• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันตราย! ถ้ามีลูกถี่ หรือมีมากเกินไป

อันตราย! ถ้ามีลูกถี่ หรือมีมากเกินไป

ในปัจจุบันนี้ คนทั่วไปก็เข้าใจกันซึ้งดีแล้วว่า การมีลูกมากๆ เกินกว่าฐานะนั้น จะทำให้พ่อแม่ลำบากในการหาเงินหาทองมาเลี้ยงลูกของตนให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามุ่งไปที่ปัญหาด้านการเงินเศรษฐกิจภายในครอบครัวเป็นหลักใหญ่ โดยมิได้คำนึงถึงปัญหาด้านสุขภาพเลย ซึ่งความจริงแล้วการวางแผนครอบครัวหรือการคุมกำเนิดนี้ ไม่ใช่จะให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจภายในครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวพันไปถึงปัญหาทางด้านสุขภาพของทั้งพ่อแม่ และเด็กในท้องอีกด้วย

ในสมัยเศรษฐกิจฝืดเคืองนี้ คู่สามีภรรยาควรจะมีลูกเพียง 2 คน หรืออย่างมากไม่ควรเกิน 4 คน โดยให้มีเพศชายหรือหญิงได้ตามต้องการ เมื่อก่อนนี้ปัญหาการเลือกเพศตามที่ต้องการเป็นเรื่องยากลำบาก แต่ในยุคนี้ความเจริญทางด้านการแพทย์ช่วยเหลือได้ โดยคิดค้นวิธีการที่จะสามารถกำหนดการตั้งท้องให้คลอดออกมาเป็นลูกชายหรือหญิงได้ตามต้องการ ปัญหาการมีลูกตามดวงจึงหมดไป

เหตุที่สนับสนุนให้มีลูกน้อยๆ คน ก็เพราะว่าการที่มีลูกมากนั้นมีผลสะท้อนต่อสุขภาพของบุคคลภายในครอบครัวที่เห็นได้ชัด ก็คือ

ผลที่มีต่อสุขภาพของบิดา

ในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพของตัวพ่อที่มีลูกมากๆ นั้นที่เห็นได้ชัด ก็คือ พ่อที่มีลูกมากมีโอกาสจะเป็นโรคประสาทและโรคจิตได้มากกว่าพ่อที่มีลูกน้อยเพราะ พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัวย่อมจะต้องรับผิดชอบในการหาเงินมาเลี้ยงดูลูกๆ ให้มีความสุข และมีการศึกษาพอสมควร การมีลูกมากย่อมทำให้พ่อต้องดิ้นรนขวนขวายทำงานหาเงินมากขึ้น นอกจากร่างกายจะตรากตรำจากงานแล้ว จิตใจยังมีความกังวล เคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา จึงอาจจะเจ็บป่วยได้ง่าย บางคนอาจหันไปใช้เหล้า หรือยาเสพติดเป็นเครื่องดับทุกข์ หรือบันเทาความกลัดกลุ้มซึ่งเป็นภัยต่อสุขภาพและชีวิตอย่างยิ่ง

ผลที่มีต่อสุขภาพของมารดา

การตั้งท้องและการคลอดลูกบ่อยครั้ง เป็นผลร้ายแก่สุขภาพอนามัยของแม่โดยตรง คือ

1. แม่ที่คลอดลูกบ่อยๆ โอกาสที่จะเสียชีวิตเนื่องจากโรคแทรกระหว่างตั้งท้องมีสูงมากกว่าแม่ที่คลอดลูกน้อยครั้งกว่า

2. คลอดลูกบ่อยๆ จะทำให้เกิดการฉีกขาดของช่องคลอดซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เป็นมะเร็งที่ปากมดลูกได้ ส่วนเด็กที่เกิดจากแม่ลูกดกนั้น ในช่วงอยู่ในท้องอาจมีขนาดโตเกินไปหรืออยู่ในท่าที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้มดลูกแตกเวลาคลอดได้ หรือเด็กที่คลอดออกอาจจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ มีโอกาสที่จะเป็นโรคขาดอาหาร ปัญญาอ่อน มีอวัยวะพิการหรือไม่สมประกอบแต่กำเนิดก็ได้

3. การมีลูกถี่เกินไปแบบหัวปีท้ายปีติดต่อกันไป ก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพของแม่และลูกได้ โดยจะทำให้สุขภาพของแม่ทรุดโทรวม คลอดลูกเสร็จร่างกายยังไม่ทันพักผ่อน ก็ต้องตั้งท้องเตรียมคลอดลูกคนใหม่อีก ร่างกายยิ่งอ่อนแอลงทุกที ดีไม่ดีมีโรคแทรก อาจทำให้ทั้งแม่และลูกต้องเสียชีวิตไปพร้อมกันก็มี ดังนั้น ช่วงเวลาห่างในการมีลูกแต่ละคนควรจะเป็น 4 ปี

