• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อันตรายจากยาปราบศัตรูพืช

อันตรายจากยาปราบศัตรูพืช

อันตรายจากยาปราบศัตรูพืชเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับวิทยาการที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง และการมุ่งเพิ่มผลผลิตในทางเกษตรกรรม แต่ในขณะเดียวกันเกษตรกรผู้ใช้ก็ได้รับอันตรายถึงขั้นเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
นอกจากอันตรายจากยาปราบศัตรูพืชจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงประชาชนผู้บริโภคผลิตผลจากเกษตรกรรมอีก เช่น ผักสด ผลไม้ หากแต่เป็นอันตรายแอบแฝงที่อาจยังไม่ปรากฏผลทันทีทันใด ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการนำสารพิษจำพวกนี้มาเป็นเครื่องมือฆ่าตัวตาย คงจะเคยได้ยินกันมาบ่อยๆทางสื่อมวลชนว่า มีคนกินยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่าตัวตายหรือการได้รับสารพิษโดยอุบัติเหตุ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ปรากฏอยู่เนืองๆ

คอลัมน์เรื่องน่ารู้ฉบับนี้ รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทูร อัตนโถ แห่งภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาอธิบายให้เราได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งการป้องกันดูแลรักษาตนเองและการช่วยเหลือผู้ได้รับสารพิษขั้นต้น


⇒ สารเคมีที่ใช้ปราบศัตรูพืชมีกี่ประเภท

สารเคมีที่ใช้ปราบศัตรูพืชมีหลายประเภท ได้แก่
1. ยาฆ่าแมลง
2. ยาปราบศัตรูพืช
3. ยาเบื่อหนู
4. ยาฆ่าเชื้อรา
5. อาจรวมไปถึงยาทาไล่ยุงด้วยก็ได้

แต่ละประเภทที่พูดถึงนี้ยังจำแนกเป็นกลุ่มย่อยๆออกไปอีก เช่น ยาฆ่าแมลง ประกอบด้วย
1. ออร์กะโนฟอสเฟต มีชื่อเรียกกันติดปากว่า “พาราไทออน” เป็นที่รู้จักในหมู่เกษตรกรว่า ยาตราหัวกะโหลกไขว้ และยาเขียวฆ่าแมลง

2. คาร์บาเมต

3. ออร์กะโนคลอรีน เช่น ดีดีที

4. ไพรีทรอยด์ หรือไพรีทรัม
ที่เขาแบ่งเป็นกลุ่มเพราะว่า ทำให้เกิดพิษและออกฤทธิ์ต่างกัน


⇒ อยากให้อาจารย์พูดถึงอันตรายของแต่ละชนิด
สำหรับกลุ่มที่ 1 ออร์กะโนฟอสเฟต และกลุ่มที่ 2 คาร์บาเมตนั้น ออกฤทธิ์ไปยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส (cholinesterase) ของร่างกายไม่ให้ทำงาน ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ปวดท้อง ท้องเดิน น้ำลายฟูมปาก กล้ามเนื้อกระตุก ชัก หายใจลำบาก ตัวเขียว หยุดหายใจ อาจถึงตายได้
สำหรับกลุ่มที่ 3 ออร์กะโนคลอรีน ก็มีพิษเหมือนกัน โดยทำให้ชักหมดสติและตายได้ ซึ่งเป็นอันตรายที่รุนแรงเช่นเดียวกัน พวกนี้ที่เรารู้จักกันดีก็คือ ดีดีที นอกจากนั้นก็มีตัวอื่นอีก เช่น ดีลดริน (dieldrin) เอนดริน (endrin) เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 ไพรีทรอยด์หรือไพรีทรัม ได้มาจากการเอาเกสรดอกไพรีทรัมมาสกัด มีตัวยาอยู่แค่ 0.1% ใช้ฆ่าแมลงหรือฆ่ายุงได้ผลดี กว่าจะเก็บดอกไม้มาสกัดได้ 0.1% ต้องลงทุนสูง ในปัจจุบันเขาจึงสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ไพรีทรอยด์ มีใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะเพื่อกำจัดยุง

