• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กเจ็ดเดือนถึงแปดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว )

เด็กเจ็ดเดือนถึงแปดเดือน(ต่อจากฉบับที่แล้ว )

 


                          

 

 


สภาพผิดปกติ



185. โรคตุ่มเม็ดพองในปาก
( Herpangina )
โรคตุ่มเม็ดพองในปากนี้ มักจะเป็นกับเด็กวัย 2-4 ขวบ แต่เด็กอ่อนที่ฟันขึ้นแล้วก็เป็นได้ โรคนี้เด็กจะเป็นแผลพุพองในปาก ปากคนจึงเรียกรวมไปกับโรคปากเปื่อย หรือ แผลแอฟตัส โรคนี้เป็นโรคที่เด็กเป็นกันมากรองมาจากโรคส่าไข้ คุณพ่อคุณแม่ควรจำเอาไว้ให้ดี
อาการของโรคก็คือ อยู่ดีๆเด็กก็อาเจียนและเมื่อจับตัวดู ตัวก็ร้อนมีไข้ประมาณ 39 องศา คุณแม่รีบพาไปหาหมอ หมอก็คงบอกว่าเป็นหวัดหรือทอนซิลอักเสบและฉีดยาหรือให้ยามากิน แต่เด็กไม่ยอมกินอาหารนมก็ไม่ค่อยอยากจะกิน

วันรุ่งขึ้นไข้อาจจะลดลง แต่เด็กก็ยังคงไม่อยากอาหารอยู่เหมือนเดิม เมื่อคุณแม่พาไปหาหมออีกครั้ง คุณหมอคงบอกว่าปากเปื่อยเป็นแผลและให้ดูในปาก ก็จะเห็นตุ่มพองเล็กๆตรงแถบโคนลิ้นไก่ ตุ่มพองอาจแตกกลายเป็นแผลกลมๆ แดงๆ เล็กๆ เท่าเมล็ดข้าว
เนื่องจากเด็กเป็นแผลเจ็บตรงคอ เด็กจึงไม่ยอมกินอาหาร น้ำลายจะไหลมากขึ้น และปากมีกลิ่นเหม็น ไข้อาจจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ 2-3 วัน แต่บางรายไข้ก็ลดภายในวันเดียว ถ้าเป็นเด็กที่ชักง่าย เด็กอาจชักเมื่อไข้ขึ้นสูงในตอนแรก โรคนี้ไม่มีโรคแทรกซ้อนและจะหายไปเองใน 4-5 วัน ต้นเหตุของโรคคือเชื้อไวรัส
โรคนี้ไม่มียารักษาและเป็นโรคที่หายภายในหนึ่งสัปดาห์รู้อย่างนี้แล้วคุณแม่คงไม่วุ่นวายใจนัก ตอนระยะ 2-3 วันแรก เด็กกินอาหารลำบาก ให้กินแต่นมก็ได้ หรือถ้าเด็กชอบกินไอศกรีมก็ให้ได้ ถ้าคุณแม่ดูในปากลูกแล้วเห็นตุ่มผุพองตรงผนังคอละก็ แสดงว่าเป็นโรคนี้แน่ๆ ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ มีหลายคนเคยใช้ยาสีม่วง ( เจนเซี่ยนไวโอเลต ) ทาแผลในปาก

โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นานนัก จึงเป็นได้บ่อยๆ และเป็นโรคติดต่อสู่คนอื่นได้ บางคนไม่ได้เป็นเฉพาะในปาก แต่มีผื่นขนาดเท่าเมล็ดถั่วเหลืองตามแขนและขาร่วมด้วยก็มี






186. โรคหืดในเด็ก
เด็กที่มีเสียงครืดคราดในอกเพราะมีเสมหะมากเมื่ออายุเกิน 7 เดือน วันร้ายคืนร้าย อาจจะเกิดอาการหายใจติดขัด และมีเสียงหอบฮึ้ดๆขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่ตกใจรีบพาไปหาหมอ หมอก็จะบอกว่า
“ เป็นโรคหืด “ คุณพ่อคุณแม่เลยยิ่งตกใจหนักขึ้นไปอีก

