• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พ่อแม่ช่วยลูกในการเรียนได้อย่างไร

พ่อแม่ช่วยลูกในการเรียนได้อย่างไร

“คุณหมอครับ ทำอย่างไรดี ผมยังไม่อยากโต”

“อาจารย์หมอค่ะ หนูรู้สึกอยากเป็นผู้ใหญ่เร็งๆ จัง แต่บางที่ก็อยากเป็นเด็กอยู่อย่างนี้แหละค่ะ สบายดี ตกลงไม่ททราบจะเป็นอะไรดี”

“ทำไม ผู้ใหญ่ไม่ย่อมให้เด็กแสดงความคิดเห็นบ้างคะ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนเลย”

“คุณหมอครับ ทำไมผมต้องเสียงแตกด้วย สิวเกิดจากอะไรครับ”

“หนูรู้สึกเพื่อนๆ ไม่รักหนูเลย หนูพูดไม่เก่ง ช่วยแนะนำวิธีแก้หน่อยค่ะ”

“เพื่อนๆ ว่า ผมเจ้าชู้ครับ ผมอายุ 15 แล้วยังเด็กไปไหมครับ”

“คุณพ่อคุณแม่ชมน้องหนูว่าเรียนเก่งเรื่อยเลย หนูสมองไม่ดีเลยสู้น้องไม่ได้ หนูไม่มีดีอะไรเลยจริงๆ”

“คุณหมอช่วยบอกผู้ใหญ่หน่อยซิครับว่า อย่าเคี่ยวเข็ญเด็กๆ นักเด็กก็มีหัวใจครับ”

ข้างบนนี้เป็นตังอย่างคำถามที่ผู้เขียนได้รับฟังมาซ้ำๆ กันอยู่เสมอเมื่อได้โอกาสพูดคุยกับเด็ก ทั้งจากเด็กที่บิดามารดาพามาพบเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาทางอารมณ์และความประพฤติและจากกลุ่มเด็กที่ทางโรงเรียนจัดให้รับฟังการบรรยาย หรือ อภิปรายเรื่องเกี่ยวกับจิตใจหรือสุขภาพของเด็กวัยต่างๆ กัน คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเด็กๆ คุณครูและอาจารย์ทั้งหลายรวมทั้งญาติพี่น้องของเด็กคงจะยอมรับกันว่าที่จริงแล้ว “เด็กก็มีหัวใจ” และเขาต้องการผู้ช่วยเหลือในการเลี้ยงดูอบรม ให้คำแนะนำ ตอบคำถาม เป็นที่พึ่งทั้งทางกายและใจซึ่งวิธีการและการตอบสนองในการปฏิบัติต่อเด็กย่อมแตกต่างกัน ตามวัยของเด็กและความต้องการของเขาในสถานการณ์นั้นๆ

ในสภาวะสังคมปัจจุบันที่ผู้คนตื่นตัวในด้านการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในเมืองใหญ่ๆ ย่อมต้องการให้บุตรหลานได้รักการศึกษาเท่าที่จะทำได้ เพราะมีความเชื่อถือกันว่า การศึกษามีความสำคัญที่จะช่วยเด็กในการดำรงชีพในอนาคต ระบบการศึกษาทั้งที่จัดโดยรัฐบาลและเอกชนก็ยังไม่สามารถจัดสวัสดิการในด้านนี้ให้เพียงพอ จึงเกิดมีปัญหาหลายด้าน เช่น ที่เรียนไม่พอเด็กต้องแข่งขันกันมากในการสอบเข้าเรียน หลายครอบครัวมีปัญหาทางด้านฐานะเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่บริการทางสังคมควรจะทำการแก่ไขร่วมกันจากหลายฝ่าย แม้สภาพแวดล้อมในขณะนี้จะเป็นเช่นไรก็ตามแต่ถ้าครอบครัวและทางโรงเรียนได้เข้าใจ และให้ความร่วมมือกันช่วยเหลือเด็กนักเรียน ก็สามารถจะช่วยเหลือเด็กนักเรียน ก็สามารถจะช่วยกันสร้างเสริมบุคลิกภาพของเด็กไปพร้อมๆ กับกระตุ้นให้เกิดความสำเร็จในการศึกษาอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จของชีวิตได้ เมื่อเขาเติบโตขึ้น

