• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พี่

19. พี่

คุณพ่อคุณแม่บางคน อาจคิดว่าลูกคนโต คงจะดีใจเหมือนพ่อแม่ที่จะมีน้องใหม่ เพราะพ่อแม่ดีใจ พี่ก็คงจะดีใจเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้ว การมีน้องใหม่ มักเป็นเรื่องเศร้าสำหรับลูกคนโตมากกว่าที่จะเป็นเรื่องดีใจ เพราะก่อนคลอดพ่อแม่ก็มักจะยุ่งอยู่กับการเตรียมเครื่องใช้เด็ก คนรอบด้านมักจะพูดว่า “แม่ไม่เอาหนูแล้ว แม่จะได้น้องใหม่แล้ว” เป็นต้น ทำให้ลูกคนโตรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้ง ยิ่งตอนที่แม่ไปคลอดที่โรงพยาบาล ไม่เห็นหน้าแม่หลายวัน ร้องไห้เท่าไรแม่ก็ไม่กลับมา เวลานอนก็ไม่มีแม่ ถึงจะนอนกับพ่อก็ไม่เหมือนนอนกับแม่ ตั้งหน้าตั้งตาคอยแม่อยู่หลายวัน

ถึงเวลาแม่กลับบ้าน พอเห็นหน้าแม่ หนูก็ดีใจกระโดดโลดเต้น แต่แทนที่แม่จะเข้ามาเล่นหัวปลอบประโลมให้สมกับที่หนูคอยมานาน แม่กลับต้องไปดูแลน้องใหม่เสียนี่ เดี๋ยวให้นม เดี๋ยวเช็ดก้นให้ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ หนูลูกคนโตเห็นอย่างนั้นก็ย่อมอิจฉาน้อง เกลียดน้องเป็นธรรมดา เคยมีกรณีเด็ก 2 ขวบ เอาถุงพลาสติกครอบหัวน้องอายุ 50 วัน จนหายใจไม่ออกตาย เพราะฉะนั้น เรื่องความรู้สึกของลูกคนโตเป็นเรื่องที่จะนิ่งดูดายไม่ได้ เมื่อคุณแม่กลับจากโรงพยาบาล คนที่ควรเอาใจใส่คนแรก คือ ลูกคนโตที่ตั้งหน้าตั้งตาคอยแม่หลายวัน ถ้าลูกคนโตอายุต่ำกว่า 3 ขวบ คุณไม่ควรให้นมน้องต่อหน้าพี่ และตอนกลับจากโรงพยาบาล คุณควรหาของเล่นใหม่ให้แก่ลูกคนโต เพื่อเบนความสนใจของแกไปที่ของเล่น

เรื่องอิจฉาน้องนี้ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอิจฉามาก บางคนก็ไม่อิจฉาเลย แล้วแต่นิสัยของเด็กแต่ละคน คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตลูกเอาเอง

ถึงแม้คุณอยากจะให้พี่ใกล้ชิดกับน้อง เพื่อป้องกันเรื่องอิจฉาน้องก็ตาม แต่ถ้าลูกคนโตป่วย มีอาการไอ หรือมีน้ำมูก ก็อย่าให้อยู่ห้องเดียวกับน้องใหม่ โดยเฉพาะถ้าลูกคนโตป่วยเป็นโรคติดต่อ คุณแม่คงหนักใจว่าจะทำอย่างไรดี ถ้าลูกคนโตเป็นหัด อีสุกอีใส คางทูม ในกรณีนี้จะไม่ติดทารกถ้าแม่เคยเป็นโรคเหล่านี้มาก่อน เพราะภูมิต้านทานโรคเหล่านี้ในตัวแม่จะถ่ายทอดสู่ลูกทางสายสะดือ ถึงแม้ทารกจะได้รับเชื้อก็จะไม่เกิดอาการของโรค ในกรณีที่ลูกคนโตเป็นไอกรนต้องระวังจะติดต่อสู่น้องได้ และถึงแม้จะหายแล้ว แต่จะยังมีเชื้ออยู่ในร่างกายประมาณหนึ่งเดือน คุณต้องแยกลูกจากกันอย่างน้อยหนึ่งเดือน ถ้าทารกอายุไม่ถึงเดือนได้รับเชื้อไอกรน อาการจะหนักและทรมาน คุณแม่ควรระวังให้จงหนัก

