• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การเลี้ยงดู (ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือน)

ครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนการเลี้ยงดู

49. เลี้ยงด้วยนมวัว

ถ้าไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้และจำเป็นเลี้ยงด้วยนมวัวล้วนๆ ข้อควรระวังประการแรก คือ อย่าให้นมมากเกินไป สำหรับเด็กอายุ 2 สัปดาห์ ถึงหนึ่งเดือนนี้ ไม่ควรให้นมแต่ละครั้งเกิน 120 ซีซี. ถึงแม้เด็กจะดูดจนหมดแล้ว และดูท่าทางอยากได้อีกโดยดูดขวดเปล่าจุ๊บๆ คุณไม่ควรเพิ่มนมให้ แต่ให้น้ำสุกหรือน้ำสุกผสมกลูโคสประมาณ 20 ซี.ซี.แทน เพราะการให้นมมากเกินไปในระยะนี้ จะทำให้เกิดปัญหาลูกเป็น “โรคเกลียดนม” หรือกลายเป็น “เด็กยักษ์” ได้ในภาย หลัง

จำนวนครั้งที่ให้นมในแต่ละวัน ควรประมาณวันละ 6-7 ครั้ง และเว้นช่วงห่างประมาณ 3 ชั่วโมง นมไม่ควรชงให้ข้นกว่าสลากข้างกระป๋องและไม่ควรใส่แป้งหรือน้ำตาลลงไปอีก เมื่อเด็กอายุได้ครึ่งเดือนแล้วควรให้วิตามินรวมเพิ่มด้วย ถ้าเด็กอาเจียนเพราะเป็นโรค เด็กจะแสดงอาการเจ็บทุรนทุราย ร้องกวน แสดงอาการผิดปกติให้เห็น

สำหรับเด็กที่มีนิสัยกินน้อยเมื่อเลี้ยงด้วยนมผงจะเห็นได้ชัดเพราะชงนมให้ครั้งละ 100 ซี.ซี. ก็อิ่ม นอนหลับไปเลย แม่เห็นกินนมน้อยกว่าที่เขียนไว้ที่สลากข้างกระป๋อง (โดยทั่วไปเขียนไว้ว่าครึ่งเดือน-หนึ่งเดือน 120 ซี.ซี.) ก็พยายามปลุกให้กินต่อ แต่มักไม่สำเร็จ เมื่อชั่งน้ำหนักดูน้ำหนักก็เพิ่มน้อย ประมาณ 120 กรัมทุก 5 วัน เพราะกินน้อย แม่เลยกลุ้มใจ กลัวว่าลูกจะมีอะไรผิดปกติ ที่จริงเด็กกินน้อยมัก เป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายไม่ค่อยร้องกวน กลางคืนนอนหลับดี เลิกให้นมกลางดึกได้เร็ว ถ้าคุณแม่จะยอมรับว่าการกินน้อย เป็นนิสัยของเด็กเอง ไม่ฝืนบังคับอยู่เรื่อยๆ ก็จะสบายทั้งแม่และลูกไม่มีปัญหาอะไร

สภาพแวดล้อม

50. ป้องกันอุบัติเหตุ

เด็กอายุครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนนี้ยังได้แต่นอนอยู่เฉยๆ ทำอะไรเองไม่ได้ดังนั้นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงมักเกิดจากความไม่ระมัดระวังของผู้ใหญ่ อุบัติเหตุที่เกิดมาก คือ น้ำร้อนลวก เพราะผู้ใหญ่ไม่ระวัง เวลายกกระติกน้ำหรือกาน้ำร้อนแล้วทำพลาดหกรดเด็ก กระเป๋าน้ำร้อนที่ปิดฝาไม่เรียบร้อยก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ควรนอนให้นม เพราะบางครั้งคุณแม่เผลอหลับไป เต้านมทับปิดจมูกลูก เด็กอายุหนึ่งถึงสองเดือนยังไม่มีแรงดิ้นหนี จะหายใจไม่ออกถึงแก่ชีวิตได้ สำหรับเด็กที่ชอบแหวะหรืออาเจียนบ่อยๆ คุณแม่ไม่ควรเอาผ้าพลาสติกปูใต้หมอน เพราะบางครั้งลมพัดเอาพลาสติกขึ้นมาปิดหน้าเด็ก เด็กอายุเท่านี้ไม่สามารถเอาออกได้ อาจหายใจไม่ออกจนเสียชีวิต เด็กที่แหวะบ่อยๆ ถ้าแหวะตอนนอนหงาย นมที่เป็นก้อนแข็งอาจปิดหลอมลมได้ ควรให้นอนตะแคงหรือนอนคว่ำโดยเฉพาะเวลาที่ทิ้งเด็กไว้คนเดียว

