• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสองขวบถึงสามขวบ

เด็กสองขวบถึงสามขวบ

 

 

                                

 

 

 


285. อาหารสำหรับเด็ก
เด็กวัย 2-3 ขวบนี้ เป็นช่วงที่เด็กไม่ค่อยกินอาหาร คุณแม่เกือบทุกคนจะวิตกว่า “ทำไมลูกฉันไม่ยอมกินข้าว” อันที่จริงช่วงวัยนี้เด็กน้ำหนักเพิ่มเพียงปีละ 2 กิโลกรัมก็พอแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกินอาหารมากมายนัก เด็กส่วนใหญ่ในวัยนี้กินข้าวเฉลี่ยวันละ 1 ถ้วยครึ่งเท่านั้น บางคนกินมื้อละครึ่งถ้วย เช้า กลางวัน เย็น และสมัยนี้มีไม่น้อยที่กินขนมปังมื้อเช้า ตัวอย่างอาหารของเด็กวัยนี้คือ

เช้า ขนมปัง (1-2 แผ่น) นม 1 ขวด (180 ซีซี) ไข่ (ไข่ดาวหรือไข่ต้ม ฯลฯ)
กลางวัน ข้าว (1 ถ้วย) ปลา ผัก หรือก๋วยเตี๋ยว
บ่าย 3 โมง ขนม (เช่น กล้วยบวชชี แพนเค้ก ฯลฯ)
เย็น ข้าว (ครึ่งถ้วย) เนื้อหรือเต้าหู ผัก ผลไม้
2 ทุ่ม นม 1 ขวด

เด็กที่ชอบดื่มนม จะดื่มนมตอนบ่ายหลังมื้อขนม จึงดื่มนมวันละ 3 ขวด เด็กบางคนดื่มนมวันละ 4-5 ขวด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอ้วน เด็กกินน้อย บางคนมื้อเช้าไม่ยอมกินอะไรนอกจากนมขวดเดียวก็มี เด็กที่ไม่ชอบดื่มนมบางคนจะไม่ยอมดื่มนมเลยเมื่ออายุเกิน 2 ขวบ ซึ่งไม่มีปัญหาทางด้านโภชนาการ ถ้าเขากินไข่หรือเนื้อสัตว์และได้โปรตีนเพียงพอ ในทางตรงกันข้าม เด็กที่เกลียดเนื้อสัตว์ อาจดื่มนมวันละ 4 ขวด เพื่อให้ร่างกายได้โปรตีนอย่างพอเพียงก็ได้

เด็กวัย 2-3 ขวบนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ยังหย่าขวดไม่สำเร็จ คุณแม่เอานมใส่ถ้วยให้ดื่มก็ไม่ยอม หรือให้ดูดจากหลอดก็ไม่ยอม จึงจำต้องให้ดูดจากขวดนมตามเดิม การให้เด็กดูดนมจากขวดเป็นเรื่องสะดวกสำหรับคุณแม่ด้วย เพราะนมไม่หก ไม่ต้องคอยเฝ้าดูแล บางคนกล่าวว่าถ้าให้เด็กดูดนมจากจุกเรื่อยไปฟันจะไม่สวย แต่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น น่าจะมีปัญหาเฉพาะเรื่องฟันผุ สำหรับเด็กที่ชอบดื่มนมหวานและนอนหลับคาขวดเป็นประจำเท่านั้น เด็กบางคนยังร้องกลางดึกเรียกหานม ก็ให้ได้ไม่เป็นไร เด็กวัยนี้อาจจะกินข้าวน้อย แต่กินกับข้าวจำพวกเนื้อสัตว์ได้ถึง 70% ของผู้ใหญ่ มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบกินผัก แต่ถ้าใส่ผักลงไปในไข่เจียวหรือรวมลงไปในข้าวตุ๋น ส่วนใหญ่จะยอมกิน เด็กที่ทำอย่างไรก็แล้วยังไม่ยอมกินผักนั้น ต้องให้กินผลไม้มากๆหน่อย

