• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี มีสุข

เลี้ยงเด็กให้เป็นคนดี มีสุข

“ใครๆ ก็บ่นกันว่า โลกเราทุกวันนี้มีแต่ปัญหา มีคนไม่ดีมากขึ้น คนมีความสุขก็หาได้น้อยลง สภาพแวดล้อมก็บีบรัด”

ที่จริงก็เป็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ไปตามธรรมชาติ ดีบ้างเลวว่า และเราคงจะหยุดยั้งความเจริญ ความเสื่อมซึ่งเป็นของคู่กันมิได้

เราจะทำอย่างไรเพื่อการอยู่รอดดีล่ะ

เราทำได้หลายอย่างทีเดียว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้มีคนดีๆ และคนที่มีความสุขเพิ่มขึ้นในสังคมให้มาก

‘เด็กไทยคือหัวใจของชาติ’

‘เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า’

เราคงจะเคยชินกับคำกล่าวข้างบนนี้กันแล้ว เพราะฉะนั้นการเลี้ยงดูอบรมเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นำเขาไปสู่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ

เด็กต้องการสิ่งต่อไปนี้ในการเติบโตทั้งร่างกาย สมอง และจิตใจ

1. อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพื่อความอยู่รอดทางร่างกาย และสมอง แต่การให้สิ่งเหล่านี้แก่เด็กควรจะให้ในขนาดที่พอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป เพราะการที่เด็กได้รับสิ่งเหล่านี้ไม่พอเหมาะก็จะทำให้มีเสียได้ เช่น เด็กกินจุและกินมากเกินไปก็ทำให้อ้วนมากหรือตามใจตนเองจนเกินไป

2. ความรักความอบอุ่นจากผู้เลี้ยงดูและบุคคลที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะในการได้รับการอุ้ม การกอดเมื่อยังเป็นทารกและเด็กเล็กๆ การพูดคุยกับเด็กเมื่อเขาเริ่มรู้ภาษา การยิ้มแย้มชมเชยเมื่อเขากระทำดี การยิ้มแย้มชมเชยเมื่อเขากระทำดี การว่ากล่าวตักเตือนเมื่อเขาประพฤติไม่เหมาะสม การช่วยเหลือเด็กในความเป็นอยู่ในการเรียนรู้ และการใช้เหตุผลควรกระทำด้วยความรักความเข้าใจ สิ่งนี้จะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในผู้เลี้ยงดู เชื่อฟัง กระทำตามและเกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ตามมาด้วย เขาจะเชื่อมันในตนเองในภายหลัง การเล่นการพูดคุยในครอบครัวจะเพิ่มความสัมพันธ์เมื่อเด็กโตขึ้น

3. แบบอย่างจากผู้ใหญ่ในการดำเนินชีวิต ผู้มีส่วนในการเลี้ยงดูอบรมเด็กตั้งแต่บิดามารดา ญาติในครอบครัว ครูอาจารย์ตลอดจนผู้ใกล้ชิดอื่นๆ ควรกระทำตนให้เป็นแบบอย่างกับเด็ก เช่น ในเรื่องการพูดจา การแสดงอารมณ์ การใช้เหตุผล การมีคุณธรรม จงทำให้เด็กดูและเลียนแบบ เพราะความประพฤตินั้นเด็กเรียนได้น้อยจากการใช้คำพูดสั่งสอนเท่านั้น การสอนให้เด็กประหยัดในขณะที่พ่อแม่ และครูยังใช้จ่ายกันฟุ่มเฟือยจะไม่ทำให้เด็กมัธยัสถ์ได้เลย

4. การเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ผู้ใหญ่ควรรับฟังเด็กบ้าง เด็กจะมีความคิด ความต้องการของเขา ซึ่งจะต่างกันแม้ในระหว่างพี่น้อง และก็ต่างกันแม้ในระหว่างพี่น้อง และก็ต่างกับผู้ใหญ่ การรับฟังเด็กจะทำให้เขาฝึกหัดระบายความรู้สึกของเขาอีกด้วย เมื่อเด็กรู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น เขาก็จะเข้าใจและในที่สุด เขาก็จะรับฟังผู้อื่นเป็นด้วย การพูดคุยและอบรมสั่งสอนโดยใช้เหตุผลเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเด็กจะนำไปปฏิบัติเมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ เขาจะใช้อารมณ์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่มีท่าทีอย่างไรในการรับฟังเขาด้วย

5. การกระตุ้นให้ประพฤติในสิ่งที่เหมาะสม นอกจากจะเป็นแบบอย่างแล้ว ผู้ใหญ่ควรชี้ชวนพูดคุย ส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนในสิ่งที่เหมาะสมกับวัย และกับกาลเทศะด้วย เช่น เมื่อเขามีความขยัน มีความซื่อสัตย์ ก็ควรให้กำลังใจอาจจะเป็นรางวัลในสิ่งที่เขาชอบเมื่อเด็กยังเล็ก หรือเป็นใบหน้าที่ยิ้มแย้มและคำชมเมื่อเขาโตขึ้น การเน้นเรื่องรูปธรรมและนามธรรมควรให้เหมาะกับวัย เช่น ไม่ควรจ้างเด็กให้เรียนหนังสือ แต่ควรชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ในการเรียนมากกว่า

