• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ช่วยกันรักษาสุขภาพในช่องปากของเด็กๆ กันเถอะ

ช่วยกันรักษาสุขภาพในช่องปากของเด็กๆ กันเถอะ

เกือบจะร้อยทั้งร้อยของเด็กที่มาหาทันตแพทย์ มักมีอาการปวดฟันหรือเหงือกเป็นหนอง เนื่องจากมีรากฟันผุๆ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการถอนฟันออก น้อยรายนักที่ผู้ปกครองจะพาเด็กมาหาทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปาก

ฟันน้ำนมกับเด็ก

ฟันน้ำนม..ธรรมชาติสร้างขึ้นมาในสภาพที่เหมาะสมกับปากน้อยๆ ของเด็ก ธรรมชาติกำหนดหน้าที่ให้ใช้บดเคี้ยวอาหารแทนฟันแท้ ซึ่งฟันแท้นั้นจะมีขึ้นมารับหน้าที่ตั้งแต่อายุ 6 ขวบเป็นต้นไป และเมื่ออายุประมาณ 12 ขวบ ฟันแท้ก็จะขึ้นมาเกือบครบทุกซี่ (ยกเว้นฟันกรามซี่สุดท้าย) แต่ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ต้องสูญเสียฟันน้ำนมไปหลายซี่ก่อนถึงเวลาอันสมควร บางรายอายุเพียง 3-4 ปี ฟันน้ำนมทุกซี่ที่มีอยู่ในปากอยู่ในสภาพที่ใช้การไม่ได้เสียแล้ว หากลูกหลานของท่านมีสภาพเป็นอย่างนั้นท่านทราบมั้ยว่า จะมีผลเสียอะไรเกิดขึ้นกับเด็กบ้าง

ประการแรก ระยะที่เด็กมีฟันน้ำนมขึ้นครบทุกซี่ เมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ เป็นต้นไปนั้น นับว่าเป็นระยะที่เด็กกำลังมีการเจริญเติบโตในทุกๆ ส่วนของร่างกาย ซึ่งแน่ล่ะ เด็กย่อมต้องการอาหารที่เป็นประโยชน์มากที่สุด หากในสภาพที่อาหารดีๆ มีประโยชน์เหล่านั้นมีอยู่พร้อม แต่เด็กไม่สามารถกินได้โดยสะดวก เนื่องจากมีความเจ็บปวดฟันทุกครั้งที่เคี้ยวอาหาร ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะเกิดความรู้สึกไม่อยากกินอาหารแล้ว เด็กจะไม่สามารถเคี้ยวอาหารให้ละเอียดได้ อาหารเหล่านั้นก็คงจะไม่ได้ประโยชน์แก่เด็กเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ของเด็กย่อมไม่สามารถย่อยและดูดซึมอาหารที่มิได้ผ่านการบดเคี้ยวอย่างสมบูรณ์ได้

ประการที่สอง ธรรมชาติจงใจสร้างฟันน้ำนมขึ้นมาเพื่อเป้ฯผู้ควบคุม และกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรของเด็ก เป็นไปอย่างได้สัดส่วนในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ฟันแท้ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสามารถขึ้นมาแทนที่ได้อย่างเป็นระเบียบในวันข้างหน้า และในขณะเป็นเด็กฟันแท้ยังมีสภาพไม่สมบูรณ์ โดยมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆ ฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรล่างและบน ฟันน้ำนมจึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความกระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของฟันแท้ ดังนั้นการสูญเสียฟันน้ำนมซี่หนึ่งซี่ใดไป โอกาสที่ฟันแท้ซึ่งเจริญอยู่ข้างใต้จะได้รับอันตรายย่อมมีมากขึ้น จึงพบเสมอว่าเด็กที่สูญเสียฟันน้ำนมหลายๆ ซี่ก่อนเวลาอันสมควร จะมีปัญหามากมายสำหรับฟันแท้ที่ขึ้นมาแทนที่ในภายหลัง เช่น มีฟันซ้อนเก กระดูกขากรรไกรไม่เจริญเท่าที่ควร ฟันผุง่าย เป็นต้น

‘ไม่ทราบว่าสองประการที่กล่าวมานั้น จะพอที่จะกระตุ้นให้ท่านผู้เป็นพ่อและแม่ หันมาเอาใจใสฟันของคุณหนูๆ อย่างจริงจังหรือยัง ถ้ายังไม่พอ มีอีกประการที่ใคร่เสนอให้ท่านพิจารณา...คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็ก’

