• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขอนมคนอื่น

34. ขอนมคนอื่น

ในสมัยก่อนถ้านมแม่ไม่พอ เรามักจะหาแม่นมให้ลูก แต่ในปัจจุบันแม่ส่วนใหญ่จะหันไปพึ่งนมวัวแทน เพราะการขอนมคนอื่นนั้นยุ่งยาก และคุณแม่เองก็คิดว่าเลี้ยงด้วยนมผง ดีกว่าเลี้ยงด้วยนมคนอื่น อันที่จริงแล้ว ทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน ควรได้รับการเลี้ยงด้วยนมคนจะดีที่สุด ในบางประเทศ จะมีการจ้างแม่นมประจำโรงพยาบาล

ในบางประเทศมีระบบรวบรวมนมแม่ที่เหลือจากบรรดาแม่ที่มีนมมากมารวมไว้ที่โรงพยาบาล เพื่อใช้เลี้ยงเด็กอ่อนที่แม่มีนมไม่พอหรือแม่ป่วยให้นมไม่ได้ สำหรับคุณแม่ที่มีนมไม่พอและพอจะหาแม่นมได้ ควรเลี้ยงลูกด้วยนมคนดีกว่านมวัว แต่คุณจะต้องแน่ใจว่าแม่นมไม่ได้ป่วยเป็นโรคติดต่อ เช่น วัณโรค หรือ ซิฟิลิส ในกรณีที่แม่นมมาให้นมที่บ้านคุณไม่ได้ และการพาเด็กอ่อนไปบ้านแม่นมวันละหลายครั้งเป็นเรื่องยุ่งยาก คุณอาจให้แม่นมรีดนมใส่ขวดนมที่สะอาดแล้วเอากลับมาบ้าน เมื่อถึงบ้านก็นึ่งฆ่าเชื้อโรคทั้งขวด แล้วเก็บไว้ในตู้เย็น เวลาต้องการจึงเอาออกมาอุ่นให้เด็ก การทำอย่างนี้วิตามินอาจเสียไปบ้าง แต่ถึงอย่างไร นมคนก็ยังดีกว่านมวัวอยู่นั่นเอง สำหรับวิตามินที่ขาดไป เราสามารถให้วิตามินเพิ่มแก่เด็กได้

35. สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมวัว

ถ้าเด็กมีแรงดูดนมดี แต่เมื่อมีน้ำนมน้อยไม่ค่อยไหล พอแม่ให้นมผงเพิ่ม เด็กจะดูดนมจากขวดอย่างหิวกระหายทีเดียว และถ้าคุณแม่ใช้วิธีให้นมวัวตามด้วยทุกครั้งที่ให้นมแม่ เด็กจะไม่ค่อยยอมดูดนมแม่แต่จะคอยดูดนมจากขวดซึ่งดูดง่ายกว่า ไม่ว่าคุณจะให้ลูกกินนมแม่สลับกับนมผงหรือให้นมผงแต่อย่างเดียวก็ตาม เด็กจะดูดได้มากขึ้นเรื่อยๆ เด็กอายุหนึ่งสัปดาห์ถึงครึ่งเดือน เรามักจะให้นมประมาณ 100 ซี.ซี. ต่อครั้ง โดยใส่นมผง 3 ช้อนครึ่งถึงช้อน แต่พอเด็กอายุใกล้ครึ่งเดือน ถ้าเด็กกินเก่ง นม 100 ซี.ซี. อาจไม่พอ

เด็กบางคน เมื่อแรกเกิดน้ำหนักมากกว่า 3.5 กิโลกรัม พออายุได้ 10 วันน้ำหนักเพิ่มขึ้นเกือบถึง 4 กิโลกรัม และให้นมถึง 150 ซี.ซี. ก็กินหมด แต่สำหรับเด็กอายุไม่ถึงครึ่งเดือนนั้น ไม่ควรให้นมแต่ละครั้งเกิน 120 ซี.ซี. เพื่อป้องกันเด็กอ้วนเกินไป ส่วนเด็กบางคนซึ่งกินไม่เก่ง ชงนมให้ครั้งละ 100 ซี.ซี. จะดูดได้เพียง 70 ซี.ซี. เท่านั้น เด็กที่คลอดครบกำหนด แต่ตัวเล็กน้ำหนักเพียง 5.2 กิโลกรัม มักจะเป็นเด็กกินน้อยอย่างนี้ สำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว ถ้าเราสามารถให้นมได้ทุก 3 ชั่วโมง วันละ 7 ครั้ง จะเป็นการสะดวกสำหรับคุณแม่มาก แต่เด็กอายุหนึ่งสัปดาห์ถึงครึ่งเดือนบางคนก็ไม่สามารถดูดนมครั้งละมากพอที่จะอยู่ได้นานถึง 3 ชั่วโมง ในกรณีนี้ ควรให้ช่วงห่าง ของมื้อนมสั้นลง และให้จำนวนครั้งมากขึ้น แต่ช่วงห่างระหว่างมือไม่ควรต่ำกว่า 2 ชั่วโมง

