• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กสองขวบถึงสามขวบ

เด็กสองขวบถึงสามขวบ

 

 

                             
 

 

สภาพผิดปกติ


298. เลือกอาหาร
นิสัยเลือกอาหารของเด็กนั้นมิได้แปลว่าจะทำให้เกิดการขาดความสมดุลทางโภชนาการ ซึ่งหมายถึงการไม่ยอมบริโภควิตามินบางชนิดเลย หรือขาดกรดอะมิโนจากโปรตีนซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย เวลาคุณแม่ว่าลูกคนนี้เลือกกินนั้น หมายถึงเลือกกินข้าวบางชนิดเท่านั้น
การขาดความสมดุลทางโภชนาการมีผลร้ายต่อร่างกาย ส่วนนิสัยเลือกกินแต่ของชอบ ของไม่ชอบไม่กินและกล่าวได้ว่าเกือบไม่มีผลเสียต่อร่างกาย ส่วนใหญ่ที่คุณแม่บ่นว่าปวดหัวเรื่องลูกเลือกอาหารนั้น มักจะเป็นเพราะลูกไม่ยอมกินผักจำพวกต้นหอม ผักชีล้อม ฟักทอง หัวผักกาดขาว ฯลฯ หรือไม่ยอมกินไก่เลยแม้แต่คำเดียว คุณแม่มักจะพอใจมากถ้าลูกสามารถกินอาหารได้ทุกชนิดโดยไม่เลือกเลย

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ส่วนใหญ่ย่อมมีของที่ตนชอบและไม่ชอบ อย่าดูแต่ลูกกินเท่านั้นควรหันไปดูพ่อบ้าง ถ้าอาหารมื้อนั้นมีฟักทองผัดไข่วางคู่กับแหนม ดูซิว่าคุณพ่อจะกินทั้งสองอย่างได้เสมอภาคกันหรือไม่ พ่อยังมีสิทธิเลือกอาหาร ถ้าไม่ยอมให้ลูกมีสิทธิเลือกบ้าง ก็ขัดต่อสิทธิมนุษยชนมิใช่หรือ
แม้เด็กจะไม่ยอมกินต้นหอม แตงกวา หรือมะเขือ แต่แกกินผลไม้ได้มากก็ไม่ขาดวิตามิน ถึงจะเกลียดเนื้อไก่ ถ้ากินปลาแกก็ได้โปรตีนเหมือนกัน

เด็กที่เลือกอาหาร ถ้าได้รับคำยกยอหรือครูสั่งให้กิน เด็กจะยอมกินระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าแกจะหันมาชอบของที่เคยเกลียด เพียงแต่แกยอมอดทนกินของที่เกลียดเพื่อเอาใจผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กที่ไม่ชอบกินผักมาตั้งแต่วัยเด็กก่อน พอขึ้นชั้นประถมอาจจะยอมกินผักที่อยู่ในอาหารมื้อกลางวันของทางโรงเรียน แต่พอโตเป็นหนุ่มแต่งงานมีครอบครัว ภรรยาที่รักผัดผักให้กินก็ยังเหลือทิ้งเสมอ
มนุษย์เราควรจะมีสิทธิเลือกสิ่งที่ตนชอบและมีชีวิตอย่างมีความสุขสดชื่น เด็กที่ไม่ชอบกินหัวผักกาดเราอาจจะปรุงแต่งรสชาติต่างๆเพื่อให้แกกินได้ แต่ถ้าแกกินด้วยความพะอืดพะอมล่ะก็ ให้แกกินส้มแทนจะดีกว่า เวลากินอาหารน่าจะกินกันอย่างมีความสุข หลีกเลี่ยงการปะทะกันระหว่างแม่ลูกเป็นดีที่สุด
การบังคับให้เด็กทำอะไรซึ่งขัดต่อธรรมชาติ ผู้ใหญ่เรามักจะเรียกว่า “หัดนิสัย” หรือ “ดัดนิสัย” ทำให้คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำเสียด้วย


 

 


299. มีไข้สูง
เด็กอายุ 2-3 ขวบเมื่อมีไข้สูงโรคที่เป็นมากที่สุดคือ ไข้หวัด ซึ่งตัวต้นเหตุเป็นเชื้อไวรัสและไม่มียาทำลายเชื้อนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กมีไข้ควรพาไปให้หมอวินิจฉัยว่า เป็นหวัดใช่หรือไม่ เพราะเวลาหวัดระบาด หมอเห็นคนไข้มากจึงรู้ได้ง่ายว่า เด็กเป็นหวัดซึ่งกำลังระบาดอยู่หรือเปล่า จะได้แน่ใจว่าเด็กไม่ได้เป็นโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน หรือไข้อีดำอีแดงซึ่งต้องใช้ยาปฏิชีวนะรักษา หน้าที่ในการวิเคราะห์โรคคืองานของแพทย์
แต่ถ้าไปเจอหมอที่ดูคนไข้ไม่ออกว่า เป็นหวัด พอเห็นว่ามีไข้จะให้ยาปฏิชีวนะทุกครั้งไป ก็นับว่าโชคร้าย ควรเปลี่ยนหมอเพื่อความปลอดภัย