ยาในประเภทที่ 1 ที่เรียกยาฆ่าแมลงนี้มีใช้ในครัวเรือนและใช้ในเกษตรกรรม โดยเฉพาะที่ใช้ในในทางเกษตรกรรมมีความเข้มข้นสูง เช่น 50% อันตรายจึงมีมากกว่าในครัวเรือน เพราะยาฆ่าแมลงที่ใช้ในครัวเรือนใสกว่า มีเปอร์เซ็นต์ต่ำไม่เกิน 1% อันตรายจึงต่างกัน
การเข้าสู่ร่างกายของสารพิษกุล่มที่ 1,2 และ 3 นั้น ส่วนใหญ่เข้าได้ 3 ทางด้วยกันคือ ทางหายใจ โดยการหายใจเอาละอองหรือกลิ่นเข้าไปโดยกินเข้าไปโดยตรง และโดยการซึมผ่านทางผิวหนัง ยกเว้นประเภทที่ 3 บางชนิดก็ไม่สามารถซึมผ่านทางผิวหนังได้ นอกจากนั้นเข้าได้เพียง 2 ทางคือโดยการกินและการหายใจเมื่อเข้าไปแล้วทำให้เกิดอาการต่างๆกัน ความรุนแรงของอาการพิษที่เกิดขึ้นถึงขั้นสุดท้ายคือตาย ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่ายาฆ่าแมลงแล้วละก็ถึงตายได้ทั้งนั้น ยกเว้นไพรีทรอยด์เพราะฤทธิ์มันอ่อนมาก

มาประเภทที่ 2 ยาปราบศัตรูพืช ใช้เฉพาะในทางเกษตรกรรมที่ได้รับความนิยมมาก คือ กลุ่มพาราควอต รู้จักกันในชื่อกรัมม็อกโซน เนื่องจากพาราควอตมีคุณสมบัติที่ดีมากคือ มันไม่ทำให้เกิดพิษตกค้างเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อฉีดพ่นลงไปทำลายวัชพืชเรียบร้อยแล้วตกลงสู่พื้นดินก็จะหมดฤทธิ์ทันที เพราะสารพวกนี้จะมีประจุไฟฟ้าที่ตรงข้ามกับประจุไฟฟ้าของดิน เกิดการดูดซับเข้าหากันกลายเป็นสารไม่มีพิษทันที
ต่างกับดีดีทีหรือออร์กะโนคลอรีน พวกดีดีทีที่เสื่อมความนิยมลงไป เพราะมีพิษตกค้างหลงเหลืออยู่ในดินได้เป็นเวลานาน พืชจะดูดซึมเข้าไปในลำต้น ใบ ดอก ผล เป็นพิษตกค้างในพืช เมื่อคนกินเข้าไปจะสะสมอยู่ในร่างกายเกิดเป็นพิษขึ้นได้

ประเภทที่ 3 ยาเบื่อหนู ใช้ในทางเกษตรกรรมและในครัวเรือน ขอยกตัวอย่างกลุ่มวอร์ฟารินหรือราคูมิน กินเข้าไปแล้วมีผลต่อเลือด ทำให้เลือดออกไม่หยุด ตายได้ แต่การจะเกิดอย่างนี้ต้องกินเข้าไปติดต่อกันหลายๆครั้ง หรือกินครั้งเดียวจำนวนมาก อีกกลุ่มหนึ่งคือ ซิงค์ฟอสไฟด์ เป็นผงสีดำๆ กินเข้าไปทำให้เกิดคลื่นไส้ อาเจียน และเป็นพิษต่อตับและไตได้