เด็กวัยเรียนต้องการอะไร ปัจจุบันนี้เด็กเริ่มไปโรงเรียนอนุบาลโดยเฉลี่ยแล้วตั้งแต่อายุ 3 ขวบขึ้นไป บางรายก็เริ่มไป “โรงเรียน” ตั้งแต่อายุ 2½ ขวบ แต่ส่วนมากเป็นแบบไปฝากเลี้ยงมากกว่า เพราะบิดามารดาต้องไปทำงาน โดยเฉลี่ยเด็กจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนตั้งแต่ 5 หรือ 6 ขวบ จนถึง 12 ขวบ เมื่อจบชั้นประถมศึกษา แต่ถ้าเป็นในชนบทส่วนมากเข้าเรียนชั้นประถม ระหว่างอายุ 8 ปี ถึง 12 หรือ 15 ปี และออกจากโรงเรียนเมื่อจบประถม 4 หรือประถม 7 (ประถม 6 ในแผนการศึกษาใหม่) เด็กที่เรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษา ก็จะใช้ชีวิตในวัยรุ่นของเขาต่อไปอีกในโรงเรียน แล้วจึงจะตัดสินใจว่า จะเรียนต่อหรือไม่ จะเห็นได้ว่า เด็กนักเรียนใช่เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตในวัยเด็กและวัยรุ่นอยู่ในโรงเรียน ถ้านับเฉพาะเวลาที่ตื่นอยู่ ก็มากกว่าเวลาที่เด็กอยู่กับบ้านอีก ฉะนั้นความสำเร็จในการเรียนรู้ตลอดจนการสร้างเสริมบุคลิกภาพของเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะนำเขาไปสู่ชีวิตในอนาคตที่รุ่งเรืองจึงขึ้นอยู่กับทั้งทางครอบครัวและโรงเรียน นอกจากนั้นในเด็กหลายคนที่มีปัญหาในครอบครัว ก็สามารถได้รับความช่วยเหลือจากคุณครูและอาจารย์ที่เข้าใจเขา ไม่เฉพาะแต่ในด้านการเรียนรู้เท่านั้น สนใจในการสร้างคนให้เป็นคนด้วย

เด็กในวัยเรียน อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม โดยอาศัยอายุ ความต้องการและการตอบสนองจากบิดามารดาและผู้ใกล้ชิดที่เหมาะสม และระดับความสามารถในด้านการเจริญของร่างกาย รวมทั้งสมองและจิตใจ ได้แก่

  • วัยเด็กเล็ก ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมต้น
  • วัยเด็กโต ตั้งแต่เด็กในชั้นประถมปลาย ถึง ขั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
  • วัยรุ่น ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ถึง อุดมศึกษตอนต้น

ก) วัยเด็กเล็ก (ชั้นอนุบาลและประถมต้น) เมื่อเด็กเริ่มเข้าเรียนสิ่งแรกที่จำเป็นก็คือ เด็กต้องหัดแยกตัวจากครอบครัวไปสู่สังคมนอกบ้าน บิดามารดารควรเตรียมเด็กในเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนโดยมิให้เด็กติดบ้าน คนในบ้าน หรือความเป็นอยู่ในบ้านจนเกินไป ควรให้เขามีโอกาสเล่นกับเด็กอื่นๆ บ้าง เด็กเริ่มเข้าโรงเรียน อาจมีปฎิกิริยาในตอนต้น และบิดามารดาควรอดทนในพฤติกรรมต่างๆ ของเด็ก และค่อยๆ ช่วยให้เขาสามารถอยู่โรงเรียนได้ โดยมีความมั่นใจว่า จะไม่ถูกทอดทิ้งและไว้วางใจในคุณครู ที่จะช่วยเหลือ และมิให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด

นอกจากนั้นทางบ้านควรอบรมและฝึกหัดให้ เด็กช่วยตัวเองในกิจวัตรที่จำเป็น สำหรับวัยนี้มาก่อนที่จะเข้าโรงเรียน เช่น การรับประทานอาหาร การควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ การบอกผู้อื่นถึงความต้องการของตน ภายในระยะเวลาหนึ่งเด็กจะสามารถเรียนรู้ โดยความช่วยเหลือจากคุณครู ในการที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้ใหญ่ และเด็กๆ ในโรงเรียนได้อย่างเพลิดเพลิน ที่สำคัญคือ ควรมีความไว้วางใจในผู้อื่นและสามารถเชื่อฟังพอประมาณ ถ้ามีเหตุการณ์หรือการแสดงออกที่ผิดไปจากเดิมหรือสงสัยว่าผิดปกติ บิดามารดาและคุณครูไม่ควรนิ่งนอนใจความปรึกษากัน เพื่อผ่อนคลายความสงสัยหรือแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ คุณครูผู้ศึกษาจิตวิทยาในเด็กอย่างดีก็สามารถแนะแนวการเลี้ยงดูอบรมเด็ก ที่บกพร่องแก่บิดามารดา และผู้ปกครองซึ่งควรที่จะให้ความร่วมมือในอันที่จะแก้ไขบุตรหลานของท่าน

