• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การให้นมแม่

7. การให้นมแม่

“ไม่ต้องรีบร้อน”

การที่จะตัดสินใจว่านมแม่พอหรือไม่นั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายนัก ถึงแม้เต้านมจะมีขนาดใหญ่ ก็ไม่แน่จะมีน้ำนมมาก สำหรับคุณแม่ใหม่ซึ่งเพิ่งมีลูกคนแรก สัปดาห์แรกน้ำนมมักไม่ค่อยพอ ดังนั้นน้ำหนักของเด็กจึงมักจะลดลงกว่าเมื่อแรกเกิดเล็กน้อย

ในช่วงสัปดาห์แรก ถ้าวัดปริมาณนมแม่โดยวัดน้ำหนักเด็กด้วยเครื่องวัดอย่างละเอียดก่อนและหลังให้นมแล้ว จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ปริมาณนมแต่ละครั้งอย่างมากก็แค่ 50 ซี.ซี. คุณแม่ที่อยู่โรงพยาบาลเห็นเด็กข้างๆ ดูดนมผงจากขวดครั้งละ 80-90 ซี.ซี. ก็ซักกังวลคิดว่าต้องเพิ่มนมผงให้ลูกเสียแล้ว แต่ที่จริงถ้าพยายามให้นมต่อไปอีกสัปดาห์หนึ่ง ในสัปดาห์ที่สองปริมาณก็จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งละ 70-80 ซี.ซี. ตามธรรมชาติ

นมผงนั้นถ้าทดลองให้เด็กดูดแล้วเด็กจะติดใจ เพราะมีรสหวานเนื่องจากน้ำตาลผสมอยู่ ทั้งหัวนมยางก็ดูดง่ายกว่าหัวนมแม่ ทำให้เด็กไม่อยากดูดนมแม่ แต่ถ้าให้นมแม่จนหมดแล้ว เด็กยังร้องหิวและทำยังไงๆ ก็ไม่หยุด ถ้าจำเป็นจะเติมนมผงให้ก็ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามคุณต้องพยายามให้นมแม่ตลอดสองสัปดาห์ เพราะนมแม่มีมากขึ้นหลังจากนั้น

“วิธีให้มีน้ำนมมาก”

วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เต้านมที่แห้ง ค่อยๆ มีน้ำนมและคัดขึ้นมานั้นคือ การให้เด็กดูดแรงๆ ในระยะแรกไม่ว่าแม่คนไหนก็ไม่มีน้ำนมๆ มาก น้ำนมแม่จะมีมากขึ้นก็ต่อเมื่อให้เด็กดูดแรง ในกรณีที่เด็กดูดนมไม่แรง (เด็กคลอดก่อนกำหนด) คุณแจให้เด็กคนอื่นช่วยดูดให้เพื่อกระตุ้นให้มีน้ำนมมาก

วันที่สามวันที่สี่หลังคลอด เต้านมจะคัดแข็งขึ้นมาและอาจมีก้อนแข็งที่เต้านม ซึ่งก้อนนี้ไม่ใช่ “เต้านมอักเสบ” ในระยะนี้คุณอาจให้คนอื่นช่วยนวดเต้านมให้หรือจะนวดเองก็ได้ โดยใช้ผ้าขนหนูซุบน้ำอุ่นประคบเต้านมประมาณ 2-3 นาที หลังจากนั้นก็เริ่มนวด โดยเลี่ยงจุดที่แข็งเป็นก้อนวิธีนวดใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้จับเต้านมแล้วรูดมือเบาๆ จากฐานถึงหัวนม ต้องอย่าให้รู้สึกเจ็บ เพราะถ้ารู้สึกเจ็บ จะเกิดปฏิกิริยาทำให้ผลิตน้ำนมได้น้อยลง การนวดเต้านมทำให้แม่รู้สึกสบายขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น

วิธีทำให้น้ำนมมากอีกวิธีหนึ่ง คือ การกินอาหารที่มีประโยชน์ให้พอเพียง คุณควรดื่มนมให้มากๆ ทุกวัน คนเฒ่าคนแก่จะแนะนำให้คุณกินแกงเลียง คุณก็ควรปฎิบัติตาม เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ใหญ่สบายใจแล้วคุณเองก็สบายใจด้วย ทั้งแกงเลียงก็ไม่มีพิษมีภัยอะไร และยากระตุ้นน้ำนมขนานเอกก็คือ “ความสบายใจ” ของคุณแม่ ถ้าคุณว้าวุ่น หงุดหงิด คิดมาก ร่างกายของคุณจะผลิตน้ำนมได้น้อยลง

