• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กเจ็ดเดือนถึงแปดเดือน

เด็กเจ็ดเดือนถึงแปดเดือน

 

                            
 

 

 

ลักษณะของเด็ก


173.ลักษณะเด็ก

ความผูกผันระหว่างเด็กกับพ่อแม่จะแนบแน่นมากขึ้นกว่าเดือนที่แล้ว เด็กจะแสดงความดีใจอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเห็นหน้าแม่ เด็กบางคนสามารถทำหน้า “ยิ้มหวาน” ได้แล้วเมื่อบอกให้ทำ
เมื่อเด็กมีความผูกพันกับแม่มากขึ้น ความรู้สึกแปลกหน้าเวลาเห็นคนอื่นก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เด็กที่แปลกหน้าคนง่าย พอเห็นหน้าคนอื่นที่ไม่เคยเห็นอาจร้องไห้จ้าขึ้นมา การที่เด็กแปลกหน้าคนเร็ว ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นปัญญาดีเก่ง แต่เด็กแบบนี้มักเป็นเด็กที่เข้ากับคนอื่นได้ยากจนถึงวัยที่โตขึ้นระดับหนึ่ง

เด็กในวัยนี้จะแสดงความรู้สึกและความต้องการของตนได้ชัดขึ้น เด็กที่คลานได้แล้วจะพยายามคลานไปเอาของที่ตัวอยากได้ ของที่ไม่ต้องการเด็กก็จะปฏิเสธ เช่น เวลาคุณแม่จะป้อนของที่ไม่ชอบ เด็กจะเอามือปัด เวลาถูกแย่งของเล่นจากมือ เด็กจะโกรธร้องไห้ หรือเวลาคุณแม่สระผมให้ มีเด็กหลายคนที่ร้องไห้ไม่ชอบเวลาฉี่เปียกจะเปลี่ยนกางเกงให้ก็ไม่ค่อยจะยอมอยู่เฉย ๆ ให้เปลี่ยนง่าย ๆ
ความสามารถในการเคลื่อนไหวของเด็กแต่ละคนต่างกันมาก เด็กอายุ 7 เดือน ส่วนใหญ่จะนั่งได้แล้ว คืบได้ คลานได้ เด็กบางคนก็ไม่คลาน อยากได้อะไรจะทำท่ายงโย่ยงหยกแล้วกระโดดเป็นกบไปเอา บางคนเกาะยืนได้ก่อนคลานเสียอีก ขาของเด็กแข็งแรงมากขึ้นแล้ว คุณแม่ให้เดินในเก้าอี้หัดเดินได้ แต่ต้องคอยระวัง โดยเฉพาะถ้าพื้นลื่น ล้อจะหมุนเร็วเกินไปหรือสะดุดอะไรคว่ำทั้งเก้าอี้ เด็กบางคนเดินได้เร็ว พออายุ 8 เดือนเดินได้เองแล้วก็มี

เมื่อเด็กเคลื่อนไหวได้เองในวงกว้างขึ้น อุบัติเหตุต่าง ๆ ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งอุบัติเหตุตกจากที่สูง น้ำร้อนลวก ไฟลวก และกินของต่าง ๆ เข้าไป (ดูหัวข้อ 180.ป้องกันอุบัติเหตุ)
วัยนี้เป็นวัยที่ฟันของเด็กกำลังขึ้น เด็กบางคนอาจร้องกวนโยเยก่อนฟันจะขึ้น เด็กแต่ละคนฟันขึ้นช้าเร็วต่างกัน บางคนอายุขวบหนึ่งแล้วฟันยังไม่ขึ้นก็ไม่ได้ประหลาดอะไร เด็กที่ฟันขึ้นช้าไม่ได้หมายความว่าฟันไม่ดี และไม่จำเป็นต้องให้กินแคลเซียมเพื่อให้ฟันขึ้นเร็ว เพราะกินเข้าไปก็ไม่มีความหมาย ที่จริงฟันเด็กนั้นขึ้นอยู่แล้วเพียงแต่โผล่พ้นเหงือกออกมาให้เห็นช้าไปหน่อยเท่านั้นเอง