ถ้าลูกคนโตเป็นคอตีบ หรือท้องร่วง ก็คงต้องเข้าโรงพยาบาล และหมอคงให้กลับบ้านก็ต่อเมื่อปลอดจากเชื้อโรคแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม คุณควรแยกลูกทั้งสองไว้สักอาทิตย์หนึ่งจึงจะปลอดภัย

พวกหอบ หืด แพ้อากาศ ลมพิษขึ้น เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่ทารก แต่แผลพุพองต้องระวัง อาจติดต่อได้จากการสัมผัสถูกน้ำเหลือง

20. ญาติ มิตร เพื่อนฝูง

เมื่อคุณแม่พาลูกใหม่กลับบ้าน ก็มักจะมีญาติมิตร เพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยือน แสดงความยินดี ในกรณีนี้ ถ้าคุณพ่อจะช่วยรับแขกแทน ก็จะช่วยคุณแม่ได้มากเพราะหลังคลอดร่างกายมักอ่อนเพลีย ถ้าต้องรับแขกมากๆ จะเหนื่อยง่าย ทั้งยังมีผลต่อการผลิตน้ำนมอีกด้วย และข้อสำคัญที่คุณจะต้องระวัง คือ อย่าให้แขกอุ้มลูก ขอร้องให้ดูอยู่ห่างๆ เรื่องนี้คุณต้องใจแข็ง เพราะมีหลายรายที่ขัดญาติพี่น้อง คุณย่าคุณยาย ไม่ได้ยอมให้อุ้ม แล้วต้องมาทุกข์ภายหลัง เพราะลูกไปติดหวัดเข้า ทารกในเดือนแรก ถ้าเป็นหวัด อาการจะหนักมาก โดยเฉพาะเด็กที่เกิดก่อนกำหนด ร่างกายจะไม่แข็งแรง อาจกลายเป็นปอดบวมได้ง่ายๆ และที่สำคัญที่สุดที่ต้องระวังจงหนัก คือ วัณโรค ที่สามารถติดจากการจูบ การหอมเด็ก ถ้าลูกน้อยของคุณเป็นเข้าก็แย่เลยล่ะ โดยเฉพาะถ้าเกิดเชื้อวัณโรคขึ้นสมอง เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็อาจทำให้เด็กพิการหรือตายได้

สำหรับคำแนะนำต่างๆ จากญาติมิตรเพื่อนฝูงนั้น คุณจะปฏิบัติตามหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเอง เช่น การอยู่ไฟ การกินยาดิงเหล้า การใช้ยากวาดลิ้น มหาหิงคุ์ ซึ่งแต่ละอย่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าอย่างไหนมีข้อเสียมากกว่าข้อดี คุณก็ควนปฏิเสธ แต่ถ้าอย่างไหนไม่มีข้อเสียมากนัก และจะมีผลดีในเรื่องความราบรื่นในครอบครัว (เช่น ไม่ต้องทะเลาะกับคุณย่า ซึ่งจะทำให้ใจคุณแม่เป็นกังวล) คุณก็เลือกปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำอย่างหนึ่งที่คุณไม่ควรปฏิบัติตามเป็นอันขาด คือ “ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” (ทั้งนี้ไม่รวมถึงคำแนะนำของหมอเนื่องจากตัวคุณแม่เป็นโรคติดต่อ ฯลฯ)