วิธีกระตุ้นน้ำนมอีกประเภทหนึ่ง คือ ก่อนให้นมลูกสักครึ่งชั่วโมง คุณควรดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ สักหนึ่งแก้ว จะช่วยให้การหลั่งน้ำนมดีขึ้น การที่โบราณแนะนำให้กินแกงเลียงก็เพราะนอกจากจะประกอบด้วย ไก่ กุ้ง และผักหลายชนิดแล้ว ยังมีพริกไทยเล็กน้อยและให้กินร้อนๆ เพื่อกระตุ้นน้ำนมนั่นเอง

“ไม่ต้องเคร่งครัดเรื่องเวลาให้นม”

ก่อนที่คุณจะออกจากโรงพยาบาลหัวหน้าพยาบาลอาจจะแนะนำให้คุณให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมง แต่คุณไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด มิใช่ถ้าคุณไม่ให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมง ตรงตามเวลาเปี๊ยบแล้วลูกของคุณจะกลายเป็นคนไม่มีระเบียบเมื่อโตขึ้น สำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผง วัดปริมาณนมในขวดได้ เมื่อให้เท่ากันทุกครั้ง เด็กก็ย่อมจะคุ้นเคยกับการกินเป็นเวลา

แต่สำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่นั้น ปริมาณของนมแม่อาจไม่เท่ากันทุกครั้ง ปริมาณที่เด็กดูดแต่ละครั้งก็ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในระยะเดือนแรก เมื่อปริมาณนมในท้องแต่ละครั้งไม่เท่ากัน เด็กจะร้องหิวเมื่อเวลาผ่านไปเพียงหนึ่งชั่วโมงให้หลัง หรือบางครั้งอาจจะอยู่ถึง 3 ชั่วโมงก็มี

ในระยะเดือนแรก ตอนกลางวัน คุณอาจต้องให้นมลุกทุก 2 ชั่วโมงก็ไม่เป็นไร เมื่อย่างเข้าเดือนที่สอง ปริมาณนมแม่จะเพิ่มขึ้นและลูกของคุณดูดนมได้มากขึ้น ระยะเวลาให้นมก็จะค่อยๆ ห่างขึ้นเป็น 3 ชั่วโมง ระยะ 1-2 เดือนแรกนี้คุณคงต้องให้นมตอนกลางคืนประมาณสองครั้ง เพราะเด็กจะตื่นขึ้นมาร้องหิว

“ควรให้นมทุกครั้งที่ร้องหรือไม่”

การไม่เคร่งครัดเรื่องเวลาการให้นม หรือจำนวนครั้งที่ให้นมนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้นมทุกครั้งที่เด็กร้อง ประการแรกคุณต้องดูเสียก่อนว่าผ้าอ้อมเปียกหรือไม่ เด็กอาจร้องเพราะรำคาญที่ผ้าอ้อมเปียกและหยุดร้องเมื่อคุณเปลี่ยนให้ อีกประการหนึ่งอาจเป็นที่อุปนิสัยของเด็ก เด็กขี้แยก็มี เด็กประเภทนี้จะร้องทั้งๆ ที่ยังอิ่มพุงกางอยู่ พออุ้มก็เงียบ บางคนกลัวว่าอุ้มบ่อยๆ แล้วเด็กจะติดจะต้องอุ้มอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าคุณแก้ด้วยวิธีอื่นแล้วไม่เงียบ คุณควรจะอุ้ม เพราะดีกว่าปล่อยให้เด็กร้อง