ถ้าเด็กมีพี่ชายอายุ 2-3 ขวบ อย่าทิ้งให้อยู่กับพี่ตามลำพัง เพราะถ้าพี่อิจฉาน้อง อาจทำอะไรโดยที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึงได้

แมวและหนูบางครั้งจะกัดเด็กอ่อน ระวังอย่าให้แมวเข้าห้องเด็กได้ และควรเช็ดหน้าเช็ดมือของเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะนมที่ติดอยู่จะส่งกลิ่นให้สัตว์รวมทั้งมดแมลงเข้ามากวน

51. พาลูกเดินเล่น

ตามปกติเราจะไม่พาเด็กอ่อนอายุต่ำกว่าหนึ่งเดือน ออกไปในที่ที่มีคนมาก เพื่อป้องกันการติดโรค แต่เราไม่ควรกลัวเรื่องการติดโรค จนถึงกับไม่พาเด็กออกจากบ้านเลย เมื่อลูกอายุเกิน 3 อาทิตย์แล้ว คุณควรให้ถูกอากาศข้างนอกบ้าง โดยการพาออกเดินเล่นนอกบ้านวันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15 นาที ห้องเด็กควรเปิดหน้าต่างให้ลมเข้าออกสะดวก แต่ยังไม่ควรให้ทารกอายุเท่านี้ถูกแดดโดยตรง

สภาพผิดปกติ

52. แหวะนม

ทารกเพศชายเมื่ออายุได้ครึ่งเดือน มักจะแหวะนมบ่อยๆถ้าแหวะนมหลังจากกินนมไปแล้ว 20 นาที นมที่ออกมาจะมีลักษณะเหมือนเต้าหู้ เนื่องจากกรดในกระเพาะทำให้นมแข็งตัวคุณแม่มักไม่สบายใจเมื่อเห็นลูกแหวะนมออกมามากคล้ายอาเจียน ถึงแม้จะพยายามลูบหลังให้เรอทุกครั้งหลังให้นม เด็กก็ยังอาเจียน ทั้งยังอาเจียนบ่อยขึ้นทุกวัน เด็กบางคนแหวะนมทุกครั้งหลังให้นม

สิ่งที่คุณแม่ควรสังเกต คือ นมที่เด็กแหวะออกมานั้นต้องไม่มีสิ่งอื่นเจือปน (เช่นมีน้ำสีเหลืองจากถุงน้ำดีปน หรือมีเลือดปน หรือมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เป็นต้น ) และเด็กไม่แสดงว่ารู้สึกเจ็บปวดทุรนทุรายทั้งก่อนและหลังอาเจียน เด็กดูท่าทางอารมณ์ดี มีปัญหาอยู่อย่างเดียว คือ แหวะนม เท่านั้น

ในกรณีเช่นนี้เด็กไม่ได้เป็นโรคอะไรอาการแหวะนมซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุครึ่งเดือนและเป็นมาก ในช่วงอายุ 1-2 เดือน จะหายไปเองตามธรรมชาติเมื่อเด็กอายุได้ 3-4 เดือน อาการอาเจียนซึ่งเป็นอาการของโรคที่เรียกว่า “ปลายกระเพาะตีบ” นั้น มักจะเริ่มเมื่อเด็กอายุประมาณ 3-5 สัปดาห์ เนื่องจากนมไม่เข้ากระเพาะอาหาร เด็กจะผอมมีแต่กระดูก และเมื่อดูหน้าท้องจะเห็นการบีบตัวของกระเพาะลำไส้ ในกรณีเช่นนี้จะต้องทำการผ่าตัดรักษา นอกจากโรคนี้แล้ว เด็กจะอาเจียนเมื่อเป็นโรคลำไส้บิด หรือลำไส้กลืนกันและโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้อสังเกตคือ ถ้าเด็กอาเจียนเพราะเป็นโรคเด็กจะแสดงอาการเจ็บปวดทุรนทุราย ร้องกวน แสดงอาการผิดปกติให้เห็น

