• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ถ้าอยากมีลูกหัวดี

บทที่ 2
เคล็ดลับในการสร้างพลังสมาธิ พลังความคิด และจินตนาการสร้างสรรค์

11. ฝึกให้มีสมาธิในสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว
แม่ผมไม่เคยสั่งให้ผมดูหนังสือเรียนสักครั้งเดียว แต่ท่านบอกผมตั้งแต่ผมยังเล็กอยู่ว่า “มุมานะทำอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งซิ”

นี่แหละครับที่ส่งผลอย่างมหาศาลในภายหลัง สิ่งที่ผมสนใจมากคือเครื่องบินจำลอง การมุ่งเอาจริงเอาจังกับการสร้างเครื่องบินจำลองทำให้ผมได้รับประโยชน์และเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง คือ ทำให้มีสมาธิ รู้จักประดิษฐ์และแก้ไขปรับปรุง มีจินตนาการซึ่งต่างกับคนอื่น สุขภาพแข็งแรง เป็นต้น พลังสมาธิ พลังความคิด และความสามารถอื่นๆเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อพัฒนาการทางสมอง รวมทั้งการศึกษาในโรงเรียนด้วย

และบัดนี้เมื่อผมกลายเป็นพ่อคนต้องเลี้ยงลูกตัวเอง ผมก็เน้นความสำคัญข้อนี้มากคือ ปล่อยให้ลูกมุทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คิดว่าดี เพราะผมคิดว่าการที่เด็กมุ่งเอาจริงเอาจังกับสิ่งดีที่ตนชอบ จะช่วยให้เด็กหัวดี และมีชีวิตประจำวันที่ดีขึ้นด้วย

ขึ้นชื่อว่าเด็กแล้ว ต่อให้เป็นเด็กหัวดีก็ยังเป็นเด็กอยู่นั่นเอง ยังไร้เดียงสาต่อสังคมและโลกกว้าง ถ้าเด็กไม่มีสิ่งดีๆที่เขาสนใจและทุ่มเทเวลาให้ เขาอาจหันเหไปในทางร้ายได้ ผู้ใหญ่อาจแยกแยะความดีความชั่วออกจากกันได้ แต่เด็กยังไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราไม่ควรปล่อยให้ความอยากรู้อยากเห็นของเด็กชักนำตนเองไปสู่ความเลว ความผิดซึ่งเริ่มจากสิ่งเล็กน้อย เช่น เล่นซุกซนในทางที่ผิดบ้าง รังแกเพื่อนบ้าง อาจพัฒนาไปสู่ การสูบบุหรี่ เล่นการพนัน ตั้งแก๊งเกเร ลักเล็กขโมยน้อย จนสูดทินเนอร์ หรือติดยาเสพติด และเมื่อถึงขั้นนี้แล้วย่อมยากที่จะแก้ไข เพราะฉะนั้นควรส่งเสริมให้เด็กมุทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาจเป็นการเล่นต่อรูปพลาสติก วาดภาพ เขียนกลอน หรืออะไรก็ได้ หากเด็กมีสิ่งดีที่เขาสนใจสักอย่างเดียว ความอยากรู้อยากเห็นของเขาจะพัฒนาไปในทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม ความสนใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น จะต้องไม่ใช่ของฉาบฉวย ประเภทสนใจนิดหน่อยไม่นานก็เบื่อ เช่น สนใจเล่นรถบังคับวิทยุอยู่พักหนึ่งก็เปลี่ยนไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์ แบบนี้ใช้ไม่ได้ ต้องสนใจเพียงสิ่งหนึ่งอย่างจริงจังจึงจะเกิดผล คือ ช่วยสร้างพลังสมาธิขึ้นในตัวเด็ก เพราะการมีสมาธิคือ การสนใจสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวจนกระทั่งมองไม่เห็นสิ่งอื่น

