• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนดหลังออกจากโรงพยาบาล

38. การดูแลเด็กคลอดก่อนกำหนดหลังออกจากโรงพยาบาล

เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักไม่ถึง 2.5 กิโลกรัม ตามปกติทางโรงพยาบาลจะดูแลให้จนน้ำหนักถึง 2.5 กิโลกรัม และสามารถปรับอุณหภูมิร่างกายของตนเองได้ จึงจะให้ออกจาโรงพยาบาล เมื่อเด็กกลับบ้านได้ ก็ให้ถือเสมือนเด็กอายุหนึ่งสัปดาห์ แต่อาจกินนมได้น้อยกว่าเด็กปกติ และปรับอุณหภูมิร่างกายได้ยังไม่ดี ทั้งยังติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นการดูแลเด็กไม่ครบกำหนดที่บ้าน จึงต้องเอาใจใส่มากกว่าเด็กปกติและสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องระวัง คือ อย่าให้ติดเชื้อคุณแม่ ควรจัดห้องเป็นพิเศษ และห้ามใครเข้า ยกเว้นคุณแม่และผู้ช่วย (อาจจะเป็นคุณยายหรือคนอื่น) คุณพ่อและคนอื่นๆ ในบ้านไม่ควรเข้าห้องเด็ก เพราะถ้าเกิดมาจามทีเดียวในห้อง และมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายเด็กอาจสูดเข้าไปและทำให้เกิดโรค เช่น ปอดบวมได้ สำหรับแขกที่มาเยือนต้องห้ามเข้าห้องเด็ดขาด ถ้าเด็กมีพี่ ก็ต้องห้ามพี่ๆ เข้าห้องเด็ดขาดเหมือนกัน เวลาจริงๆ แล้วทำยาก พี่มักอยากเห็นน้อง พ่อมักอยากเห็นลูก เอาเป็นห้ามแขกเข้าห้องเด็กดีกว่า

การดูแลรักษาความสะอาดก็เป็นเรื่องสำคัญ ทุกครั้งที่ให้นมหรือชงนม คุณแม่จะต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด เครื่องใช้ทุกอย่างสำหรับเด็กต้องสะอาด เด็กคลอดก่อนกำหนดควรเลี้ยงด้วยนมแม่เป็นอย่างยิ่ง ถ้าตอนที่เด็กอยู่โรงพยาบาล คุณแม่พยายามปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีนมให้เด็กทันทีที่ออกจากโรงพยาบาล แต่ถ้านมแม่ไม่มีควรหาแม่นมให้ ถ้าไม่มีจริงๆ ค่อยให้นมผง และเวลาชงควรชงอัตราส่วนเท่ากับตอนที่อยู่โรงพยาบาล (ก่อนพาเด็กออกจากโรงพยาบาลคุณแม่ควรสอบถามด้วยว่าให้นมอะไร และให้อัตราส่วนเท่าไหร่) คุณแม่ไม่ควรชงนมให้ข้นจนเกินไป แต่ต้องพยายามให้เด็กกินนมมากขึ้น ปกติเราจะใส่นมผง 3 ช้อนถึง 3 ช้อนครึ่งต่อ 100 ซี.ซี ขวดนมและหัวนมจะต้องฆ่าเชื้อโรคอย่างเคร่งครัด

ปริมาณนมที่เด็กดูดจะแตกต่างกันตามน้ำหนักตัวและเพศของเด็ก โดยปริมาณแล้วเด็กจะกินนมวันละ 150-180 ซี.ซี. ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นถ้าเด็กน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม ก็ควรจะกินนมวันละ 350-450 ซี.ซี. ถ้าเด็กกินวันละ 7 ครั้ง ห่างครั้งละ 3 ชั่วโมง ไม่ได้ ก็ให้วันละ 8-9 ครั้งก็ได้ และเมื่อเด็กอายุเกิน 2 สัปดาห์แล้วควรให้กินวิตามินรวมเพิ่มด้วย

สำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักน้อยแต่น้ำหนักขึ้นถึง 2.5 กิโลกรัม ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เมื่อออกจากโรงพยาบาล ก็จะกินนมเก่งและจะโตทันเด็กปกติ แต่สำหรับเด็กที่ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าน้ำหนักจะขึ้นถึง 2.5 กิโลกรัม เมื่อกลับบ้านแล้วคุณแม่ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างมาก เด็กที่เกิดมาร้องจ้ากับเด็กที่เกิดมาอาการหนักครึ่งเป็นครึ่งตาย รายหลังจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากกว่า

การอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำให้บ่อยนักเพื่อรักษาพลังงานที่มีอยู่น้อยในตัวเด็กเอาไว้ อาบน้ำให้วันละครั้งก็พอ และถ้าวันไหนอากาศเย็นก็ไม่ต้องอาบให้ จนกระทั่งเด็กดูดนมได้ครั้งละเกินกว่า 100 ซี.ซี. และน้ำหนักตัวเกิน 3 กิโลกรัมขึ้นไปจึงจะอาบน้ำให้เหมือนเด็กปกติ

ตามปกติ ทางโรงพยาบาลจะให้เด็กออกจากโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อเห็นว่าเด็กแข็งแรงดี พอที่ทางบ้านจะดูแลเองได้แล้ว ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรกังวลให้มากนัก เว้นแต่เด็กจะเกิดอาการดังต่อไปนี้จึงรายงานให้หมอทราบ

ถ้าอุณหภูมิเด็กขึ้นสูงผิดปกติ (เช่นสูงถึง 38 องศาสาเซลเซียส) ควรติดต่อแพทย์ และคอยเช็ดตัวให้เด็ก

ถ้าเด็กหายใจเร็วเหมือนหอบ ต้องติดต่อแพทย์โดยเฉพาะ ถ้าเด็กไอหรือน้ำลายฟูมปากจะต้องรีบพาไปหาหมอทันที

ถ้าเด็กหน้าซีดขาว และเสียงร้องเบาผิดปกติต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยเฉพาะ ถ้าเด็กกินนมได้น้อยลงกะทันหัน

ถ้าเด็กท้องอืดแข็งขันกะทันหัน ก็แสดงสัญญาณอันตรายต้องรีบพาไปหาหมอเช่นกัน

ถ้าเด็กชักต้องรีบติดต่อหมอทันที

เมื่อเด็กเกิดอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น คุณไม่ควรพาขึ้นรถไปโรงพยาบาลไกลๆ ควรหาหมอใกล้ๆ และถ้าเรียกรถพยาบาลจากโรงพยาบาลที่ไม่ไกลให้เอาตู้อบมารับเด็กไปได้จะดียิ่งขึ้น

ถ้าเด็กคลอดก่อนกำหนดน้ำหนักเพิ่มกว่า 3 กิโลกรัม และสามารถกินนมได้ครั้งละกว่า 100 ซี.ซี. ขึ้นไปติดต่อกัน เราจึงจะถือเสมือนเด็กปกติที่มีอายุครึ่งเดือน และให้ดูและเหมือนเด็กปกติได้

39. หัวนมแตก

คุณแม่ที่ให้นมลูกคนแรกมักจะมีปัญหาเรื่องหัวนมแตก ทำให้รู้สึกเจ็บเวลาให้นม สำหรับคนที่มีน้ำนมมากทั้งสองข้าง ปัญหาก็อาจจะเบาหน่อย เพราะเมื่อหัวนมข้างหนึ่งแตก ก็พักนมข้างนั้นเสีย ให้นมแต่ข้างเดียวสักวันสองวัน แผลนมข้างที่แตกก็จะหายเองโดยไม่ต้องใส่ยาอะไรเลย แต่ถ้าตรงแผลที่แตก ดูเหมือนเป็นหนอง ควรทายาแดงหรือยาปฏิชีวนะ (เช่น ยาทาแผลที่ลงท้ายด้วย “มัยซิน”)

