาบาลทันที เพราะถือว่าเป็นอาการที่เป็นอันตรายร้ายแรง หมอจะตรวจเพิ่มเติม โดย การเจาะหลัง (รูปที่ 3)

 

ข้อมูลสื่อ

3-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 3
กรกฎาคม 2522
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