พ่อแม่มักห้ามลูกมิให้ทำโน่นทำนี่ เช่น “สูบบุหรี่ไม่ได้นะ” “อย่าคบกับพวกแก๊งเกเรนะ” ฯลฯ คำพูดประเภท “อย่า...นะ” จะทำให้เด็กกลายเป็นหุ่นชักใย ไม่กระตือรือร้น มีลักษณะเป็นเด็กเฉื่อยชา และเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอาจจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านพ่อแม่อีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม หากเราสนับสนุนให้ลูกมุมานะทำสิ่งที่เขาชอบ จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้เขาทำงานอย่างมีชีวิตชีวา โดยที่ตีกรอบมิให้เขาไปข้องแวะกับสิ่งชั่วร้ายไปในตัว ทั้งยังเสริมสร้างความอยากรู้ อยากค้นคว้า พลังสมาธิ พลังความคิด และส่งเสริมให้เขาเป็นเด็กขยันขันแข็งอีกด้วย

การสั่งสอนลูกให้เป็นคนเก่ง คนดี มิได้มีแต่วิธีการกำราบให้ลูกขยันหมั่นเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว การนิ่งเงียบเฝ้าดูลูกทำทุกอย่างตามใจชอบ หากสิ่งเหล่านั้นอยู่ในกรอบที่พ่อแม่ยอมรับได้ ก็เป็นการสอนลูกเช่นเดียวกัน แต่มิใช่ปล่อยปละละเลยโดยไม่อบรมสั่งสอนเอาเสียเลย เพราะเด็กยังแยกความชั่วและความดีออกจากกันไม่ได้ พ่อแม่ต้องสร้างกำแพงสูงล้อมกรอบเอาไว้มิให้ลูกหลงเดินทางผิด สิ่งนี้แหละคือความรับผิดชอบของพ่อแม่ในการสั่งสอนลูก

อย่างไรก็ดี กำแพงสูงของพ่อแม่ควรมีอาณาบริเวณภายในที่กว้างขวางพอสมควร ถ้าขอบเขตแคบเกินไปเด็กจะเกิดความอึดอัด และรู้สึกว่าตนเองถูกกดดันอยู่ตลอดเวลา พื้นที่อิสระของเด็กควรมีความกว้างจนกระทั่งเขาไม่รู้สึกว่ามีกำแพงล้อมรอบอยู่ และกำแพงนั้นต้องแข็งแรงมั่นคงมากจนเด็กไม่สามารถพังทลายมันได้

หากเราสมมติว่ากำแพงใหญ่นี้เปรียบเสมือนคูเมืองชั้นนอก การสนับสนุนให้เด็กมุ่งทำในสิ่งที่เขาสนใจก็จะเป็นคูเมืองชั้นใน ซึ่งช่วยกันป้องกันเด็กเอาไว้ถึง 2 ชั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่น่าจะช่วยให้ลูกได้ค้นพบสิ่งที่เขาสนใจอย่างคลั่งไคล้โดยเร็ว

หากเด็กไม่มีสิ่งที่เขาชอบอย่างจริงจัง เขาจะทำโน่นทำนี่นิดหน่อยอย่างสะเปะสะปะ และละทิ้งทุกสิ่งกลางคัน เมื่อลูกเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ก็ปวดหัวต้องคอยสั่งลูกว่า “ทำ...ซิ” และ “อย่า...นะ” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะกลายเป็นแรงกดดันที่ขัดขวางพัฒนาการทางสมองของเด็กด้วย

มารดาของผม เมื่อเห็นผมหมกมุ่นอยู่กับการสร้างเครื่องบินจำลอง ท่านก็มิได้ปริปากบ่นว่า ได้แต่ดูอยู่เฉยๆ ถ้าหากผมเป็นคนที่ชอบทำสารพัดสิ่ง แม่ผมคงจะต้องสั่งว่า “ทำ...ซิ” ละมังครับ
 

ข้อมูลสื่อ

108-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 108
เมษายน 2531
อื่น ๆ
Dr.YOSHIRO NAKAMATSU, พรอนงค์ นิยมค้า