• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กหกเดือนถึงเจ็ดเดือน

เด็กหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)


                                  

 

 

ลักษณะของเด็ก


157. หย่านมแม่เมื่อไรดี
มีคุณแม่บางคนเข้าใจว่า เมื่อเด็กกินข้าวกินไข่ได้แล้วต้องหย่านม ที่จริงคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรีบหย่านม เท่าที่ลองเฝ้าสังเกตดูวิธีการหย่านมแม่ของเด็กมีหลายต่อหลายแบบ
เด็กบางคนเมื่อเริ่มรู้รสชาติอาหารอื่นได้สักเดือนหนึ่งจะค่อย ๆ ดูดนมแม่น้อยลง นมแม่เองก็ไหลน้อยลง ไม่นานนักเด็กก็เลิกดูดไปเอง กินแต่นมวัวดื่มจากถ้วยกับอาหารเสริมเท่านั้น แต่เด็กบางคนไม่ยอมเลิกดูดแม่สักที ส่วนใหญ่เด็กพวกนี้ชอบตื่นกลางคืนถึง 2- 3 ครั้ง และเมื่อตื่นต้องได้ดูดนมแม่ มิฉะนั้นจะร้องและไม่ยอมนอน เด็กแบบนี้ก่อนนอนกลางวันก็ต้องดูดนมแม่ ถ้าลูกคุณเป็นแบบนี้แล้วขืนบังคับให้ลูกเลิกดูดนมแม่ เด็กจะหันไปดูดนิ้วหรือดูดผ้าอ้อม ผ้าห่มแทน

มีคุณแม่รายหนึ่ง ลูกอายุขวบกว่าแล้วตอนกลางคืนยังให้ดูดนมแม่อยู่แต่พอเด็กอายุได้ขวบครึ่ง เด็กก็เลิกดูดนมแม่ได้ทันที ถามว่าทำได้อย่างไร คุณแม่บอกว่าเอาพลาสเตอร์ปิดแผลมาปิดที่หัวนม แล้วบอกลูกว่า “แม่เจ็บนะลูก” เด็กอายุขวบครึ่งซึ่งพอจะรู้ความแล้วเลยเลิกดูดนมแต่ตั้งแต่คืนนั้น เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว จึงคิดว่า ถ้าแม่ลูกนอนด้วยกันตอนกลางคืน คุณแม่ไม่จำเป็นต้องฝืนหย่านมแม่ในวัยที่เด็กยังไม่ค่อยรู้ความ
ถ้าคุณแม่คิดจะหย่านมแม่อย่างเด็ดขาด โดยยอมทนฟังเสียงลูกร้องได้ละก็ หย่านมตอนที่ลูกอายุยังน้อยย่อมง่ายกว่าตอนโต เด็กอายุ 6 เดือน ถ้าคุณแม่จะหยุดให้นมแบบกระทันหันก็ทำได้ แต่ถ้าหากนมแม่ยังไหลดี เด็กกินอาหารเสริมได้อย่างปกติราบรื่นดี จะมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องหย่านมแม่ตอนนี้ ?

ในกรณีที่นมแม่ไหลดี และเด็กยอมกินอาหารเสริมโดยดี การหย่านมแม่ไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย กลับเสียประโยชน์ คือ เด็กจะขาดความสุขที่เคยได้รับตอนดูดนมแม่ เวลาที่เด็กดูดนมแม่จนหลับตอนกลางคืนเด็กจะสัมผัสความรักของแม่อย่างเต็มที่ ดูดนมอร่อยๆอย่างสบายอกสบายใจและหลับไปอย่างสันติสุข การหย่านมแม่ตอนนี้คือการพรากสิ่งเหล่านี้ไปจากลูก
ในกรณีที่นมแม่ไหลน้อยลง แน่นอนคุณแม่ให้นมผงแทนได้ แต่เด็กโตขนาดนี้แล้วไม่จำเป็นต้องให้ดูดจากขวดให้ดื่มจากถ้วยได้เลย เวลาลดนมแม่ ควรเปลี่ยนไปให้นมผงสำหรับมื้อตอนกลางวัน ส่วนมื้อเช้าหลังตื่นนอนหรือมื้อดึกเวลาเด็กตื่นขึ้นมาร้องเก็บนมแม่ไว้ให้จะสะดวกสำหรับคุณแม่ แต่มื้อก่อนนอนกลางคืนควรให้นมผงดีกว่าเพื่อให้เด็กกินได้เต็มอิ่ม จะได้ไม่ตื่นขึ้นมาร้องกวนตอนกลางคืนเพราะหิว