ประเภทที่ 4 ยาฆ่าเชื้อรา มีหลายกลุ่มๆที่เป็นอันตรายมากเขาก็พยายามเลิกใช้หันมาใช้ที่มีอันตรายน้อยลงคือ ไม่เกิดพิษให้เห็นทันตา แต่อันตรายแอบแฝงที่เรากำลังศึกษากันอยู่คือ การทำให้ยีนส์เกิดการผ่าเหล่าหรือมิวเตชั่นยีนส์ (mutation genes) อาจทำให้เกิดมะเร็งเป็นผลในอนาคตซึ่งเรายังไม่รู้อีกเป็นจำนวนมาก มาสมัยนี้ในการปราบศัตรูพืชเขานิยมใช้แบคทีเรียหรือไวรัสกำจัดแมลงแทนสารเคมี เช่นแบคทีเรีย เมื่อฉีนพ่นลงไป สามารถจำจัดแมลงตัวอ่อนได้ วิธีนี้ไม่มีอันตราย เพราะไม่ทำให้คนติดโรคและได้รับสารพิษ


⇒ยาที่เกษตรกรนิยมใช้ได้แก่ประเภทไหน
เกษตรกรนิยมใช้ทุกประเภทร่วมกันหมด ในการฉีดพ่นแต่ละครั้งเขาจะต้องใช้การผสมของสูตรที่เห็นว่าเหมาะสมกับท้องถิ่นหรือพืชของเขาแต่ละชนิด เช่น ผสมยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อราเข้าด้วยกัน


⇒ พวกยาปราบศัตรูพืช สารเคมีเหล่านี้มีการสะสมในร่างกายหรือไม่อย่างไร
การสะสมในร่างกายขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมี ส่วนใหญ่ในกลุ่มออร์กะโนคลอรีนเท่านั้นที่มีพิษสะสมจึงเลิกใช้ เช่น ดีดีที เมื่อก่อนใช้กันอย่างมากมาย ปรากฏว่าเมื่อใช้นานเข้าจึงพบว่า มีการสะสมอยู่ในภาวะแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร ในดิน ในน้ำ และเมื่อคนกินเข้าไปจะไปสะสมอยู่ในไขมัน อาจจะทำให้เกิดมิวเตชั่นยีนส์ (mutation genes) เป็นมะเร็ง เป็นเหตุของโรคโลหิตจางและอื่นๆ อีกสารพัด เขาจึงเลิกใช้ แต่ในบางประเทศ เช่น ประเทศไทยยังมีการใช้อยู่โดยเฉพาะเพื่อการสาธารณสุข


⇒ เมื่อได้รับสารพิษเข้าไปแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร
สำหรับสาเหตุของการเกิดพิษมี 4 ประการคือ
1. กินเข้าไปด้วยการจงใจ
2. กินด้วยอุบัติเหตุ เช่น เมา หยิบผิด
3. กินเข้าไปโดยถูกฆาตกรรม
4. ได้รับอันตรายจากการประกอบอาชีพ

การปฐมพยาบาลต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกว่า ได้รับพิษเข้าไปโดยทางใด ถ้าสงสัยว่า โดยการกิน ต้องนำผู้ได้รับพิษมากระตุ้นให้อาเจียนก่อน ด้วยการล้วงคอหรือกรอกนม ไข่ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา และจะต้องทำโดยเร็วที่สุด เพราะการทำให้อาเจียนสามารถกำจัดสารพิษออกได้ดีที่สุด
สำหรับสารกลุ่มพาราควอตหรือกรัมม็อกโซน เพราะสารพิษตัวนี้เป็นเหตุของการเกิดพิษโดยการกินถึงตายมากที่สุด ทันทีที่พบนอกจากให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาโดยเร็วที่สุดแล้ว ก็ให้เขาดื่มน้ำโคลนเข้าไปจนเต็มที่ น้ำโคลนนี้เอามาจากท้องร่องในสวนหรือเอาดินเหนียวละลายน้ำให้กินทันที น้ำโคลนจะทำปฏิกิริยากับพาราควอต ทำให้พิษหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว วิธีนี้ช่วยผู้ที่ถูกพิษปลอดภัยดีกว่าส่งมาโรงพยาบาลโดยไม่ทำอะไร