นอกจากสองกรณีข้างต้นแล้ว สำหรับเด็กอายุหนึ่งสัปดาห์นั้น ถ้าร้อง ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคงจะหิว คุณไม่ต้องกลัวว่าถ้าให้นมลูกทุกครั้งที่ร้องแล้ว เด็กจะกินนมมากเกินไปเพราะนมแม่นั้นมีไม่พอให้เด็กกินจนเกิดความต้องการหรอก ถ้านมแม่มีมากจริงเด็กก็คงไม่ร้องบ่อยๆ อย่างนั้น เมื่อนมแม่มีเพียงพอวิธีการให้นมทุกครั้งที่ร้องนั้น จะเป็นไปโดยธรรมชาติ คือ ปล่อยให้เด็กเป็นฝ่ายกำหนดเวลาเอง วิธีให้นมตามธรรมชาตินั้นมีความสุขกว่าการให้ตามตารงเวลา เพราะเด็กไม่ต้องถูกปลุกเมื่อถึงเวลาให้นมทั้งๆ ที่เพิ่งหรือกกำลังหลับสบาย ถ้านมแม่มีมากพอและเด็กดูดได้มาก อาจมีบางวันที่ให้นมเพียง 5 ครั้งเท่านั้นเด็กก็เพียงพอ

วิธีให้นมทุกครั้งที่ร้องนั้นมีข้อเสีย 2 ประการในกรณีที่นมแม่ไม่พอ คือ แม่ต้องให้ทุกชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง ทำให้แม่ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน เมื่อพักผ่อนไม่พอ ร่างกายก็ผลิตนมได้น้อยลงไปอีกทำให้เด็กกินนมได้น้อยลงและยิ่งร้องบ่อยขึ้น ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อนมไม่ค่อยพอต้องให้บ่อยๆ หัวนมอาจเป็นแผล ทำให้ไม่สามารถให้นมได้

สำหรับแม่ที่มีน้ำนมน้อย หลังจากพยายามให้นมลูกอยู่พักหนึ่ง มักจะต้องหยุดให้ด้วยสาเหตุสองประการข้างต้นแต่สำหรับแม่ที่มีนมมากในตอนหลังก็เช่นกัน คงจำได้ว่าในช่วงสองสัปดาห์แรกคุณก็ต้องให้นมลูกเกือบทุกสองชั่วโมงเหมือนกัน

ในกรณีที่ต้องให้นมลุกบ่อยๆ เมื่อลูกร้องคุณไม่จำเป็นต้องให้นมทันที แต่ลองให้น้ำสุกผสมน้ำตาลกลูโคสเล็กน้อย หรือน้ำเปล่าๆ ประมาณ 30-50 ซี.ซี. เสียก่อน เพื่อยืดระยะเวลาระหว่างการให้นมให้ห่างเกินสองชั่วโมงขึ้นไป ทำอย่างนี้ไม่นาน คุณแม่หลายคนจะรู้สึกว่าจู่ๆ นมแม่ก็มีมากขึ้นอย่างน่าแปลกใจ (สำหรับน้ำผสมน้ำตาลกลูโคสอย่าปล่อยทิ้งไว้นานๆ เพราะจะกลายเป็นที่เพาะเชื้อโรค ทำให้เด็กท้องเสียได้ง่าย)

ถ้าคุณให้นมลูกไปแล้วกว่าสองชั่วโมง แต่นมยังไม่คัด และเมื่อให้นมลูกครั้งต่อไป ปรากฏว่าเสร็จแล้วไม่ถึง 30 นาที เด็กร้องขึ้นมาอีก อุ้มก็แล้วทำอะไรก็แล้ว ก็ยังไม่หยุดร้อง ถ้าเป็นเช่นนี้บ่อยๆ แสดงว่าปริมาณน้ำนมอาจไม่พอจริงๆ แต่สำหรับระยะแรกเกิดถึงสองสัปดาห์นั้น นมแม่ไม่พอนิดหน่อยไม่เป็นไร คุณควรขะชั่งน้ำหนักเด็กเมื่ออายุได้ครบ 15 วัน ถึงแม้น้ำหนักจะเพิ่มจากเมื่อแรกเกิดเพียง 200 กรัม ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าน้ำหนักไม่เพิ่มเลย คุณจะต้องเพิ่มนมให้โดยใช้นมผง (เพิ่มด้วยนมผง ไม่ใช่เปลี่ยนไปเลี้ยงด้วยนมผง)

“วิธีให้ลูกดูดนม”

แม่ใหม่ที่ยังไม่เคยให้ลูกดูดนม มักจะให้ลูกดูดเฉพาะตรงหัวนม แต่แม่ที่เคยเลี้ยงลูกมา 2-3 คนแล้วไม่ทำอย่างนั้น แต่จะให้ลูกดูดถึงส่วนบนของเต้านมที่เป็นสีคล้ำรอบๆ หัวนมด้วย เมื่อเด็กอ้าปาก คุณควรใช้นิ้วคีบเต้านมแล้วใส่เข้าไปในปากให้ลึกเต็มปาก

