• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลักษณะของทารก

ลักษณะของทารก

31. ระยะหนึ่งสัปดาห์ถึงครึ่งเดือน

หน้าที่ดูแลทารกในระยะหนึ่งสัปดาห์ ถึงครึ่งเดือนนี้ ส่วนใหญ่คงเป็นหน้าที่ของคุณย่าคุณยายหรือผู้ช่วยคนอื่น เพราะตัวคุณแม่ยังไม่ค่อยแข็งแรงที่จะดูแลทารกด้วยตนเอง แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีใครอื่นเลยนอกจากคนใช้ซึ่งไม่ประสีประสาในเรื่องเลี้ยงเด็ก จึงต้องดูแลด้วยตนเอง คุณควรวางมือจากงานอื่นให้หมด ถึงบ้านจะไม่สะอาดหรืออาหารจะไม่อร่อยสักสองสามอาทิตย์ก็ทนเอาหน่อย เพราะงานดูแลทารกอย่างเดียวก็หนักอยู่แล้ว และถ้าคุณเหนื่อยเกินไปจะมีผลทำให้มีน้ำนมน้อยลง สำหรับคุณแม่ที่โชคดีมีคุณย่าหรือคุณยายช่วยเลี้ยงให้ ถ้าคุณย่าคุณยายเลี้ยงเด็กไม่ตรงตามตำราที่คุณเคยอ่านก็ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลจนเกินไป เพราะวิธีเลี้ยงเด็กมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงตามตำราเล่มใดเล่มหนึ่งเสมอไป

ทารกในระยะหนึ่งสัปดาห์ถึงครึ่งเดือนนี้ จะนอนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่มีข้อกำหนดว่าเด็กอายุเท่านี้จะต้องนอนเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติของเด็กแต่ละคน

จำนวนครั้งที่ปัสสาวะก็เช่นเดียวกัน เด็กบางคนฉี่วันละ 5-6 ครั้ง บางคนวันละ 10 ครั้งก็มี แม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกังวลเรื่องลูกจะฉี่กี่ครั้ง แต่พอถึงเรื่องอึแล้วมักจะวิตกกังวล พอลูกอึหลายครั้งหน่อยก็เกรงว่าท้องจะเสีย เด็กบางคนอาจจะอึวันละครั้ง บางคนอาจจะอึทุกครั้งที่ฉี่ก็มี โดยเฉพาะเด็กที่กินนมแม่จะอึบ่อยและอึมักจะเหลวติดผ้าอ้อมไม่เป็นรูปเป็นร่าง มีกลิ่นเปรี้ยวๆ สีเหลืองก็มี สีเขียวก็มี ซึ่งถือว่าเป็นปกติไม่มีปัญหาอะไร แต่ส่วนใหญ่เด็กที่กินนมแล้วอึ มักจะมีอึสีเหลือง กินนมกี่ครั้งก็อึเท่านั้นครั้งพอๆ กัน

ในระยะสัปดาห์แรก น้ำหนักของทารกมักไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปกติธรรมชาติของทารกมักไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปกติธรรมชาติของทารกแรกเกิดซึ่งยังดูดนมได้ไม่มาก แต่น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่ออายุเกินหนึ่งสัปดาห์แล้ว เพราการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ของทารกเสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะเจริญเติบโตต่อไป

แต่มีบางรายซึ่งทางด้านคุณลูกพร้อมแล้ว แต่ทางคุณแม่ยังไม่พร้อม น้ำนมยังไม่ค่อยไหล ลูกได้รับนมน้อย น้ำหนักจึงไม่ค่อยเพิ่มดังนั้น การที่น้ำหนักของทารกไม่ค่อยเพิ่มในช่วงอายุหนึ่งสัปดาห์ถึงครึ่งเดือนนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะน้ำนมแม่ยังไม่ค่อยไหล ถ้าเปลี่ยนไปให้นมผง น้ำหนักเด็กจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว แต่คุณแม่จะต้องเข้าใจว่า วัตถุประสงค์ของการเลี้ยงเด็กไม่ใช่การเพิ่มน้ำหนักเด็ก และไม่มีอาหารชนิดใดจะประเสริฐสำหรับลูกเท่ากับน้ำนมแม่ เพราฉะนั้นสิ่งแรกที่จะต้องพยายาม คือ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ ถึงแม้น้ำหนักเด็กจะไม่ค่อยเพิ่มในช่วงแรกก็ควรพยายามต่อไป

