• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การให้นม

13. การให้นม

“การเลี้ยงลูก” ไม่ใช่ “การให้อาหาร” แต่อย่างเดียว คุณต้องให้ความรักด้วย เวลาคุณให้นมลูก คุณควรคิดว่าคุณกำลังให้ “ความรัก” ไม่ใช่กำลัง “ให้อาหาร” น่าเสียดายที่ตามโรงพยาบาลมักจะเลี้ยงเด็กแบบ “ให้อาหาร” เพื่อเพิ่มน้ำหนักมากกว่าอย่างอื่น ถ้าไปดูห้องเด็กตามโรงพยาบาล บางแห่งคุณจะเห็นเด็กนอนเรียงกันเป็นแถว หน้าตะแคงข้าง ดูดนมจากขวดซึ่งใช้หมอนหรือผ้าหนุนอีกทีหนึ่ง นานๆ พยาบาลก็จะเดินเข้ามาดูเสียทีหนึ่ง ที่โรงพยาบาลต้องเลี้ยงเด็กแบบนี้ ก็คงเป็นเพราะความจำนวนพยาบาลไม่พอที่จะมาดูแลเด็กแต่ละคน แต่ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อคุณแม่มาดูลูกที่ห้องกระจก ทางโรงพยาบาลให้นมลูกแบบนั้น พอกลับบ้านก็เอาอย่างบ้าง การเลี้ยงลูกก็เลยเป็น “การให้อาหาร” เพื่อให้อ้วนขึ้นเท่านั้นจริงๆ

แต่ข้อแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลกับบ้าน ก็คือ ที่โรงพยาบาลมีคนมาก พยาบาลผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาดูแลเด็ก ถึงแม้จะให้เด็กนอนตะแคงดูดนมอยู่คนเดียวก็ไม่ค่อยมีอันตราย แค่ที่บ้านมีคนน้อย บางทีคุณแม่อยู่บบ้านคนเดียว มีแขกมาหาเผลอคุยไปนานหน่อย หรืออะไรในครัวเดือด เข้าไปดูอยู่ ขวดนมเกิดหลุดจากปากลูก ลูกแหวะนมหรือสำลักนมขณะนอนหงายอยู่ นมเลยเข้าไปในหลอดลมเป็นอันตรายได้ นอกจากอันตรายแล้ว การให้นมลูกแบบนี้เป็นการละเลยไม่ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูก ถึงคุณจะไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณก็เพียงแต่เปลี่ยนจากนมแม่มาเป็นนมวัวเท่านั้น คุณไม่ได้ละทิ้งความรักลูกไปด้วยมิใช่หรือ

เวลาคุณให้นมลูก ควรนั่งในท่าที่สบาย และอุ้มลูกอยู่บนตัก เวลาคุณรู้สึกสบาย ลูกจะรู้สึกสัมผัสของคุณนุ่มนวลไปด้วย เมื่ออุ้มลูกในท่าที่ดีแล้ว จึงเอาขวดนมใส่ปากลูก เวลาให้นมลูก ขวดนมเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น ตัวเอกเป็นตัวคุณแม่เอง และอย่าให้ตัวประกอบมาขัดขวางการแสดงตัวเอกเสีย

หัวนม ควรเลือกที่ไม่แข็งจนเกินไป เด็กแต่ละคนชอบลักษณะของหัวนมไม่เหมือน ควรเลือกแบบที่เหมาะสมกับลูกของคุณ ถ้าลูกดูดไม่ถนัด ดูดลำบาก ควรจะเปลี่ยน รูหัวนมไม่ควรให้ใหญ่นัก เพราะนมจะออกมากเกินไป เด็กก็ต้องออกแรงดูดมาก ทำให้เหนื่อย เลิกดูดเสียกลางคัน โดยทั่วไป ขนาดของรูหัวนม ควรจะเป็นขนาดที่เมื่อคุณคว่ำขวดนม นมจะหยดประมาณหนึ่งหยุดต่อหนึ่งนาที