การจะให้เด็กกินข้าวร่วมกับผู้ใหญ่ หรือแยกกินต่างหากนั้น ขึ้นอยู่กับความอยากอาหารของเด็ก ถ้าเขากินเก่ง ไม่มีปัญหาเรื่องความอยากอาหาร ก็กินร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ได้ แต่เด็กที่ไม่ชอบกินข้าว ชอบลุกหนีกลางคันนั้น อาจต้องจับนั่งเก้าอี้สูง และคอยดูแลจนกว่าจะกินเสร็จ อย่างไรก็ตาม ควรจะมีสักหนึ่งมื้อ เช่น มื้อเย็น ซึ่งเด็กได้มีโอกาสร่วมวงกินข้าวกับผู้ใหญ่และทุกคนในบ้านด้วยความชื่นบาน การถือช้อนตักข้าวกินเองหรือไม่นั้น สัมพันธ์อย่างยิ่งกับความอยากอาหารของเด็ก ถ้าเขาสนใจถือช้อนตักข้าวกินเองเด็กก็จะกินข้าวได้มาก ส่วนเด็กที่ไม่ค่อยอยากกิน จะทิ้งช้อนกลางคันไม่ยอมตักเอง สำหรับคนที่ยอมตักกินเองแค่ 3-4 ช้อน คุณแม่คงต้องช่วยตักป้อนให้บ้าง แต่ควรหัดให้เด็กรู้จักใช้ช้อนส้อมเป็นก่อนอายุ 3 ขวบ

ควรปลูกฝังนิสัยล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารให้ลูก ข้อสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่เองต้องล้างมือให้เห็นเป็นตัวอย่างทุกมื้อ และก๊อกน้ำควรอยู่ต่ำพอที่เด็กจะเปิดปิดเองได้ด้วย

 

 

 

 

286. ขนมสำหรับเด็ก
ขนมคือของโปรดของเด็กแทบทุกคน เด็กวัย 2-3 ขวบนี้ วิ่งเล่นเคลื่อนไหวมาก ใช้พลังงานมาก น้ำตาลในขนมจะช่วยทดแทนพลังงานที่สูญไป ดังนั้นการที่เด็กอยากกินของหวานจึงเป็นความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก
อย่างไรก็ดี ถ้าให้น้ำตาลมากเกินไป น้ำตาลกลายเป็นไขมันสะสมอยู่ในตัวเด็ก เพราะฉะนั้นเราต้องให้ขนมพอดีกับพลังงานที่ยังขาดอยู่ เด็กวัยนี้กินข้าวน้อย จึงขาดพลังงานจากแป้งและน้ำตาลอยู่บ้าง ซึ่งจะทดแทนได้ด้วยขนมที่ทำจากแป้งและน้ำตาล แต่สำหรับเด็กที่กินข้าวมื้อละ 2 ถ้วย และยังกินขนมปังอีกตั้ง 2-3 แผ่นนั้น ถ้าให้ขนมประเภทแป้งและน้ำตาลแกจะอ้วนเกินไป เพราะฉะนั้นเด็กกินจุและออกกำลังกายน้อย ควรให้ผลไม้แทนขนม ขนมไทยซึ่งทำจากผักหรือผลไม้ ประเภทถั่ว กล้วย ฟักทอง แตงไทย ฯลฯ เป็นขนมที่ดีมากสำหรับเด็กๆ

เวลาให้ขนม ควรเป็นเวลาระหว่างมื้ออาหารช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย แบ่งขนมใส่ถ้วยเล็กๆให้เด็ก ไม่ควรยกขนมมาให้ทั้งกล่อง หรือนำมาวางตรงหน้าทั้งหม้อ เพราะเด็กจะร้องเติมไม่รู้จักพอ อย่าให้ขนมเพิ่มเมื่อเด็กร้องดิ้นจะเอาอีก ต้องให้ตามปริมาณที่คุณแม่คิดว่าเหมาะสม
การซื้อขนมให้เด็กที่ร้านค้านั้น สำหรับเด็กที่พูดรู้เรื่องก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเป็นเด็กดื้อที่ชอบร้องจะเอาให้ได้ดังใจ จะทำให้คุณแม่ต้องรบกับลูกหน้าร้านขนมบ่อยๆ ช็อกโกแลตเป็นของที่เด็กชอบมาก เด็กที่เคยลิ้มรสมักจะร้องอยากได้ ควรหลีกเลี่ยงเอาไว้เป็นดี