สำหรับคุณแม่ที่น้ำนมน้อยตั้งแต่นอนอยู่โรงพยาบาล และนางพยาบาลไม่มีเวลาคอยให้นมแม่คัดจึงให้นมผงเพิ่มมาตลอด เมื่อกลับบ้านแล้วคุณก็ยังไม่หมดโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ เสียทีเดียว คุณควรพยายามถึงครึ่งเดือน ถึงแม้ว่าน้ำหนักเด็กจะเพิ่มเฉลี่ยน้อยกว่าวันละ 35 กรัม ถ้าเด็กไม่ร้องกวนจนคุณแม่ทนไม่ไหวล่ะก็ขอให้คุณแม่พยายามเลี้ยงด้วยนมแม่ต่อไป

แต่ถ้าคุณแม่พยายามเต็มที่แล้ว น้ำหนักลูกเพิ่มไม่ถึงวันละ 20 กรัม คุณควรให้นมผงเพิ่มเพราะถ้าปล่อยให้เด็กร้องมากเกินไป สะดือจะโป่งออกมากลายเป็นเด็กสะดือจุ่นไป

ในบางราย น้ำนมคุณแม่ไหลดี แต่เด็กกลับไม่ค่อยยอมดูด ดูดนมได้ 5-6 นาที ก็เลิกดูดหรือหลับไปเลย ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยของเด็กเอง คุณไม่ควรปลุกลูกทั้งๆ ที่นอนหลับสบายเพราะเห็นว่าดูดนมน้อยไป ควรปล่อยให้ปล่อยนอนเพราะเด็กหิวเมื่อไรก็จะร้องเอง เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่จะกำหนดเวลาให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมง เหมือนเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผงไมได้

นอกจากนิสัยเด็กจะแตกต่างกันในเรื่องการกิน การนอน การขับถ่ายแล้ว เด็กแต่ละคนยังแตกต่างกันในเรื่องอื่นๆ อีก เด็กบางคนเปลี่ยนผ้าอ้อมทำความสะอาดให้ทุกครั้งที่ถ่ายก็ไม่วายก้นแดง บางคนสะดือหลุดแล้วก็ยังแฉะอยู่ไม่ยอมแห้ง ต้องเข็ดเสียหน่อย เวลาอาบน้ำเสร็จ เด็กบางคนสะอึกบ่อย บางคนชอบออกแรงเบ่งจนหน้าแดง บางคนพอกินนมเสร็จสัก 2-3 นาที หรือ 20 นาที ก็จะแหวะออกมาแล้วจึงนอนหลับสบาย เด็กบางคนเวลาดูดนมจะรีบร้อนจนสำลัก บางคนเป็นไขที่หัว บางคนมีตุ่มคล้ายๆ สิวที่หน้า ถ้าไม่มากก็หายไปได้เอง

เด็กอายุเท่านี้ ถ้าลองเอามือบีบจมูกจะเริ่มฮึดฮัดขัดขืน และสำหรับเด็กที่ตอนคลอดเอาขาออกมาก่อน ระยะนี้คุณแม่จะเริ่มสังเกตเห็นว่าที่คอข้างซ้ายหรือขวามีก้อนแข็งๆ และเด็กมักจะนอนเอียงศีรษะไปข้างเดียว ควรนำเด็กไปให้หมอตรวจเป็นระยะไป

32. สำหรับผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เมื่อเด็กอายุได้หนึ่งอาทิตย์ถึงครึ่งเดือน จะเริ่มดูดนมแรงขึ้น เรื่องที่คุณแม่จะต้องระวังในตอนนี้ คือ อย่าให้หัวนมเป็นแผล ถ้านมแม่ไหลดี เด็กอาจจะดูดนมข้างเดียวอิ่ม นมอีกข้างก็จะได้พักไปครั้งหนึ่ง จึงจะทำให้โอกาสที่หัวนมอาจเป็นแผลลดน้อยลงไปด้วย ถ้านมไหลดีเด็กจะดูดอยู่ไม่นาน แต่ถ้าน้ำนมไหลไม่ดี เด็กจะดูดนมนานและดูดแรง บางทีดูดแรงตลอด 10-15 นาที ซึ่งทำให้หัวนมเป็นแผลได้ง่าย และเมื่อนมน้อย เวลาให้นมแต่ละครั้งก็ต้องให้ทั้งสองข้าง ทำให้โอกาสที่หัวนมแตกเป็นแผลมีมากขึ้น

