• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

เด็กหกเดือนถึงเจ็ดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 

                             


 

สภาพแวดล้อม


165.พี่น้อง
สมัยที่น้องยังเอาแต่นอนอยู่ในเตียง ลูกคนพี่มักไม่ค่อยสนใจน้องเท่าไรนัก และมองน้องแบบคนที่จะมาแย่งความรักไปจากแม่ แต่เมื่อน้องอายุเกิน 6 เดือน เริ่มนั่งเล่นของเล่นได้ และชักจะรู้จักยิ้มให้พี่เมื่อเข้ามาใกล้ ลูกคนพี่จะเลิกอิจฉาน้องและชักสนใจจะเล่นด้วย เป็นการพัฒนาขั้นหนึ่งของลูกคนพี่ แต่ก็อาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุอย่างคาดไม่ถึงขึ้นได้ คุณแม่ต้องคอยระวัง

เคยมีตัวอย่างว่าพี่อายุ 3-4 ขวบ เข็นรถที่น้องนั่งออกไปบนถนนจนถูกรถชน ถึงแม้พี่จะเรียนอยู่ระดับชั้นประถมแล้วก็ตาม ไม่ควรให้เข็นรถเด็ก คุณแม่ต้องคอยดูแลอย่าให้พี่เข็นรถที่มีน้องนั่งอยู่ตามลำพังคนเดียว เมื่อน้องนั่งได้ พี่อาจจะชอบอุ้มน้อง จับให้นั่งเป็นเพื่อนเล่นตุ๊กตา หรือเล่นขายของด้วยกัน บางครั้งน้องอาจหงายหลังตึงจนบาดเจ็บได้
เด็กอายุ 2-3 ขวบ เมื่อเห็นแม่ป้อนอาหารให้น้องตอนหลังอาจเอาอย่าง ป้อนขนมของตัวให้บ้าง ถ้าเป็นขนมพวกขนมปังกรอบก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นลูกอมทอฟฟี่อาจเกิดอันตรายติดคอน้องได้

ตัวอย่างอีกรายที่เด็กอายุ 6 เดือนแย่งของเล่นของพี่ชาย พี่ชายพยายามแย่งคืน แต่น้องกำแน่นไม่ยอมให้ พี่ชายเลยเอากล่องไม้ใส่ของเล่นที่วางอยู่ใกล้ ๆ ฟาดหัวน้องโครมเข้าให้ คุณแม่ควรระวังอย่าปล่อยพี่ตัวเล็ก ๆ 2-3 ขวบไว้กับน้องตามลำพัง ในบางครั้งพี่ในอายุนี้ อาจจะสนใจน้องโดยเอานิ้วจิ้มตาน้องดูว่า ตากระพริบได้ไหม หรืออาจเอานิ้วบีบจมูกกก็ได้ เวลามีงานเทศกาล เช่น ลอยกระทง พี่ชายเล่นดอกไม้ไฟให้น้องดู คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งอยู่ด้วย อย่าปล่อยไว้ตามลำพัง

ลูกคนพี่ที่ไปโรงเรียนแล้วมักนำโรคมาติดน้อง เด็กอายุเกิน 6 เดือนจะติดโรคอีสุกอีใส ไอกรน หัด ฯลฯ อีสุกอีใสนั้นถึงจะติด อาการก็ไม่รุนแรง ควรให้ติดเร็ว ๆ จะดีกว่า ส่วนไอกรน ถ้าหากฉีดวัคซีนครบ 3 ครั้งแล้ว ถึงติดโรค อาการก็เบา แต่ควรพยายามอย่าให้ติด ควรให้นอนแยกห้องกัน สำหรับหัด ถ้าติดในช่วงอายุนี้ อาการจะหนักเท่ากับเด็กโต ถ้าหากรู้ว่าลูกคนพี่เป็นหัด ควรให้คนน้องฉีด แกมม่าโกลบุลิน กันไว้

โรคคางทูมนั้น ถ้าเป็นตอนนี้อาการจะเบา ดูภายนอกเกือบจะไม่รู้เลย ควรให้ติดเสียเลยดีกว่า แต่เด็กติดโรคแล้วหรือยังไม่ติดมักจะดูไม่รู้ ต้องตรวจเลือดถึงจะรู้ สำหรับหัดเยอรมัน เด็กทารกก็เป็นได้ แต่ไม่ค่อยเห็นเด็กอายุขนาด 6 เดือนเป็นโรคนี้ ถ้าเด็กคนน้องเป็นส่าไข้ ซึ่งปกติจะไม่ติดเด็กอายุเกิน 2 ขวบขึ้นไป แต่ถ้าคนพี่อายุยังไม่ถึงขวบครึ่ง และยังไม่เคยเป็นโรคส่าไข้ ก็ไม่แน่ว่าจะไม่ติดจากน้อง