อาการแหวะนมตามปกติของเด็ก จะเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กที่กินนมแม่และเด็กที่กินนมวัว คุณแม่ควรลองลดปริมาณนมที่ให้แต่ละครั้งลง เด็กจะหิวบ่อยขึ้น ในระยะที่แหวะนมบ่อยๆ เด็กอาจจะผอมลง ถ้าให้นมแล้วอาเจียนมาก ลองให้น้ำต้มสุกผสมกลูโค้สหรือน้ำผลไม้ ถ้าได้ผลหยุดอาเจียน ก็ให้ต่อไปเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าเด็กสามารถกินน้ำทางปากได้ ไม่ควรให้น้ำเกลือทางเข็มฉีดยา เพราะเด็กแบบนี้ยิ่งเจ็บตัวจะยิ่งอาเจียนมากขึ้น หลังให้นมทุกครั้งควรจับตัวเด็กให้ตรงพาดไหล่ลูบหลังให้เรอออก เมื่อให้นมแล้ว 10-30 นาที ขณะที่เด็กใกล้จะหลับต้องมีคนคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ เพราะถ้าเด็กอาเจียนในช่วงนี้ นมที่ออกมาจะเป็นก้อน ถ้าเข้าไปในหลอดลม อาจทำให้หายใจไม่ออก ควรให้เด็กนอนตะแคงหรือจะดีกว่า

ในบางรายเด็กจะอาเจียนเนื่องจากเป็นโรคเหน็บชา เพราะแม่ขาดวิตามินบีหนึ่ง เนื่องจากแม่กินแต่ข้าวขาว ไม่ค่อยกินอาหารอื่นและไม่ได้กินวิตามินรวม ทำให้เด็กขาดวิตามินบีหนึ่งไปด้วย เด็กที่เลี้ยงด้วยนมผงจะไม่เป็นโรคนี้ เพราะในนมมีวิตามินบีหนึ่งอยู่แล้ว

53. ท้องเสีย

ถ้าแม่รักษาความสะอาดมือและเต้านมอยู่ เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ จะไม่เกิดโรคท้องเสีย เพราะในน้ำนมแม่นั้นไม่มีเชื้อโรคอย่างแน่นอน คุณแม่ใหม่ซึ่งมีลูกคนแรก และไม่มีญาติผู้ใหญ่อยู่ด้วย มักตกใจคิดว่าลูกท้องเสีย เมื่อเห็นอึลูกเหลวเละ มีสีเหลืองหรือเขียว แถมมีชิ้นสีขาวๆ บางทีก็มีเมือกเหนียวๆ ปน ทั้งยังอึบ่อยครั้งขึ้น ลูกซึ่งเคยอึวันละหนสองหนในช่วงสัปดาห์แรก พออายุได้ครึ่งเดือนอึเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 7-8 ครั้ง คุณแม่เลยคิดว่าลูกท้องเสียแน่ อันที่จริงลักษณะอึของเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ จะมีลักษณะเหลวไม่เป็นก้อน เหมือนเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผงและการที่เด็กอึบ่อยครั้งขึ้นกว่าในช่วงอาทิตย์แรก ก็เพราะนมแม่ไหลมากขึ้น เด็กกินได้มากขึ้น ปริมาณอึจึงมากขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ใช่เป็นเพราะท้องเสียแต่อย่างใด ถ้าชั่งน้ำหนักเด็กดูจะเห็นว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้น