สำหรับคุณแม่ที่ต้องให้นมลูกทั้งสองข้างในแต่ละครั้งปริมาณนมจึงจะมีพอนั้น ก็ต้องพักนมข้างที่เป็นแผลเสียไม่ให้เด็กดูด ถ้ารีดนมข้างนั้นใส่ขวดให้ลูกดูดได้โดยคุณไม่รู้สึกเจ็บนักตอนรีด ก็ให้รีดนมข้างนั้นใส่ขวดที่ฆ่าเชื้อโรคอย่างดีแล้ว และควรรีดนมใกล้ๆ กับเวลาที่เด็กจะหิว

ถ้าคุณรู้สึกเจ็บมาก รีดนมข้างที่เป็นแผลให้ไม่ได้ และไม่มีแม่นมที่จะขอนมมาเลี้ยงลูกได้ ก็ต้องพึ่งนมผง แต่คุณควรลองให้นมเพียงข้างเดียวดูก่อน ถ้าตอนที่คุณให้นมทั้งสองข้าง ช่วงห่างระหว่างเวลาให้นมห่างประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อคุณลองให้นมข้างเดียวเด็กจะดูดจนหมดและทิ้งช่วงไปประมาณ 2 ชั่วโมง เด็กจะร้องหิวอีก คราวนี้คุณชงนมผงให้ดูดจนอิ่มและเว้นช่วงไป 3 ชั่วโมง คราวต่อไปก็ให้นมแม่ สลับกันเช่นนี้สักวันสองวัน แผลที่หัวนมอีกข้างก็จะหาย และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน ๆ ต่อไปได้ ในช่วงที่คุณให้นมผงแทนนมแม่ หลังจากให้นมผงแล้วประมาณ 12 ชั่วโมง เด็กจะอึออกมา มีสีค่อนข้างขาว ซึ่งเป็นอึของนมผง คุณไม่ต้องตกใจว่าเด็กเป็นอะไรผิดปกติ

ถ้าคุณลองให้นมแม่ข้างเดียวแล้ว เด็กอยู่ได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็ร้องหิวอีก คุณจะต้องชงนมผงประมาณ 50 ซี.ซี. ให้ตามหลังจากที่ให้นมแม่ทุกครั้งและให้เด็กดูดจนอิ่ม

40. หัวนมบอด

มีคุณแม่หลายคนที่บอกว่าเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้เพราะหัวนมบอด ซึ่งที่จริงเป็นความคิดที่ผิดถึงแม้ว่าน้ำนมจะออกมาจากหัวนมก็จริง แต่เวลาเด็กดูดไม่ได้ดูดหัวนม เด็กจะดูดไปถึงขอบสีดำรอบๆ หัวนมด้วย ในกรณีที่หัวนมบอด เด็กอาจจะดูดนมลำในระยะแรกๆ เพราะปากยังเล็ก ไม่สามารถอมส่วนที่เป็นขอบสีดำรอบหัวนมเข้าไปได้ แต่เมื่อเด็กโตปากจะกว้างขึ้น ถึงแม้หัวนมจะบอด เด็กก็สามารถดูดนมได้เพราะสามารถดูดถึงบริเวณขอบดำได้ ถ้าคุณแม่พยายามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่แรก เช่น ตอนที่ลูกยังเล็กดูดนมไม่ได้ ก็รีดนมใส่ขวดให้ประมาณครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน เมื่อลูกโตขึ้น ปากกว้างขึ้นก็หัดให้ลูกดูดนมจากเต้าทุกวัน โดยคีบนมใส่เข้าไปในปาก ถ้านมคัดจนกระทั่งบริเวณขอบรอบหัวนมแข็งคับเข้าปากลูกไม่ถนัด คุณควรปั๊มออกเสียหน่อยบริเวณนั้นก็จะนิ่ม คีบเข้าปากเด็กได้สะดวกขึ้น

