• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กวัยหนึ่งขวบถึงขวบครึ่ง

เด็กวัยหนึ่งขวบถึงขวบครึ่ง

สภาพผิดปกติ

263. เด็กนอนดึก

ความคิดที่ว่า เมื่อถึงสองทุ่มเด็กต้องนอนนั้น สมัยนี้เป็นไปได้ยาก ครอบครัวทั่วไปในปัจจุบันจะพักผ่อนสังสรรค์กันตอนกลางคืน เพราะฉะนั้นเด็กซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวย่อมอยากร่วมวงด้วยเป็นธรรมดา

ถ้าเด็กไม่ได้นอนตอนบ่าย แกคงนอนตั้งแต่สองทุ่ม แต่วันไหนนอนตอนบ่าย หนูอาจจะอยู่ถึงสามทุ่มครึ่ง ได้เล่นกับคุณพ่ออย่างสนุกสนานกันทั้งคู่ และตื่นเช้าเอาตอน 7 โมง ชีวิตแบบนี้ก็มีความสุขดี หากคุณแม่พยายามฝืนไม่ให้เด็กนอนตอนบ่ายทั้งๆ ที่เด็กง่วง เพราะอยากให้แกนอนตอนสองทุ่ม ถึงเวลาอาหารเย็นเด็กก็งอแง ถึงจะนอนเร็วและตื่นเช้าดังใจคุณแม่ แต่พ่อแม่ลูกไม่สนุกเลยสักคน

เด็กวัยนี้ที่นอนตั้งแต่สองทุ่ม มีบ่อยครั้งที่แกจะตื่นขึ้นตอนตีหนึ่งตีสอง แล้วลุกขึ้นมาเล่น เรื่องนี้สำคัญที่ครั้งแรก ถ้าพ่อแม่ยอมเล่นกับลูกกลางดึกเพียงหนเดียว แกจะติดนิสัยทันที เด็กที่ติดนิสัยลุกขึ้นมาเล่นกลางดึกละ 1-2 ชั่วโมงนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะแกเล่นกลางวันไม่พอ ถ้าเด็กได้เล่นนอกบ้านตอนกลางวันจนเหน็ดเหนื่อยกลางคืนแกจะนอนดี สำหรับเด็กที่ติดนิวัยตื่นตอนกลางคืนและนอนตอนเช้าถึง 11 โมงกว่าจะตื่น เราแก้นิสัยแกได้โดยค่อยๆ ปลุกให้ตื่นเร็วขึ้นเรื่อยๆ และพยายามให้แกได้เล่นออกกำลังนอกบ้านมากๆ เวลาตื่นขึ้นร้องตอนกลางคืนต้องไม่สนใจ บ้านไหนพ่อแม่ใจอ่อนง่าย บ้านนั้นเด็กมักจะตื่นขึ้นมาเล่นกลางดึก

264. มีไข้สูง อย่างกะทันหัน

เวลาเด็กมีไข้ ส่วนใหญ่กล่าวได้ว่าเกิดจากโรคติดต่อ คือ ติดโรคจากคนที่อยู่ใกล้ตัว เพราะฉะนั้นเราต้องรอบตัวเสียก่อนว่ามีใครเป็นอะไรหรือไม่ ถ้าหากคุณแม่เป็นหวัด ปวดศีรษะและคัดจมูกมา 2-3 วันแล้ว อาการไข้ของเด็กก็น่าจะเกิดจากการติดโรคหวัดจากคุณแม่

หากเด็กมีพี่ซึ่งเป็นหัดหรืออีสุกอีใสเมื่อ 13-14 วันก่อนหน้านี้ อาการของเด็กน่าสงสัยว่าจะเกิดจากการติดเชื้อโรคนั้นๆ

ในกรณีที่ไม่รู้ว่าเด็กติดโรคอะไรจากใคร ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อพาไปหาหมอก็คงได้รับคำตอบว่า “เป็นหวัด”, “ทอนซินอักเสบ”, “ไข้หวัดใหญ่”, “คออักเสบ” ฯลฯ

สมัยก่อน เด็กมีโอกาสเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ปอดบวม , ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) โรคไฟลามทุ่ง (crysipelas) ฯลฯ แต่ในปัจจุบันโรคเหล่านี้ลดน้อยลงไปมาก อย่างไรก็ตาม ผู้มีหน้าที่วินิจฉัยโรคคือ คุณหมอไม่ใช่แม่คุณแม่ เพราะฉะนั้นเวลาเด็กมีไข้ควรพาไปให้หมอตรวจ