54. ท้องผูก

เด็กบางคนเมื่ออายุได้ครึ่งเดือนจะถ่ายอุจจาระน้อยลง เช่น ถ้าก่อนหน้านั้นเคยอึวันละ 2-3 ครั้ง พออายุได้ครึ่งเดือน อาจอึวันละครั้ง บางคนสองวันครั้ง บางคนสามวันจึงจะอึครั้งหนึ่ง คุณแม่มักจะตกใจพาลูกไปหาหมอแล้วบอกหมอว่า ลูกท้องผูก ถ้าเจอหมอประเภทไม่สนใจคนไข้ เมื่อคุณแม่บอกว่าลูกท้องผูกก็ฟังแต่คุณแม่ แล้วก็ให้ยาถ่ายมาหรือดีไม่ดีเด็กถูกจับฉีดยา โดยบอกว่าแก้ท้องผูกเสียด้วย

การที่เด็กอึน้อยลง มีสาเหตุอย่างหนึ่ง คือ นมไม่พอ เมื่อกินน้อยลงก็อึน้อยลง แต่สำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว เราจะรู้ว่าเด็กกินนมไปเท่าไร ถ้าเด็กกินนมครั้งละ 100 ซี.ซี. วันละ 7 ครั้ง แสดงว่านมพอแน่ ที่อึน้อยลงคงเป็นเพราะสาเหตุอื่น

เด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว มักจะท้องผูกมากกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ สำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเด็กกินนมเท่าไร นมพอหรือไม่ ถ้าเด็กอึน้อยลงเพราะนมไม่พอ เราจะรู้ได้จากการชั่งน้ำหนักเด็ก ถ้าน้ำหนักเด็กซึ่งเคยเพิ่มเฉลี่ย 5 วัน 150 กรัม กลับเพิ่มไม่ถึง 100 กรัม ก็แสดงว่านมแม่ไม่พอเด็กจึงท้องผูก

แต่ส่วนใหญ่ ปัญหาของแม่ที่พาลูกมาหาหมอแล้วบอกว่าท้องผูกนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะนมไม่พอ เด็กดูดนมดี ได้รับนมพอเพียง น้ำหนักก็เพิ่มดี แต่เด็กไม่อึทุกวัน แม่จึงบอกว่าท้องผูกเพราะแม่เข้าใจว่าเด็กจำเป็นต้องอึทุกวัน ถ้าไม่อึทุกวันแสดงว่าผิดปกติ ที่จริงคนเราไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน บางคน 2 วันจึงจะถ่ายครั้งหนึ่งตั้งแต่เล็กจนโต และไม่ได้มีอะไรผิดปกติ ถ้าเด็กอึ 2-3 วันต่อครั้ง และอึไม่แข็งออกมาปกติเราไม่เรียกว่า “ท้องผูก” แต่เป็นเรื่องปกติวิสัยของเด็กคนนั้นเอง แต่ถ้าเด็กร้องทรมานทุกครั้งที่อึ และอึออกมาแข็งจนเลือดออก แสดงว่าท้องผูก และต้องทำให้เด็กอึเร็วขึ้น อย่าปล่อยไว้จนแข็ง

วิธีทำให้เด็กอึเร็วขึ้นเพื่อไม่ให้ท้องผูก มีหลายวิธี ถ้าคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก่อนอื่นลองให้น้ำต้มสุกผสมกลูโค้สดูให้หลังอาบน้ำ ถ้าไม่ได้ผลลองให้น้ำพรุนหรือน้ำผลไม้ประมาณ 20 ซี.ซี. (น้ำผลไม้คั้นผสมน้ำต้มสุกเท่าตัว) ถ้าให้น้ำผลไม้ครั้งเดียวยังไม่ได้ผลดี ให้เพิ่มเป็นวันละ 2-3 ครั้ง ถ้าทำเช่นนี้แล้วยังไม่ได้ผลอีก ก็ต้องใช้วิธีสวนทวาร โดยใช้แท่งกลีเซอรีนหรือที่สวนทวารเด็ก คุณแม่ไม่ต้องกลัวว่า ถ้าสวนทวารลูกทุกวันแล้วเด็กจะติดเป็นนิสัยไปจนโต เพราะไม่มีใครในโลกนี้ ที่จะต้องสวนทวารไปจนตลอดชีวิต ด้วยเหตุที่ว่าตอนอายุหนึ่งเดือน ท้องผูกแล้วแม่ต้องสวนทวารให้ทุกวัน อาการท้องผูกของเด็กส่วนใหญ่จะหายไปเมื่ออายุได้ 3-4 เดือน เพราะเด็กได้รับอาหารเสริมพวกผักและผลไม้ ซึ่งช่วยในการขับถ่าย

