• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กอ่อนควรให้อาหารอะไรดี

เด็กอ่อนควรให้อาหารอะไรดี?

ในระยะ 6 เดือนหลังคลอด นมแม่จะเป็นอาหารชนิดเดียวที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กอ่อน ทั้งในด้านคุณค่าทางอาหาร ภูมิต้านทานโรคติดเชื้อ ความสะอาดและปลอดภัย อาหารที่ให้ในระยะนี้ก็เพื่อที่จะให้เด็กได้คุ้นเคยกับอาหารบางอย่าง เมื่ออายุ 6 เดือน เด็กจะกินอาหารมากขึ้น อาจจะให้อาหารมื้อหลักได้หนึ่งมื้อ นอกจากนี้อาจจะให้กล้วย มะละกอสุก เป็นอาหารว่าง และเมื่อเด็กอายุได้ 1 ปี ก็จะได้อาหาร 3 มื้อ ซึ่งปริมาณที่เด็กกินได้ต่อมื้อจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนในที่สุดอาหารเสริมนี้กลายเป็นอาหารหลัก และนมแม่ก็จะกลายเป็นอาหารเสริมแทน

ผลจากการที่เด็กได้อาหารไม่พอกับที่ร่างกายต้องการในระยะหย่านม จะทำให้เกิดโรคขาดอาหาร ให้มีน้ำหนักน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่น พออายุ 1 ปี น้ำหนักควรจะเป็น 3 เท่าของแรกเกิด คือ หนักประมาณ 9 กิโลกรัม แต่เด็กที่ขาดอาหารก็อาจจะหนักแค่ 7 กิโลกรัม เป็นต้น และถ้าได้อาหารไม่พอต่อไปอีกก็จะทำให้มีการเติบโตช้า และเกิดโรคขาดอาหารซึ่งอาจจะรุนแรงถึงต้องเข้าโรงพยาบาลก็ได้ ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้เด็กเจ็บป่วยบ่อย โรคที่ไม่น่าจะเป็นก็เป็น โรคที่ไม่น่าจะตายก็ตาย เช่น ท้องเสีย ปอดบวม หรือหัด เป็นต้น เด็กที่รอดตายจะมีคุณภาพทางร่างกายและสมองไม่ดีเต็มที่ ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก เพราะประชากรด้อยคุณภาพ การศึกษาเล่าเรียนก็ไม่ได้ผล การพัฒนาการอื่นก็แย่ ฉะนั้นการให้อาหารแก่เด็กอ่อนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การแนะนำการให้อาหารแก่เด็กอ่อนนั้นมีมานานแล้ว และแตกต่างกันไปตามสถาบัน หรือโรงพยาบาลเมื่อสิบปีที่แล้ว ได้มีการแนะนำให้อาหารแก่เด็กวัยนี้โดยเน้นการให้น้ำส้มคั้นแก่เด็กอายุ 1 เดือน ข้าวบดอายุ 2 เดือน และมีการให้น้ำมันตับปลาแก่เด็กด้วยคำแนะนำเหล่านี้ยังมีแพร่หลายอยู่พอควร แต่เนื่องจากขณะนี้ได้มีการศึกษาเรื่อง ความพอเพียงของน้ำนมแม่ที่ให้แก่เด็กในระยะแรกเกิดถึง 6 เดือน และความต้องการอาหารของเด็กอายุแรกเกิดถึง 12 เดือน และมีการพบปัญหาของการให้น้ำส้มที่ไม่สะอาดพอ ทำให้เกิดโรคท้องเสียในวัยเด็กอ่อนนี้ ฉะนั้นจึงได้มีคณะทำงาน ซึ่งแต่งตั้งโดยอนุกรรมการโภชนาการมารดาทารกและเด็กก่อนวัยเรียนขึ้นในต้นปี 2522 เพื่อร่างอาหารแนะนำสำหรับแม่ ทารก และเด็กก่อนวัยเรียน ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในคณะทำงานด้วย เห็นสมควรที่จะเผยแพร่การให้อาหารแก่เด็กอ่อนอายุ 0-1 ปี ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างว่า วัยทารก เพื่อนำไปปฏิบัติให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