ถ้าหัวนมแตกเป็นแผลแล้วล่ะก็คุณแม่จะรู้สึกเจ็บมาก ตอนแรกๆ อาจจะพอทนให้นมได้ แต่ไปๆ ก็จะทนไม่ไหว ต้องให้นมเฉพาะข้างหัวนมยังไม่แตก แต่เมื่อให้นมอยู่ข้างเดียว หัวนมข้างนั้นก็ต้องทำงานหนัก จนหัวนมแตกไปอีกข้าง ถ้าคุณแม่พยายามรักษาความสะอาดหัวนมให้ปราศจากเชื้อโรค ก็ยังไม่เป็นปัญหานัก แต่ถ้าเชื้อโรคเข้าไปแล้วเกิดอักเสบขึ้นมา จนกลายเป็น “เต้านมอักเสบ” ล่ะก็ คุณแม่จะรู้สึกเจ็บร้าวไปทั้งเต้านมและมีไข้จนต้องไปหาหมอ และต้องเลิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องเปลี่ยนไปเลี้ยงด้วยนมผง แม่ส่วนใหญ่ทั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ต้องเสียกลางคันเพราะ “เต้านมอักเสบ” นั้นมีไม่น้อย

ดังนั้น ในระยะหนึ่งสัปดาห์ถึงครึ่งเดือนนี้ สิ่งที่คุณแม่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะต้องเอาใจใส่ที่สุดคือ หัวนมจะต้องสะอาดอยู่เสมอ สวมเสื้อชั้นในที่สะอาด ผ้าซับน้ำนม (อาจใช้ผ้าขนหนูสะอาด ผืนเล็กๆ พับสอดไว้ใต้เสื้อยกทรง) จะต้องเปลี่ยนวันละ 5-6 ครั้ง ก่อนให้นมคุณแม่ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์หรือน้ำต้มสุกเช็ดหัวนมให้สะอาด แต่อย่าเช็ดให้แรงนักเดี๋ยวจะเป็นแผล ถ้าคุณมั่นใจว่าหัวนมสะอาดอยู่แล้วก็ไม่ต้องเช็ดก็ได้ เวลาให้นมลูก ควรจับนมใส่ให้เต็มปาก จนถึงบริเวณขอบดำรอบหัวนม อย่าให้ดูดเฉพาะหัวนม และอย่าให้เด็กดูดนมแต่ละข้างนานเกิน 15 นาที เวลาจะเอาหัวนมออกจากปากเด็กอย่าฝืนดึงออกมาแรงๆ ถ้าเด็กไม่ยอมปล่อย ใช้มือกดข้างแก้มทั้งสองข้าง ปากของเด็กจะเผยอแล้วค่อยดึงหัวนมออกมา

ในกรณีที่นมแม่ไม่พอต้องให้นมผงเพิ่ม ควรใช้วิธีสลับแทนที่จะให้นมผงตามทุกครั้ง (ดู 8. นมแม่ไม่พอหรือเปล่า “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 3) เพราะเหตุผลอย่างหนึ่ง คือ หัวนมแม่จะได้มีโอกาสพักตอนที่ให้นมผง และทำให้โอกาสที่หัวนมแตกลดน้อยลง

คุณแม่บางรายจะมีน้ำนมมากขึ้นหลังจากที่พยายามให้ลูกดูดนมไปแล้วครึ่งเดือน ดังนั้น ถ้าคุณล้มเลิกความตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ก่อนครึ่งเดือน อาจจะเป็นการตัดสินใจเร็วเกินไป

คุณแม่บางรายอาจมีปัญหาว่า ลูกดูดนมข้างเดียวไม่พอ จึงต้องให้อีกข้างหนึ่ง แต่ข้างที่สองดูดไม่หมดเหลืออยู่ ในกรณีนี้ควรจะปั๊มนมที่เหลือออกเสียหรือเก็บไว้ให้ดูดคราวต่อไปดีหรือไม่

