• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปไหม

เด็กเข้าโรงเรียนเร็วเกินไปไหม





 

 

 

การสมาคมของเด็ก
ส่วนมากพ่อแม่และครูคิดว่าเด็กควรจะไปคลุกคลีและคบหาสมาคมกับเด็กอื่นๆที่อายุไล่เลี่ยกัน เพื่อจะพัฒนาสังคมของเด็กซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก
ตามงานวิจัยของนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก ถ้าเด็กยังไม่พร้อมหรือยังเล็กอยู่สมาคมกับเด็กอายุเท่ากันจะมีผลเสียมากกว่าผลดี การที่ไปสมาคมหรือเล่นกับเด็กอื่น หรือเพื่อนร่วมชั้นนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าเพื่อนดีก็ดีตาม แต่ถ้าเพื่อนไม่ดีก็จะเสียตามไปด้วย จากประสบการณ์ เด็กก่อนวัยเรียนส่วนมากยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องวินัยหรือหลักเกณฑ์ที่ดีๆเกี่ยวกับชีวิต ถ้เด็กคลุกคลีกับเพื่อนๆมากๆเข้าก็จะซึมซับหลักเกณฑ์ที่ไม่ดีของชีวิตจากเพื่อนๆเหล่านั้น

มีหลักฐานว่าเด็กที่เข้าโรงเรียนช้าจะเรียนเก่งกว่า มีความประพฤติดีกว่า และทางด้านสังคมก็ดีกว่า มักจะเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ มีความเชื่อมั่นในตนเอง และในอนาคตจะเป็นประชาชนที่ดีมีคุณภาพจากงานวิจัยหลายแห่งยืนยันว่า เด็กที่อยู่กับพ่อแม่ช่วงก่อนวัยเรียนและไปโรงเรียนหลังจากที่พร้อมแล้ว ในอนาคตมักจะเป็นหัวหน้าชั้นหรือหัวหน้าในสังคมและเป็นเด็กที่เข้ากับสังคมได้ดี จากงานวิจัยของ จอห์น ฟอร์เรสเตอร์ (John Forester) นักวิจัยการศึกษาของอเมริกา เขาได้ค้นพบอย่างไม่คาดคิดว่าเด็กที่เป็นหัวหน้าด้านสังคมและกิจกรรมต่างๆในโรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เข้าโรงเรียนช้า

นักวิจัยชื่อ ยูรี บรอนเฟนเบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner : Cornell University) และ อัลเบิร์ต แบนดูร่า (Standford U.) พบว่าเด็กที่อยู่กับเพื่อนๆที่โรงเรียนเร็วเกินไป และไม่ค่อยได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ มักจะตามความคิดของเพื่อนๆ (peer dependency) เช่น เพื่อนๆชอบดูการ์ตูนหรือทีวีก็ดูตามเป็นต้น เด็กเหล่านี้มักจะติดเพื่อน เชื่อฟังเพื่อนฝูงมากกว่าพ่อแม่ และไม่เชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเขาไม่ได้เชื่อหรือไว้วางใจเพื่อนฝูงอย่างจริงจัง และเขาก็ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ และตัวเองก็ไม่มีความคิดไม่มั่นใจในตัวเอง ในที่สุดเขาก็จะเป็นเด็กที่อยู่ในความเลื่อนลอย ไร้ความคิด ไร้ที่พึ่งทางความคิดที่ดีจากผู้อาวุโส ทำตามเพื่อนๆอย่างไร้หลักการ ไม่มองโลกในแง่ดีดำเนินชีวิตตามอย่างเพื่อนๆโดยไม่เข้าใจอะไรเลย

จอห์น โบวล์บี้ (John Bowlby) หัวหน้าแผนกเด็กขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้แจงว่า เด็กที่บางครั้งบางคราวถูกพ่อที่เมาเหล้าหรือพ่อแม่ที่อารมณ์เสีย หงุดหงิด ดุว่าเฆี่ยนตีบ้าง ก็ยังมีความรู้สึกว่าเขามีครอบครัว และมีบ้านที่เขาอาศัยอยู่อย่างแน่นอนมั่นคงพอสมควร ท่านกล่าวต่อไปว่าการส่งเด็กเล็กๆไปให้คนอื่นเลี้ยง หรือส่งไปเรียนตอนเด็กยัวไม่พร้อมนั้นเป็นการทรมานจิตใจของเด็ก ซึ่งจะมีความเสียหายด้านจิตใจในอนาคตมากกว่าการถูกทำโทษเฆี่ยนตีโดยทั่วไป

