• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จุดค็อพหลิก-ผื่นในกระพุ้งแก้ม

“คอลัมน์นี้ จะสอนให้รู้จักอาการและโรคต่างๆ รวมทั้งวิธีตรวจร่างกายด้วยตนเอง ซึ่งผู้อ่านนำไปปฏิบัติได้เลย หรือภายหลังจากที่ได้ฝึกจากผู้รู้สักครั้งสองครั้ง เราจะนำมาเสนอเป็นประจำทุกครั้ง”

จุดค็อพหลิก-ผื่นในกระพุ้งแก้ม

กุญแจของการวินิจฉัยโรคหัด

ท่านผู้อ่านครับ ผมเชื่อว่าท่านคงเคยพบลูกหลานหรือญาติพี่น้องคนรู้จัก ที่ออกหัดมาบ้าง ไม่มากก็น้อยใช่ไหมครับ

โรคนี้พบได้บ่อยมากขนาดที่ชาวบ้านเราเชื่อกันว่า เด็กๆ ทุกคนที่เกิดมาจะต้องเป็นหัด เด็กคนไหนไม่ได้ออกหัดซิกลับกลายเป็นคนประหลาดไปเสียฉิบ

ครับ หัดเป็นโรคระบาดได้รวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมันเกิดจากเชื้อหัด ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ติดต่อได้ง่ายเหมือนกับไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่นั่นแหละ เพียงแต่อยู่ใกล้กันสูดเอาเชื้อหัดเข้าไปทางปากหรือจมูก หลังจากนั้นสุก 9-11 วัน ก็เกิดอาการเสียแล้ว

ชาวบ้านเราจึงรู้ว่า ถ้าเด็กมีอาการเป็นหวัดน้ำมูกเกรอะกรัง แต่อาการตัวร้อนผิดไปจากไข้หวัดธรรมดา คือ ตัวร้อนคืนยังรุ่งวันยังค่ำ (ตัวร้อนตะพด) กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ค่อยลง เด็กร้องกวนงอแงมาก เบื่ออาหาร บางครั้งมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวคล้ายท้องเดิน หน้าตาแดงจัด ตาบวม และเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทีเดียวหลายคน ก็ให้สงสัยว่าจะออกหัดไว้ก่อน แล้วก็ขวนขวายหายาเขียวให้เด็กกิน กระทุ้งให้ผื่นออก เมื่อผื่นออก (หลังจากเป็นไข้สูงอยู่ได้ 3-4 วัน) ก็รู้สึกโล่งอกว่าใช่หัดแน่แล้ว

ชาวบ้านเราจึงวินิจฉัยโรคหัดได้เมื่อมีอาการได้ 4 วันไปแล้ว

แต่ทางหมอเรานั้นมีทางที่จะรู้ก่อนชาวบ้านถึง 2 วัน

ก็ด้วยการตรวจดูบริเวณกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง จะพบจุดเหลืองๆ ขาวๆ เท่าเมล็ดงา (รูปที่ 1) จุดนี้ก็คือ ผื่นของหัดที่ขึ้นที่กระพุ้งแก้มก่อนขึ้นที่ผิวหนัง 2 วัน (หรือขึ้นหลังมีไข้ได้ 2 วัน) จุดนี้ฝรั่งเรียกว่า จุดค็อพหลิก (Koplik’s spot)

ท่านผู้อ่านครับ ต่อจากนี้ไป ถ้าสงสัยว่าเด็กจะออกหัด ก็ให้เอาปลายด้ามช้อนส้อมเลิกดูกระพุ้งแก้มทั้ง 2 ข้าง เอาไฟฉายส่องดูตรงข้างในกระพุ้งแก้ม โดยเฉพาะตรงบริเวณที่ตรงกับฟันกรามอันล่าง

หากพบจุดค็อพหลิก ก็ให้แน่ใจได้เลยว่าเป็นโรคหัด

การดูแลรักษา

หัดเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นเดียวกับ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม ฯลฯ การรักษานั้นก็ง่ายนิดเดียว คือให้การดูแลรักษาไปตามอาการ

มีอาการตัวร้อนก็เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น และให้ดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าอยากให้ยาช่วยลดไข้ก็ให้ ยาเม็ดแอสไพรินสำหรับเด็ก หรือเบบี้แอสไพริน เด็ก 1 ขวบ ให้ 1 เม็ด 2 ขวบ ให้ 2 เม็ด หรือให้เป็น ยาน้ำเชื่อมพาราเซตามอล  ครั้งละ 1/ 2- 1 ช้อนชาก็ได้ แต่อาการไข้มักจะไม่ค่อยลด สู้เช็ดตัวไม่ได้ นอกจากนี้ ถ้ามีอาการไอ ก็ให้ยาแก้ไอน้ำเชื่อม จิบครั้งละ 1/ 2 – 1 ช้อนชา ทุก 6 ช.ม.