เนื่องจากคุณแม่ต้องใช้นิ้วคีบเต้านมเวลาให้นมลูก เพราะฉะนั้นคุณควรล้างมือให้สะอาดก่อนให้นม ถ้าคุณแม่ยังไม่ได้อาบน้ำ ควรเช็ดเต้านมให้สะอาดเสียก่อน แต่ถ้าอาบน้ำแล้วและใส่เสื้อชั้นในที่สะอาดอยู่เสมอก็ไม่จำเป็นต้องฆ่าเชื้อโรคบริเวณเต้านมทุกครั้งที่ให้เพราะหัวนมนั้นแตกเป็นแผลได้ง่าย ถ้าใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดแรงๆ บ่อยๆ อาจเป็นแผลได้ คุณอาจใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดบริเวณหัวนมเบาๆ ก่อนให้นมก็เพียงพอ และใช้น้ำนมมะกอกบริสุทธิ์ทาหัวนมวันละ 1-2 ครั้งจะช่วยให้หัวนมไม่แตก

เวลาให้นม คุณควรให้ในท่านั่งไม่ควรนอนให้นมจนกว่าเด็กจะอายุเกิน 3 เดือน เพราะเวลาให้นมคุณจะรู้สึกสบายแล้วเผลอหลับไป เกิดอุบัติเหตุเต้านมอาจทับจมูกเด็กจนหายใจไม่ออกได้ เมื่อเด็กอายุได้ 4 เดือนแล้ว คุณอาจนอนให้นมได้ เพราะถ้าคุณเผลอหลับนมไปทับจมูกเด็ก เด็กจะดิ้นจนทำให้คุณรู้สึกตัว

สำหรับเด็กที่ชอบแหวะนม ไม่ว่าคุณจะให้ในท่าใดก็ตาม หลังให้นมคุณจะต้องอุ้มเด็กขึ้นให้หลังตรงเพื่อให้เรอออกมา เพราะเวลาเด็กดูดนมจะดูดอากาศเข้าไปด้วย เมื่ออากาศเข้าไปอยู่เต็มกระเพาะ ถ้าเด็กเรอในท่านอน นมที่กินเข้าไปจะไหลออกมาด้วย ดังนั้นหลังจากให้นม จึงต้องจับตัวเด็กให้ตรงตั้งได้ฉากแล้วลูบหลังเด็กเบาๆ จะได้เรอเอาแต่ลมออกมา แต่ที่เด็กหลายคน ถึงแม้จะไม่จับเรอ ก็ไม่แหวะนมเลยเรื่องนี้จะเป็นปัญหาสำหรับเด็กที่แหวะนมบ่อยๆ เท่านั้น

เกี่ยวกับปัญหาที่ว่าจะให้นมทีละข้างงดีหรือสองข้างดีนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณนม ถ้าเด็กดูดข้างเดียวอิ่มก็ให้ข้างเดียวได้ แต่อย่างไรก็ตามในระยะสองสัปดาห์ทารกควรให้ทั้งสองข้างเพื่อป้องกันไม่ให้หัวนมแตก และอย่าให้เด็กดูดข้างหนึ่งข้างใดนานเกินไป โดยเฉพาะระยะแรกไม่ควรเกิน 10 นาที ภายใน 10 นาที เด็กจะดูดนมที่มีอยู่แต่ละข้างได้เกือบหมด เพราะฉะนั้นเมื่อดูดข้างหนึ่งครบ 10 นาทีแล้วก็เปลี่ยนข้าได้ หลังจากสองสัปดาห์ไปแล้ว อาจให้ดูดแต่ละข้างเกิน 10 นาทีได้ แต่รวมกันสองข้างแล้วไม่ควรเกิน 30 นาที