เมื่อปวดฟัน ทำไมเด็กไม่อยากมาหาหมอฟัน

ก็คงเกือบจะร้อยทั้งร้อยอีกเหมือนกัน กว่าที่ท่านจะพาลูกหลานของท่านมาหาหมอฟันได้ เด็กๆ เหล่านั้นต้องผ่านขบวนการ ปลุก-ปลอบ-ข่มและขู่ มาอย่างเรียบร้อยแล้ว และไม่ว่าเด็กๆ จะไดัรับสัญญา (ที่ผิดๆ) อย่างใดๆ จากพ่อหรือแม่ ในการมาหาหมอฟันก็ตามที เด็กๆ เหล่านั้น จะต้องพกเอาความหวาดกลัวอย่างเต็มสติกำลังมาหาหมอฟันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ไม่เคยไปหาหมอฟันเลย และครั้งแรกที่ต้องมานั้น ก็มาพร้อมกับมีอาการปวดฟันมากเสียด้วย ซึ่งแน่ล่ะเมื่อมาพบหมอฟันเด็กก็ต้องพยายามขัดขืนเพื่อไม่ให้ถูกถอนฟัน แต่ถ้าหากมีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องรักษาเพราหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กแล้วล่ะก็ หมอฟันและผู้ปกครองก็จำเป็นต้องใช้ขบวนการ ปลุก-ปลอบ-ข่มและขู่อีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นคำรบสอง ในรายที่มีฤทธิ์มากเหลือกำลัง กรรมวิธีในการจับยึดขาและแขนก็ถูกนำมาใช้และหากหนูน้อยปิดปากแน่น หมอฟันก็อาจใช้นิ้วเหล็ก (เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกัดนิ้วหมอ) ช่วยอ้าปากเด็กเอาไว้ในระหว่างทำการรักษา

ท่านผู้เป็นพ่อและแม่ ลองคิดดู หากท่านอยู่ในสภาพเช่นนั้นจะเป็นอย่างไร สำหรับเด็กในด้านของร่างกาย...แน่ละเด็กย่อมพ้นทุกข์ทรมานจากอาการปวดฟันหรือเหงือกเป็นหนอง เพราะหมอฟันสามารถถอนฟันและทำการรักษาได้ แต่ในด้านจิตใจเล่า เด็กที่ถูกข่มขืนจิตใจให้ได้รับการรักษาเช่นนั้น ก็คงจะเก็บประสบการณ์อันไม่ดีเช่นนั้นไว้ตลอดไป เคยพบเสมอว่าผู้ใหญ่หลายคนไม่อยากไปหาหมอฟันทั้งๆ ที่มีความทุกข์ทรมานมากในปาก ทั้งนี้เนื่องจากมีประสบการณ์ในอดีตต่อหมอฟันในทางไม่ดีมาก่อน นอกจากนี้ลูกหลานของท่านเมื่อได้พบกับเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็คงไม่อยากไปหาหมอฟันแต่โดยดีอีกต่อไป ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีแก่ตัวเด็กเลย

ท่านผู้เป็นพ่อและแม่ ท่านทั้งสองเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ หรือ แม้แต่ทำให้ไม่เกิดขึ้นกับลูกๆ ของท่านเลย วิธีการก็มิได้ยากเย็นอะไรเลย อาศัยเพียงเวลากับความเอาใจใส่เพิ่มมากกขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย ประกอบกับความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับสุขภาพในช่องปากเท่านั้น