มีคุณแม่รายหนึ่งไม่ยอมให้ลูกดูดนมแม่เวลาตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน เพราะคิดว่าถึงวัยหย่านมได้แล้ว เมื่อลูกตื่นร้องกวน ก็อุ้มแล้วเปิดเพลงให้ฟังหรือร้องเพลงกล่อมจนหลับ ตัวแม่เองก็ต้องทนเจ็บเพราะนมคัดแข็ง อย่างนี้เรียกว่าลำบากไม่เข้าเรื่อง สวรรค์ประทานของดีติดตัวมากลับไม่ใช้ อุตส่าห์อุ้มลูกฟังเพลงอยู่หลายสิบนาทีกว่าเด็กจะยอมนอน คุณพ่อต้องพลอยรับกรรมหนวกหูไปด้วย ที่จริงให้เด็กได้ดูดนมแม่เพียง 2-3 นาที เด็กก็หลับไปเอง





 

158. อาหารเสริมสำหรับเด็กที่น้ำหนักแรกคลอดน้อย
เด็กที่คลอดออกมาน้ำหนักต่ำกว่า 2.5 กก. เมื่ออายุได้ 6 เดือนส่วนใหญ่จะโตทันเด็กปกติและแข็งแรงดี แต่มีเด็กบางคนที่ยังคงกินน้อยและไม่ค่อยยอมกินอาหารเสริม
เด็กที่น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า 2.5 กก. ได้รับธาตุต่าง ๆ จากแม่มาน้อยกว่าปกติ แต่ใช้ในการเจริญเติบโตมากกว่าปกติ โดยเฉพาะธาตุเหล็กซึ่งเป็นตัวสำคัญในการผลิตเลือด เด็กอายุต่ำกว่า 4 เดือน ถึงจะให้กินยาที่มีธาตุเหล็ก แต่ร่างกายก็ยังดูดซึมธาตุเหล็กได้ไม่ดี เมื่อร่างกายเติบโตขึ้นธาตุเหล็กจึงไม่ค่อยพอผลิตเลือด แม้ว่าดูภายนอกจะเติบโตดีจนไล่ทันเด็กปกติ แต่ร่างกายกลับขาดธาตุเหล็ก
เมื่อเด็กอายุเกิน 6 เดือน ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น คุณแม่ควรให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กมาก ๆ นมแม่และนมวัวมีธาตุเหล็กอยู่น้อย (มีเพียง 0.3 – 0.5 มิลลิกรัม ใน 100 กรัม ) อาหารที่มีธาตุเหล็กมากคือ ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ กุ้งฝอย สาหร่ายทะเล ผักใบเขียว ฯลฯ






 

159. การให้ขนมเด็ก
เมื่อเด็กอายุครบ 6 เดือน คุณแม่อย่าคิดว่าจำเป็นต้องให้ขนมมากกว่าเมื่อเดือนที่แล้ว คุณแม่ที่ทำอาหารเก่ง ขยันทำอาหารให้ลูกกินมักไม่ค่อยยอมให้ลูกกินขนม เพราะกลัวว่าลูกจะกินอาหารที่อุตส่าห์เสียเวลาทำได้น้อยลง เด็กส่วนใหญ่เมื่อเริ่มรู้รสอาหาร จะรู้รสอร่อยของขนม เด็กอายุเกิน 6 เดือน เวลาได้กินขนมเช่น คุกกี้ ขนมปัง ขนมเค้ก จะดีใจถ้าหากคุณแม่ต้องเสียเวลาทำอาหารให้ลูกมื้อหนึ่งถึงชั่วโมงครึ่ง คุณอาจให้ลูกกินข้าวมื้อเดียว อีกมื้อหนึ่งให้กินขนมกับนมก็ได้ เวลาที่เหลือจากการทำอาหารเอามาฝึกให้ลูกแข็งแรงดีกว่า เด็กที่ค่อนข้างอ้วน แทนที่จะให้ขนมปัง หรือคุกกี้ควรให้ผลไม้แทน

 




 