เด็กคลอดก่อนกำหนดซึ่งกินนมได้น้อย ครั้งละไม่ถึง 50 ซี.ซี. ต้องให้วันละ 9 ครั้งก็มี แต่ถ้าเด็กที่น้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 3 กิโล และอายุเกินหนึ่งสัปดาห์แล้วยังกินนมไม่ได้ครั้งละ 50 ซี.ซี. นั้นเป็นเรื่องผิดปกติ คุณแม่ควรปรึกษาหมอ

คุณแม่ส่วนใหญ่มักไม่สบายใจเมื่อลูกกินนมได้น้อย แต่คุณไม่ควรบังคับให้ลูกกินนม การเปลี่ยนนมเป็นนมตราอื่นมักจะไม่ได้ผล คุณควรลองชงนมให้จางลงเล็กน้อย และถ้าเดิมเคยใส่น้ำตาลหรือแป้งก็ควรเลิกใส่ หรือลองเปลี่ยนหัวนมยาง รูหัวนมอาจเล็กเกินไป ทำให้เด็กเหนื่อยจึงเลิกดูด นอกจากนั้น รูปร่างลักษณะและความแข็งของหัวนม ถ้าต่างจากหัวนมแม่ที่เด็กเคยดูดมาก เด็กอาจไม่อยากดูด ควรหาหัวนมที่ใกล้เคียงกับหัวนมแม่ที่สุด เด็กบางคนอาจไม่ชอบกลิ่นหัวนมที่ทำจากยางธรรมชาติ ในกรณีนี้คุณควรลองเปลี่ยนไปใช้หัวนมจากยางวิทยาศาสตร์ซึ่งราคาค่อนข้างแพง แต่ถ้าลูกยอมดูดก็จะคุ้มค่า เพราะใช้ได้นาน

36. จำเป็นต้องเพิ่มวิตามินให้ทารกหรือไม่

ปกติเด็กจะได้รับวิตามินจากแม่ตั้งแต่อยู่ในท้อง และจะสะสมไว้ในร่างกาย เมื่อเด็กคลอดออกมาจะมีวิตามินสะสมอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน แต่ถ้าแม่กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ทารกอาจขาดวิตามินบางชนิดและกลายเป็นโรคได้ ดังนั้นในระหว่างตั้งครรภ์ ถ้าแม่ไม่ได้กินวิตามินให้ครบถ้วน เด็กอาจสะสมวิตามินไว้ไม่พอ เราจึงให้วิตามินเพิ่มเพื่อเป็นการป้องกันโรคขาดวิตามินบางชนิด โดยเฉพาะเด็กที่คลอดไม่ครบกำหนด ตัวเล็กและสะสมวิตามินได้น้อย จำเป็นต้องให้วิตามินเพิ่ม โดยเริ่มให้เมื่อเด็กอายุครบ 15 วัน

ถ้าเด็กขาดวิตามินดี จะเป็นโรคกระดูกอ่อน ตามปกติถ้าเราถูกแสงแดด ผิวหนังจะสร้างวิตามินดีขึ้นมา แต่เรามักจะไม่ให้เด็กอ่อนถูกแสงแดด จนกว่าอายุจะครบหนึ่งเดือน ดังนั้นจึงต้องให้วิตามินดี เพิ่มเมื่ออายุครบ 3 สัปดาห์ (ให้ประมาณ 400 ยูนิตต่อวัน)

ถ้าเด็กยาดวิตามินซี จะเป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน สำหรับเด็กที่กินนมแม่จะไม่ขาดวิตามินซี เว้นแต่ว่าแม่ไม่กินผักสดผลไม้เลย ส่วนเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผงนั้น ถึงแม้ในนมจะวิตามินซีผสมอยู่ แต่ถ้าเวลาชงใช้น้ำร้อนจักเกินไป วิตามินซีก็จะถูกทำลาย ควรให้วิตามินซีเพิ่มเมื่ออายุได้ 2-3 อาทิตย์ ประมาณวันละ 25 มิลลิกรัม หรือให้น้ำส้มคั้น 50 ซี.ซี. (น้ำส้มคั้นผสมน้ำสุกเท่าตัว)