⇒ในกรณีของสารเคมีที่มีพิษอื่นๆที่เข้าสู่ร่างกายโดยการกินก็ใช้วิธีอาเจียนด้วยหรือไม่
ใช้การทำให้อาเจียนเหมือนกัน เพราะการอาเจียนจะกำจัดพิษออกมาได้มากกว่า 90% และการใช้น้ำโคลนก็จะช่วยชีวิตได้เกือบ 100% สำหรับพิษพวกพาราควอตหรือกรัมม็อกโซน หลังจากนั้นค่อยนำส่งโรงพยาบาล


⇒ ถ้าสารพิษเข้าสู่ร่างกายโดยทางอื่น จะปฏิบัติอย่างไร
กรณีที่สารพิษเข้าทางผิวหนัง เช่น นั่งทับก็ต้องรีบถอดเสื้อผ้าออกชำระล้างฟอกสบู่ให้เรียบร้อย เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ อย่าปล่อยให้มาเหม็นๆทั้งที่มีสารเคมีติดอยู่บนร่างกาย เพราะสารเคมีจะซึมเข้าไปเรื่อยๆเป็นอันตรายรุนแรงได้
ส่วนที่ได้รับพิษโดยการหายใจเข้าไป วิธีป้องกันก็คือ ดึงผู้ป่วยออกจากสภาพแวดล้อมนั้น ไปอยู่ในที่สะอาด แล้วนำส่งโรงพยาบาลก็เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นที่ดีที่สุด

สำหรับผู้ได้รับพิษเข้าไปโดยการประกอบอาชีพ เช่น พวกเกษตรกรจะได้รับสารพิษในกลุ่มออร์กะโนฟอสเฟต หรือพาราไทออนขณะทำการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในชีวิตประจำวัน ฤทธิ์จะสะสมในร่างกายมากขึ้นจนกระทั่งมีอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อปฏิบัติงานต่อไปอีก อาการพิษจะรุนแรงมากขึ้น ถึงขั้นซึมลง หมดสติ น้ำลายฟูมปากและตายได้
ผู้ที่ชอบกินผักทุกวันอาจได้รับอันตรายจากพิษตกค้างได้ เช่น กินผักคะน้าวันละ 2 ตัน แต่ละต้นมีพิษตกค้างอยู่เล็กน้อย กินครั้งเดียวไม่ทำให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่ถ้ากินทุกวันนานเข้าก็อาจเกิดอาการพิษได้ มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วกับคนกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าผักคะน้า เพียงจานเดียวก็เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หมดสติ น้ำลายฟูมปาก ต้องนำส่งโรงพยาบาลเกือบเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


⇒ ปกติแล้วในผักจะมีสารพิษตกค้างมากหรือเปล่า


ประเทศที่เจริญแล้วเขาศึกษาผักทุกชนิดที่ปลูกในแต่ละฤดู เขาจะฉีดพ่นยาฆ่าแมลงหรือยาปราบศัตรูพืชและเก็บเกี่ยวผลผลิตตามที่มาตรฐานกำหนด เช่น ในฤดูร้อนเก็บผลผลิตภายหลัง 7 วัน ฤดูฝน 3 วัน ฤดูหนาว 10 วัน เขาจัดทำตารางศึกษาไว้อย่างดีและกำหนดให้เกษตรกรผู้ผลิตปฏิบัติตามก่อนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละฤดู ตามชนิดของสารเคมีที่ใช้ในผักทุกชนิด
ส่วนประเทศไทย แล้วแต่ผู้ผลิตจะมีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน บางรายกลัวผักไม่สวยก็ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงลงไปตามความพอใจ บางทีฉีดพ่นยาวันนี้พรุ่งนี้ก็เก็บไปขาย ผู้บริโภคผลผลิตของรายนี้ก็นับว่าเคราะห์ร้ายอย่างช่วยไม่ได้