เมื่อเริ่มเรียนในชั้นประถมต้น เด็กควรมีสมาธิ ความสามารถ ในการควบคุมตนเองได้พอสมควร มีความสนใจในบทเรียนเพิ่มขึ้นตามอายุ หัดต่อสู่กับความลำบาก เช่น การหัดอ่านหนังสือ การทำเลข การทำการบ้าน เด็กเล็กอาจสนใจการเรียนที่มีกิจกรรมร่วมด้วยมากกว่าการนั่งเรียนอยู่กับโต๊ะนานๆ คุณสมบัติเหล่านี้ เด็กควรที่จะได้รับมาจากทางบ้านบ้างแล้ว การทำการบ้าน ของเด็กอาจมีปัญหาในบางครอบครัว บิดามารดาผู้ปกครองควรสนใจไต่ถามเด็กถึงการเรียนที่โรงเรียนและการบ้าน กระตุ้นให้เด็กมีความรับผิดชอบทีละน้อย ในบางครั้งบิดามารดาติดงานธุระมาก และหาครูพิเศษ “พี่นิสิต” หรือให้พี่เลี้ยงมาช่วยเฝ้า หรือช่วยให้ทำการบ้านวิธีนี้ควรใช้ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่ไม่ควรจะทำอยู่ตลอดเวลา จนเด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ถ้าเป็นไปได้บิดามารดาควรมีส่วนร่วมในการอบรมเด็กในเรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า เด็กที่ได้รับการฝึกอบรมให้รับผิดชอบในเรื่องอื่นๆ เช่น การหัดให้รับประทานอาหารและนอนเป็นเวลา แต่งตัวเอง จัดกระเป๋าหนังสือเอง ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ในระยะเริ่มแรก ส่วนมากเด็กเหล่านี้จะมีความรับผิดชอบในการเรียน การทำการบ้าน การจัดเวลาเล่น เวลาเรียน ได้ด้วยตนเอง หรือไม่ก็เชื่อฟังในคำแนะนำของผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในการอบรมเด็กควรให้เด็กมีเสรีบ้างตามสมควร เช่น จะทำการบ้านก่อนดูโทนทัศน์หรือดูโทรทัศน์ก่อนทำการบ้าน ถ้าเด็กทำการบ้านเสร็จและผลการเรียนไม่เสีย ก็อาจจะอนุญาตให้เขาเลือกเวลาเอง ผู้ใหญ่ที่ค่อยดูแลไม่ให้เสียการเรียนทั้งนี้เพื่อให้เด็กเรียนรู้การเลือกวิธีการในการดำเนินชีวิตของเขาเองบ้าง รู้จักเหตุ รู้จักผล ของการกระทำของเขา ถ้าผลเสีย จึงจะต้องกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่ให้เขาปฏิบัติตาม

การดูโทรทัศน์นั้น มีทั้งคุณและโทษต่อเด็ก แล้วแต่ว่าการดูรายการต่างๆ นั้น ผู้ใหญ่ควรจะควบคุมและชี้แจงเพียงไร โทรทัศน์นำความเพลิดเพลิน ความรู้และข่าวสารต่างๆ มาให้เด็ก แต่ผู้ใหญ่ควรจะเป็นผู้ชี้ชวน สนับสนุนว่ารายการใดมีประโยชน์ ถ้าเป็นภาพยนตร์รักก็ควรได้มีโอกาสพูดคุยสอดแทรกเหตุผลและจริยธรรมไปด้วย ผู้เขียนเคยพบเด็ก 7 ขวบ ที่กระโดดลงมาจากหน้าต่างชั้น 2 ของบ้าน โดยผูกผ้าเข้ากับบ่าทำเป็นปีกบิน เหมือนพระเอกในภาพยนตร์ทางโทรทัศน์และขาก็หัก ตัวอย่างนี้ฟ้องว่า บิดามารดามิได้ชี้แจงให้เด็กทราบว่า สิ่งใดเป็นเรื่องไม่จริงเด็กจึงเกิดการเข้าใจผิด และอยากทดลองเพราะอยากเป็นพระเอก