ปัญหาอยู่ที่ว่า เรารู้ว่าเด็กมีไข้สูงเมื่อตอนกลางดึก เราควรทำอย่างไร? ตามสถิติปรากฏว่าร้อยละ 90 ของเด็กที่เป็นไข้ตอนกลางดึกเกิดจากโรคหวัด ซึ่งรอไปหาหมอตอนเช้าก็ได้ไม่อันตราย อย่างไรก็ตาม อาการไข้อาจเกิดจากต่อมทอนซิลอักเสบ หรือปอดบวมได้ โรคแบบนี้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่เรื่องเช่นนี้คุณแม่วินิจฉัยเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น ควรปรึกษากุมารแพทย์ ที่พาลูกไปหาเป็นประจำว่ากรณีที่มีไข้สูงกลางดึกควรทำอย่างไร คุณหมออาจให้ยาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

ไม่ควรซื้อยาแก้หวัดที่มีขายอยู่ในท้องตลาดให้ลูกกิน ถึงแม้ยาชนิดนั้นจะระบุว่าเป็นยาแก้หวัดสำหรับเด็กก็ตาม เด็กที่มีอาการชักเมื่อมีไข้สูง ต้องขอยากันชักจากหมอเตรียมไว้เสมอ

เวลาเด็กเป็นไข้ ให้นอนหมอนเย็นๆ แต่ระวังอย่าให้ตัวเย็น เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาให้เป็นครั้งคราว และให้ดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้เท่าที่เด็กต้องการ

สำหรับเด็กที่ยังไม่เคยเป็นไข้แม้แต่ครั้งเดียวตั้งแต่เกิด อาจเป็นโรคส่าไข้จนถึงอายุขวบครึ่ง ถ้าเป็นช่วงต้นฤดูร้อนอาจเป็นโรคตุ่มเม็ดพองในปาก ลองให้เด็กอ้าปากกว้างๆ ดู จะเห็นตุ่มเม็ดพองตรงผนังคอ

265. มีไข้สูง ติดต่อกันหลายวัน

เด็กวัยขนาดนี้เกือบกล่าวได้ว่ายังไม่เป็นไข้รูห์มาติกหรือไข้ไทฟอยด์ จึงไม่ค่อยมีอาการไข้สูงติดต่อกันนานๆ เมื่อลูกมีไข้ติดต่อกันแค่ 3 วัน พ่อแม่ก็ใจไม่อยู่กับตัวแล้ว สำหรับเด็กที่ยังไม่เคยเป็นโรคส่าไข้เลย อาจมีไข้สูงติดต่อกัน 3 วัน และเมื่อไข้ลดลงในวันที่ 4 มีผื่นขึ้น ก็เป็นอันว่าสบายใจได้

กรณีที่พบมากที่สุด คือ ไข้สูงติดต่อกันเนื่องจากทอนซิลอักเสบ โดยเฉพาะแบบที่มีคราบขาวๆ ตามร่องของต่อมทอนซิลนั้น อาการไข้จะไม่ค่อยยอมลด ในกรณีเช่นนี้ หมอมักใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ไข้ก็อาจมีอยู่ถึง 4-5 วัน หากหมอตรวจพบเชื้อ hemolytic sterptococcus ถึงไข้จะลดลงแล้ว หมอคงให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีกเพื่อป้องกันไตอักเสบ

ในกรณีที่พบหนองสีขาวที่ต่อมทอนซิล และเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบเอาไว้ หมอคงตรวจหาเชื้อโรคคอตีบและถ้าพบเชื้อ เด็กต้องเข้าโรงพยาบาล สำหรับเด็กที่ฉีดวัคซีนป้องกันไว้แล้วส่วนใหญ่จะไม่เป็นไร

หากคนในบ้านป่วยเป็นวัณโรค และเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนบีซีจีป้องกันไว้ เด็กอาจมีไข้สูงอยู่นานเพราะติดวัณโรคก็ได้ แต่ในปัจจุบัน เด็กส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคไว้แล้ว วัณโรคในเด็กจึงลดน้อยลงไปมาก

ข้อมูลสื่อ

75-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 75
กรกฎาคม 2528