การรักษาเด็กท้องผูกถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรให้ยาถ่าย เพราะจะทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติ และอาจทำให้เด็กเป็นโรคลำไส้กลืนกันได้

55. คัดจมูก

เด็กบางคนเมื่ออายุได้ครึ่งเดือน จะหายใจฟืดฟาดเหมือนคัดจมูก จนคุณแม่คิดว่าเป็นหวัด บางครั้งมีน้ำมูกในจมูก คุณแม่พยายามเอาออกให้ แต่อาการคัดจมูกก็ไม่ดีขึ้น กลับแย่ลงจนกระทั้งดูดนมไม่ค่อยได้ คุณแม่พาไปหาหมอ หมอมักบอกว่าเป็นหวัด และให้ยามาแต่ก็ไม่หาย ถ้าพาไปหาหมอหูตาคอจมูก หมอก็คงหยอดจมูกให้ และก็คงไม่หายเช่นกัน เมื่อไม่หายคุณแม่พาไปหาหมออีก คราวนี้คงถูกฉีดยาปฏิชีวนะ แต่ฉีดแล้วก็ยังไม่หาย เด็กประเภทนี้มักมีขี้รังแคที่คิ้วและที่แก้มมีเม็ดคล้ายๆ สิว และถ้าสืบประวัติดู มักจะพบว่าพ่อหรือแม่ก็มีอาการคัดจมูก เมื่อสมัยที่เป็นทารกเช่นเดียวกัน อาการคัดจมูกเช่นนี้จึงน่าจะเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัว มากกว่าเป็นโรค

การที่เด็กคัดจมูกทำให้ดูดนมลำบากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะดูดนมไม่ได้เลย ช่วงที่เด็กจะลำบากเพราะอาการคัดจมูก จะกินเวลาประมาณเพียงหนึ่งอาทิตย์ คุณไม่ต้องกังวลมากนัก ส่วนมากอาการนี้จะเป็นมากเมื่ออากาศเย็น แต่อย่าห่มผ้า ใส่เสื้อให้เด็กมากเกินไป เพราะถ้าอบอุ่นเกินไปอาการคัดจมูกจะเป็นมากขึ้น ควรพาเด็กออกสูดอากาศภายนอกบ้านในช่วงที่อากาศดี จะช่วยให้หายเร็วขึ้น ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น เมื่อเด็กอายุพ้น 1 เดือนขึ้นไป และจะหายไปเองในที่สุด

56. หัวเบี้ยว

เมื่อเด็กอายุใกล้จะครบ 1 เดือน คุณแม่จะสังเกตเห็นว่า เด็กมักชอบนอนตะแคงหัวไปข้างเดียว เด็กที่ชอบตะแคงหัวไปทางซ้าย หัวด้านซ้ายจะแบนกว่าด้านขวา เด็กที่ชอบตะแคงหัวด้านขวา หัวด้านขวาจะแบนกว่าหัวด้านซ้าย ทั้งนี้เพราะในช่วงแรกเกิดถึงหนึ่งเดือน หัวเด็กจะเติบโตเร็วมาก รอบศีรษะจะโตขึ้นประมาณ 3 เซนติเมตร และด้านซ้ายขวาอาจเติบโตไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าจะระวังไม่ให้เด็กหัวเบี้ยว จะต้องคอยสังเกตในระยะแรกเกิดถึงหนึ่งเดือน ถ้าเห็นข้างไหนค่อนข้างแบนกว่าอีกข้างหนึ่ง ต้องพยายามให้เด็กนอนหันอีกด้านหนึ่ง ถ้าเด็กอายุได้สองเดือน จะแก้ไม่ได้ เพราะเด็กสามารถหันหัวไปมาได้เอง และจะนอนแต่ข้างที่ตนถนัด แต่บางครั้งถึงจะระวังอย่างไร เด็กบางคนก็หัวเบี้ยวอยู่ดี ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรกังวลเรื่องรูปศีรษะของลูกให้มากนัก เพราะผู้ชายสมัยนี้ก็ไว้ผมยาว จะเห็นหัวเบี้ยวเฉพาะตอนโกนหัวเท่านั้น