ผู้ใหญ่ไม่ควรที่จะเรียกร้องให้เด็กขยันหมั่นเพียรในด้านการเรียนแต่อย่างเดียวหรือมากเกินไป แต่ควรสนใจในด้านความเป้นอยู่ทั่วๆ ไป ได้แก่ ความคิดอ่านของเด็กด้านจริยธรรมการเข้ากลุ่มการกระตุ้นให้เด็กสนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว ที่สำคัญสำหรับวัยนี้ก็คือ การแสดงถึงความใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ซึ่งจะเป็นสะพานทอดให้เขาเดิน มาปรึกษาท่าน เมื่อมีปัญหาและท่านก็จะมีโอกาสให้ความสนใจ รับฟังแนะแนวทางหรือช่วยเด็กในการแก้ปัญหา ซึ่งเขาจะนำติดตัวไปใช้เมื่อเขาเติบโตขึ้น และพึ่งตนเองได้ในที่สุด ในวัยนี้เด็กยังต้องการความใกล้ชิดกับผู้ใหญ่มาก เพื่อตอบสนองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกในการที่จะนำเขาก้าวไปสู่บันไดชีวิตขั้นต่อๆ ไป

ข) วัยเด็กโต (ชั้นประถมปลายและมัธยมศึกษาต้น) เด็กในวัยนี้ไม่ควรจะมีปัญหาเกี่ยวกับการช่วยตนเอง ในกิจวัตรประจำวันและการรับผิดชอบในเรื่องการเรียน เขาควรมีความคิดอ่านและให้ความสนใจ ในการเรียนพอสมควร ควรปลูกฝังหัดนิสัยให้มีความอดทน และขยันหมั่นเพียรไปพร้อมกับด้าน จริยธรรม ในการรู้จักผิดชอบชั่วดี ทั้งนี้การเรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้มิใช่มาจากการท่องจำศีล 5 หรือการท่องสมบัติผู้ดี เพราะการเรียนรู้ด้านเจตคติ หรือการสร้างอุปนิสัยใจคอนั้น ได้มาจากการเห็นการกระทำที่เป็นตัวอย่างที่ดี การยอมรับเมื่อเกิดศรัทธาในตัวผู้ปฏิบัติ ซึ่งเกิดความใกล้ชิด และการผูกพันทางจิตใจ ฉะนั้น บิดามารดาผู้ปกครอง และครูอาจารย์ จึงเป็นบุคคลสำคัญมากในการที่จะช่วยให้เด็กถือเป็นแบบอย่าง และประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร เมื่อเด็กมีความคิดอ่านหรือพฤติกรรมที่สมควรแก้ไขผู้ใหญ่ควรจะติดต่อสอบถามซึ่งกันและกันเพื่อค้นหาสาเหตุ และแก้ไขเสียก่อนที่จะสายเกินไป

ฉะนั้นโรงเรียนใดที่มีบริการด้านแนะแนวซึ่งมิใช่แต่ทางด้านการศึกษาเท่านั้น แต่รวมทั้งด้านปัญหาอื่นๆ ทางด้านจิตใจและสังคมแก่นักเรียน ก็นับว่าผู้บริหารของโรงเรียนนั้น ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคนไปพร้อมๆ กับการจัดการบริหารให้ความรู้ ทางฝ่ายบิดามารดาและผู้ปกครองของนักเรียน ควรจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้รับเชิญให้ไปร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เช่น เมื่อมีการจัดนิทรรศการ การพบกันระหว่างครูและผู้ปกครอง หรือเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความข้องใจในตัวเด็กทั้งเกี่ยวกับการเรียนและด้านอื่นๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ครูและผู้ปกครองควรเป็นฝ่ายเดียวกัน มิควรที่จะกล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กประพฤติผิดหรือเรียนไม่ดี แต่ควรจะหันหน้าเข้าหากันแก้ปัญหา