 

 

 

 

287. การนอนตอนกลางคืน
การนอนของผู้ใหญ่มีหลากหลายแบบฉันใด ของเด็กก็มีฉันนั้น บางคนหัวถึงหมอนก็นอนหลับทันที บางคนต้องนอนคิดโน่นคิดนี่ หรืออ่านหนังสือฟังเพลงสักครึ่งชั่วโมงจึงจะหลับ นิสัยหลับง่ายหรือยากนี้ ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เด็กที่นอนหลับง่ายนั้นไม่มีปัญหา แต่เด็กที่นอนหลับยาก จำเป็นต้องมีวิธีการนอนจำเพาะของตน
เด็กอายุ 2-3 ขวบนี้ มีจำนวนมากที่นอนดูดนิ้วหัวแม่มือจนหลับ ซึ่งส่วนใหญ่ติดนิสัยนี้หลังจากคุณแม่เลิกให้ดูดนมแม่ หรือดูดนมจากขวด เมื่ออายุครบหนึ่งขวบคุณแม่ที่เคยมีประสบการณ์นี้กับลูกคนโต มักยอมให้ลูกคนถัดมาดูดนมแม่ก่อนนอนจนกระทั่งหลับ เด็กติดนมแม่หรือติดดูดนมจากขวดก่อนนอนตอนอายุ 2 ขวบ เมื่ออายุเกิน 3 ขวบแล้ว ส่วนใหญ่จะเลิกไปได้เอง

เด็กที่ติดนิสัยดูดนิ้วจำนวนมากจะเลิกนิสัยนี้เมื่ออายุเกิน 3 ขวบ เป็นเพราะแกโตขึ้นและถ้ามีคุณแม่อยู่ข้างๆ ก่อนนอน แกก็รู้สึกอบอุ่นใจพอแล้ว ส่วนเด็กที่สามารถหลับได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีคุณแม่อยู่ด้วยนั้น ส่วนใหญ่จะติดนิสัยดูดผ้าห่มหรือผ้าขนหนู เพราะแกถือเอาผ้าห่มหรือผ้าขนหนูเป็นตัวแทนของคุณแม่นั่นเอง แม้จะสกปรกหรือเปื่อยยุ่ยอย่างไรแกก็ไม่ยอมให้ห่างกายเวลานอน เมื่อเด็กโตขึ้นแกจะเลิกดูดหรือกัดผ้า แค่ถือกอดไว้ในมือก็นอนหลับได้ เด็กบางคนต้องให้คุณแม่นอนข้างๆ และเล่านิทานให้ฟังจึงจะนอนหลับ บางคนชอบฟังเรื่องเดียวซ้ำซากขอให้เล่านิทานเรื่องเก่าทุกคืนก็มี

เด็กสมัยใหม่บางคนต้องให้ทีวีกล่อมจึงจะนอนหลับ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรถือเอานิสัยในการนอนของลูกเป็นปัญหานัก จะนอนแบบไหนก็ได้ ขอให้แกหลับก็แล้วกัน การบังคับให้ลูกเข้านอน ปิดไฟมืด และขู่เข็ญให้หลับคนเดียวแม้เด็กจะร้องไห้ด้วยความกลัวนั้นไม่น่าทำเลย เพราะการมีแม่อยู่ข้างกายและนอนหลับด้วยความสบายใจ จะช่วยให้เด็กไม่ถูกคุกคามด้วยฝันร้ายกลางดึก
นิสัยดูดนิ้ว หรือติดผ้าห่ม ก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร ถือเสียว่าเป็นเครื่องมือช่วยให้นอนหลับดีกว่า


                                                                                                                               (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

86-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 86
มิถุนายน 2529