4. การที่แม่มีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยโดยเฉพาะก่อนอายุ 14 ปีนั้น มีโอกาสที่แม่และลูกจะตายเพราะการตั้งท้องหรือตอนคลอดมีสูงมาก ส่วนแม่ที่ไปตั้งท้องเอาเมื่อตอนอายุ 35 ปีขึ้นไป ก็มีอันตรายเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเท่าเทียมกัน สรุปแล้วช่วงที่ดีที่สุด ที่ผู้หญิงควรจะมีบุตร ก็คือ ช่วงระหว่าง 20-30 ปี

5. แม่ที่เป็นโรคบางอย่างอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง การตั้งท้องและการคลอดบุตรยังอาจเป็นอันตรายร้ายแรงแก่ตัวแม่ ทำให้ถึงกับเสียชีวิตก็ได้

6. ในการตั้งท้องแต่ละครั้ง ร่างกายของแม่จะต้องใช้อาหารเพิ่มขึ้นสำหรับหล่อเลี้ยงทารกในท้อง ดังนั้นถ้าหากผู้เป็นแม่เป็นโรคขาดธาตุอาหารอยู่แล้ว ก็ย่อมจะมีโรคมากขึ้นในระหว่างตั้งท้อง ผู้หญิงที่ตั้งท้องในขณะที่ลูกคนเล็กยังไม่อดนมนั้นก็เท่ากับร่างกายต้องเสียพลังเลือดเนื้อเลี้ยงลูก 2 คน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งย่อมบั่นทอนสุขภาพของตัวแม่เป็นอย่างยิ่ง

7. ในด้านสุขภาพ แม่ที่มีลูกมากย่อมจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคประสาทและโรคจิตได้มากกว่าปกติ และการที่ตัวภรรยาไม่อยากจะมีลูกอีกนั้น อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความระหองระแหงขึ้นในครอบครัวถึงอันหย่าร้างได้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่าสามีภรรยาที่มีลูกมาก มักจะทะเลาะเบาะแว้งและหย่าร้างกันมากกว่าสามีที่มีลูกน้อยๆ คน

ผลที่มีต่อสุขภาพของบุตร

เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีลูกมาก จะประสบปัญหาดังนี้ คือ

1. เด็กที่เกิดมาในอันดับที่ 5 ขึ้นไป ย่อมมีโอกาสที่จะตายตั้งแต่อยู่ในท้องได้มาก ถึงแม้จะไม่ตายตอนอยู่ในท้อง ก็มีโอกาสเจ็บป่วยและเสียชีวิตในระหว่างวัยทารกก็ได้ มากกว่าเด็กที่เกิดในอันดับที่ 1-4

2. เด็กที่เกิดมาจากมารดาที่อายุมาก และผ่านการมีลูกมามากคนแล้ว โอกาสที่จะมีอวัยวะพิการ หรือวิปริตแต่กำเนิด และมีโอกาสที่จะเป็นเด็กปัญญาอ่อนได้มากกว่าปกติ

3. เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกมาก จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเด็กในครอบครัวที่มีลูกน้อย และมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยบ่อยครั้งกว่าเด็กในครอบครัวที่มีลูกน้อยคน ทั้งนี้เพราะเด็กทารกที่เกิดมาย่อมต้องการอาหารที่มีคุณค่าในการหล่อเลี้ยงร่างกายและสร้างความเจริญเติบโตให้แก่อวัยวะต่างๆ หากเด็กได้รับอาหารไม่เพียงพอก็จะโตช้า เจ็บป่วยได้ง่าย เพราะขาดความต้านโรค และสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อยและยากจนนั้น เด็กที่เกิดเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่งย่อมหมายความว่า อาหารของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนจะต้องถูกเฉลี่ยออกไป

4. เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีลูกมาก มักจะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเด็กในครอบครัวที่มีบุตรน้อยกว่า และมีโอกาสจะเจ็บป่วยด้วยโรคประสาทหรือโรคจิตหรือมีปัญหาเกี่ยวกับความประพฤติและอุปนิสัยมากกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีบุตรน้อย

ดังนั้น วิธีที่จะหลีกเลี่ยงจากอันตรายที่เกิดจากการมีลูกกระชั้นชิดติดกันไป หรือมีในเวลาอันไม่ควร การรู้จักใช้วิธีคุมกำเนิดแบบต่างๆ เช่น ถุงยาง “มีชัย” ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาสอดในช่องคลอด ห่วงอนามัย หรือวิธีนับระยะปลอดภัยก็ตามเพื่อช่วยให้กำหนดได้ว่าควรจะมีลูกเมื่อใด และเมื่อมีแล้วควรจะเว้นระยะการมีลูกคนใหม่ให้ห่างกันกี่ปี หรือเมื่อมีพอแล้วก็ควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบถาวร คือการทำหมันชาย ทำหมันหญิง ไปเสียเลยเพื่อตัดความกังวลที่จะตั้งท้องอีก

ลูกมากจะยากจน

 

ข้อมูลสื่อ

7-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 7
พฤศจิกายน 2522
อื่น ๆ
มีชัย วีระไวทยะ