เวลาเด็กมีไข้สูง ลองสั่งให้แกอ้าปากกว้างๆ และดูคอ ถ้าตรงผนังด้านบนซึ่งอยู่ลึกที่สุดมีเม็ดพองและและเนื้อรอบๆมีสีแดงแสดงว่า เป็นโรคตุ่มเม็ดพองในปาก (ดูหัวข้อ185 ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 48)
เด็กอาจชักเมื่อมีไข้สูง ส่วนใหญ่เป็นอาการชักเนื่องจากมีไข้ มีน้อยรายที่จะเป็นโรคไข้สมองอักเสบ
หากลูกคุณฉีดวัคซีนต่างๆไว้แล้วก็ไม่ควรตกใจนักเวลาแกมีไข้สูง ถ้าฉีดวัคซีนบี.ซี.จี. (BCG) แล้วก็ไม่ต้องกลัววัณโรค ถ้าได้วัคซีนดีพีที(DPT) แล้วก็ไม่กลัวคอตีบ โปลิโอและไอกรน แต่เมื่อให้เด็กอ้าปากและเห็นสีขาวแถบต่อมทอนซิล จะต้องรีบรักษา เวลาเด็กมีไข้ควรพาไปให้หมอวินิจฉัยโรคเสมอ
เด็กวัยนี้กล่าวได้ว่าเกือบจะไม่เป็นโรคส่าไข้แล้ว

ถ้าเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันหัดเอาไว้ เมื่อมีไข้สูง อาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคหัดก็ได้ โรคหัดนั้นจะไม่เกิดตุ่มก่อน หัดระยะแรก แม้แต่หมอก็ยังแยกไม่ออกว่าเป็นโรคหัดหรือเป็นหวัด ถ้ามีคนใกล้เคียงหรือเด็กที่โรงเรียนอนุบาลเป็น ก็เดาได้ว่าเป็นหัด โรคนี้เมื่อติดต่อแล้วจะมีอาการไข้ประมาณวันที่
12-13 หลังจากนั้น เด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคางทูม ให้นึกถึงโรคนี้ด้วยเมื่อมีไข้ และถ้าเป็นโรคนี้บริเวณใต้หูจะบวมพร้อมกับมีไข้ เชื้อคางทูมมีระยะฟักตัว 2-3 สัปดาห์
โรคอีสุกอีใสนั้นจะเห็นเม็ดอีสุกอีใสก่อนมีไข้ เราจึงรู้ได้ว่า เป็นไข้เพราะโรคนี้ เชื้อโรคอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์


 



300. อาเจียน
เมื่อเด็กวัยนี้อาเจียน ประการแรกเราต้องดูว่าเด็กมีไข้หรือไม่
ถ้าเด็กร่าเริงดีจนถึงก่อนนอนแต่พอนอนไปได้สักพักก็อาเจียนเอาอาหารมื้อเย็นออกมาและมีไข้สูงกว่า 38 องศา ให้คำนึงถึงโรคซึ่งมีอาการไข้ (ดูข้อ 299 มีไข้สูง)หากเด็กอาเจียนแต่ไม่มีไข้ ต้องดูลักษณะอาการของเด็กเป็นสำคัญ เมื่ออาเจียนแล้วแกเล่นได้อย่างปกติหรือนอนหลับปุ๋ย ก็แสดงว่าอาเจียนออกมาพร้อมกับอาการไอหรือเป็นเพราะกินมากเกินไป อาเจียนออกมาแล้วจึงรู้สึกสบาย
ถ้าหลังอาเจียน แม้เด็กจะไม่มีไข้ แต่มีอาการซึมอ่อนเพลียและหาวบ่อยๆ ให้นึกถึง “อาการอาเจียนเป็นระยะ” (หัวข้อ 282 ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 82) โดยเฉพาะในกรณีที่วันก่อนหน้านั้น เด็กเล่นสนุกและเหนื่อยมากกว่าธรรมดา

เวลาเด็กอาเจียนและไม่มีไข้แต่ร้องโอดโอยแสดงอาการปวดท้อง แล้วหยุดไประยะหนึ่ง จึงร้องอีกเป็นช่วงๆ ให้นึกถึงโรคลำไส้กลืนกัน (หัวข้อ 132 ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 31) อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กอายุใกล้ 3 ขวบจะเป็นโรคนี้น้อยลงมาก
เมื่อเด็กมีอาการปวดท้องอาเจียน บางครั้งอาจเกิดจากอาการเป็นพิษ โดยเฉพาะหลังจากกลับจากรับประทานอาหารนอกบ้านซึ่งไม่สะอาดเพียงพอ ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์

 

ข้อมูลสื่อ

92-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 92
ธันวาคม 2529