160. ฝึกนิสัยขับถ่าย
เด็กอายุเกิน 6 เดือนที่อุจจาระเป็นเวลา คุณแม่พอจะกะเวลาจับนั่งกระโถนให้อุจจาระได้ เด็กที่เริ่มอาหารเสริมแล้ว ลักษณะของอุจจาระเริ่มคล้ายของผู้ใหญ่มากขึ้น เพราะฉะนั้นแทนที่จะให้ถ่ายในผ้าอ้อมหรือกางเกง ให้ถ่ายในกระโถน คุณแม่จะได้ไม่ต้องลำบากเรื่องซักผ้าอ้อมนัก แต่เด็กที่อุจจาระบ่อยและไม่เป็นเวลา และถ่ายเหลว ยังไม่ทันเบ่งก็ออกหมดแล้ว แบบนี้คุณแม่คงจับให้นั่งกระโถนได้ยาก ถ้าลูกคุณเป็นแบบนี้ คุณแม่ไม่ต้องกังวลเมื่อเห็นลูกคนอื่นที่อายุเท่ากันนั่งกระโถนได้แล้ว การที่ไม่ได้หัดให้ลูกนั่งกระโถนเร็ว ๆ ไม่ได้หมายความว่า คุณได้พลาดโอกาสฝึกนิสัยขับถ่ายของลูกไปเสียแล้ว ที่จริงการให้เด็กนั่งกระโถนในตอนนี้มีความหมายเพียงแค่ช่วยประหยัดผ้าอ้อมเท่านั้นเอง การบังคับให้นั่งกระโถนในอายุนี้จะเป็นผลเสียมากกว่า เด็กบางคนจะปัสสาวะรดที่นอนไปจนอายุ
โตๆได้ ในเรื่องปัสสาวะ ถ้าลูกคุณถ่ายไม่บ่อย คุณแม่จับนั่งกระโถนตอนตื่นนอน หลังให้นมและหลังจากนั้นประมาณชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง เด็กมักจะถ่ายลงกระโถนเกือบทุกครั้ง แต่ถ้าลูกของคุณปัสสาวะบ่อย กระปริบกระปรอยทุกชั่วโมง คุณแม่ไม่อยากให้ผ้าอ้อมเปียก จะต้องคอยเฝ้าจับลูกนั่งกระโถนทั้งวัน ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง

เรื่องจับลูกนั่งกระโถนนี้ เป็นเรื่องความประสาทของแม่แต่เพียงผู้เดียว คุณแม่บางคนเป็นคนขยัน สามารถจับลูกนั่งกระโถนได้ทุกชั่วโมงโดยไม่รำคาญ และตอนกลางคืนพอลูกขยับตัวนิดเดียวก็ตื่น จับลูกนั่งกระโถนคืนละ 2 – 3 ครั้ง พอเสร็จคุณแม่ก็นอนหลับต่อได้ง่ายดาย คุณแม่แบบนี้คงมีระบบประสาทที่ราบรื่นมากทีเดียว แต่คุณแม่บางคน กลางคืนตื่นครั้งหนึ่งกว่าจะหลับต่อได้ต้องใช้เวลานาน ขืนตื่นคืนละ 2 – 3 ครั้ง พอดีไม่เป็นอันนอน ถ้าคุณเป็นแบบนี้ ควรให้ลูกปัสสาวะเสียก่อนที่คุณจะนอน แล้วหลังจากนั้นลูกจะถ่ายปัสสาวะรดผ้าอ้อมที่นอน ก็ปล่อยให้ถ่ายไป ไม่ต้องกังวลตอนเช้าค่อยเปลี่ยน ถ้าทำอย่างนี้แล้ว เด็กก้นไม่แดงก็ไม่เป็นไร ทั้งคุณแม่ทั้งลูกจะนอนหลับได้อย่างเต็มอิ่มจนถึงเช้า คุณแม่บางคนจับลูกนั่งกระโถนแล้วคอยจนกว่าลูกจะถ่ายใส่กระโถนครั้งละนาน ๆ เด็กต้องนั่งอยู่ในท่าทรมานบ่อย ๆ เข้าจะร้องไม่ยอมเมื่อถูกจับนั่งกระโถน เวลาให้ลูกนั่งกระโถนไม่ควรรอนานเกินกว่า 1 นาที ถ้าลูกยังไม่ถ่ายควรจับลง

 




 