อาหารที่ควรให้ในวัยนี้มี

  • อายุครบ 3 เดือน ข้าวบดใส่น้ำแกงจืดผลักเปลี่ยนกับกล้วยสุกครูด
  • อายุครบ 4 เดือน ข้าวบดกับไข่แดงต้มสุกบดกับตับ สลับกับข้าวบดกับถั่วต้มเปื่อย หรือเต้าหู้ขาว
  • อายุครบ 5 เดือน เริ่มอาหารพวกปลา และควรเติมฟักทองหรือผักบดด้วย
  • อายุครบ 6 เดือน อาหารมื้อหลัก 1 มื้อ ให้กล้วยหรือมะละกอสุกเป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ
  • อายุครบ 7 เดือน เริ่มเนื้อสัตว์บดผสมข้าวสุกและให้ไข่ทั้งฟองได้
  • อายุครบ 8-9 เดือน อาหารมื้อหลัก 2 มื้อ
  • อายุครบ 10-12 เดือน อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ

ข้อสังเกตในการให้อาหารเสริม

1. เริ่มอาหารทีละอย่างทีละน้อย เช่น 1 ช้อนกาแฟ แล้วค่อยๆ เพิ่มจนเป็น 2-3 ช้อนโต๊ะหรือครึ่งถ้วยแล้วแต่ชนิดของอาหาร ใน 6 เดือนแรกควรให้อาหารเสริมวันละ 1 ครั้ง แล้วตามด้วยนมแม่

2. เว้นระยะพอควรในการที่จะเริ่มอาหารใหม่แต่ละชนิดเพื่อดูว่าร่างกายเด็กเกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นตามผิวหนังหรือไม่ ถ้าเด็กปฏิเสธเพราะไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบ ควรจะงดไว้ก่อนแล้วลองให้ใหม่อีก ใน 3-4 วันต่อมาจนเด็กยอมรับ

3. อาจจะให้น้ำส้มคั้นแกเด็กอายุ 2 เดือนได้ แต่ต้องระวังความสะอาดให้ดี เพราะถ้าไม่สะอาดพออาจเกิดโรคท้องเสียได้

4. อาหารมื้อหลักหนึ่งมื้อนั้น จะเป็นข้าวบด ใส่ไข่แดง ปลา ตับ หรือถั่วต้มเปื่อยผสมกับผักใบเขียวในปริมาณหนึ่งถ้วย ซึ่งจะทำให้เด็กอิ่มพอดี ถ้าต้องการเพิ่มกำลังงานให้มากขึ้น อาจจะทำได้โดยเติม น้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู 1 ช้อนชาในอาหารแล้วผสมให้เข้ากัน

5. ไม่ควรให้น้ำหวานแก่เด็ก เช่น น้ำกลูโคส หรือน้ำอัดลม เพราะจะทำให้เกิดชอบอาหารหวานและไม่รู้สึกหิว เด็กจะเบื่อและปฏิเสธอาหารเสริม

จะเห็นได้ว่าการให้อาหารแก่เด็กวัยอ่อนที่คณะทำงานได้เสนอแนะนั้นได้ตัดการให้น้ำส้มคั้นแก่เด็กวัยอ่อน เพราการให้น้ำส้มคั้นก็เพื่อให้วิตามินซี แต่เท่าที่ศึกษาพบว่า น้ำนมแม่มีวิตามินซีเพียงพอแก่เด็ก นอกจากนี้เวลาเด็กโตขึ้นก็ได้วิตามินซีจากผักใบเขียว ทำให้ปัญหาการขาดวิตามินซีมีน้อยมาก ผลจากการให้น้ำส้มคั้นที่ไม่สะอาดพอทำให้เกิดโรคท้องเสีย โดยเฉพาะโรคบิดได้เสมอๆ ฉะนั้นจึงแนะนำไม่ต้องให้น้ำส้มคั้นแก่เด็กอ่อนได้