มีมารดากินยาดองเหล้า แล้วให้นมลูกทำให้ทารกเกิดมีอาการซีด ซึม ตับม้ามโต มีเลือดออกในสมอง มารดามักจะพามาตอนอายุได้เดือนกว่าๆ หรือระยะ 2-4 เดือน ที่ช่วยทันก็ดีไป ที่ช่วยไม่ทันก็หลายรายแล้ว ดังนั้น จะกินอะไรก็ต้องนึกถึงความปลอดภัยของลูกไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

สภาพผิดปกติ

21. เด็กคลอดก่อนกำหนด

เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักไม่ถึง 2.5 กิโลกรัม ควรได้รับการดูแลในโรงพยาบาล โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักไม่ถึง 2 กิโลกรัม ให้ถือว่าอาการหนัก ถ้าคลอดที่บ้านต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้วเด็กจะถูกส่งเข้าตู้อบ ถึงแม้แม่จะอยู่โรงพยาบาลด้วยก็ไม่ได้อุ้มลูก ได้แต่มองดูลูกผ่านกระจกเท่านั้น เนื่องจากร่างกายของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ จึงมักมีอาการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่น้ำหนักต่ำกว่า 2 กิโลกรัม พยาบาลจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อจะให้เด็กรอด ต้องทำงานแข่งกับเวลาเหมือนกับพนักงานดับเพลิง และไม่มีเวลาที่จะมานั่งอธิบายให้แม่ของเด็กรู้ว่าอาการของลูกเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้แม่ที่ไม่ทราบอาการของลูกยิ่งกลุ้มใจหนักเข้าไปอีก ถ้าหมอและพยาบาลเข้าใจถึงความรู้สึกของคนที่เป็นแม่ ก็ก็ควรหาเวลาอธิบายให้ทราบเกี่ยวกับอาการของเด็กบ้าง มิฉะนั้นแล้ว ถ้าเกิดอะไรขึ้น แม่ของเด็กจะเข้าใจผิดไปว่า เป็นเพราะทางโรงพยาบาลไม่เอาใจใส่พอ มันถึงได้เป็นเช่นนี้

ทางโรงพยาบาล จะให้เด็กคลอดก่อนกำหนดกลับบ้านก็ต่อเมื่อสภาพของเด็กดีขึ้น จนแม่สามารถดูแลเองได้แล้ว ก่อนจะนำลูกออกจากโรงพยาบาล คุณควรถามหมอเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ คือ อัตราส่วนผสมนม ปริมาณนมที่ให้ในแต่ละครั้ง จำนวนครั้งที่ให้นม ข้อควรระวังเวลาอาบน้ำ อุณหภูมิของห้อง ปริมาณวิตามินที่จะให้ และในกรณีเช่นใดจึงต้องนำเด็กมาโรงพยาบาล คุณควรจดบันทึกคำตอบของหมอเอาไว้ด้วย

อาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนด คือ “น้ำนมแม่” ในโรงพยาบาลที่เอาใส่ดูแล เด็กที่คลอดก่อนกำหนดอย่างดี จะพยายามรวบรวมนมแม่จากบรรดาแม่ของเด็กที่แข็งแรง เพื่อนำมาเลี้ยงเด็กที่คลอดก่อนกำหนด

สำหรับคุณแม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด สิ่งสำคัญที่สุดของคุณก็ คือ ต้องพยายามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ในระหว่างที่ยังให้นมไม่ได้ ควรปั๊มนมอยู่เสมอหรือให้เด็กอื่นช่วยดูดนมเพื่อสร้างทางให้นมไหลดีและกระตุ้นต่อมน้ำนมอยู่เสมอ ถ้าน้ำนมแม่ไม่มีจริงๆ คุณควรพยายามหาแม่นมให้ลูก อาจขอร้องเพื่อนบ้านที่มีน้ำนมมากให้เป็นแม่นมให้ลูกคุณด้วย

เพื่อป้องกันการติดเชื้อซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับเด็กไม่ครบกำหนด คุณไม่ควรให้แขกเข้าเยี่ยม และไม่ควรพาไปในที่ที่มีเชื้อโรคมาก เช่น ตามห้องรอคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกโดยไม่จำเป็น