161. ฟันขึ้น
เด็กอายุระหว่าง 6 ถึง 8 เดือน ส่วนใหญ่ฟันล่างด้านหน้าจะเริ่มขึ้นมา 2 ซี่ เด็กบางคนขึ้นเร็วกว่านี้ บางคนก็ช้า กว่าฟันจะขึ้นอายุเกือบหนึ่งขวบ เด็กที่ฟันขึ้นเร็วคุณแม่จะไม่กังวล แต่เด็กที่ฟันขึ้นช้า คุณแม่มักจะเดือดร้อน แต่ว่าเรื่องฟันขึ้นช้าเพราะเด็กขาดวิตามินดีในปัจจุบันนี้เกือบไม่มีแล้ว เรื่องช้าหรือเร็วเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเด็กมากว่า ไม่ใช่เพราะเป็นโรคอะไร เด็กที่ฟันเริ่มขึ้น ถ้าคุณแม่สังเกตดี ๆ เด็กอาจผิดปกติไปเล็กน้อย ร้องกวนโยเย นอนไม่ค่อยหลับ กินนมน้อยลงเล็กน้อย กลางคืนตื่นขึ้นร้องหลายครั้ง พอรุ่งเช้าเห็นฟันโผล่ออกมาก็เดาได้ว่าเด็กคงเจ็บเพราะฟันขึ้นจึงโยเย

เรื่องที่ว่าเด็กจะตัวร้อนตอนฟันขึ้นนั้น ไม่น่าเป็นไปได้แต่เป็นความจริงที่ว่า ระยะฟันขึ้นของเด็กเป็นระยะที่ภูมิต้านทานโรคที่ได้รับจากแม่เริ่มหมดลง เพราะฉะนั้นเวลาฟันขึ้นอาจจะบังเอิญไปตรงกับตอนที่เด็กเป็นหวัด หรือเป็นส่าไข้ ตัวจึงร้อนก็ได้ อีกอย่างไม่ใช่เพราะฟันขึ้นเด็กจึงตัวร้อน แต่เป็นเพราะถ้าเด็กตัวร้อนฟันจะขึ้นเร็วมากกว่า
อันดับการขึ้นของฟัน มักจะเริ่มจากฟันล่างด้านหน้า 2 ซี่ โผล่ออกมาพร้อมกัน แต่เด็กบางคนฟันล่างด้านข้างโผล่ออกมา 2 ซี่ก่อนตรงกลางโหว่ก็มี บางคนฟันล่างยังไม่ขึ้นฟันบนด้านหน้าโผล่ออกมาก่อน 2 ซี่ก็มี ฟันแรกขึ้นอาจจะห่างไปบ้างหรือเกไปบ้าง แต่ไม่ต้องทำอะไร มันจะเรียบร้อยดีขึ้นเองทีหลัง
เด็กที่เป็นโรคอักเสบจากสาเหตุใดก็ตามเมื่ออายุ 1 – 2 สัปดาห์ แล้วได้รับการรักษาด้วย ยาเตตร้าซัยคลีน ฟันที่ขึ้นจะมีสีเหลืองและสีจะไม่จางไปง่าย ๆ แต่ไม่ได้ทำให้ฟันอ่อนแอผิดปกติแต่อย่างใด จึงไม่สมควรที่จะใช้ยานี้ในวัยเด็กนอกจากว่าแพทย์สั่งให้ เมื่อจำเป็นเท่านั้น

 




 

162. เลี้ยงลูกให้แข็งแรง
คุณแม่อย่าเลี้ยงลูกให้รู้จักแต่ความสุขในเรื่องกินอย่างเดียวควรให้เด็กรู้จักความสนุกสนานที่ได้ออกกำลังกายกลางแจ้งด้วย เด็กอายุเกิน 6 เดือนแล้ว ควรได้เล่นนอกบ้านวันละ 2-3 ชั่วโมงขึ้นไป เรื่องนี้อาจจะกล่าวย้ำแล้วย้ำอีก เพราะคุณแม่สมัยนี้มีงานมากทั้งงานนอกบ้าน ในบ้าน จนไม่ค่อยมีเวลาพาลูกออกนอกบ้าน อีกอย่างคุณย่าคุณยายมักมีความเชื่อเก่า ๆ ที่ไม่ค่อยยอมให้เด็กเล็ก ๆ ออกเล่นกลางแจ้ง เพราะกลัวถูกแดดถูกลมแล้วจะไม่สบาย ที่จริงเด็กควรถูกแดดถูกลม (ที่ไม่จัด) ร่างกายจึงจะแข็งแรง เด็กทารกจะชอบดูเด็กเล็ก ๆ ที่กำลังวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน ถ้าใกล้ ๆ บ้านคุณมีสนามเด็กเล่น ควรพาลูกไปดูเด็กอื่นเล่น โดยให้แกอยู่ในที่ปลอดภัย แต่ระยะที่โรคหัดระบาด อย่าให้ลูกคุณเข้าใกล้เด็กอื่นจะดีกว่า วันไหนคุณพาลูกออกนอกบ้านไม่ได้ ถ้าอากาศไม่เย็นนัก ก็ถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้ลูก “อาบอากาศ” ในบ้าน พร้อมทั้งฝึกกายบริหารให้ด้วย