อันที่จริงเราไม่ควร “ ประทับตรา “ เด็กแบบนี้ว่าเป็น “ โรคหืด “ เพราะ อาการ “ หอบ “กับอาการที่มีเสียงครืดคราดในอกเพราะมีเสมหะมากนั้น มันแตกต่างกันตรง “ ระดับ “ เท่านั้น และไม่ว่าจะระดับไหน ถ้าเด็กได้รับการฝึกให้ร่างก่ายแข็งแรงอยู่เสมอ พอถึงวัยเข้าเรียนโรงเรียนประถมอาการเหล่านี้จะหายไปเอง เด็กเหล่านี้สมควรเรียกว่า “ เด็กมีเสมหะมาก “ จะดีกว่า เพราะถ้าระบุว่าเป็น “โรคหืด “ และให้ยาแก้หืดต่างๆ รวมทั้งคอยทะนุถนอมระแวดระวังไม่ให้ถูกแดดถูกลม เด็กมีหวังเป็นหืดขนานแท้อย่างแน่นอน “ โรคหืด “ เป็นโรคที่ทำให้คนเป็นเอง และการประทับตราว่า “เป็นหืด “ คือก้าวแรกของการทำให้เป็นโรคนี้

ถึงแม้ว่าเด็กจะเกิดอาการหอบขึ้นตอนกลางดึก แต่ถ้าวันรุ่งขึ้นเด็กร่าเริงดี อย่าดูแลเด็กแบบคนไข้หนัก ให้ปฏิบัติต่อเด็กเหมือนปกติ คิดว่าเป็นเด็กที่มีเสมหะมากก็พอแล้วพยายามให้ออกไปถูกอากาศภายนอกให้มากและให้เล่นเหมือนปกติ อาหารการกินก็ให้เหมือนเดิม
การทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาเป็นเด็กปกติจะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจ แม้แต่เด็กทารก ถ้าคุณพ่อคุณแม่เกิดทะนุถนอมอย่างกะทันหัน เด็กจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง และอ้อนพ่อแม่มากขึ้น เวลาที่มีเสมหะมาก ก็จะมีอาการมากขึ้น กว่าธรรมดา เพื่อออดอ้อนพ่อแม่ การพาลูกไปฉีดยาเพื่อลดภูมิแพ้ จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่ปกติ

เด็กที่มีเสียงครืดคราดในอกนั้นมีจำนวนมาก แต่มีจำนวนน้อยที่เป็นหืด เด็กที่ได้รับการรักษาแบบโรคหืดนั่นแหละที่มักจะเป็นหืด ส่วนเด็กที่พ่อแม่คิดว่าลูกมีเสมหะมากหน่อยก็ไม่เป็นไร และดูแลลูกอย่างเด็กปกติ เด็กแบบนี้เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียน จะกลับกลายเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีเสมหะ
คืนแรกที่เด็กเกิดอาการหอบ คุณพ่อคุณแม่คงพาไปหาหมอ แต่คืนต่อๆมาก็จะรู้ว่าอุ้มลูกซะหน่อย อาการหอบก็จะค่อยๆดีขั้น และถึงจะพาลูกไปฉีดยาเป็นประจำเพื่อลดพูมิแพ้ ในที่สุดก็คงจะรู้ว่าฉีดไปก็ไม่ได้ผล และคุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้ตัวเองว่าไม่ควรจะวุ่นวายให้มากนัก ซึ่งกว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้ตัวก็กินเวลานานพอสมควร อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณพาลูกไปรักษาโรคหืดสารพัดหมอสารพัดยาแล้วไม่ได้ผลละก็ อย่างเพิ่งหมอกำลังใจ เพราะนั่นหมายความว่า คุณกำลังจะ “เห็นแจ้ง” แล้วว่า โรคนี้ใช้ยารักษาไม่ได้ผล

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

48-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 48
เมษายน 2526