ฟันผุเพราะไม่รักษาให้ดี

ฟัน..ไม่ว่าจะเป็นฟันแท้หรือฟันน้ำนม.. ซึ่งธรรมชาติจะบรรจงสร้างขึ้นมาให้มีลักษณะที่แข็งแรงกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกายนั้น มิใช่เพื่อให้เกิดความสวยงามเท่านั้น แต่เพื่อให้สามารถรับหน้าที่ทำการเคี้ยวได้ตลอดชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ฟันก็ยังมีจุดอ่อนในตัวเองโดยธรรมชาติ กล่าวคือ ภายหลังกินอาหารทุกมื้อ มักจะมีเศษอาหารเล็กๆ ติดอยู่ตามซอกฟันหรือจับเป็นคราบอยู่ตามตัวฟัน หรือในช่องฟันที่มีเศษอาหารเหล่านั้นจะถูกเชื้อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในช่องปาก ทำการย่อยให้สลายตัวลงเพื่อเป็นอาหารของเหล่าจุลินทรีย์เหล่านั้น และจากการย่อยสลายเศษอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแป้ง และของหวานชนิดต่างๆ โดยเชื้อจุลินทรีย์นี้เองจะมีสารประเภทกรดเกิดขึ้น กรดที่เกิดขึ้นนี้แม้จะเป็นกรดอย่างอ่อน แต่ก็มีความสามารถที่จะทำลายผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันให้ผุกร่อนได้ และยิ่งหากฟันไม่เคยได้รับการเอาใจใส่ดูแลความสะอาดเลย หรือทำความสะอาดอย่าลวกๆ ทำให้มีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซี่ฟันตลอดเวลาแล้ว ก็เท่ากับช่วยสนับสนุนให้การสร้างกรดโดยเชื้อจุลินทรีย์ ภายในปากเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แน่ละ...ต่อให้ฟันแข็งยังกับหินก็คงไม่สามารถทนอยู่ในสภาพนี้ไปได้นานเท่าไรหรอก

ถึงแม้การเกิดฟันผุจะมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยอีกมากก็ตาม แต่ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดฟันผุ และเป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นด้วยตัวเราเองได้ด้วยวิธีการง่าย โดยการกำจัดต้นเหตุคือ ขจัดเศษอาหารไม่ให้หลงเหลืออยู่ภายในปากหลังกินอาหารแล้ว วิธีขจัดเศษอาหารจะทำโดยวิธีใด ใช้อุปกรณ์อย่างไร ก็แล้วแต่สภาพแวดล้อม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละคน แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การทำความสะอาดฟันทุกครั้งหลังกินอาหาร เช่น การบ้วนน้ำแรงๆ หรือการแปรงฟัน

ควรให้แปรงฟันแต่เล็กๆ

ในเด็กควรหัดให้เด็กชินกับการทำความสะอาดฟัน ตั้งแต่เมื่อฟันคู่แรกของเด็กขึ้นมาในปาก โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดเวลาอาบน้ำทุกครั้ง เมื่อเด็กมีฟันขึ้นหลายซี่ควรหัดให้เด็กชินกับการใช้แปรงสีฟันขนาดเล็ก การทำความสะอาดฟันเด็ก พ่อหรือแม่ควรเป็นผู้ทำให้ ไม่ควรให้เด็กทำเอง จนกว่าเด็กจะโตมาก และเข้าใจวิธีการแปรงฟันและสามารถแปรงฟันได้ถูกต้อง การแปรงฟันนั้นดูจะเป็นของธรรมดา แต่เกือบจะทุกคนไม่เคยให้ความสำคัญและไม่ให้เวลาอย่างพอเพียง สักแต่ถูๆ ให้เสร็จไป แต่เศษอาหารก็มิได้ถูกขจัดให้หมดไป ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ได้แปรงฟันแล้วแต่ฟันยังคงผุอยู่ต่อไป

เมื่อแปรงฟันควรแปรงอย่างถูกต้อง

การแปรงฟันให้เด็กนั้นควรให้เวลา และความอดทนมากเป็นพิเศษ เพราะระยะแรกๆ เด็กคงไม่ชอบเท่าใดนัก แต่พ่อและแม่ไม่ควรตามใจเด็ก ควรหัดให้เด็กเคยชินที่จะได้รับการแปรงฟันจนสะอาด ซึ่งจะได้ติดเป็นนิสัยเด็กตลอดไป แปรงสีฟันที่ใช้กับเด็กควรเลือกขนาดที่พอเหมาะกับปากจองเด็ก และมีขนแปรงที่อ่อนนุ่ม การแปรงฟันจะใช้วิธีให้เด็กอ้าปากหงายหน้าขึ้น โดยผู้แปรงอยู่ทางด้านหลังหรือให้เด็กนั่งอ้าปากและผู้แปรงอยู่ด้านหน้า วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ ข้อสำคัญของการแปรงฟันที่ถูกต้อง อยู่ที่ว่าต้องแปรงที่ฟันทุกๆ ซี่ๆ ละหลายครั้ง และแปรงโดยวิธีที่ถูกต้อง วิธีที่ถูกต้องมีหลักง่ายๆ อยู่นิดเดียวเท่านั้นคือ ให้เริ่มแปรงด้วยการวางขนแปรงไว้บริเวณที่เหงือกต่อกับตัวฟัน แล้วแปรงโดยการปัดขนแปรงผ่านตัวฟันและซอกฟันเข้าหาส่วนบดเคี้ยวของตัวฟัน หรือจะจำง่ายๆ ว่าฟันบนปัดขนแปรงลงล่าง ฟันล่างปัดขนแปรงขึ้นบนการปัดขนแปรงโดยวิธีนี้จะทำให้เศษอาหารที่ติดอยู่บนตัวฟันและตามซอกฟันหลุดออกหมด สำหรับด้านบดเคี้ยวด้านบนของตัวฟัน ก็ใช้ขนแปรงถูไปถูมาแรงๆ หลายๆ ครั้ง