สภาพผิดปกติ


166.เป็นหวัด
เด็กอายุ 6-7 เดือน เป็นระยะที่ภูมิต้านทานโรคที่รับมาจากแม่กำลังจะหมด
ภูมิต้านทานเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ ที่เป็นต้นเหตุของโรคหวัดก็หมดไป เมื่อเป็นหวัดอาการจึงหนักกว่าเมื่อก่อน ส่วนใหญ่เด็กจะติดหวัดจากพ่อหรือแม่ เด็กจะแสดงอาการจาม มีน้ำมูกไหล คัดจมูก กินนมน้อยลง เสียงแหบแห้ง ทำให้รู้ว่าเป็นหวัด
เด็กอายุเท่านี้เป็นหวัดมักไม่มีไข้ แต่ถ้ามีไข้ ไข้จะสูงกว่าเมื่อตอนอายุ 4-5 เดือน บางครั้งไข้จะสูงถึง 38 องศาเซลเซียส แต่ว่าอาการไข้ของหวัดจะไม่อยู่นานติดต่อกันถึง 3-4 วัน ส่วนใหญ่ไข้จะลดภายใน 1 วันหรือวันครึ่ง ในราววันที่ 3 น้ำมูกที่เคยไหลเป็นน้ำจะเริ่มเขียวข้น เด็กจะไม่ค่อยจาม แต่จะเริ่มไอแทน แล้วในที่สุดอาการหวัดก็จะหายไป เด็กอาจเบื่อนม กินนมเหลือเล็กน้อย หรือไม่ค่อยยอมกินอาหารเสริมอยู่ 4-5 วัน และถึงแม้เด็กจะไม่ค่อยร่าเริงแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ยิ้มแย้มเอาเสียเลย เด็กที่เป็นหวัดกว่าจะกลับเป็นปกติในสายตาของแม่จะกินเวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์

โรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ยาแก้หวัดที่โฆษณาทั่ว ๆไป อย่าเอามาให้เด็กกินตามใจฉัน ถ้าคุณแม่พาลูกไปให้หมอตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นหวัดจริง ๆ หมออาจให้ยาปฏิชีวนะมากินด้วย ยานั้นไม่ได้ฆ่าเชื้อหวัด แต่ช่วยแก้อักเสบและฆ่าเชื้อต้นเหตุของโรคปอดบวม โรคหูอักเสบ ซึ่งอาจพลัดหลงเข้ามาตอนนั้นได้

เด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรงเป็นหวัดแล้วอาจจะกลายเป็นโรคปอดบวมได้ แต่เด็กที่ร่างกายแข็งแรงปกติดีเพียงแต่มีเสมหะมาก หมอบางคนอาจจะบอกว่าเป็น “ปอดบวม”ปอดชื้น” เพราะค่อยสมเหตุสมผลหน่อยที่จะให้ยาปฏิชีวนะไปกินด้วย ถ้าหากเด็กยังแจ่มใสดี กินนมดี คุณแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นปอดบวม เวลาเด็กเป็นหวัดไม่ควรพาไปในแหล่งรวมเชื้อโรคเช่น โรงพยาบาล ห้างสรรรพสินค้า สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ฯลฯ  ถ้าเด็กไม่มีไข้ อย่าพาไปหาหมอบ่อย ๆ เพราะอาจจะติดโรคอื่นกลับมา

การดูแลรักษาเด็กเป็นหวัด ถ้าอยู่ในช่วงอากาศเย็นควรดูแลให้ร่างกายเด็กอบอุ่น งดอาบน้ำให้ชั่วคราว
ถ้าหากในวันที่ 2 หรือวันที่ 3 เด็กมีน้ำมูกอย่างเดียว อารมณ์ดี กินอาหารดี คุณแม่อาจพาไปถูกอากาศนอกบ้านได้ แต่ต้องใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น แต่ถ้าหากเด็กยังเบื่ออาหารอยู่ อย่าฝืนพาไปข้างนอก ชงนมให้จางลงเล็กน้อยเด็กจะกินได้ง่ายขึ้น ถ้าหากเด็กยินดีกินอาหารเสริมพวกข้าวต้ม และเด็กไม่มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง คุณแม่ให้อาหารเสริมได้ตามปกติ
ในระยะที่เด็กมีไข้ตัวร้อน ควรให้ดื่มน้ำผลไม้มาก ๆ ถ้าลูกของคุณชอบกินขนมฝรั่งหรือคุกกี้ แต่ไม่ชอบข้าวต้มคุณแม่ก็น่าจะให้เด็กกินของโปรดของเขา เด็กบางคนเมื่อเป็นหวัด จะอุจจาระบ่อยขึ้นและเหลว แต่จะไม่เป็นอยู่นาน ถ้าคุณแม่ตกใจหยุดอาหารเสริม ให้แต่นม เด็กจะอุจจาระเหลวไม่หาย เมื่องดอาหารเสริมสัก 2-3 วันแล้ว ถึงแม้เด็กยังถ่ายเหลวอยู่ก็ให้อาหารเสริมตามเดิมได้

เด็กบางคนเป็นหวัดแล้วจะท้องผูก ถ้าเด็กกินได้ ท้องไม่อืด ปล่อยไว้สักวันสองวันก็ได้
ถ้าหากเด็กมีอาการไอ มีบางครั้งเหมือนกัน (แต่น้อยมาก) ที่ทำให้หูชั้นกลางอักเสบขึ้นมาด้วย ถ้าเด็กร้องงอหายเหมือนเจ็บปวดในคืนวันที่ 2 หรือ 3 หลังจากเริ่มเป็นหวัดวันรุ่งขึ้นควรตรวจบริเวณรูหูให้ดี ๆ ว่ามีอะไรไหลออกมาหรือไม่ เวลาพาไปหาหมอ ควรบอกดวยว่า “เมื่อคืนร้องมาก ไม่ทราบว่าหูอักเสบหรือเปล่า” เพราะถ้าไม่บอก หมอบางคนไม่ตรวจหู โรคหูชั้นกลางอักเสบ ถ้าตรวจพบเร็วจะหายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ ไม่ถึงกับทำให้แก้วหูเป็นรูหรือหูเป็นน้ำหนวกในภายหลัง
ไอบ่อย ๆ ดูหัวข้อ 150 ไอบ่อย ๆ

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

40-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 40
สิงหาคม 2525