22. ลูกแฝด

การตรวจพบลูกแฝดนั้นทำไม่ได้ง่ายนัก แม้แต่หมอสูติฯที่ชำนาญ บางครั้งก็รู้ว่าเป็นลูกแฝดก็ต่อเมื่อคลอดออกมาแล้ว พ่อแม่ลูกแฝดจึงมักไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะได้ลูกแฝด ทำให้ตระเตรียมอะไรไม่ค่อยทัน มีบางคนถึงกับแยกลูกออก เอาไปให้คนอื่นช่วยเลี้ยงเสียคนหนึ่ง จริงอยู่ที่ว่าการเลี้ยงลูกแฝดนั้นยากลำบากกว่าการเลี้ยงลูกคนเดียว โดยเฉพาะในระยะแรกๆ ซึ่งคุณแม่ยังไม่คุ้นเคย แต่การเลี้ยงลูกแฝดก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงคุณแม่นัก แม้แต่คุณแม่ที่ไม่มีเด็กรับใช้คอยช่วยทำงานบ้าน ถ้าคุณจัดระบบงานบ้านให้ดี ก็สามารถเลี้ยงลูกทีเดียวสองคนได้

การเลี้ยงลูกแฝดตอนแรกๆ อาจลำบาก แต่เมื่อเด็กโตขึ้นเริ่มรับรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมแล้ว ลูกแฝดจะช่วยคุณได้มาก เพราเด็กจะมีเพื่อนเล่นไม่กวนคุณมากเหมือนลูกคนเดียว ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็คงมีความสุขเป็นสองเท่าเพราะได้เห็นความเจริญเติบโตของลูกพร้อมกันทีเดียวสองคนเลย ถึงแม้ว่าการเลี้ยงลูกสองคนจะเหนื่อย คุณก็ไม่ควรแยกลูกไปให้คนอื่นเลี้ยง (ถึงจะเป็นญาติ เช่น คุณยายก็ตาม) เพราะเมื่อโตขึ้นกลับมาอยู่บ้าน จะเลี้ยงยากกว่าที่คุณจะเลี้ยงเอง เพราะระบบการเลี้ยงไม่เหมือนกัน ทั้งยังมีผลทางจิตใจต่อเด็กเมื่อโตขึ้น เด็กคิดว่าคุณไม่รักแก แต่รักลูกอีกคนหนึ่งมากกว่าจึงเอาไปให้คนอื่นเลี้ยง คุณควรเลือกที่จะเลี้ยงลูกเสียเอง แล้วให้คนอื่นมาช่วยทำงานบ้านจะดีกว่า คุณพ่อลูกแฝดจะต้องร่วมมือกับคุณแม่อย่างมากในเรื่องนี้ เพราะคุณแม่เหนื่อยเกินไป ไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอเต้านมจะผลิตน้ำนมได้น้อยลง ถ้าหาคนช่วยทำงานไม่ได้ คุณพ่อก็อาจต้องทนกินอาหารปิ่นโตหรืออาหารสำเร็จรูป ไปพลางๆ ก่อนและช่วยคุณแม่ซักผ้า ทำความสะอาดบ้านบ้าง หรือถ้าคุณมีเงินก็อาจจ้างซักรีด ถ้าไม่มีคนรับจ้างซักรีด ก็ลงทุนซื้อเครื่องซักผ้า (ถ้ามีเงินมาก) เพื่อผ่อนเบาภาระจะดีกว่า