ตามปกติ เด็กอายุหนึ่งสัปดาห์ ถึง ครึ่ง เดือน มักกินนมครั้งละประมาณ 70-100 ซี.ซี. และดื่มหมดใน 10-20 นาที แต่มีเด็กบางคนที่พอดูดไปได้หน่อยหนึ่งก็หยุด เขี่ยแก้มก็แล้ว ขยับหัวนมไปมาก็แล้วไม่ยอมดูด พอพักได้ 2-3 นาที จึงดูดต่อไปอีก สำหรับเด็กแบบนี้ก็เช่นกัน ไม่ควรให้นมแต่ละครั้งเกิน 30 นาที

สำหรับเด็กที่ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ยอมดูดแล้ว คุณไม่ควรเจาะรูหัวนมให้ใหญ่ขึ้นแล้วบังคับกรอกเข้าไป ถ้าเด็กไม่ยอมดูดแล้วก็ไม่ต้องให้ รอจนร้องหิวอีกค่อยให้ ถ้าร้องภายใน 30 นาที ก็ให้นมขวดเดิม ถ้าเกินกว่านั้น ไม่ควรให้นมขวดเก่า

เด็กอายุเพียง 10 วัน อาจยังดื่มนมแต่ละครั้งไม่เท่ากัน แต่ถ้าทุกครั้งดื่มไม่ได้ถึง 50 ซี.ซี. คุณควรปรึกษาหมอ

ตามปกติเด็กอายุประมาณ 15 วัน จะกินนมเว้นช่วงประมาณ 3-4 ชั่วโมง วันละ 6-8 ครั้ง ครั้งละประมาณ 100 ซี.ซี. แต่เด็กที่กินครั้งละ 120 ซี.ซี. และวันละ 6 ครั้งก็มี เด็กบางคนกินน้อย กินนมครั้งละ 70 ซี.ซี. และวันละ 6 ครั้งก็พอ เด็กที่กินจุให้นมครั้งละ 120 ซี.ซี. ก็ยังดูท่าไม่พอนั้น ถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 วัน คุณไม่ควรให้เกินกว่านี้ ถ้าร้องไม่ยอม จะเอาอีก คุณควรให้น้ำต้มสุกหรือน้ำต้มสุกผสมกลูโคสแทนจะดีกว่า

หลังให้นม คุณควรจับเด็กพาดไหล่ หรือพาดแขน ให้หัวตรง เพื่อให้เรอเสียก่อนจึงค่อยวางลงนอน และเวลาให้นมต้องคอยระวังให้นมเต็มคอขวดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เด็กดูดเอาแต่ลมเข้าไปมาก

14. ห้องเด็ก

หนังสือบางเล่มอาจเขียนไว้ว่า ห้องเด็กควรมีอุณหภูมิเท่านั้นเท่านี้ ความชื้นเท่านั้นเท่านี้ จึงจะเหมาะสม แต่คุณไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่ เพราะห้องไหนที่พ่อแม่เคยอยู่มาได้ เด็กก็อยู่ได้เช่นกัน ถ้าอากาศร้อนคุณก็ใส่เสื้อให้เพียงบางๆ อากาศเย็นก็ใส่เสื้อให้หนาหน่อย แล้วห่มผ้าให้ เด็กควรได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่นเดียวกันผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่บางคนเห็นลูกนอนห้องแอร์ตอนอยู่โรงพยาบาล กลัวลูกจะนอนที่บ้านไม่สบาย ต้องรีบไปซื้อแอร์มาติด แต่ที่จริง ถ้าที่อยู่อาศัยของคุณไม่ใช่ตึกที่อับลม ร้อนอบอ้าวจนเกินไป และอากาศไม่บริสุทธิ์แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องติดแอร์ให้ลูกเป็นพิเศษแต่อย่างใด ถ้าร้อนนักก็เอาพัดมาพัดให้ หรือใช้พัดลมที่หมุนไปมาได้เปิดเบาๆ ให้ลูกเพียงพอ