เด็กอายุขนาดนี้เริ่มจะออกเสียง “อา” “ปา” “มา” “จ๋าจ้ะ” ได้บ้างแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูกให้มาก ๆ เพราะเด็กเรียนรู้ภาษาจากความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับสิ่งของและความเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ กัน คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะคุยกับลูกไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้เด็กค่อย ๆ รู้ภาษา จนกระทั้งบางคนเผลอนึกไปว่า คนเราเกิดมาจะพูดได้เองโดยไม่ต้องมีใครสอน เพราะฉะนั้นเวลาป้อนข้าวลูกอย่าตักใส่ ๆ แบบหุ่นยนต์ ต้องคุยกับลูกไปด้วย เรียกชื่ออาหาร ถามลูกว่าอร่อยไหม ฯลฯ และไม่ควรให้มีเสียงรบกวนรอบด้าน เช่น ดูทีวีไปพร้อม ๆกัน กับป้อนข้าวแล้วก็คุยไปด้วย เพราะเสียงวิทยุทีวีจะทำให้เด็กได้ยินคำพูดของแม่ไม่ชัดเจน

คุณแม่ต้องไม่ลืมว่า การให้เด็กได้เล่นออกกำลังกายนอกบ้าน สำคัญต่อสุขภาพของลูกพอ ๆ กับอาหาร เพราะฉะนั้น เด็กในวัยนี้ควรปล่อยให้เคลื่อนไหวอย่างอิสระกลางสนามหญ้าและให้ถูกอากาศภายนอกอย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมงขึ้นไป ภายใจบ้านก็เช่นกัน ควรให้เด็กได้เล่นของเล่นอย่างอิสระในห้องที่มีอากาศปลอดโปร่งและปลอดภัยจากสิ่งอันตรายทั้งหลาย (เช่น กระติกน้ำร้อน เตารีด ที่เขี่ยบุหรี่ ฯลฯ )

เวลานอนของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่นอนตอนเช้า 1 ครั้ง 1-2 ชั่วโมง ตอนบ่ายหรือเย็นอีก 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง กลางคืนมักจะตื่น 1-2 ครั้ง เพราะฉี่เปียก บางคนพอเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ก็นอนต่อไปได้เลย บางคนต้องให้ดูดนมถึงจะยอมนอนต่อ ถ้ามีนมแม่ก็ให้ดูดนมแม่เป็นดีที่สุด
เด็กทั่วไปจะถ่ายอุจจาระวันละ 1-2 ครั้ง แต่ก็มีเด็กจำนวนมากที่ยังทัองผูกไม่หายจากเดือนก่อน ๆ หรือวันไหนที่เด็กกินอาหารเสริมมากไป วันรุ่งขึ้นเด็กมักจะถ่ายมากขึ้น บ่อยขึ้น และอึจะเหลวกว่าปกติ เวลาเด็กถ่ายเหลว ถ้าเด็กร่าเริงดี ไม่มีไข้ คุณแม่ไม่ต้องวิตก ไม่ต้องงดอาหารเสริม(ย้อนดู หัวข้อ 149 ท้องเสีย)

เด็กส่วนใหญ่ยังฉี่รดกางเกงอยู่ ถ้าเด็กร้องได้ขัดขืน ยังไม่จำเป็นต้องฝึกให้นั่งกระโถนเพราะฝึกไปก็ไม่ได้ผล และอาจเป็นโทษมากกว่า เด็กในวัยนี้ โรคที่จะเป็นได้มีมากชนิดขึ้น เวลาพาเด็กไปนอกบ้าน เด็กคนอื่นอาจมาเล่นด้วย ทำให้บางครั้งติดโรคต่าง ๆ กลับมา เช่น หัด อีสุกสีใส สำหรับไอกรนนั้น ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ไม่เป็นไร ส่วนคางทูม ถึงเป็นก็จะหายโดยไม่แสดงอาการเลย

เด็กที่ไม่เคยเป็นไข้มาก่อน แล้วเกิดมีไข้สูง (38-39 องศาเซลเซียส) เป็นครั้งแรก ให้นึกถึงส่าไข้เอาไว้ด้วย นอกจากนั้น อันดับต่อมาก็มีพวกโรคเกี่ยวกับหลอดลมเนื่องจากเชื้อไวรัส เช่น หวัด ทอนซิลอักเสบ เด็กบางคนอาจเป็นโรคตุ่มเม็ดพองในปาก (herpangina) ก็ได้ หรือถ้ามีไข้พร้อมกับท้องเสีย อาจเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เวลาเด็กมีไข้ควรพาไปหาหมอให้วินิจฉัยโรคให้
เด็กที่อยู่ดี ๆ ก็ร้องไห้จ้าเป็นพัก ๆ เหมือนเจ็บปวดแล้วก็อาเจียน อุจจาระเป็นวุ้นสีแดงๆ แต่ไม่มีไข้ ควรนึกถึงโรคลำไส้กลืนกันไว้ด้วย
โรคเกี่ยวกับผิวหนังของเด็กวัยนี้ก็พวกโรคผื่นคัน ผื่นเม็ดนูน (ดู หัวข้อ 171 ผื่นแดงและผื่นเม็ดนูน)