การเลี้ยงลูกแฝดด้วยนมแม่นั้นเป็นไปได้ ถ้าคุณแม่พยายามปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอในช่วงที่ลูกอยู่ในตู้อบ (ลูกแฝดส่วนใหญ่น้ำหนักแรกเกิดมักต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม ทางโรงพยาบาลจึงต้องเอาใส่ตู้อบเช่นเดียวกับเด็กที่ไม่ครบกำหนด) หรือให้เด็กอื่นช่วยดูดเพื่อกระตุ้นน้ำนม คุณควรพยายามให้มากในเรื่องนี้ เพราะเด็กยิ่งอ่อนแอน้ำนมแม่ก็ยิ่งจำเป็น ถ้าคุณเลี้ยงด้วยนมแม่ได้ทั้งสองคนก็จะดีมาก แต่ถ้าน้ำนมไม่พอควรให้นมแม่สลับกับนมผงทั้งสองคน นอกจากในกรณีที่น้ำหนักของเด็กแตกต่างกันมาก (เช่น คนหนึ่งหนัก 2.8 กิโลกรัม อีกคนหนึ่งหนักเพียง 2.4 กิโลกรัม) ถ้าเป็นเช่นนี้คุณควรเน้นให้นมแม่ที่ลูกคนที่น้ำหนักเบากว่า เมื่อคนตัวเล็กแข็งแรงขึ้นจึงค่อยให้นมด้วยวิธีสลับ (นมแม่สลับกับนมวัว) เหมือนกันทั้งสองคน คุณควรเปลี่ยนไปเลี้ยงด้วยนมวัวล้วนๆ ก็ต่อเมื่อนมแม่ไม่มีจริงๆ

คุณแม่ที่มีลูกแฝด โดยเฉพาะลูกแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันแล้วหน้าตาเหมือนกันจนคนอื่นจำผิดบ่อยๆ นั้น คุณแม่มักนิยมแต่งตัวให้เหมือนกัน เพราะใครๆ ก็เห็นลูกแฝดเป็นของแปลก ยิ่งแต่งตัวให้เหมือนกันเปี๊ยบ ก็ยิ่งเรียกร้องความสนใจจากคนรอบด้าน แต่ที่จริงคุณพ่อคุณแม่ลูกแฝดไม่ควรเน้นเรื่องความเหมือนกันของลูก เพราะถึงแม้เด็กจะเหมือนกันเพียงไรก็ตาม แต่ก็เป็นคนละคนกัน เด็กควรได้รับการยอมรับความเป็นเอกเทศของตน ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และตัวเด็กเองจะต้องสำนึกอยู่เสมอว่าทั้งสองคนเป็นคนละคนกันและไม่ขึ้นต่อกัน เมื่อเด็กโตพอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นของใครแล้ว (ประมาณขวบเศษ) คุณควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่แตกต่างกันเพื่อเน้นความเป็นเอกเทศของแต่ละคน

23. มีปุ่มที่หัว

เด็กบางคนอาจมีปุ่มที่กลางหัว ค่อนไปทางซ้ายหรือขวาเล็กน้อย เมื่อกดปุ่มจะรู้สึกนิ่ม เด็กไม่ร้องเมื่อถูกกด ดูท่าทางไม่เจ็บ รอดู 2-3 วันก็หายไปเอง เมื่อถามหมอ หมอก็บอกว่าปุ่มนี้ คือ ก้อนเลือดที่ใต้หนังศีรษะและทิ้งไว้จะหายไปเอง ปุ่มที่หัวนี้เกิดขึ้นตอนคลอด เมื่อหัวผ่านช่องคลอดกะโหลกศีรษะถูกบีบจนซ้อนกันและทำให้มีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มกระดูก แต่จะไม่มีการตกเลือด และปุ่มนี้จะค่อยๆ หายไปเอง ปกติจะหายภายใน 1-2 เดือน แต่บางคนอาจมีอยู่กว่าครึ่งปี แต่ในที่สุดก็จะหายไปแน่นอนเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งก็คือ การใช้เข็มฉีดยาดูดเอาเลือดที่คั่งอยู่ออก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปทางบาดแผลแล้วเกิดอักเสบเป็นหนองขึ้นได้ เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องได้

ข้อมูลสื่อ

6-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 6
ตุลาคม 2522