สำหรับปัญหานี้ คุณแม่ควรจะทดลองดูทั้งสองอย่าง คือ เมื่อนมเหลืออยู่ก็ลองปั๊มออกให้หมดล้าถึงเวลาให้นมครั้งต่อไปน้ำนมไหลดีขึ้น ก็ควรปั๊มออก เพราจุดประสงค์ในการปั๊มนมออกให้หมดก็เพื่อกระตุ้นต่อมน้ำนมให้ทำงานนั่นเอง ไม่ใช่เพราะกลัวว่านมจะเสีย นมที่อยู่ในเต้านมแม่นั้นไม่เสียแน่ แต่ถ้าคุณลองทั้งสองอย่างแล้วปรากฏว่าให้ผลเหมือนกัน คือปั๊มนมออกหรือไม่ปั๊มออก การไหลของนมครั้งต่อไปก็เหมือนๆ กันล่ะ ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาปั๊มออก เพราะแสดงว่าสำหรับคุณ การเอานมออกให้หมดเต้า ไม่มีผลในการกระตุ้นน้ำนมแต่อย่างใด

สำหรับเรื่องช่วงเวลาให้นมควรห่าง 2 ชั่วโมงดีหรือ 3 ชั่วโมงดีนั้น 3 ชั่วโมงย่อมดีกว่า 2 ชั่วโมงแน่ เพราะคุณแม่จะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น แต่ในระยะนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือ พยายามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ ไม่ว่าช่วงเวลาให้นมจะห่างเพียง 2 ชั่วโมงหรือต่ำกว่านั้นก็ตาม คุณไม่ควรเอาช่วงเวลาให้นมเป็นมาตรฐานในการตัดสินว่าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีหรือไม่ เช่น ถ้าช่วงเวลาให้นมห่างไม่ถึง 3 ชั่วโมง ก็เลยเลิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างนี้ไม่ถูกต้อง

การไหลของนมแม่ในระยะนี้ยังไม่สม่ำเสมอ บางเวลานมไหลดี ลูกกินนมได้เต็มอิ่มจึงทิ้งช่วงนาน บางเวลานมไม่ค่อยไหล ลูกจะหิวเร็ว ดังนั้น บางครั้งเด็กจะนอนถึง 4 ชั่วโมง บางครั้งเพียง 2 ชั่วโมง ก็ร้องหิวอีกแล้ว ช่วงเวลาให้นมห่างไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกครั้ง คุณควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

33. วิธีรีดนมแม่

สำหรับทารกไม่ครบกำหนดซึ่งต้องอยู่ในตู้อบ และดูดนมแม่ไม่ได้นั้น แม่อาจให้นมได้โดยการรีดนมแม่ใส่ขวดให้ แต่ตามโรงพยาบาลทั่วไปมักไม่ทำเพราะยุ่งยาก ทั้งๆ ที่นมแม่จำเป็นสำหรับเด็กที่อ่อนแอยิ่งกว่าเด็กปกติเสียอีก และการให้นมแม่ยังช่วยกระตุ้นน้ำนมของแม่ไม่ให้แห้งไป เมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลจะได้เลี้ยงด้วยนมแม่ต่อไปได้ทันที

การรีดนมแม่ใส่ขวดอาจทำได้โดยใช้ที่ปั๊มนม แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ ใช้มืดรีด ก่อนทำการรีดนม แม่ต้องล้างมือทั้งสองข้างด้วยสบู่ให้สะอาดหมดจดเสียก่อนคุณจะนั่งบนพื้นหรือบนเก้าอี้ก็ได้ ใช้มือขวารีดเต้านมซ้ายและใช้มือซ้ายรีดเต้านมขวา

การรีดนม ไม่ใช่การบีบนมออกจากหัวนมแต่รีดจากท่อน้ำนมมีประมาณ 10 กว่าท่อ ซึ่งอยู่ใต้บริเวณขอบดำรอบหัวนม เมื่อบีบบริเวณนี้ น้ำนมจะออกจากท่อ เมื่อในท่อไม่มีน้ำนม น้ำนมจะไหลเข้ามาแทนที่จากต่อมน้ำนมจนเต็ม

ข้อมูลสื่อ

8-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 8
ธันวาคม 2522