ถ้ากลัวเด็กจะชักจากไข้สูง (โดยเฉพาะถ้าเคยมีประวัติชักมาก่อนหรือพี่น้องเคยชัก) ก็ให้ยากันชัก เช่น ยาเม็ดฟีโนบาร์บิทอล ครั้งละ ½- 1 เม็ด เช้าและก่อนนอน ยานี้ยังช่วยให้เด็กได้นอนหลับพักผ่อนอีกด้วย ส่วนยาปฏิชีวนะนั้นไม่ควรให้ หมอเราเชื่อว่า นอกจากจะไม่มีความจำเป็นแล้ว อาจทำให้เกิดโทษอีกด้วย

ออกหัดไม่ต้อง พาเด็กไปฉีดยาให้เด็กเจ็บตัวและเสียเงินเปล่า โรคนี้จัดอยู่ในประเภท “เป็นเองหายเอง” อาการไข้และอาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากผื่นเริ่มจาง เด็กมักจะหายดีภายใน 10-14 วัน แต่บางคนอาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้เหมือนกัน ที่พบบ่อย คือ โรคปอดบวม เด็กจะกลับมีไข้สูงและไอหอบมาก บางคนมีอาการท้องเดิน หรือมีหูน้ำหนวกไหล

ที่สำคัญ คือ โรคสมองอักเสบ เด็กจะมีอาการชักและซึมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่ค่อยรู้สึกตัว ทำให้สมองถึงพิการหรือถึงแก่ชีวิตได้ แต่โชคดีที่เกิดขึ้นไม่มากนัก โรคแทรกซ้อนเหล่านี้ มักจะเกิดในเด็กที่ร่างกายอ่อนแอหรือขาดอาหาร ดังนั้นเด็กที่ออกหัดนั้น ควรได้กินอาหาร พวกเนื้อ นม ไข่ ให้มากๆ เพื่อจะได้มีแรงต้านทานโรคได้ ไม่ใช่ห้ามเด็กกินไข่ กินเนื้อ เพราะถือว่าเป็นของแสลง ดังเช่นที่ชาวบ้านเรายังถือปฏิบัติกันอยู่ไม่น้อย อดของแสลงจนกลายเป็นโรคขาดอาหารไปเลยก็มี

ส่วนความเชื่อเรื่องออกหัดต้องกินยาเขียวกระทุ้งให้ผื่นออก ไม่ให้หลบในนั้น จะถือปฏิบัติกันต่อไปก็คงจะไม่มีข้อห้ามอะไร เพราะเด็กควรได้รับน้ำมากๆ อยู่แล้ว การกินยาเขียวก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้เด็กได้ดื่มน้ำ ส่วนจะช่วยกระทุ้งให้ผื่นขึ้นด้วยหรือเปล่า คงตอบไม่ได้ ที่ตอบได้แน่ๆ คือ ถึงแม้จะไม่กินยาเขียว ผื่นก็ออกได้ตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

หัดถือเป็นเรื่องเล็กเพราะเป็นกันมาก แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ถ้าหากเป็นโรคแทรกซ้อนขึ้นมา ทางที่ดี ควรหาทางป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเสียตั้งแต่เด็กอายุได้ขวบหนึ่งขึ้นไป ฉีดเพียงเข็มเดียว กันได้ตลอดไป เสียอย่างเดียวที่มันราคา 200 กว่าบาท เมื่อไหร่ฉีดได้ราคาถูก เหมือนวัคซีนป้องกันไอกรน คอตีบ บาดทะยักก็จะดีนะครับ

คำอธิบายภาพ

1. จุดค็อพพลิกเป็นจุดสีเหลืองเท่าเมล็ดงาที่กระพุ้งแก้ม

2. ผื่นของหัดขึ้นที่หลัง

3. ผื่นของหัดขึ้นที่หน้า

4. ผื่นของหัดขึ้นที่หน้าและหน้าอก และรูปในวงกลมแสดงให้เห็นจุดค็อพพลิก (เห็นเป็นจุดสีขาวๆ ตรงกับฟันกรามล่าง

ข้อมูลสื่อ

9-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
มกราคม 2523
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