8.นมแม่ไม่พอหรือเปล่า

มีแม่จำนวนมากบอกว่า ต้องเปลี่ยนไปเลี้ยงลูกด้วยนมวัว เพราะนมไม่พอ แต่การตัดสินใจว่านมแม่ไม่พอ เมื่อเลี้ยงเด็กได้เพียง 15 วันนั้นเร็วเกินไป แม่บางคนช่างน้ำหนักลูกดูแล้ว เห็นว่าน้ำหนักน้อยไปก็เหมาเอาว่า เป็นเพราะนมแม่ไม่พอ ที่จริงเด็กที่มีนิสัยกินน้อยมาแต่กำเนิดก็มี เด็กบางคนคลอดครบกำหนดแต่น้ำหนักไม่ถึง 3 กิโลกรัม เลี้ยงไปอีก 2 อาทิตย์ก็ยังขึ้นไม่มาก ทั้งๆ ที่เด็กนอนหลับดีกลางคืนก็ไม่ค่อยกวน กินนมแม่เว้นช่วงครั้งละ 2 ชั่วโมงบ้าง 2 ชั่วโมงครึ่งบ้าง แต่กินไม่มาก กินนมข้างเดียวก็อิ่ม แล้วหลับไปเลย อย่างนี้แสดงว่านมแม่พอ แต่เด็กกินน้อยเอง เด็กประเภทนี้ถึงจะเปลี่ยนไปให้นมผงก็ยังกินน้อยอยู่ดี เพราะอุปนิสัยเด็กเป็นอย่างนั้นเอง

แม่บางคนเห็นลูกท้องผูก ไม่ถ่ายอุจจาระวันหรือสองวัน ก็เกรงว่าเป็นเพราะนมไม่พอ แต่ถึงแม้เด็กจะอึน้อยลง ถ้าเด็กนอนหลับดีหลังให้นม ตอนกลางคืนก็ไม่ร้องกวน และนมแม่คัดดีแล้วล่ะก็แสดงว่านมพอ ถ้ายังไม่แน่ใจลองชั่งน้ำหนักดู ถ้าน้ำหนักขึ้นวันละ 20-30 กรัมก็ใช้ได้

การที่เด็กร้องกวนบ่อยๆ แล้วจะสรุปง่ายๆ ว่าเด็กร้องพราะนมแม่ไม่พอไม่ด้เหมือนกันเพราะ “เด็กขี้แย” ตั้งแต่เกิดก็มี เด็กประเภทนี้ท้องอิ่มก็ยังร้องกวน นอกจากนั้น ประเภท “เด็กกินจุ” ก็มี เด็กประเภทนี้จะร้องกินมากกว่าเด็กทั่วๆ ไป การจะฟังเสียงร้องของเด็กว่า ร้องเพราะนมไม่พอจริงๆ หรือเปล่านั้น ต้องพึ่งผู้ชำนาญ โดยทั่วไปแล้วเด็กกินจุจะอ้วนท้วนดี แต่เด็กที่กินนมไม่พอมักจะผอม ถ้าเด็กกินนมหดสองข้าง แล้วยังร้องอยู่ คุณลองชงนมให้อีกสัก 50 ซี.ซี. ถ้าเด็กดูดหมดแสดงว่านมแม่ไม่พอ เพราะเด็กอายุครึ่งเดือนนั้นปกติจะกินนมประมาณ 80-100 ซี.ซี. ถ้ากินนมผงหมด 50 ซี.ซี. อย่างรวดเร็วก็แสดงว่า นมแม่รวมสองข้างแล้วมีน้อยกว่า 50 ซี.ซี.

ถ้าอยากจะตรวจสอบดูให้แน่ใจว่า นมแม่พอหรือไม่ ต้องใช้เครื่องชั่งอย่างละเอียด (เครื่องชั่งที่วัดเป็นกรัมได้) ชั่งน้ำหนักเด็กก่อนและหลังให้นมปกติตามบ้านมักไม่มีเครื่องชั่งแบบนี้ จึงมักชั่งเมื่อไปหาหมอ (แต่ที่จริงคุณควรพาลูกไปหาหมอบ่อยๆ ถ้าไม่ได้ป่วยหรือพาไปฉีดวัคซีน เพราะเด็กมีโอกาสติดเชื้อโรคจากร้านหมอ หรือโรงพยาบาลได้ โดยเฉพาะเด็กอ่อน คุณอาจขอยืมเครื่องชั่งของตามร้านใกล้บ้าน แล้วเอาลูกใส่ตะกร้าชั่งก็ได้) หมอก็จะคำนวณน้ำหนักเด็กว่าเพิ่มเฉลี่ยวันละเท่าไร เพิ่มมากวันละ 20-30 กรัมขึ้นไป ไม่ว่าเด็กจะร้องยัง หมอก็จะแนะนำให้เลี้ยงด้วยนมแม่ต่อไป แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มต่ำกว่าวันละ 20 กรัม ถ้านมแม่ไม่เพิ่มขึ้น ก็คงจะเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวไม่พอ สำหรับในกรณีที่น้ำหนักเด็กเพิ่มเฉลี่ยอยู่ในระหว่างวันละ 20-30 กรัม หรือจะดูท่าทีของคุณแม่ว่าเป็นอย่างไร ถ้าดูท่าทางคุณแม่สนใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเห็นคุณประโยชน์ของนมแม่ ก็คงแนะนำให้พยายามเลี้ยงด้วยนมแม่ แต่ถ้าดูท่าทางคุณแม่เป็นคนเจ้าอารมณ์พอลูกร้องกวนบ่อยๆ จะหงุดหงิด ชอบให้ลูกนอนไม่กวนละก็ คงแนะนำให้คุณแม่ใช้นมผงเลี้ยงด้วย ถึงแม้ว่าน้ำหนักเฉลี่ยของเด็กจะเพิ่มเพียงวันละ 25 กรัม ถ้าเด็กไม่กวน กลางคืนก็นอนหลับดี ท้องก็ไม่ผูกถ่ายทุกวัน หมอคงบอกว่า “ไม่เป็นไรคุณเลี้ยงลูกด้วยนมได้แน่” และพอหมอให้กำลังใจอย่างนี้ นมแม่มักจะไหลดีขึ้น