 

การเลี้ยงดู

 


174.การให้อาหารเสริม

เมื่อเด็กอายุได้ 7 เดือน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้อาหารเสริมมากกว่าเดือนก่อนอีกระดับหนึ่ง เด็กจะค่อย ๆ กินมากขึ้นเองธรรมชาติ พอเด็กอายุเกิน 7 เดือน นิสัยในการกินที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคนจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น เด็กบางคนชอบกินข้าว ป้อนเท่าไรเท่ากัน บางคนก็ไม่ชอบ มื้อหนึ่ง ๆ กินได้ไม่กี่ช้อน ลูกของใครกินเก่งก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องภูมิใจ และลูกของใครกินไม่เก่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าน้อยใจด้วย สำหรับกับข้าว เด็กบางคนไม่ชอบกินผัก บางคนไม่ชอบกินปลาแต่ชอบกินผัก มีแบบต่าง ๆกัน เพราะฉะนั้น อาหารเสริมของเด็กแต่ละคนจึงต่างกันมากทั้งชนิดอาหารและปริมาณ

เด็กบางคนไม่ชอบกินข้าวต้มของเละ ๆ เลย คุณแม่ลองให้ข้าวสวยนิ่ม ๆ ดู แกอาจชอบก็ได้
คุณแม่อาจให้ลูกกิน ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ เกี๊ยว แทนข้าว หรือขนมปังก็ได้ พวกผัก มัน ฟักทอง ค่อยๆ เริ่มสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แทนการบดได้แล้ว ผักส่วนใหญ่เด็กกินได้ทั้งนั้น
ปลาที่ให้กินควรเป็นปลาเนื้อขาว เวลาให้ปลาเนื้อแดงหรือปลาที่มีมันมาก ต้องค่อย ๆ ให้ทีละน้อย พวกเนื้อหมู เนื้อวัว ใช้เนื้อสับละเอียดก็กินได้แล้ว

เด็กในวัยนี้ อาหารอะไรส่วนใหญ่ก็กินได้ ข้อสำคัญต้องเป็นอาหารที่ปรุงอย่างสะอาดและรสไม่จัดอาหารของเด็ก ไม่ควรเป็นข้าวต้มใส่หมูใส่ผักใส่ตับอะไรต่ออะไรรวมกันเป็นชามเดียวทุกมื้อ แบบนี้อาจจะทำง่ายดี แต่ไม่เหมาะสำหรับสอนให้เด็กรู้รสชาติของอาหารแต่ละชนิด เด็กจะยินดีมากกว่า ถ้าได้กินข้าวกับข้าวสักอย่างสองอย่างกับแกงจืด เลือกของที่ทำง่ายๆ และให้แบบนี้สักหนึ่งมื้อ อีกมื้อหนี่งอาจเป็นขนมปัง ไข่กับ นม และผลไม้ก็พอ

ในระหว่างนี้ ถ้าเด็กเกิดอึเหลวหรืออึบ่อยขึ้นเพราะเป็นหวัด ถ้าหากเด็กยังอารมณ์ดี ยิ้มย้มแจ่มใส อยากอาหารดีและไม่มีไข้ คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วงถึงกับงดอาหารเสริม เพราะกลับจะทำให้อึเหลวไม่หาย ถ้าจะงดอาหารจริง ๆ ก็งดสักวันเดียวก็พอ วันรุ่งขึ้นลองให้กินข้าวต้มดู อุจจาระของเด็กอาจจะดีขึ้น
เด็กวัยนี้ น้ำหนักจะเพิ่มเฉลี่ยวันละประมาณ 8-10 กรัม แต่เด็กที่กินข้าวก็เก่ง กินนมก็แก่ง อาจเพิ่มขึ้นถึง 15-20 กรัม คุณแม่ต้องระวังอย่าให้เพิ่มมากนัก ถ้าเด็กกินข้าวได้มากแล้ว แต่ยังกินนมมื้อละ 200 ซีซี 5 มื้อ เหมือนเดิมอยู่ ต้องลดนมลง ให้น้ำผลไม้แทนดีกว่า

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

ข้อมูลสื่อ

44-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 44
ธันวาคม 2525