ถ้าเด็กขาดวิตามินเอ จะเป็นโรคตา ดังที่ชาวบ้านเราเรียกว่า “เกล็ดกระดี่ขึ้นตา” (ดูใน “หมอชาวบ้าน” ปีที่ 1 ฉบับที่ 4) ถ้าขาดมากอาจถึงตาบอดได้ วิตามินเอมักมีผสมอยู่ในนมผงและไม่ถูกทำลายเมื่อถูกความร้อน ในน้ำนมแม่ก็มิวิตามินเออยู่มาก (ประมาณ 200-500 หน่วยต่อ 100 ซี.ซี.) ดังนั้นอาจไม่ต้องเพิ่มให้ก็ได้ แต่ถ้าต้องการให้เพื่อเป็นการป้องกัน ควรให้วันละ 1,500-2,000 หน่วย อย่าเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวานแต่แรกเกิดเชียว ตาบอดมามากมายแล้ว

ถ้าเด็กขาดวิตามินบีหนึ่ง จะเป็นโรคเหน็บชา วิตามินบีหนี่งมีในนมผงมากกว่านมแม่ เด็กอ่อนต้องการวิตามินบีหนึ่งวันละ 0.5 มิลลิกรัม ถ้าแม่ชอบกินแต่ข้าวขาว ไม่ชอบกินขนมปังและไม่กินอาหารอย่างอื่นให้พอเพียง วิตามินบีหนึ่งในนมแม่อาจมีน้อย เนื่องจากเราไม่รู้ว่านมแม่มีวิตามินบีหนึ่งพอหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกัน ควรให้เด็กวันละ 0.5 มิลลิกรัม

สำหรับเด็กอ่อน การกินน้ำมันตับปลาจะแรงเกินไป และถ้าให้น้ำผลไม้อาจท้องเสียได้ง่าย เราจึงให้วิตามินรวมสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาด (ถ้าจะให้ควรให้หมอแนะนำ) วิตามินรวมสำหรับเด็ก ส่วนมากจะมีวิตามินเอ ดี ซี บี และอื่นๆ ตามปริมาณที่จำเป็นสำหรับทารก แต่คุณแม่ควรระวังอย่าให้ปริมาณวิตามินเอและดีมากเกินจำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นถ้าให้วิตามินรวมแก่ทารก อย่าเพิ่มปริมาณให้ตามใจชอบเป็นอันขาดเมื่อเด็กโตขึ้นออกไปถูกแสงแดดได้ และให้น้ำผลไม้ได้แล้ววิตามินรวมก็ไม่จำเป็น

นมผงในปัจจุบันมักใส่วิตามินที่จำเป็นสำหรับทารกไว้ครบถ้วน แต่เด็กอ่อนอายุไม่ถึงเดือนยังกินนมไม่ได้มากนัก วิตามินที่ได้จากนมอาจไม่พอเพียง ควรเพิ่มให้เพื่อความปลอดภัย

37. การดูแลเด็กหลังอาบน้ำ

หลังอาบน้ำเด็ก เรามักจะโรยแป้งให้กันจะเป็นประเพณีไปแล้ว แต่ที่จริงแล้วเด็กไม่ได้เป็นผื่รที่ตรงไหน หลังอาบน้ำก็ไม่จำเป็นต้องทาอะไรให้เลย แต่ถ้าผิวบริเวณก้นออกจะแดง ควรทาแป้งให้บางๆ อย่าทาให้หนากระทั่งเวลาเหงื่อออกจับแข็งเป็นก้อนระคายผิวเด็ก เวลาทาแป้งบริเวณหน้าอกหรือลำคอ อย่าโรยบนตัวเด็กโดยตรง เพราะจะฟุ้งเข้าจมูก ควรทาแป้งใส่ฝ่ามือแม่เสียก่อนแล้วค่อยๆ ทาให้

น้ำมันหรือครีมทาตัวเด็กหลังอาบน้ำ ไม่จำเป็นต้องใช้ ของเหล่านี้จำเป็นสำหรับเมืองหนาวเพราะอาบน้ำให้เด็กบ่อยไม่ได้จึงใช้นำมันเช็ดแทน เมืองร้อนอย่างบ้านเรา อาบน้ำล้างตัวให้เด็กได้ทุกวัน จำไม่จำเป็น คุณแม่บางคนเห่อของนอก ทำตามฝรั่งโดยไม่ดูเหตุผลว่าเขาใช้เพื่ออะไร เขาใช้น้ำมันทาตัวเด็กก็ใช้บ้าง ซึ่งบางรายก็ได้ผลทันตาเห็น ลูกเป็นผื่นแดงไปทั้งตัว เพราะรูผิวหนังถูกน้ำมันปิด อากาศที่ทั้งร้องทั้งชื้น (โดยเฉพาะหน้าฝน) อย่างเมืองไทย ควรปล่อยให้ผิวหนังมีรูหายใจจะดีกว่า

ข้อมูลสื่อ

9-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
มกราคม 2523