คุณแม่ที่มีหัวนมบอด จะรู้ตัวตั้งแต่ตอนตั้งท้องและคงพยายามดึงหัวนมให้ยื่นออกมาทุกวัน แต่ส่วนใหญ่มักทำไม่สำเร็จ ลูกก็คลอดออกมาเสียก่อนแล้วทำให้คุณแม่รู้สึกผิดหวังมาก กลัวว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ บางคนก็ถูกพยาบาลดุเอาอีกว่า หัวนมอย่างนี้ให้นมลูกไม่ได้หรอก ทำไมถึงไม่พยายามดึงมันออกมาเสียตั้งแต่แรก เลยยิ่งทำให้คุณแม่ช้ำใจหนักเข้าไปอีก แต่อันที่จริง นมของแม่นั้นต้องให้เด็กลองดูดดูมันถึงจะออก อย่าเพิ่งไปผิดหวังเสียตั้งแต่ยังไม่ได้ลอง ส่วนใหญ่ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่นมไม่ออก แต่อยู่ที่ว่า แม่ไม่ได้พยายามทำให้นมมันออกมากกว่า

41. นมคั่งและเต้านมอักเสบ

ในระยะที่เด็กอายุไม่ถึงครึ่งเดือนนี้ ถ้าเต้านมคุณแม่เกิดแข็งขึ้นมาและคลำดูรู้สึกเจ็บมาก มักจะไม่ใช่เป็นเพราะเต้านมอักเสบ ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะนมคั่งมากกว่า เต้านมอักเสบซึ่งเกิดจากเชื้อโรคเข้าไปในเต้านมมักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กอายุ 4-5 สัปดาห์ขึ้นไป

การที่นมคั่งในระยะนี้ ก็เพราะแรงดูดนมของเด็กยังน้อย ทำให้นมคั่งและเกิดเป็นก้อนแข็ง นมคั่งนี้จะหายไปเองเมื่อเด็กมีแรงดูดนมมากขึ้น

เมื่อคุณเกิดเจ็บที่เต้านมขึ้นมา และอยู่ไม่ไกลหมอ ก็ควรไปให้หมอดูว่าเป็นเพราะนมคั่งหรือเต้านมอักเสบเนื่องจากเชื้อโรคเข้าไป แต่ถ้าอยู่ไกลหมอ คุณก็ต้องวินิจฉัยโรคเอาเอง

ถ้าเจ็บเต้านมเพราะนมคั่ง ตัวคุณแม่จะไม่เป็นไข้ตัวร้อน และถ้าคลำดูใต้รักแร้ข้างที่เต้านมเจ็บ ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้จะไม่เป็นก้อนแข็งผิวของเต้านมไม่แดงผิดปกติ ในกรณีนี้คุณแม่ต้องทนเจ็บเอาหน่อย แล้วค่อยๆ นวดเต้านมเหมือนวิธีรีดนม (ดู 33. วิธีรีดนมแม่) วันละ 2-3 ครั้ง คุณแม่ควรใส่เสื้อยกทรง เพื่อช่วยยกเต้านมขึ้นเพื่อไม่ให้ถ่วงรู้สึกเจ็บน้อยลง ส่วนมากอาการ เต้านมเจ็บเพราะนมคั่งจะเป็นอยู่ 2-3 วัน เท่านั้น คุณแม่ควรทนเจ็บและพยายามให้นมลูกต่อไป

ถ้าเต้านมเจ็บเพราะเกิดอักเสบเนื่องจากติดเชื้อโรคเข้าไป คุณแม่จะรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ บางครั้งมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสและจะคลำพบก้อนแข็งใต้รักแร้ซึ่งพอกดจะรู้สึกเจ็บ ในกรณีนี้คุณแม่ต้องพักนมข้างที่อักเสบเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคติดต่อสู่ลูก และต้องไปหาหมอเพื่อทำการรักษาโดยเร็ว

ข้อมูลสื่อ

10-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 10
กุมภาพันธ์ 2523