• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพเพศหญิง

ตลอดปี พ.ศ.2548 มีทารกถูกทิ้ง 700-800 คน เฉลี่ยถูกทิ้งวันละ 2 คน
นี่คือข้อมูลจากโครงการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดหรือ Child Watch ที่ทำการติดตามและสำรวจทารกที่ถูกทิ้งซึ่งยังไม่นับรวมกับข่าวพบซากทารกถูกทิ้งในที่ต่างๆ  ปัญหาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์การท้องไม่พร้อมอย่างแยกไม่ออก แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติของปัญหาท้องไม่พร้อมอย่างหนัก ซึ่งกระทบและส่งผลต่อสุขภาพของเพศหญิงและเด็กอย่างเห็นได้ชัด

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบัน วิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะกรรมการโครงการสุขภาพคนไทย และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหานี้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นการให้ความรู้และค่านิยมเรื่องการคุมกำเนิดและ Safe Sex ที่ยังลักลั่นอยู่

"โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เราพูดกันว่าอยากให้เรื่อง Safe Sex เข้าถึงเขามานานกว่า 15-20  ปีแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงก็ยังไม่แพร่หลาย โรงเรียนยังคิดว่าเป็นเรื่องชี้โพรงให้กระรอก ที่สำคัญคือเราหลอมสร้างเยาวชนของเราโดยปราศจากภูมิคุ้มกัน ไม่รู้จักการป้องกันตัวเองอย่างถูกต้อง และปล่อยให้วัฒนธรรมทางเพศที่สร้างให้ผู้ชายไทยไม่มีความรับผิดชอบครอบงำเยาวชน"
Ž

ไม่เฉพาะแต่กลุ่มเยาวชนเท่านั้น แต่กลุ่มสตรีทำงาน และแม่บ้านก็ยังเข้าไม่ถึงเรื่อง Safe Sex เพราะค่านิยมของสังคมไทย ซึ่งมีตัวเลขจากงานวิจัยยืนยันว่า กลุ่มผู้หญิงขายบริการที่มีการใช้ถุงยางอนามัยกันอย่างแพร่หลายมีอัตราการติดเชื้อเอดส์ลดลงอย่างมาก ในขณะที่กลุ่มแม่บ้านผู้หญิงแต่งงานแล้วกลับมีอัตราติดเอดส์จากสามีเพิ่มขึ้นแทนอย่างน่าตกใจ

ความเสี่ยงด้านสุขภาพของเพศหญิงและเด็กที่เผชิญอยู่ในขณะนี้จึงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ทั้งในเรื่องการถูกคุกคามทางเพศ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม โรคติดต่อ ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงมาตรการปกป้อง คุ้มครอง และแก้ไข ด้วยเหตุนี้ใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยระบุไว้ในหมวดสิทธิและหน้าที่ ในมาตรา 6 ไว้ดังนี้

สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ซึ่งมีความจำเพาะซับซ้อนและมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตลอดช่วงชีวิต ต้องได้รับการสร้างเสริม และคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม

สุขภาพของเด็ก คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสมด้วย


เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสรรค์สร้างสุขภาวะที่ดีต่อเพศแม่ และทุกเพศทุกวัยที่อยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อความสุขร่วมกันของทุกคน

ข้อมูลสื่อ

353-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551