สภาพแวดล้อม


163. ป้องกันอุบัติเหตุ
เด็กอายุเท่านี้ ส่วนใหญ่จะพลิกตัวได้เองแล้ว ถึงแม้จะยังคลานไม่ได้ เด็กก็พอจะเคลื่อนตัวไปยังที่ที่ต้องการไปได้เคยมีตัวอย่างของเด็กอายุ 6 เดือน ซึ่งคุณแม่ให้นอนอยู่ชั้นบนแล้วตื่นกลิ้งตกบันไดลงมาในระหว่างที่คุณแม่ไม่อยู่ ถ้าคุณแม่ให้ลูกอยู่ชั้นบน ระเบียงและบันไดจะต้องมีที่กั้น อย่าคอยให้ลูกคลานได้เสียก่อน เพราะอาจไม่ทันเสียแล้ว

เด็กบางคนโดนน้ำร้อนในกระติกที่คุณแม่วางไว้ลวกเอาเพราะคุณแม่คิดไม่ถึงว่าเด็กจะไปถึง กระติกได้ เตารีด เตาไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในห้อง ไม่ควรให้อยู่ในที่ที่เด็กจับต้องได้ถึง
เด็กในเดือนนี้จะขยันเก็บของรอบตัวใส่ปากยิ่งกว่าเดือนที่แล้ว คุณแม่ต้องเก็บของเล็กๆ รอบตัวเด็กให้เรียบร้อย (ดูหัวข้อ 145 ป้องกันอุบัติเหตุอีกครั้ง)
อุบัติเหตุตกเตียงจะมีบ่อยขึ้นมาก ถ้าไม่ค่อยระวังเอาที่กั้นเตียงขึ้นเวลาทิ้งลูกไปห้องอื่น
เด็กจะเล่นของ เล่นแบบรุนแรงขึ้น ถ้าหากเด็กฟาดของเล่นจนแตกถึงแม้จะเล็กน้อย คุณแม่ควรทิ้งไป เพราะอาจบาดหน้าตาเอาได้ หรืออาจกินชิ้นส่วนที่หลุดออกมาเข้าไปก็ได้ คุณแม่ต้องตรวจตราความเรียบร้อยของของเล่นอยู่เสมอ






 

164. ของเล่น
ของเล่นสำหรับเด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่คือ ก๊องแก๊ง (หรือป๋องแป๋ง) ตุ๊กตาผ้า ตุ๊กตาล้มลุก รถลากทำด้วยไม้ ตุ๊กตาไขลาน ฯลฯ ถ้าคุณแม่จับลูกนั่ง แล้วไขลานของเล่นให้วิ่งเข้าหาเด็ก เด็กมักจะชอบใจ (แต่มีบางคนตกใจกลัว) ถ้าให้เด็กนอนคว่ำ แล้วเอาของเล่นล่อ เด็กจะพยายามคืบมาคว้าของเล่น
เด็กอายุขนาดนี้ ชอบเล่นของเล่นใหญ่ ๆ แต่คุณแม่ต้องระวังมากหน่อย ลองอุ้มเด็กลื่นไม้ลื่น หรืออุ้มนั่งชิงช้าแกว่งเด็กจะหัวเราะชอบใจเสียงดังทีเดียว

ของเล่นเป็นเครื่องมือสำหรับทำให้เด็กสนุกสนาน แต่ความสนุกของเด็กไม่ได้หยุดอยู่แค่ตุ๊กตาเท่านั้น เมื่อเด็กอายุเกิน 6 เดือน คุณแม่เปิดเพลงให้ฟังบ้างก็ดี เด็กมักชอบเพลงที่มีจังหวะง่าย ๆ และทำนองซ้ำ ๆ กัน เด็กอายุเท่านี้ถ้าจะหัดให้ฟังเพลงคลาสสิคเพื่อสอนดนตรี รู้สึกว่าจะเร็วไปหน่อย


(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

39-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 39
กรกฎาคม 2525