ผู้เขียนเคยมีบิดามารดาที่นำบุตรชายเรียนชั้นประถม 6 ซึ่งไม่อยากไปโรงเรียน เพราะครูดุว่าอ่านภาษาอังกฤษสำเนียงไม่ถูกเมื่อสืบประวัติพบว่าบิดาเด็กซึ่งเพิ่งกลับจากต่างประเทศได้พยายามแก้ไข “แอ๊คชั่น” ของเด็ก ซึ่งต่างไปจากที่โรงเรียนสอนเด็ก ไม่ทราบว่าจะเชื่อใครดีเพราะรักครูแต่กลัวพ่อจึงเริ่มมีปัญหา เรียนไม่รู้เรื่อง และขาดสมาธิ ผู้เขียนได้แนะนำให้บิดาโอนอ่อนผ่อนตามทางโรงเรียน เพราะถึงแม้ครูจะไม่เคยไปเมืองนอกแต่ครูที่เด็กรักนั้นมีค่ามาก เรื่องภาษาอังกฤษค่อยฝึกฝนกันในภายหลังก็ได้ บิดาเข้าใจและเลิกเคี่ยวเข็ญบุตร ปัญหาต่างๆ ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ

เด็กในวัยเรียนช่วงนี้จะเริ่มสนใจสังคมนอกบ้านมากขึ้น การคบเพื่อนและการปรับตัวให้เป็นที่ย่อมรับของหมู่คณะเป็นที่จะสร้างเสริมความสามารถในการเข้ากับผู้อื่นเมื่อเติบโตขึ้น การเรียนแบบกลุ่ม ตามแผนการศึกษาใหม่ และการจัดกิจกรรมรวมหมู่ การกระตุ้นและการสนับสนุนการแสดงออกของนักเรียนทั้งในด้านส่วนตัวและในหมู่คณะ การให้นักเรียนรับผิดชอบงานอื่นๆ ทั้งทางบ้านและทางโรงเรียน จะทำให้เขาสนใจผู้อื่น รู้จักให้ รู้จักรับ และเสียสละเพื่อส่วนรวมบ้าง ตัวอย่างเช่น กิจกรรมของลูกเสือและเหล่าอนุกาชาด ที่ยังหัดให้เด็กมีระเบียบวินัยอีกด้วย

บิดามารดา ควรสนับสนุนเด็กให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ในขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนก็ควรจะคำนึงถึงด้านฐานะเศรษฐกิจ และภาวะความจำเป็นอื่นๆ ของผู้ปกครอง นักเรียนด้วย เพราะบางครั้งทางครอบครัว อาจไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเหตุจำเป็นบางประการ ครูและผู้ปกครอง ควรดูแลนักเรียนในด้านการคบเพื่อนพร้อมๆ ไปกับการสนับสนุนในด้านการศึกษา การให้เด็กได้เปิดหูเปิดตา หรือทัศนศึกษาเป็นครั้งคราวก็จะ เพิ่มเติมความรู้รอบตัวให้ด้วย การกีฬา การรู้แพ้ รู้ชนะก็เป็นสิ่งที่เด็กควรจะเรียนรู้ ทางโรงเรียนจัดให้อยู่โดยทั่วไป

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ขณะเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เด็กเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์จิตใจ และบทบาทต่อสังคม เขาควรได้รับความรู้ทางด้านสรีระวิทยา (การศึกษาเกี่ยวกับร่างกาย) ที่เปลี่ยนไปทั้งในเพศชายและเพศหญิง ได้รับการปลูกฝังและสนับสนุนในด้านบทบาทของแต่ละเพศให้รู้จักจิตใจ สำรวจตัวเองและคำแนะนำในการปฏิบัติตนบทบาทของบิดามารดาผู้ปกครองและครูก็ควรเปลี่ยนไปจากการอบรมเด็กเมื่อเขายังอายุน้อยอยู่ โดยให้เขารับผิดชอบมากขึ้น

ค) วัยรุ่น (ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษาตอนต้น) เด็กที่ผู้ปกครองสามารถสนับสนุนให้เรียนต่อไปในวัยรุ่นตอนกลาง และตอนปลาย ควรเป็นเด็กที่มีระดับสติปัญญาอย่างน้อยอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยหรือสูงกว่าเฉลี่ยเล็กน้อย เยาวชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น “นาย” และ “นางสาว” แล้วนั้น ก็ควรจะมีความประพฤติและความสามารถใกล้ความเป็นผู้ใหญ่การรับผิดชอบในการเรียนและการงานอื่นๆ ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ควรอยู่ในความควบคุมของตนเอง ถ้าผู้ใหญ่ยังต้องคอยควบคุมดูแลก็ถือว่าเด็กคนนั้นยังไม่โต แต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยจนเกินไป ควรดูแลอยู่ห่างๆ วัยรุ่นในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากสังคมที่เปลี่ยนไปจากวัฒนธรรมตะวันตก เขาต้องการแสดงออกอย่างอิสระเสรีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนทั้งในด้านการแต่งกาย การจัดการเรียนรู้ การคัดค้านความเห็นของผู้ใหญ่ ชอบไปเที่ยวกับเพื่อนๆ มากกว่าครอบครัว สนใจเพศตรงข้าม เลียนแบบบุคคลที่เขชอบ สิ่งเหล่านี้ ทั้งครูและผู้ปกครองควรยึดหลัก “เดินสายกลาง” คือ คุมบ้าง ปล่อยบ้าง ที่สำคัญคือ ให้เหตุผลในการตัดสินใจแก่เด็กและมิควรใช้อารมณ์ผู้ใหญ่ ควรมีท่าทีมั่นใจในการตัดสินใจของตนแต่ก็มิใช่แข็งกระด้างกับเด็ก ควรชมเชยเมื่อเด็กทำดี ตักเตือนเมื่อทำผิด

