• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การให้ยาเด็ก

การให้ยาเด็ก

ความเจ็บป่วยกับเด็กเป็นของคู่กัน เด็กยิ่งเล็กมากยิ่งเจ็บป่วยได้ง่ายและบ่อย เพราะระบบการต้านทานโรคยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ และภูมิคุ้มกันโรคที่เด็กเคยได้รับขณะอยู่ในครรภ์มารดาหมดไป ประกอบกับเด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

ดังนั้น เมื่อเกิดการเจ็บป่วยบางครั้งจึงต้องรักษาด้วยยา ขอแนะนำว่าไม่ควรซื้อยาให้เด็กรับประทาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะร่างกายยังขาดความสามารถในการขับถ่ายและทำลายพิษยา ควรพาไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน และพยายามป้องกันไม่ให้มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น โดยให้เด็กดื่มนมแม่ให้นานที่สุด ได้รับภูมิคุ้มกันโรคครบชนิดและขนาด หลีกเลี่ยงการพาเด็กอยู่ในที่แออัด และรักษาความสะอาดให้ร่างกายตลอดจนให้ความรักความอบอุ่นอย่างเพียงพอ

เมื่อมีการต้องใช้ยา ยาที่ใช้กับเด็กส่วนใหญ่จะเป็นยารับประทาน ชนิดน้ำหรือชนิดผง ละลายน้ำ ซึ่งจะต้องป้อน

การป้อนยาเด็ก ต้องใช้เทคนิคหลายประการ ที่จะทำให้เด็กไม่ร้อง ดิ้นจนยาหกหมด หรือได้ไม่ครบขนาดหรือ เกิดการสำลักยา หรือเด็กบางคนอาเจียนทำให้ไม่ได้รับประทานยา แล้วยังอาเจียนเอานม หรืออาหารที่รับประทานเข้าไปก่อนออกมาด้วย เด็กที่เล็กมากการป้อนยามักไม่ค่อยมีปัญหา แต่พอโตรู้เรื่องจะขัดขืนร้องไห้ เป็นผลต่อภาวะจิตใจและอารมณ์ ทั้งเด็กเองและผู้ป้อนยา ยาเด็กมักมีการจัดทำสีต่างๆ ให้ดูน่ารับประทาน มีการผสมรสน้ำผลไม้ให้รับประทานง่ายขึ้น แต่ขึ้นชื่อว่า “ยา” แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนยังไม่อยากรับประทาน

การให้ยาเด็ก

1. ยารสจัด เมื่อรินขนาดตามสั่งแล้ว ควรเจือจางด้วยน้ำก่อน

2. เด็กที่รับประทานยายาก อย่าพยายามกรอกยาใส่ปากขณะเด็กอ้าปากร้องไห้ได้ เพราะอาจสำลักได้ และอย่าบีบจมูกเด็กเพื่อให้อ้าปากแล้วกรอกยาอาจสำลักยาถึงตายได้

3. ไม่ควรผสมยากับน้ำนม เพราะถ้าเด็กดื่มนมไม่หมดจะทำ ให้ไม่ได้ยาตามจำนวนที่ต้องการ และยังทำให้เด็กไม่ยอมดื่มนมอีกด้วย

4. พยายามใช้ช้อนมาตรฐานป้อนยา เพื่อให้จำนวนยาที่ได้รับตรงตามขนาด แต่ถ้าไม่มีให้ดัดแปลงดังนี้

1 ช้อนมาตรฐาน = 5 มิลลิลิตร

                           = 1 ช้อนกินข้าว (สังกะสี)

                           = 2 ช้อนกาแฟ

1 ช้อนโต๊ะมาตรฐาน = 15 มิลลิลิตร

                                 = 3 ช้อนชามาตรฐาน

                                 = 3 ช้อนกินข้าว

                                 = 6 ช้อนกาแฟ

ช้อนมาตรฐานเมื่อใช้เสร็จแล้ว เก็บไว้ใช้ได้ตลอดไป

5. เด็กที่พยายามป้อนแล้วอาเจียนทุกครั้ง ควรหยุดยา เพราะจะทำให้เด็กอาเจียนนม และอาหารออกมาด้วย ควรพาไปสถานพยาบาลแห่งเดิม เพื่อแพทย์จะได้พิจารณาการให้ยาโดยวิธีการอื่น

6. เด็กที่เคยแพ้ยา ผู้ปกครองต้องจำชื่อยาไว้ และบอกให้ผู้รักษาทราบทุกครั้ง

7. เด็กที่ไปโรงเรียน ถ้าเป็นเด็กเล็กควรนำยามอบให้กับครูไว้ เพื่อเด็กจะได้รับยาต่อเนื่อง เด็กโตสามารถเก็บไว้เองได้ต้องกำชับไม่ให้ลืม

8. ขนาดยาที่ใช้ในเด็ก ไม่ใช่ครึ่งหนึ่งของขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ต้องคำนวณจากน้ำหนักของตัวเด็กจึงจะเป็นขนาดที่แน่นอน

9. ยารสหวาน หรือเด็กที่รับประทานยาง่าย ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษว่าเด็กจะหยิบยารับประทานเอง

10. ยาเม็ดเหมือนกัน หรือยาน้ำสีน้ำสีเดียวกัน อาจไม่ใช่ยาชนิดเดียวกัน

11. ยารักษาอาการติดเชื้อ (ยาแก้อักเสบ) ต้องรับประทานให้หมดขวดแม้ว่าอาการเด็กจะหายแล้ว

ข้อมูลสื่อ

75-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 75
กรกฎาคม 2528
พยาบาลในบ้าน
ดร.จริยาวัตร คมพยัคฆ์