ถึงแม้น้ำหนักเด็กจะเพิ่มเฉลี่ยเพียงวันละ 20 กรัม แต่ถ้าแม่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จริงๆ แล้วหมอจะแนะนำว่า “คุณลองให้นมผงแก่ลูกวันละครั้งเดียวดูก่อน เลือกให้ตอนที่นมแม่ไม่ค่อยจะมี” ส่วนใหญ่แล้วช่วงตอนเย็นระหว่าง 4 โมง ถึง 6 โมงเย็น จะเป็นช่วงที่นมแม่จะไม่ค่อยคัด คุณให้นมผงแก่ลูกตอนนี้ แล้วพักนมแม่เสียหนึ่งครั้ง นมแม่เมื่อได้พัก ครั้งต่อไปก็จะคัดดี ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ นมแม่จะมีมากขึ้นจนกระทั่งพอเลี้ยงลูกได้ทั้งวัน

เมื่อนมแม่ไม่พอ แล้วเพิ่มนมผงให้ลูกวันละครั้งได้สัก 5 วัน หรือหนึ่งสัปดาห์ คุณควรชั่งน้ำหนักลูกดู ถ้าน้ำหนักเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าน้ำหนักเฉลี่ยไม่เพิ่มขึ้น แสดงว่า นมแม่ไม่พอจริงๆ คุณต้องหันไปเลี้ยงลูกด้วย “วิธีสลับ” คือ เลี้ยงสมแม่สลับกับนมวัว

ในกรณีที่นมแม่ไม่พอ แต่คุณตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหลัก คุณไม่ควรใช้วิธีให้นมผงตามทุกครั้งหลังจากให้นมแม่ เพราะถ้าใช้วิธีนี้ คุณจะไม่ตั้งใจให้นมแก่ลูกเท่าที่ควร เพราะคุณจะคิดอยู่เสมอว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวนมไม่พอเราก็ให้นมผงเติมได้” และเมื่อแม่ไม่พยายามเต็มที่ นมแม่ก็จะไม่ค่อยไหล

สำหรับชนิดนมของวัว ที่คุณจะเลือกเพื่อเพิ่มให้ลูกนั้น คุณจะเลือกประเภทนมผงหรือนมสดก็ได้ แต่ถ้าใช้นมผง ควรซื้อกระป๋องเล็กใน 3 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะที่ลูกกินนมไม่มาก เพราะเมืองเราเป็นเมืองร้อน นมผงที่เปิดกระป๋องแล้วทิ้งไว้ในที่อากาศร้อนนานกว่าครึ่งเดือนนั้น ไม่ปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้ เมื่อเปิดกระป๋องแล้ว คุณควรเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับนมสดก็มีข้อเสียที่ว่า คุณต้องยุ่งยากเอามาต้มเสียก่อน อีกอย่างนมสดก็เสียง่าย และหาซื้อได้ไม่สะดวกนักสำหรับสถานที่ที่ห่างไกลจากตัวเมือง

ข้อมูลสื่อ

3-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 3
กรกฎาคม 2522