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่นอนห้องแอร์จนติดเป็นนิสัยแล้ว ลูกของคุณก็นอนได้เช่นกัน แต่คุณไม่ควรปรับอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 25 องศาเซสเซียส

เมื่อเด็กเกิดใหม่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนนัก หนวกหูก็นอนได้ และถ้าคุณมีห้องพอ ที่เด็กนอนไม่ควรอยู่ติดกับที่รับแขก เพราะแขกที่มาเยี่ยมเยือนอาจนำเชื้อมาติดลูกของคุณได้ ถ้าที่บ้านมีหนู คุณควรจำกัดหนูให้หมด (ในประเทศญี่ปุ่นเคยมีคดี เด็กทารกถูกหนูกัดจนหน้าตาเหวอะหวะจนเสียชีวิต ในขณะที่แม่ไปจ่ายตลาดแล้วทิ้งให้เด็กนอนอยู่คนเดียว) เก็บเศษอาหารให้เรียบร้อยหนูจะได้ไม่มากินและอย่าให้แมวเข้าไปในห้องเด็กได้ด้วย

เวลาคุณทำความสะอาดห้อง ไม่ควรให้เด็กอยู่ในห้องนั้น เพราะจะหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไปนอกจากคุณจะใช้เครื่องดูดฝุ่น และถ้าเป็นบ้านที่มีห้องเดียว ย้ายลูกไปที่อื่นไม่ได้ เพราะเป็นเด็กในช่วงแรกเกิด เวลาทำความสะอาดบ้านก็อย่าใช้ไม้กวาด ใช้ผ้าชุบน้ำถูเอาอย่างเดียวจะดีกว่า

15. เตียงเด็ก

อาจจะฟังดูขัดแย้งกันสักหน่อย ถ้าจะบอกคุณว่าบ้านยิ่งแคบ เตียงเด็กก็ยิ่งจำเป็น โดยเฉพาะบ้านที่มีห้องเดียว แบบอาคารสงเคราะห์ควรมีเตียงเด็ก เพราะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ถ้าบ้านกว้างและมีลูกกรงล้อมรอบแบบบ้านในชนบทและไม่มีอันตราย เมื่อเด็กโตขึ้นคลานไปไหนเองได้ เตียงเด็กก็ไม่จำเป็น

เตียงเด็กควรมีลูกกรงล้อมรอบกันเด็กตก ความสูงของลูกกรงควรให้สูงกว่าไหล่ของเด็ก เมื่อจับยืนบนที่นอน (สูงประมาณ 70 ซม. ก็ใช้ได้) ช่องระหว่างซี่ลูกกรงควรพอดีให้กำปั้นผู้ใหญ่ลอดได้ เพราะถ้ากว้างกว่านั้น เด็กอาจเอาหัวลอดออกมาแล้วค้างอยู่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ถ้าแคบกว่านั้น เวลาเด็กเอาเท้าลอดออกมาแล้วหกล้ม เท้าขัดอยู่อาจเกิดเท้าแพลงได้ เตียงเด็กควรทำด้วยไม้ เพราะเวลาหกล้มเอาหัวไปโขกเข้าจะได้ไม่ถึงกับหัวแตก ความสูงของเตียงไม่ควรสูงจากพื้นมากนัก เวลาเกิดอุบัติเหตุ จะได้ไม่ค่อยอันตราย แต่ถ้าเตี้ยเกินไป เวลาคุณเปลี่ยนผ้าอ้อม จะต้องก้มทำลงเมื่อย เตียงที่ทาสีมีอันตราย ถ้าสีที่ทานั้นมีตะกั่วผสมอยู่ เคยมีกรณีเด็กกัดซี่ลูกกรงเหล็กทาสี แล้วสารตะกั่วเข้าไปในร่างกาย เกิดตะกั่วเป็นพิษขึ้น

16. ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม

ที่นอน สำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ ของที่คุณพ่อคุณแม่ใช้อยู่ก็ใช้ได้ แต่ที่นอนไม่ควรนุ่มเกินไป เพราะอาจมีอันตราย โดยเฉพาะเวลาเด็กนอนคว่ำ ที่นอนซซึ่งนุ่มบุ๋มลงไปอาจปิดจมูกทำให้เด็กหายใจไม่ออก ถึงแก่ชีวิตได้ คุณจะใช้ที่นอนผ้ายัดนุ่นหรือที่นอนฟองน้ำหุ้มด้วยพลาสติกก็ได้ ถ้าใช้ที่นอนผ้า ควรมีพลาสติกปูกันเปียก แล้วปูผ้าทับอีกทีหนึ่ง ถ้าใช้ที่นอนพลาสติก ควรมีผ้าปูที่นอนปูทับ เพื่อดูดซับเหงื่อของเด็ก มิฉะนั้นอาจเป็นผดผื่นคันได้

หมอนเด็กไม่ใช่ของจำเป็น เด็กไม่ต้องนอนหมอนก็ได้ โดยเฉพาะถ้าคุณให้ลูกนอนคว่ำ ก็ไม่ต้องใช้หมอน ถ้าอยากให้ลูกนอนหมอน หมอนเด็กควรจะแบนและไม่นุ่มเกินไป และต้องซักได้ เพราะเด็กมักแหวะนมลงบนหมอน ที่จริงถ้าคุณจะใช้ผ้าขนหนูพับจนเป็นหมอนให้ลูก ก็จะประหยัดและทำความสะอาดง่ายอีกด้วย

มุ้ง มีทั้งประเภทมุ้งครอบและมุ้งคลุมเตียง คุณแม่จะเลือกใช้อย่างไหนก็แล้วแต่ความสะดวก ควรเลือกมุ้งที่โปร่งและขนาดใหญ่ เด็กจะได้ไม่ร้อน และควรทำความสะอาดบ่อยๆ ด้วย

ผ้าห่ม โดยทั่วไปเด็กมักจะขี้ร้อนกว่าผู้ใหญ่ ในเมืองไทย นอกจากเขตที่มีอากาศหนาวเย็นในภาคเหนือและอีสานแล้ว ผ้าห่มสำลีเกือบไม่จำเป็นสำหรับเด็กเลย สำหรับเขตที่มีอากาศไม่หนาว ใช้ผ้าขนหนูแทนจะดีกว่า เพราะช่วยดูดซับเหงื่อและทำความสะอาดได้

ผ้าห่มเด็กมักเปียกบ่อยๆ คุณแม่ควรมีผ้าขนหนูไว้หลายๆ ผืน และเอาไว้ใช้ได้หลายอย่าง ทำผ้าเช็ดตัวก็ได้ พับทำเป็นหมอนก็ได้ พับเป็นผ้ากั้นรอบๆ เตียงก็ได้ และเวลาอากาศร้อนมาก ใช้เป็นผ้าปูที่นอนจะช่วยดูดซับเหงื่อได้ดีกว่าผ้าชนิดอื่น