การรักษาความสะอาดของฟันด้วยตัวเองนับว่าเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดโดยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการมีมนุษย์ขึ้นในโลกนี้ ดังนั้นมนุษย์ในสมัยโบราณ โดยการศึกษาโครงกระดูกจะพบเสมอว่า ฟันจะมีลักษณะที่สมบูรณ์และอยู่เกือบครบทุกซี่

เทคโนโลยีใหม่ๆ กับการป้องกันฟันผุ

ในปัจจุบัน ดูเหมือนความเจริญในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความเสื่อมถอย และการวิวัฒนาการไปในทางที่อ่อนแอในทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ แม้แต่ฟันซึ่งได้ชื่อว่าแข็งที่สุดแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ช่วยค้นคิดวิธีการป้องกันการเกิดฟันผุทั้งทางด้านวัสดุและบุคลากร

ทางด้านวัสดุนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบจากการค้นคว้า วิจัย และทดลอง จนเป็นที่แน่ใจแล้วว่า การป้องกันฟันผุนั้นสามารถกระทำได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ โดยการใช้สารฟลูออไรด์ สำหรับชนิด ขนาด และวิธีการใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุในเด็กนั้น ก็คงมีรายละเอียดพอสมควร ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่ขอเตือนไว้ว่า ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์ เภสัชกร หรือทันตบุคลากรผู้ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะเท่านั้น อย่าเลือกใช้เองหรือใช้ตามเขาบอก เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลดีแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็กๆ ได้

บทสรุป

ทำอย่างไรให้เด็กมีฟันที่ดีและไม่กลัวหมอฟัน

สำหรับด้านบุคลากรนั้น การพัฒนาทางด้านวิชาการได้ก่อให้เกิดวิชาชีพทันตแพทย์และทันตบุคลากรต่างๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะทำหน้าที่ทั้งด้านการป้องกันและรักษาการเกิดโรคฟันผุ และโรคของความผิดปกติทั้งหลายในช่องปากหรือส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนการที่ท่านจะพาลูกหลานของท่านไปหาทันตแพทย์นั้น ท่านควรยึดหลักปฏิบัติง่ายๆ คือ การพาไปหาทันตแพทย์ในครั้งแรกนั้น ควรเป็นการพาเด็กไปเพื่อการตรวจฟัน เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับทันตแพทย์ สถานที่และเครื่องมือต่างๆ ไม่ควรจะพาไปเมื่อเด็กมีความเจ็บปวดที่ฟันแล้ว ซึ่งจะก่อให้เด็กเกิดความหวาดกลัว และไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้ความเจริญทางวิทยาศาสตร์จะนำมาซึ่งสารฟลูออไรด์ หรือวิชาชีพทันตแพทย์ก็ตามที การป้องกันและการรักษาสุขภาพในช่องปากของคุณหนูๆ ทั้งหลายนั้น ต้องเริ่มขึ้นที่บ้านที่ตัวผู้เป็นพ่อและแม่ ซึ่งหากท่านไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่และสนใจอย่างจริงจังแล้วก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ท่านไม่ได้ให้ความสมบูรณ์ของสุขภาพในช่องปาก (แก่ลูกๆ) ที่ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นปากประตูแห่งสุขภาพของร่างกาย

ข้อมูลสื่อ

9-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
มกราคม 2523
ฟันดีมีสุข
ทพ.จีรศักดิ์ นพคุณ