ถ้าเด็กหัวไม่เบี้ยว แต่ชอบนอนตะแคงหัวไปข้างเดียวอาจเป็นโรคคอเอียง (Torticollis) ดูห้อข้อ 61 คอเอียง

57. ตัวไม่หายเหลือง

ตามปกติตัวเด็กจะหายเหลืองภายในหนึ่งอาทิตย์ถึง 10 วัน แต่เด็กบางคน 3 อาทิตย์แล้ว ตัวยังไม่หายเหลือง ทำให้คุณแม่เป็นกังวล เพราะอาการตัวเหลืองเป็นอาการของโรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น ตับอักเสบ และท่อน้ำดี เป็นต้น แต่ถ้าตัวเหลืองมีแนวโน้มสีอ่อนลง เด็กก็ดูท่าทางแข็งแรงดี ดูดนมได้ดี และอึเป็นปกติคุณแม่ควรดูอึสักพัก เพราะเด็กไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่ตัวหายเหลืองช้าก็มี โดยเฉพาะที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ตัวจะหายเหลืองช้า เนื่องจากในน้ำนมแม่มีฮอร์โมนที่ทำให้ตัวเหลืองอยู่นาน ถ้าเปลี่ยนไปให้นมผงก็จะหายเหลือง แต่คุณแม่ไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะไม่ช้าก็เร็วตัวเด็กก็จะหายเหลืองไปเองอยู่ดี ให้นมแม่ต่อไปจะดีกว่า สำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักตัวไม่ถึง 2.5 กิโลกรัม ตัวอาจเหลืองอยู่ถึงหนึ่งเดือน

58. เป็นผด ก้นแดง

เด็กทารกส่วนใหญ่เมื่ออายุได้ 10 วันถึงครึ่งเดือน จะมีผดหรือสิวขึ้นที่หน้า บางคนมีรังแคที่คิ้ว บางคนเริ่มมีเม็ดคล้ายสิวที่หน้าผาก หรืออาจมีเม็ดแดงๆ เล็กๆ 3-4 เม็ดที่แก้ม และถ้าอากาศร้อนหรือถูกแดด ผดเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่รีบรักษาปล่อยทิ้งไว้จนอายุ 1-2 เดือน จะเป็นมากทั้งที่หน้าและบนหัวด้วย

วิธีรักษา ใช้ครีมที่มีตัวยาพวกสเตอรอยด์ (Steroid) ผสมอยู่ (เช่น ครีมเพร็ดนิโซโลน) ทาหลังอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ก่อนทาคุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาด และเมื่ออากาศดีขึ้น ให้ทาต่อไปอีกหนึ่งอาทิตย์ จนหายขาดจึงหยุดทา ควรรีบรักษาให้หายก่อนเด็กอายุ 3 เดือน เพราะเด็กจะรู้สึกเกาทำให้รักษายากขึ้น

เด็กที่เป็นผดง่าย ถ้าถ่ายบ่อยมักจะก้นแดงง่ายด้วย โดยเฉพาะบริเวณที่ขาหนีบ อย่าปล่อยให้เด็กแช่อึหรือฉี่นานๆ อย่านุ่งผ้าอ้อมพลาสติก ควรใช้ผ้าอ้อมบางๆ ให้ลมผ่านเข้าออกได้สะดวก หรือไม่ต้องนุ่งผ้าอ้อมเลย ไม่ควรซักผ้าอ้อมด้วยผงซักฟอก ควรใช้สบู่ซักและต้องซักสบู่ออกให้หมด อาบน้ำให้เด็กบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าฟอกตัวด้วยสบู่แล้วเป็นมากขึ้น ต้องหยุดใช้สบู่ชั่วคราว และเมื่อขึ้นจากอาบน้ำ ใช้ครีมที่มีตัวยาพวกสเตออยด์ทาให้ สิ่งสำคัญคือ ต้องระวังอย่าให้เด็กร้อนเกินไป

ข้อมูลสื่อ

12-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 12
เมษายน 2523