17. เสื้อ ผ้าอ้อม ผ้ายาง กางเกงกันเปียก

สิ่งสำคัญเกี่ยวกับเสื้อเด็ก ก็คือ ต้องสวมใส่สบาย ไม่รัดแน่น ซับเหงื่อได้ดี อากาศผ่านได้ดี และไม่ประดับประดารุงรัง เวลาคุณจะซื้อเสื้อ ควรเลือกแบบที่เรียบง่าย ไม่มีสิ่งประดับ เช่น ริบบิ้น ลูกไม้ติดจนเต็ม แขนเสื้อกว้าง จะทำให้สะดวกเวลาสวม เนื้อผ้าควรเป็นผ้าใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าขนหนู ไม่ควรใช้ผ้าใยสังเคราะห์ เช่น ผ้าไนล่อน เพราะไม่ซับเหงื่อ เด็กใส่ไม่สบาย ควรเลือกเสื้อที่เย็บเก็บตะเข็บเรียบร้อย เวลาซักแล้วตะเข็บไม่ลุ่ย เพราะด้ายที่ลุ่ยออกมาอาจพันนิ้วเด็กได้ ถ้าคุณมีเวลาเย็บเอง เสื้อเด็กอ่อนควรเย็บตะเข็บไว้ด้านนอก แทนที่จะเก็บไว้ด้านในเหมือนเสื้อทั่วไปจะดีกว่า เพราะจะเย็บจะได้ไม่ระคายผิวอ่อนบางของทารก และไม่ควรเตรียมเสื้อผ้ามากเกินไป เพราะเด็กเติบโตเร็วมาก จะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

ผ้าอ้อม คนไทยสมัยก่อนและชาวชนบทในปัจจุบัน มักนำผ้าถุงเก่าๆ มาตัดเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อทำผ้าอ้อม ซึ่งเป็นความคิดที่ดีมาก เพราะนอกจากจะประหยัดแล้ว ผ้าถุงซึ่งทำด้วยผ้าฝ้าย เมื่อใช้เก่าแล้ว เนื้อผ้าจะอ่อนนุ่มกว่าผ้าเก่า ซึ่งยังดูดซับน้ำได้ดีกว่า และตากแห้งได้เร็วกว่า แต่คนในเมืองสมัยนี้ ใช้ผ้าถุงกันน้อยลง จึงไม่มีผ้าถุงเก่าๆ มาทำผ้าอ้อม ต้องซื้อผ้าอ้อมที่ทำสำเร็จรูป (ของต่างประเทศราคาแพง) หรือซื้อผ้าสำลีสีขาว มาตัดเย็บเป็นผ้าอ้อมเอง (ราคาจะถูกกว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปมาก) คุณควรเตรียมผ้าอ้อมไว้อย่างน้อย 4 โหล เพราะเด็กจะถ่ายบ่อย ถ้ามีน้อยคุณจะต้องนั่งเสียเวลาซักผ้าอ้อมบ่อยๆ ผ้าอ้อมใช้สำหรับปูทับผ้ายางและใช้สำหรับนุ่งแทนกางเกง เวลาเด็กถ่ายจะได้ไม่เลอะเทอะ วิธีนุ่งผ้าอ้อมมีหลายวิธี จะแสดงเป็นตัวอย่างไว้สำหรับหนึ่งวิธี

(อธิบาย) ใช้ผ้าอ้อมสองผืน ผืนแรกพับครึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยม อีกผืนหนึ่งเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า สำหรับวางตรงกลางเป็นผ้าซับ หลักในการพับ ผ้าผืนที่สองซึ่งเป็นผ้าพับสำหรับเด็กผู้ชาย ให้เอาส่วนที่พับสองทบไว้ด้านหน้า เด็กผู้หญิงไว้ด้านหลัง เพราะเวลาฉี่ เด็กผู้ชายจะเปียกด้านหน้ามากกว่า แต่เด็กผู้หญิงจะเปียกด้านหลังมากกว่า ในกรณีที่คุณขี้เกียจซักผ้าอ้อมมากผืน หรือเวลาอากาศร้อนมากจะนุ่งผืนสามเหลี่ยมผืนเดียวก็ได้ แต่ในกรณีนี้ ผ้าจะไม่ซับฉี่ จะช่วยให้ไม่เลอะเทอะในตอนที่เด็กอึเท่านั้น

ถ้าคุณนุ่งผ้าอ้อมให้ลูกแล้ว เด็กเกิดเป็นผื่นแดงบริเวณต้นขาและก้น แสดงว่าลูกคุณขี้ร้อน ควรปล่อยให้ท่อนล่างเปลือยเด็กจะได้เย็นสบาย