อาหารพวกข้าวบด และกล้วยควรให้แก่ทารกอายุครบ 3 เดือนแล้วเท่านั้น เพราะถ้าให้ก่อน 3 เดือน เด็กจะไม่พร้อมทั้งในเรื่องการกลืนและการย่อย ถ้าให้อาหารครึ่งแข็งครึ่งเหลวเด็กจะเอาลิ้นดันออกมา นอกจากจะบังคับโดยเอาอาหารไปไว้โคนลิ้น เด็กจึงจะกลืนลงไปได้ พอเด็กอายุเกิน 3 เดือนจะรู้จักใช้ลิ้นตวัดอาหารไปที่คอและกลืนลงไปได้ น้ำย่อยที่จะย่อยอาหารพวกข้าวก็เริ่มมีพร้อม นอกจากนี้การให้อาหารพวกข้าวหรือกล้วยเร็วเกินไปจะทำให้เด็กแน่นท้อง รู้สึกอิ่ม จะดูดนมแม่น้อยลงทำให้ได้นมแม่น้อยกว่าที่ควร เมื่อมั่นใจว่านมแม่อย่างเดียวก็พอแล้ว สำหรับเด็กวัยนี้ จึงไม่ควรให้ข้าวหรือกล้วยก่อน 3 เดือน ที่เริ่มให้อาหารต่างๆ ทีละน้อยๆ แก่เด็กวัยนี้ก็เพื่อให้เกิดความเคยชิน จะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องการยอมรับอาหารในเวลาต่อมา

สำหรับเรื่องน้ำมันตับปลานั้น สมัยก่อนที่แนะให้ทารกก็หวังผลจะให้ได้วิตามินเอ และดีซึ่งอาจจะพบว่าต่ำในนมแม่ แต่ระยะหลังๆ พบว่าวิตามินทั้งสองมีพอเพียงในนมแม่ และถ้าจะให้ดีจริงๆ ก็ควรบำรุงสุขภาพแม่ให้ดี

อาหารที่แนะให้แก่เด็กอ่อนนั้นพยายาม เน้นในด้านปฏิบัติด้วย เพราะต้องเตรียมง่ายมีประโยชน์และหาได้ในท้องถิ่นด้วย ที่ควรจะเน้นก็มีไข่แดง ตับ ปลา และถั่วต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่วด้วย เช่น เต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง เป็นต้น

การให้อาหารแก่เด็กอ่อน นอกจากจะคำนึงถึงคุณค่าทางด้านอาหารแล้ว ควรจะคำนึงถึงความสะอาดด้วย เพราะเด็กวัยหย่านมจะมีปัญหาโรคท้องเสียซึ่งถ้าเป็นมากๆ ก็ทำให้เกิดโรคขาดอาหาร และอาจจะถึงแก่ความตายได้จริงๆ แล้วโรคท้องเสียเกิดขึ้นเพราะความไม่สะอาดนั่นเอง การเตรียมอาหารไม่สะอาดในเด็กอ่อน เป็นสาเหตุใหญ่ของโรคนี้ เด็กไทยเป็นโรคท้องเสียกันบ่อยๆ จนพ่อแม่และผู้ใหญ่ยอมรับว่าเป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น และมักจะโยนความผิดให้เด็กว่า เด็กมีการยืดตัวหรือเปลี่ยนท่าจากนั่งเป็นคลาน หรือจากคลานเป็นยืน ความจริงจะพูดกันตรงๆ ก็ได้ว่าท้องเสียเพราะได้อาหารสกปรก หรือเด็กอยู่ในภาวะแวดล้อมที่สกปรก ทำให้มือไม่สะอาด เมื่อมาอมมือ หรือดูดนิ้วจึงเกิดโรคท้องเสียขึ้น

เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพของเด็กอ่อน และเพื่อที่จะให้เด็กอ่อนเติบโตมีน้ำหนักเป็น 2 เท่าของแรกเกิดเมื่ออายุ 5 เดือน น้ำหนักเป็น 3 เท่า ของแรกเกิดเมื่ออายุ 1 ปี เด็กคงจะต้องได้รับนมแม่ และอาหารที่เหมาะสมตามวัย และอาหารที่ให้เด็กควรจะได้ระวังเรื่องความสะอาดด้วย

หวังว่าเด็กไทยที่เป็นกำลังของชาติในอนาคตคงจะได้อาหารที่เหมาะสม เพื่อการเจริญเติบโตที่ดีและแข็งแรงต่อไป และโปรดช่วยกันเผยแพร่ความรู้ การให้อาหารแก่เด็กอ่อนให้แพร่หลายยิ่งขึ้นด้วย

ข้อมูลสื่อ

9-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
มกราคม 2523
กินถูก...ถูก
ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์