การใช้สารเคมีฆ่าแมลงอย่างพร่ำเพรื่อจำนวนมากๆ ทำให้แมลงเกิดการดื้อยาจึงเพิ่มการใช้ให้มากขึ้น ทำให้ผักมีลักษณะน่ากิน แต่ตัวผู้ผลิตเองไม่ยอมกินผักที่เขาปลูกขึ้น เขายอมรับว่าสิ่งที่ทำไปนั้นเป็นอันตรายและพวกเขาก็ไม่กล้าบริโภค แต่เก็บไปขายเพื่อต้องการเอาเงิน อันนี้เป็นคำบอกเล่าจากชาวสวนผักเองเลยนะ


⇒การล้างผักเพื่อเอาสารพิษออกไปจะช่วยได้มากน้อยเพียงไร
ผักที่มียาฆ่าแมลงติดอยู่ นำมาเก็บไว้ในตู้เย็นไม่ทำให้สารพิษเหล่านี้สลายตัวไปเลยแม้แต่น้อย มันจะสลายตัวได้เมื่อต้นผักยังไม่ถูกเก็บเกี่ยวอยู่ในธรรมชาติที่มีแสงแดด และความชื้น ในกรณีที่พืชผักยังไม่ได้ดูดซึมสารพิษพวกนี้เข้าไปสู่ลำต้น ใบ การล้างผักด้วยการแช่น้ำ อาจกำจัดหรือทำให้สารพิษที่อยู่ข้างนอกลดน้อยลงได้เพียงประการเดียว การแช่น้ำต้องรู้คุณสมบัติว่าน้ำที่แช่ควรเป็นชนิดใด คุณสมบัติของพาราไทออนหรือออร์กะโนฟอสเฟตสามารถสลายตัวได้ดีในความเป็นด่างคือ ไบคาร์บอเนต(ไม่ใช่ด่างทับทิม) จะช่วยให้ออร์กะโนฟอสเฟตสลายตัวดีขึ้น

สำหรับสารเคมีที่ถูกดูดซึมเข้าไปภายในลำต้น ใบ ดอก และผลแล้ว ไม่สามารถล้างออกได้ พวกที่กินเข้าไปแล้วไม่เกิดอาการเพราะความสามารถของร่างกายที่จะต่อสู้กับความเป็นพิษของมันได้ระยะหนึ่งหากได้รับเข้าไปไม่มาก หรือไม่ทุกวัน แต่ถ้ารับเข้าไปเสมอๆ ทุกๆวัน เมื่อถึงขีดที่เป็นอันตรายนั่นแหละ จึงจะมีอาการปรากฏขึ้น


⇒ การป้องกันพิษจากยาฆ่าแมลงสำหรับเกษตรกรเองจะทำได้อย่างไร
เวลาฉีดควรมีผ้าปิดปาก จมูก ใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด และใช้ภาชนะในการผสมยาเพื่อฉีดพ่นที่ไม่รั่ว ไม่ควรใช้มือเปล่าๆ สัมผัสกับสารพิษ เพราะอาจจะซึมเข้าผิวหนังได้และเมื่อมีอาการผิดปกติให้รีบไปโรงพยาบาล

ประเทศที่เจริญแล้วเขามีมาตรการกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับยาฆ่าแมลง มารับการตรวจร่างกายและตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเป็นระยะๆ เช่น เจาะเลือดหาระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอรอล (cholinesterase) เป็นต้น

 

ข้อมูลสื่อ

91-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 91
พฤศจิกายน 2529
เรื่องน่ารู้
นพ.วิทูร อัตนโถ