สำหรับผ้าอ้อมกระดาษนั้น ราคาแพงมาก แต่ถ้าคุณมีเงินมากจริงๆ ก็ใช้ได้ ส่วนมากเรามักใช้เวลาออกนอกบ้าน หรือเวลาเดินทาง เพราะใช้แล้วทิ้งไปเลยสะดวกดี

ผ้ายาง ผ้ายางธรรมดา ราคาถูกและไม่ซับน้ำ เพียงแต่กันน้ำได้อย่างเดียว ถ้าเด็กฉี่บ่อย และไม่ได้นุ่งผ้าอ้อม ฉี่จะไหลนองลงมา ผ้ายางชนิดดี ช่วยซับน้ำ เป็นของต่างประเทศ ราคาหนักกระเป๋าชาวบ้านธรรมดามิใช่น้อย และต้องใช้หลายผืน เพราะผ้าแบบนี้แห้งช้า และตากแดดไม่ได้ ทำให้เสียเร็ว

กางเกงกันเปียก สำหรับอากาศในเมืองไทย คุณไม่ควรนุ่งกางเกงกันเปียกให้ลูกตลอดเวลา เว้นแต่เวลานอนห้องแอร์หรือเวลาพาออกนอกบ้าน เพื่อกันคุณแม่เปื้อน หลักในการเลือกซื้อกางเกงกันเปียก มิใช่ว่ายิ่งกันเปียกได้ดีเท่าไรก็ยิ่งดี กางเกงพลาสติกกันเปียกทั้งตัวนั้นไม่ดีแน่ เพราะเด็กร้อนอบมาก คุณควรเลือกของที่ทำด้วยผ้า อากาศถ่ายเทได้บ้าง และกันเปียกพอสมควร เวลาพาลูกไปข้างนอกก็ใส่ผ้าอ้อมให้หนากว่าปกติหน่อย เพราะฉะนั้นกางเกงกันเปียกตัวเล็กๆ สำหรับเด็กแรกเกิดจึงไม่ค่อยจำเป็น คุณไม่ต้องซื้อเตรียมไว้ก็ได้

18. การอาบน้ำให้เด็ก

สำหรับคุณแม่ที่คลอดลูกที่โรงพยาบาล ก่อนจะออกจากโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะสอนวิธีอาบน้ำเด็กให้ และสำหรับคนที่คลอดที่บ้าน ญาติผู้ใหญ่ก็คงสอนให้ ข้อควรระวังในการอาบน้ำ คือ อย่าให้น้ำร้อนเกินไป อุณหภูมิของน้ำควรเท่ากับอุณหภูมิของร่างกาย คุณเอามือจุ่มลงไปแล้วไม่รู้สึกร้อน ระวังอย่าให้น้ำเข้าหู เพราจะทำให้เป็น โรคหูน้ำหนวกได้ และอย่าเด็กแช่น้ำนานจนเกินไป ควรอาบให้เสร็จภายใน 5-7 นาที สำหรับเมืองเราอากาศร้อน คุณควรอาบน้ำให้ลูกวันละ 2-3 ครั้ง ตอนสายกับตอนบ่าย และตอนเย็น (ถ้าตัวเหนียว เหงื่อออกมาก) และสระผมวันละครั้งทุกวัน เวลาสระระวังอย่าให้สบู่เข้าตาเด็ก คุณไม่ควรอาบน้ำเด็กทันทีหลังให้นม ควรพักสักหนึ่งชั่วโมงจึงอาบ เวลาอากาศร้อนหลังอาบน้ำ เด็กมักจะกระหายน้ำ ควรให้น้ำต้มสุกหรือน้ำผลไม้สัก 20-30 ซี.ซี.

ข้อมูลสื่อ

5-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 5
กันยายน 2522