6. การตักเตือนอบรมเมื่อประพฤติผิด เด็กต้องการชี้แนะในด้านความคิดและความประพฤติ เด็กเล็กๆ ที่ติดการดูดนมขวดก็ควรได้รับการหย่านม มิใช่ว่าทิ้งไว้ให้เลิกดูดนมเอง การฝึกหัดการไปถ่ายปัสสาวะอุจจาระต้องกระทำในอายุที่เหมาะสมคือ ขวบกว่าถึงสองขวบ ในเด็กโตเมื่อเขามีความอิจฉาริษยา ก้าวร้าว หรือเงียบเฉย ก็ควรได้รับการแก้ไข แม้บางครั้งอาจต้องลงโทษว่ากล่าวก็กระทำได้ แต่ไม่ควรลงโทษเด็กด้วยอารมณ์ เด็กที่ถูกตามใจมาตั้งแต่เล็กๆ จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบตามใจตนเอง และต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตได้ยาก เด็กๆ ควรได้รับการฝึกให้พบกับอุปสรรคของชีวิตบ้าง ผู้ใหญ่ควรสอนให้เขาแก้ไขปัญหาตั้งแต่อายุยังน้อย อย่าได้ “เกรงใจ” ลูกของท่านจนเกินไป เพราะการตักเตือนของผู้ใหญ่ที่เขาได้รับจะค่อยๆ กลายไปเป็นการตักเตือนตนเองในที่สุด

7. โอกาสที่จะเป็นตัวของตัวเอง แม้ในเด็กทารกก็ต้องการเวลาที่จะอยู่คนเดียวบ้าง ต้องการร้องไห้ ต้องการแกว่งแขนขา เพื่อฝึกการใช้อวัยวะของเขา ประสาทสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนโตก็ต้องการการกระตุ้นจากภายนอกเพื่อให้รับการสัมผัสได้แม่นยำ สมองเด็กที่ไม่ได้ใช้บ่อยจะคิดอะไรช้ากว่าเด็กที่ได้ฝึกหัดการใช้ความคิดอยู่เสมอ ท่านทั้งหลายจึงควรที่จะให้เขาได้ช่วยตนเองมาตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เช่น อายุ 3-4 ขวบก็ควรหัดให้อาบน้ำเองบ้าง แต่งตัวเองบ้าง แม้เขาจะทำได้ไม่ดีก็อย่าไปรำคาญและทำให้เขาเสียหมด การช่วยตนเองนั้นนอกจากได้ผลในเรื่องการใช้อวัยวะต่างๆ และการลับสมองแล้ว ยังเป็นการฝึกหัดนิสัยที่จะเพิ่งตนเองอีกด้วย เมื่อเขาโตขึ้นพึ่งตนเองได้แล้ว ก็จะได้ให้ผู้อื่นพึ่งเขาบ้าง คนเราก็จะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

8. การหัดให้เด็กใช้สิทธิและหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญ เด็กควรรู้จักขอบเขตของสิ่งเหล่านี้ แทบทุกบ้านจะมีปัญหาเด็กแย่งของกันซึ่งพบได้เป็นธรรมดา แต่สิ่งสำคัญก็คือว่า พ่อแม่จะต้องสอนเขาให้รู้จักแบ่งปันกันหรือเล่นร่วมกัน และนี่เป็นการป้องกันการแก่งแย่งกันในสังคม การรับผิดชอบในหน้าที่การเรียนการงานก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

9. การรู้จักผิดชอบชั่วดี เด็กๆ ควรได้รับการอบรมในเรื่องคุณธรรม การรู้จักผิดชอบชั่วดีนี้จำเป็นต้องมาจากผู้ใหญ่โดยตรง และโดยอ้อม เริ่มแรกตั้งแต่พ่อแม่ ครู อาจารย์ ตลอดจนตัวอย่างในสังคม สิ่งที่เด็กพบเห็นจากสื่อมวลชนต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และหนังสือชนิดต่างๆ พ่อแม่และครู เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในอันที่จะอบรมทางด้านคุณธรรมนี้ การอบรมกระทำได้ตั้งแต่การชี้แนะว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี ตัวอย่างของผลการกระทำนั้นๆ ที่สำคัญคือ การปฏิบัติตนให้เด็กเห็นซ้ำๆ เด็กจะเห็นผลทั้งดีและไม่ดีด้วย ที่สำคัญก็คือ ความใกล้ชิดระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ในอันที่จะพูดคุยกันถึงความคิดและเหตุผล เด็กอาจโต้แย้งได้ และผู้ใหญ่ก็จะได้พูดคุยเพิ่มเติมให้เข้าใจ

พ่อแม่ ครู ควรรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่เด็กและเยาวชนสนใจ เช่น ภาพยนตร์อภินิหารต่างๆ หรือรายการตลกทางโทรทัศน์ พ่อแม่ควรจะได้ร่วมชมภาพยนตร์กับลูกๆ เพื่อร่วมสนุกกับเขา พร้อมไปกับรับฟังความคิดเห็นและสังเกตดูท่าทีของเขาด้วย ถ้าได้ยินสิ่งใดที่ไม่เหมาะสมก็จะได้พูดคุยกัน ให้เขาแก้ความคิดความอ่านของเขาเสียแต่เนิ่นๆ สิ่งใดที่เป็นของดีมีประโยชน์อยู่ในทำนองคลองธรรมก็ชี้ชวนให้เด็กนิยม และปฏิบัติตามได้อีกด้วย

ถ้าท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายได้ร่วมแรงร่วมใจกันเลี้ยงดูอบรมเด็กไทยตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ชีวิตของเขาในอนาคตก็คงจะเป็น คนดีมีความสุข คือ

เป็นเพื่อนมนุษย์ที่เมตตาช่วยเหลือซึ่งกันละกัน

เป็นที่เคารพต่อสิทธิ และหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น

เป็นผู้มีกาย วาจา และใจที่คุมด้วยสติและปัญญา

เป็นผู้ใหญ่ในการกระทำ คุณมากกว่าโทษ

และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยสงบสุข

ข้อมูลสื่อ

9-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 9
มกราคม 2523
ใจเขาใจเรา
พญ.ศรีธรรม ธนะภูมิ