• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

บทที่ 1
เด็กหัวดี เด็กหัวไม่ดีต่างกันที่ตรงนี้


9. เลี้ยงลูกให้เป็น “บุ๋นจิเนียร์”
สมมติว่าลูกของคุณเก่งทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ คุณจะส่งเสริมความสามารถของลูกอย่างไร?

ผมคาดว่าคงจะมีผู้ตอบว่า “ก็สนับสนุนให้เขาศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เขาสนใจ พวกวิชาสังคม ภาษา เขาไม่ชอบก็ช่างเถอะ ไม่จำเป็นต้องเรียนนัก เพราะโตขึ้นเข้ามหาวิทยาลัยก็จะแบ่งเป็นสายวิทย์สายศิลป์อยู่ดี ต้องพยายามเข้าโทไดสายวิทย์ 3 ให้ได้*”

ความคิดนี้เป็นความคิดที่ผิดมาก สมมติว่าเด็กคนนั้นสามารถสอบเข้าโทไดสายวิทย์ 3 ได้ตามที่พ่อแม่สนับสนุนได้สำเร็จ พวกญาติพี่น้องเพื่อนฝูงพากันชมว่า เด็กคนนี้เก่งมาก อนาคตคงจะดีแน่ ทุกคนปลื้มปีติยินดีเป็นที่สุด แต่อนาคตของเด็กคนนั้นกลับไม่พุ่งสูงดังที่หวังไว้

ถ้าสังเกตสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันจะเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของวงการต่างๆนั้น มีผู้จบสายวิทย์น้อยมาก ส่วนใหญ่จะมาจากสายศิลป์

เหตุผลนั้นง่ายมาก
ผู้เรียนวิศวกรรมศาสตร์ส่วนใหญ่หัวดี มีปัญญาเลิศจริงๆ แต่หมกตัวอยู่ในห้องวิจัยแคบๆ ศึกษาแต่เทคนิคความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น จึงมีแนวโน้มที่จะกลายเป็น “พวกบ้าวิชาเฉพาะ” นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ของโทได ซึ่งมีมันสมองระดับยอดของประเทศญี่ปุ่นนั้น บางคนไม่เข้าใจเรื่องของมนุษย์มนาเอาเสียเลย

เมื่อคนประเภทนี้จบการศึกษาออกสู่สังคมเต็มตัว เขาจะเป็นอย่างไร? ในสังคมมีแต่เรื่องของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ จะทำงานธุรกิจ ถ้าไม่เข้าใจมนุษย์ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นออกจากห้องวิจัยเมื่อไร เขาก็กลายเป็นคนระดับต่ำกว่าธรรมดาเสียอีก

คนที่เรียนสายวิทย์ส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนเก่งมาตั้งแต่เล็ก แต่เมื่อหลายสิบปีผ่านไปเพื่อนร่วมชั้นเรียนในวัยเด็กมีโอกาสมาพบปะสังสรรค์กันในงานชุมนุมรุ่น จะเห็นว่าความเก่งในสมัยก่อนมิได้ทำให้เขาดำรงตำแหน่งสำคัญทางสังคมแต่อย่างใด

ทั้งนี้เพราะเขามัวแต่หมกตัวอยู่ในกะลาครอบใบเล็กๆซึ่งส่งผลให้ความสามารถในวัยเด็กพัฒนาขึ้นมาเพียงด้านเดียว เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก

เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากประกาศชักชวนว่า เรามาเลี้ยงลูกให้เป็น“บุ๋นจิเนียร์” กันเถอะ
คำว่า “บุ๋นจิเนียร์” นี้ เป็นศัพท์ที่ผมคิดขึ้นมาเอง คำว่า “บุ๋น” หมายถึงสายศิลป์ ผสมกับคำว่า “จิเนียร์” ซึ่งตัดมาจาก “เอนจิเนียร์” (Engineer) จึงกลายเป็น “บุ๋นจิเนียร์” หมายความว่า เราต้องเลี้ยงลูกให้เก่งทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ครับ

เด็กที่เก่งวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์นั้น ไม่ต้องดูหนังสือในวิชาเหล่านี้มากเขาก็ทำได้ น่าจะแนะนำให้เขาเน้นทางด้านสังคมภาษาจะดีกว่า เมื่อเด็กโตขึ้นและเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เขาสนใจ เขาก็จะไม่พัฒนาด้านเดียว เพราะสมัยเด็กๆได้พยายามศึกษาวิชาสายศิลป์ที่ตัวเองไม่ชอบมาบ้างแล้ว และเมื่อเรียนจบออกสู่สังคม เขาก็จะเข้าใจมนุษย์และมีโอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งสูง

อย่างไรก็ตาม ผมมิได้หมายความว่า เด็กทุกคนควรจะเรียนรู้ทุกแขนงวิชาอย่างตื้นๆ กว้างๆ “บุ๋นจิเนียร์” ของผมหมายถึง เรียนรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ ถ้าไม่ลึกก็ไม่นับว่าเป็น “บุ๋นจิเนียร์”

พ่อแม่บางคนเห็นลูกเป็นผู้หญิงก็คิดว่าให้เรียนภาษาก็พอแล้ว ลูกรู้ว่าพ่อแม่คิดเช่นนั้นจึงทำตาม ทำให้ความสามารถด้านอื่นไม่พัฒนา ถ้าคิดว่าเด็กผู้หญิงไม่ชอบพวกเครื่องจักร หรือไฟฟ้าและหนีวิชาพวกนี้ความก้าวหน้าย่อมไม่มี ผมกลับคิดว่า เด็กผู้หญิงน่าจะพยายามเรียนวิชาของผู้ชายซึ่งตนไม่ถนัดให้มากกว่าวิชาที่ถนัดอยู่แล้วเสียอีก

ถ้าคนเรามีความรู้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งง่ายๆก็คงไม่มีใครต้องลำบาก แต่ในเมื่อมันไม่ง่าย พ่อแม่จึงต้องฝึกให้ลูกเคยชินกับความยากลำบากในการศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่เด็ก เพราะจะทำให้เด็กเกิดความมุมานะ และกลายเป็น “บุ๋นจิเนียร์” ซึ่งมีความรู้กว้างขวางและลึกซึ้งในที่สุดเมื่อสมองของเด็กมิได้พัฒนาอย่างเบี่ยงเบนอยู่ด้านเดียวย่อมมีโอกาสเจริญเติบโตได้สูง
 

* โทได = TOKYO UNIVERSITY (มหาวิทยาลัยโตเกียว) เป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลระดับยอดสุดของญี่ปุ่น และเป็นที่ใฝ่ฝันของพ่อแม่ที่จะให้ลูกของตนสอบเข้าเรียนที่นี่...
สายวิทย์ 3 คือคณะแพทยศาสตร์ซึ่งเข้ายากที่สุด
* ท่านที่เคยอ่านพงศาวดารจีน คงจะคุ้นเคยกับคำว่า ฝ่ายบู๊ ฝ่ายบุ๋น ซึ่งหมายถึงฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน

ข้อมูลสื่อ

106-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 106
กุมภาพันธ์ 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า