มาร์ติน แองเกิล (Martin Engel) อดีตผู้อำนวยการของศูนย์สาธิตการศึกษาของเด็กเล็กระดับชาติในอเมริกา (National Demonstration Center for Early Childhood Education – Wash. D.C.) กล่าวว่า แม้เราจะให้ข้อแก้ตัวอย่างไร หรือชดเชยโดยมีสถานที่เลี้ยงเด็ก (ร.ร.อนุบาล) ที่ดีที่สุด ก็ไม่สามารถจะชดเชยความรู้สึกที่ถูกทอดทิ้งของเด็ก ซึ่งถูกส่งห่างจากพ่อแม่โดยไม่จำเป็น อย่าลืมว่าเด็กจะมีความรู้สึกว่าเขาถูกทอดทิ้ง (Feeling of rejection)
ในช่วง 6-7 ปีแรกของเด็กเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่จะพัฒนานิสัยใจคอ วินัย และร่างกายของเด็ก ถ้าช่วงอายุนี้ผิดพลาดไปก็จะแก้ไขได้ยากในภายหลัง เด็กก่อนวัยเรียนถ้าได้อยู่บ้านกับผู้ปกครองก็มีโอกาสได้ฝึกหัดวินัย จริยธรรม และศีลธรรมที่ดี เพราะผู้ปกครองมีประสบการณ์และหลักการด้านนี้มากกว่า ในบ้านพ่อแม่จะมีโอกาสตอบคำถามของลูกมากกว่าครูในถึงร้อยเท่า เพราะครูในโรงเรียนมีนักเรียนที่ต้องดูแลรับผิดชอบจำนวนมาก แต่อยู่ในบ้านแม่จะดูแลลูกได้อย่างใกล้ชิด หนึ่งต่อหนึ่ง

การที่ให้เด็กเล็กๆไปโรงเรียนก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาที่โรงเรียน เด็กๆต้องแย่งชิงของเล่นและแข่งขันเรียกร้องความสนใจจากครู แข่งขันเรียกความสนใจจากเพื่อนๆ แย่งชิงกันเพียงเพื่อจะเอาชนะเพื่อนๆ บางทีก็ถูกดูถูก ถูกรังแก รังแกเพราะความคิดหรือความประพฤติไม่เหมือนกับกลุ่ม ทำให้เด็กต้องเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปลี่ยนทัศนคติไปในทางที่ไม่ดี

 

 

 

 


 

 

 

 

ทำไมเด็กจึงเบื่อการเรียน
ดร.มอร์ กล่าวว่า เด็กที่อายุยังน้อยหรือเข้าเรียนตอนที่ยังไม่พร้อมจะทำให้มีผลเสีย มีโอกาสสอบตกเรียนซ้ำชั้น มีปัญหาทางอาชญากรรม เป็นเด็กเกเรหรือเลิกเรียนกลางคันก่อนจะจบการศึกษา
เดวิด เอลไคด์ (David Elkind) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟท์ (Tufts University) ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎี Piaget ได้ทำการวิจัยและพบว่า มีความสัมพันธ์ในทางลบระหว่างการให้การศึกษาอย่างเป็นทางการ (early formal education) กับความเจริญเติบโตทางสติปัญญาของเด็ก (mental growth) และมีผลแสดงในทางลบ (a negative correlation) ท่านจึงสรุปว่า ไม่ควรจะส่งเด็กเข้าโรงเรียนเร็วเกินไป เพราะจะทำให้เด็กเบื่อการเรียน (burned out)

มีนักจิตวิทยา ดร.วิลเลี่ยม โรห์เวอร์ (William Rohwer) (หัวหน้าศูนย์การศึกษาเด็กมหาวิทยาลัยคาลิฟอเนีย 1970) ที.ฮูเซน (T. Husen : University of Stockholm) เดวิด เอลไคด์ (David Elkind : University of Rochester) และ เมเรดิช โรบินสัน (Meredith Robinson : Standford Research Institute) ชี้แจงว่า อาจจะเป็นการดีกว่าที่จะให้เด็กคอยถึงเป็นหนุ่มสาว (12 ปีหรือมากกว่า) ถึงจะไปเรียน ถ้าทางครอบครัวมีพ่อแม่ที่ดี ดร.เจ.ที. ฟิชเชอร์ (Dr.J.T. Fisher) (อดีตคณบดีจิตแพทย์ของอเมริกา) ก็เห็นด้วยว่า “ถ้าเด็กเริ่มเรียนตอนเริ่มเป็นหนุ่มสาวแล้วก็จะเรียนทันเหมือนกับเด็กที่เริ่มเรียนตั้งแต่อายุ 5-6 ปี เพราะตัวท่านก็เริ่มเรียนเมื่ออายุ 13 ปี และก็มีผลสำเร็จในชีวิตตามที่ปรากฏทุกวันนี้”