วัยรุ่น ควรมีส่วนรู้เห็นในความเป็นไปของครอบครัว เช่น ในด้านฐานะการเงิน ความจำเป็นที่บิดามารดาต้องกระทำธุระบางอย่างให้เขามีส่วนรับรู้และแสดงความเห็นในบางเรื่องที่สมควร มอบหน้าที่ในบ้านและในโรงเรียน ให้รับผิดชอบตามแต่เวลาจะอำนวย เด็กที่ไม่ต้องทำอะไรเลยที่บ้านเพราะคุณแม่ และพี่เลี้ยงจัดการให้ จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต่อสู้กับอุปสรรคเพียงเล็กน้อยก็ไม่ไหว บางราย แม้เรียนจบอาชีวะ หรือปริญญาตรีแล้ว ก็ไม่สามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้

การเลือกเรียนวิชาชีพ ของเด็ก เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญในวัยนี้ เช่น จะเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ หรือ ศิลปะศาสตร์ บิดามารดาไม่ควรบังคับ หรือ หว่านล้อมให้เด็กเรียนตามใจผู้ใหญ่ เด็กควรสามารถเลือกเรียน ตามวิชาที่เขาชอบและมีความถนัด รายงานการเรียนและครูอาจารย์ จะช่วยบ่งชี้ในเรื่องนี้ได้ดี บิดามารดา ควรเสนอแนะและให้เหตุผลต่อเด็ก การตกลงจะเรียนอะไร ควรได้รับการเห็นชอบและใช้การตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งจะเป็นที่พอใจกันทุกฝ่าย วิชาชีพแต่ละชนิดต่างก็มีประโยชน์ต่อตน และสังคมทั้งสิ้น ทั้งนี้ มิได้ขึ้นอยู่กับวิชานั้นๆ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะนำวิชานั้น ไปใช้ในการดำรงชีพ

สรุปแล้ว ท่านผู้ปกครอง บิดามารดาและครูอาจารย์ คงจะเห็นพ้องกันว่า บทบาทของท่านนั้นมีความสำคัญเพียงไรต่อนักเรียนตลอดชีวิตการเรียนของเขา นอกจากนั้นการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ก่อนเข้าเรียน คือ ในวัยทารกและวัยหัดพูด หัดเดิน ยังเป็นพื้นฐานของอุปนิสัยแรกเริ่มของเด็ก หลักสำคัญในบทบาทของสมาชิกในครอบครัว และครูอาจารย์ต่อเด็ก ได้แก่

1.การให้ความสนใจ ยอมรับและเข้าใจ ในความรู้สึกนึกคิดของเด็ก

2. ให้ความรัก ความอบอุ่นใจ อันจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็ก เพื่อที่จะให้เด็กไว้วางใจ นับถือ เชื่อฟัง และถือเอาเป็นแบบอย่างในการตัดสินใจ และสร้างเสริมทัศนะคติ

3. การเรียนรู้ชีวิต และการทำตนให้เป็นประโยชน์นั้น สำคัญเท่ากับการเรียนรู้วิชาการ

4. การอบรมเด็ก ควรถือหลักเดินสายกลางไม่เข้มงวด หรือตามใจจนเกินไป ผู้ใหญ่ความเชื่อมั่นในตนเอง โดยมีเหตุผล และการอบรมนั้นควรทำโดยสม่ำเสมอ ไม่ควรใช้อารมณ์

5. ผู้ใหญ่ทั้งทางบ้านและทางโรงเรียน ควรมีการติดต่อกันโดยสม่ำเสมอ ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน

ข้อมูลสื่อ

5-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 5
กันยายน 2522
ใจเขาใจเรา
พญ.ศรีธรรม ธนะภูมิ