โทร์สเตน ฮูเซน (Torsten Husen) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่สวีเดน (Institute of International Education of University of Stockholm) มีรายงานการวิจัยจาก 12 ประเทศอย่างน่าเป็นห่วงว่า เด็กที่ไปเรียนยิ่งเร็วจะมีทัศนคติกับโรงเรียนยิ่งเลว


 

 

 

 

 

 

 

 

 

เด็กผู้หญิงพัฒนาเร็วกว่าเด็กผู้ชาย
เป็นที่ยอมรับกันทั้งในวงการแพทย์และนักจิตวิทยาว่า เด็กผู้ชายมีความพร้อมหรือพัฒนา (Maturity) ช้ากว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 1 ปี ส่วนในวัยหนุ่มสาว (Adolesoence) เด็กหนุ่มอาจจะช้ากว่าเด็กสาวถึง 3 ปี
ดังนั้นถ้าตามกฎระเบียบว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นประถม) เด็กที่เกิดใน พ.ศ.เดียวกัน แต่ถ้าคนหนึ่งเกิดวันที่ 1 มกราคม ส่วนอีกคนหนึ่งเกิดวันที่ 31 ธันวาคม ในปีเดียวกัน ก็จะเข้าเกณฑ์เรียนพร้อมกัน ซึ่งตามความจริงแล้วเด็กทั้ง 2 คน จะมีอายุต่างกันเกือบ 1 ปี ถ้าสมมติว่าเด็กชาย ก เกิดปลายปี ส่วนเด็กหญิง ข เกิดต้นปี แต่เข้าเรียนในห้องเดียวกัน จะเห็นได้ชัดว่าเด็กชาย ก เสียเปรียบเพราะจะอยู่ในภาวะที่ช้ากว่าเด็กหญิง ข ถึง 2 ปี

ความพร้อมของเด็กแต่ละคนอาจจะมีไม่เท่ากันแม้จะอยู่ในเพศเดียวกันและวัยเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าสมมติเด็กชาย ก ที่กล่าวมาแล้วเป็นเด็กที่มีความพร้อมช้ากว่าเด็กผู้ชายอื่นๆในวัยเดียวกัน (แต่ไม่ใช่โง่กว่า) เด็กชาย ก จะมีความพร้อมช้ากว่าเด็กหญิง ข มากกว่า 2 ปีด้วยซ้ำ
ระบบการศึกษาในชั้นประถมศึกษาของไทยเรา กำหนดให้เด็กที่ถึงเกณฑ์เข้าเรียนต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีรูปแบบและเนื้อหาเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าเด็กจะมีพื้นฐานชีวิตจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกันตามภูมิหลังของสังคมหรือครอบครัวเพียงใดก็ตาม ทุกคนต้องเดินไปตามเส้นทางการศึกษาที่กำหนดไว้อย่างจำกัด ซึ่งหากพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่า เป็นการบั่นทอนลักษณะสร้างสรรค์ของเด็กโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กที่ไม่พร้อมเกิดความเครียด ขาดความมั่นใจในตัวเอง

เด็กๆในวัยเดียวกันจะมีความพร้อมไม่เท่ากัน เหมือนกับผลไม้ต้นเดียวกันแต่สุกไม่พร้อมกัน หรือดอกไม้ต้นเดียวกันจะบานไม่พร้อมกัน
การยัดเยียดเด็กที่ยังไม่พร้อมเข้าโรงเรียน เปรียบเสมือนไปเร่งเด็ดผลไม้ที่ยังไม่สุกลงมารับประทานหรืออ้ากลีบดอกไม้ที่ยังตูมอยู่ให้บาน ผลปรากฏว่า ผลไม้ที่ยังไม่สุกหรือยังอ่อนจะมีรสฝาด ไม่หวานเท่าที่ควร หรือกินไม่ได้ต้องทิ้งไป และดอกไม้ตูมที่เราอ้ากลีบเร่งให้บานอาจจะเหี่ยวเฉา ไม่สวยงามเหมือนดอกไม้ที่บานตามธรรมชาติ

เดวิด เอลไคด์ นักจิตวิทยาที่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยทัฟท์ (Tufts University) กล่าวว่า ถ้าเราเคี่ยวเข็ญเด็กไปโรงเรียนเร็วเกินไป เมื่อเขาโตขึ้นมาก็จะเบื่อการศึกษา (burnout) ไม่อยากเรียนหนังสือ หรือเกลียดการเรียน ทำให้เลิกเรียกกลางคัน สอบตก หรือไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา


                                                                                                                               (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

85-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
อื่น ๆ
นพ.โชติช่วง ชุตินธร